ยังมองไม่เห็นเศรษฐกิจพอเพียง


เว็บเพื่อสังคม

ยังมองไม่เห็นเศรษฐกิจพอเพียง

          มีเรื่องที่คอยสะกิดใจให้เขียน "ยังมองไม่เห็นเศรษฐกิจพอเพียง" คือเรื่องการเข้าค่ายลูกเสือในปัจจุบันนี้ ด้วยเห็นว่าการกระทำ และหลักปฎิบัติ ไม่ได้ส่งเสริมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงตามโอกาสที่มี ซ้ำยังเป็นการส่งเสริมเรื่อง "เศรษฐกิจเกินพอเพียง" ไว้อย่างแน่นหนาแก่เยาวชน

          นโยบายของกระทรวงศึกษาธิการกำหนดชัดเจนให้โรงเรียนจัดกิจกรรมการเรียนการสอนในเรื่องสร้างค่านิยมแบบเศรษฐกิจพอเพียงให้กับ นักเรียน โดยโรงเรียนต้องบริหารจัดการเรียนการสอนในรูปแบบใดก็ได้ อาจจะจัดเป็นโครงการ หรือบูรณาการไว้ในเนื้อหาหนึ่งเนื้อหาใดที่เห็นว่า เหมาะสม กิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือเป็นกิจกรรมที่สามารถส่งเสริมค่านิยม "เศรษฐกิจพอเพียง" ได้อย่างมากโรงเรียนทุกโรง  ผู้บริหาร คณะครูไม่ควร มองข้าม โดยบริหารจัดการเรียนการสอนผ่านกิจกรรมเข้าค่ายของลูกเสือ   หลักสูตรลูกเสือมีการกำหนดเนื้อหากิจกรรมสอดแทรกค่านิยมเศรษฐกิจ พอเีพียงเสริมเข้าเป็นพิเศษ

          โรงเรียนหลายโรงยังบริหารจัดการเรื่องนี้ไม่สอดคล้องกับงานนโยบาย เห็นได้จากมีโรงเรียนทางปักษ์ใต้ หรือที่อื่น ๆหลายโรงเรียนนำลูกเสือ ไปเข้าค่ายต่างจังหวัด จัดกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือในเมืองแทนที่จะจัดกิจกรรมเข้าค่ายลูกเสือในป่าเขาลำเนาไพร  การไปเข้าค่ายในเมืองเป็นเรื่องที่ผิด ต่อหลักการวิชาลูกเสือโดยสิ้นเชิง ยิ่งหากกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายให้โรงเรียนสร้างค่านิยมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงให้แก่เด็กด้วยแล้วก็ยิ่งผิดพลาด ยกกำลังสอง

           การเดินทางไปต่างจังหวัดต้องใช้เวลานาน ยิ่งข้ามเขตข้ามภาคก็ยิ่งเพิ่มขึ้น  ระยะทางเพิ่ม เวลาเพิ่ม ค่าใช้จ่ายเป็นค่ารรถ ค่าอาหารก็เพิ่มขึ้น จุดนี้เองที่ไม่ได้สนับสนุนนโยบายการเสริมสร้างค่านิยม "เศรษฐกิจพอเพียง" ให้แก่นักเรียน กลับส่งเสริมค่านิยม "เศรษฐกิจเกินพอเพียง"        

             กิจกรรมอื่น ๆ ของลูกเสือที่ตั้งค่ายพักแรมอยู่ในเมืองล้วนไม่สนับสนุนเรื่องค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงได้เลย   การพักอยู่ในค่ายที่สร้างไว้ถาวร แล้วก็ดี   การรับประทานอาหารจากโรงครัวที่คอยบริการก็ดี กิจกรรมเดินทางไกลที่เิดินในเมืืองแทนการเดินป่าก็ดี เหล่านี้ล้วนแต่ไม่สนับสนุนการ สร้างค่านิยมเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้เลย นอกจากนี้คือสภาพภูมิประเทศ รวมทั้งกิจกรรมบางส่วนนอกจากการไม่สนับสนุนสร้างค่านิยม เรื่องดังกล่าวได้แล้วยังขาดสภาพความเป็นลูกเสือที่แท้จริง ลูกเสือที่แท้จริงต้องสัมผัสกับป่าเขาลำเนาไพร

          การที่ลูกเสือได้เข้าค่ายในสภาพภูมิประเทศที่เป็นธรรมชาติ กิจกรรมต่าง ๆ สามารถดำเนินไปด้วยความสอดคล้องของความเป็นลูกเสือ การได้ ปฎิบัติกิจกรรมในการอยู่ร่วมกันในค่ายแบบชีวิตของชาวป่า เช่นการสร้างค่ายพักแรม การหุงหาอาหารแบบชาวป่า การช่วยเหลือเกื้อกูลในหมู่ลูกเสือ ที่ได้จัดแบ่งไว้ตามหน้าที่ หรืออื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เหล่านี้คือวิชาความรู้ของลูกเสือที่แท้จริง และยังส่งเสริมค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงตามนโยบายของ กระทรวงศึกษาธิการได้เป็นอย่างดี

         ขอชี้ให้เห็นว่ากิจกรรมการเข้าค่ายลูกเสือแบบ "ลูกเสือป่า" มีส่วนในการส่งเสริมค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงได้อย่างไร รวมทั้งส่งเสริมวิชาลูกเสือ อย่างไร ขณะเดียวกันก็ได้มองเปรียบเทียบการเข้าค่ายลูกเสือแบบ "ลูกเสือเมือง" ดังที่กล่าวไว้พอสังเขปบ้างแล้ว  ถึงตรงนี้ขอตกลงการใช้คำเพื่อความ สะดวก และเข้าใจคือ  ลูกเสือที่เข้าค่ายในเมืองเรียกว่า "ลูกเสือเมือง" ส่วนลูกเสื่อที่เข้าค่ายในป่าดงพงไพรเรียกว่า "ลูกเสือป่า" พอยกสองคำนี้ชี้แจงให้ ทราบคงมีความรู้สึกว่ามองสภาพการณ์ต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น เห็นภาพพจน์ดีขึ้น

         กิจกรรมเดินทางไกลของลูกเสือป่าสอนให้เกิดความสำนึก เกิดความนึกคิดเรื่องความประหยัดได้อย่างดี เช่นเรื่องน้ำดื่ม หากผู้กำกับลูกเสือบอก กับลูกเสือว่า ระยะทางที่จะเดินทางไกลประมาณ 10 กิโลเมตร  เส้นทางที่ผ่านไม่มีแหล่งน้ำ   น้ำที่พอจะหาได้คือน้ำจากเถาวัลย์พืช    น้ำจากต้นกล้วย เท่านั้น  จากคำบอกเล่าของผู้กำกับเพียงเท่านี้ก็จะทำให้ลูกเสือมีความคิดเรื่องประหยัดน้ำได้ทันที ฉะนั้นหลักสูตร และกิจกรรมต้องมีการวางแผนอย่าง ดี เพื่อสร้างค่านิยมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงอย่างเหมาะสมกลมกลืน สร้างหลักสูตรที่รองรับไว้แล้วต่อไปก็เป็นเรื่องของผู้กำกับที่ต้องเน้นกิจกรรมอย่าง เข้าใจ

          กิจกรรมเดินทางไกลยังสอนให้ลูกเสือมีความอดทน มีความเพียรพยายาม มีจิตใจช่วยเหลือเกื้อกูล รู้จักเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เกิดความเมตตากรุณา ขึ้นอย่างไม่รู้ตัว หากผู้กำกับสอนเน้นให้เห็นความสำคัญในเรื่องการอยู่ร่วมเป็นหมู่ ว่าควรปฎิบัติตนอย่างไร นี่คือการเสริมสร้างให้ลูกเสือเกิดทัศนคติ ที่ดีในด้านต่าง ๆ ซึ่งล้วนแต่เป็นคุณลักษณะอันพึงประสงค์ สร้างคุณธรรมพื้นฐานในการอยู่ร่วมแบบเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย

          การสร้างค่ายด้วยไม้ ด้วยใบไม้ใบหญ้า การใช้เชือกผูกแทนตะปู การปรุงอาหารแบบชาวป่า รู้จักใช้ไม้ฟืน รู้จักก่อไฟ รู้จักใช้วัสดุจากธรรม ชาติแทนภาชนะ เช่น ใช้ไม้ใฝ่หลามข้าวเป็นต้น กิจกรรมเหล่านี้ผู้กำกับต้องเน้น และส่งเสริมการปฎิบัติจริงอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม คือควบคุม และ คอยให้ความรู้อย่างถูกต้องทั่วถึง

          การปลูกฝังให้เห็นการดำรงชีพแบบเศรษฐกิจพอเพียงอีกอย่างหนึ่งคือ หลังจากสร้างค่ายเสร็จผู้กำกับให้ความรู้แก่ลูกเสือเกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจ พอเพียงโดยตรง โดยสร้างสถานการณ์ว่า  หากเราต้องพักอยู่ที่นี่เป็นเวลา 1 ปี เราจะแก้ปัญหาเรื่องการดำเนินชีวิตในการอยู่ร่วมอย่างไร ใช้วิธีการ พูดคุย อภิปราย  ผลสรุปคงได้มา และน่าจะสรุปออกมาในรูปดังนี้  ต้องค้นหาแหล่งนำ้ ต้องปลูกพืชผักสวนครัว ต้องปลูกข้าวไว้กิน ต้องเลี้ยงปลา ต้อง เลี้ยงไก่ไว้กินเนื้อกินไข่  อะไรก็แล้วแต่ที่ออกมาจากการกำหนดสถานการณ์ ผู้กำกับชี้ให้เห็นว่านี้คือหลักเศรษฐกิจพอเพียง การดำเนินชีวิตต้องพึงพา เพื่อนฝูง และตนเองอย่างนี้ ในก้าวต่อไปเรื่องการต่อยอดก็จะเป็นเรื่องง่ายขึ้น

          นโยบายของกระทรวงศึกษาซึ่งสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาล เกี่ยวกับเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงที่วางไว้ หากนำกิจกรรมของลูกเสือ และได้ ปฎิบัติจริงอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวที่ได้เสนอไว้ แม้จะเป็นส่วนเล็กน้อยเพียงส่วนหนึ่งคิดว่าพอจะสร้างค่านิยมเรื่องเศรษฐกิจพอเพียงได้บ้างพอ สมควรไม่มากก็น้อย

          จากพฤติกรรมที่ครูนำเด็กนักเรียนไปเข้าค่ายลูกเสือแบบ " ลูกเสือเมือง" นั่นบอกถึง "ยังมองไม่เห็นเศรษฐกิจพอเพียง" หากผู้ปฏิบัติตามนโยบาย ยังหลงทาง ยังมีทัศนคติที่ไม่ดีต่อเรื่องนี้  หรือยังไม่เข้าใจในเรื่องนี้อย่างถ่องแท้ เราจะปลูกฝัึงค่านิยม "เศรษฐกิจพอเพียง" ได้อย่างไร

          กิจกรรมลูกเสือเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการสร้างค่านิยมระบบแบบเศรษฐกิจพอเพียงเท่านั้น กิจกรรมอื่น ๆ ยังอีกมากที่พอจะช่วยสนับสนุนเรื่อง นี้ได้ เช่น โครงการเกษตรเพื่อสนับสนุนอาหารกลางวันโรงเรียน  โครงการปลูกพืชผักสวนครัวที่บ้าน โครงการรั้วกินได้  โครงการปลูกไม้ประดับกิน ได้  ฯลฯ เหล่านี้อยู่ที่ความเหมาะสมของโรงเรียนที่จะสรรหากิจกรรมคอยส่งเสริมนักเรียน

          เรื่องการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนเพื่อสร้างค่านิยมเศรษฐกิจพอเพียงยังไม่ค่อยเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ได้ข้อมูลจากการสังเกต การพูดคุยสอบ ถามจากเพื่อน ๆ ครูด้วยกัน ฉะนั้นการวางแผนนโบบาย แล้วขาดการปฏิบัติอย่างจริงจัง ขาดการติดตามผลถือเป็นเรื่องเปล่าประโยชน์ ขอถามทั้ง หน่วยงานระดับเหนือ และหน่วยงานระดับล่าง ว่า  "เรากำลังคิดอะไร"   "เรากำลังทำอะไร"

คำสำคัญ (Tags): #เว็บเพื่อสังคม
หมายเลขบันทึก: 501999เขียนเมื่อ 12 กันยายน 2012 09:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เห็นด้วยค่ะท่าน แค่เรื่องเข้าค่ายลูกเสือก็เห็นชัดเจนมาก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท