Species Identification บริการใหม่ของงานด้านการตรวจพิสูจน์ดีเอ็นเอ ม.อ.


     ผมเคยเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของงานด้านการตรวจเพื่อระบุชนิดของสัตว์ (species identification) ของหน่วยนิติเวชศาสตร์และพิษวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ ให้หลายคนฟังว่า 

     วันหนึ่งผมได้รับ mail จากอาจารย์สุวิทย์ เรืองกิตติสกุล ว่า มี case หนึ่ง ตำรวจโทรมาปรึกษาว่า พ่อค้าหมู เอามีดฆ่าหมูปาดคอเมียตัวเอง แล้วตำรวจไปจับมาได้ ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธว่าไม่ได้ฆ่า ส่วนเลือดที่ติดอยู่บนมีดเป็นเลือดของหมู คำถามที่ผมได้รับ คือ จะมีวิธีการไหม ที่เราจะทราบได้ว่า เลือดบนมีดนั้นเป็นของหมู หรือ คน

     คำถามง่ายครับ.....แต่คำตอบไม่ง่าย....สักเท่าไหร่ สำหรับผม ในเวลานั้นที่ไม่มีความรู้พื้นฐานด้านอณูชีววิทยามากนัก  ก็ต้องเริ่มต้นด้วยการ อ่าน...อ่าน....อ่าน....แล้วก็อ่าน....ให้มากขึ้น.....

     นั่นคือจุดเริ่มต้นของการเริ่มพัฒนาการทดสอบเพื่อระบุชนิดของสัตว์ด้วยวิธีทางอณูชีววิทยาครับ

     เมื่อค้นเอกสารที่เกี่ยวข้อง ก็จะพบว่า เรื่องเหล่านี้ มีคนเคยทำไว้แล้วครับ เราก็เพียงไปค้นดู แนวความคิดในการทำของเขา เรื่องที่เขาทำยังมีปัญหาอะไรอีกบ้าง เราจะปรับปรุงและแก้ไขปัญหาเหล่านั้นได้อย่างไร ซึ่งว่าไปแล้ว มันก็เป็นเพียงการต่อยอดความคิด ให้มีการพัฒนาที่ดีขึ้นครับ ไม่ใช่การคิดเรื่องใหม่

     แนวความคิดในการตรวจระบุชนิดของสัตว์ คือ มีผู้พบว่า จีนส์บริเวณ cytochrome b บนสายไมโตคอนเดรีย มีความแตกต่างกันในสัตว์แต่ละชนิด เพราะฉะนั้น ถ้าเราสามารถออกแบบ primer ให้เป็น degenerated primer หมายถึง primer ที่สามารถจับแบบไม่จำเพาะเจาะจงได้ ในที่นี้คือ ออกแบบ primer  1 คู่ ให้มีความสามารถจับกับสายดีเอ็นเอบริเวณ cytochrome b ของสัตว์ได้ทุกชนิด หรือให้มากชนิดที่สุด จากนั้นก็ทำการเพิ่มปริมาณดีเอ็นเอบริเวณนี้ขึ้นมาด้วยวิธี polymerase chain reaction (PCR) แล้วนำผลิตภัณฑ์ที่ได้นี้ไปทำการหาลำดับเบส  (sequencing) เมื่อทราบการเรียงตัวของลำดับเบสแล้ว ก็ทำการ blast เข้าไปใน gen bank ครับ เราก็จะทราบว่า ลำดับเบสที่เราหาออกมาได้นี้ เข้าได้กับสัตว์ชนิดใดบ้าง สามารถระบุชนิดของสัตว์ได้ในระดับ species หรือ subspecies ได้ครับ

     ในหลักการมีเพียงเท่านี้ ที่เหลือเป็นเรื่องการการออกแบบ degenerated primer แล้วทำการทดสอบครับ  ผมใช้เวลาทดลอง แล้วก็เล่นบ้าง ประมาณกว่า 2 ปีครับ ส่วนใหญ่จะทิ้งไว้เฉยๆ ซะมากกว่า เพราะต้องไปทำงานอื่นที่เร่งด่วนกว่า  โปรเจ็คนี้ก็เลยวางเฉยๆมานาน จนมีนักศึกษาปริญญาโท มาช่วยงาน โครงการนี้จึงค่อยๆคืบหน้าครับ  สุดท้ายตอนนี้ เด็กปิดแล็บไปแล้ว กำลังอยู่ในช่วงที่เขียนงานครับ

     งานด้านนี้ จึงคาดได้ว่า จะสามารถให้บริการได้ครับ  ผมไม่ได้คาดหวังว่าจะเปิดเป็นงานประจำ (routine) เพราะถึงเปิดไปก็ไม่มีงานเข้ามาสักเท่าไร  เอาเป็นว่า หากมีใครที่ไหน มีปัญหาด้านที่ต้องการทราบชนิดของสัตว์ ซึ่งอาจเกี่ยวพันกับคดี หรือไม่ใช่คดีก็ตาม ติดต่อขอใช้บริการได้ที่หน่วยนิติเวชศาสตร์และพิษวิทยา ภาควิชาพยาธิวิทยา คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ หาดใหญ่ สงขลา โทร 074451570 หรือติดต่อที่ [email protected] ได้ครับ 

    

หมายเลขบันทึก: 502006เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2012 10:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 กันยายน 2012 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
  • น้องมาเชียร์
  • นึกว่าพี่ไมโตรจะออกหนังสือใหม่

รวดเร็ว ปานกามนิตหนุ่ม ดังเคยนะคุณน้องขจิต สำหรับเรื่องหนังสือ ยังเป็นเพียงแนวความคิดครับ ยังไม่มีแรงเขียน พูดง่ายๆว่า ยังไม่มีคนจิกหัวแล้วชี้นิ้วใช้ให้เขียนครับ

ข้อมูลความรู้ที่ให้มีประโยชน์มากค่ะ คำตอบไม่ง่ายจริง ๆ ค่ะ เพราะตัดสินชะตาชีวิตระหว่างคนกับหมูได้เลย ... โจ๊กแบบจริงใจนะคะ

ชอบค่ะ ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ

ขอบคุณมากครับ Blank

อย่างที่พี่ศิลาว่าไว้ล่ะครับ คำตอบเรื่องนี้ไม่ง่ายครับ แต่ต่อไปนี้ เราตอบได้แล้วครับว่าเป็นหมูหรือคน....สบายใจแล้วครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท