สอนอักษรสามหมู่ ด้วยภาษาไทยถิ่นใต้


การสอนอักษรสามหมู่ (ไตรยางศ์) ในวิชาภาษาไทยนั้น แม้จะไม่ยุ่งยาก แต่ถ้าจะสอนให้จำก็ทำได้ไม่ง่ายนัก

 

           ยกตัวอย่าง ต่อไปนี้ เป็นคำง่ายๆ ที่ไม่ใส่เครื่องหมายวรรณยุกต์

           ขา ฝา ผี สอง กา มา นา ตา นอน บอน โห ฮือ

 

           ถามว่า มีเสียงวรรณยุกต์กี่เสียง

           ตอบว่า มีสองเสียง คือ เสียงจัตวา (ขา ฝา ผี สอง โห) และเสียงสามัญ (ที่เหลือ)

 

            ถามว่า มีพยัญชนะกี่หมู่

            ตอบว่า สามหมู่ แต่บางท่านอาจจะตอบยาก เพราะได้ยินเสียงแตกต่างกันแค่สองระดับเสียง (วรรณยุกต์)

           

            ความจริงแล้ว ทั้งหมดนั้นมีอักษรครบทั้งสามหมู่ คือ อักษรสูง (ขา ฝา ผี สอง โห) อักษรกลาง (กา ตา บอน) และอักษรต่ำ (มา นา นอน ฮือ) แต่หากฟังเสียง เราจะแยกได้เพียงสองกลุ่ม เพราะพยัญชนะเสียงกลางและพยัญชนะเสียงต่ำ ออกเสียงเป็นวรรณยุกต์สามัญเหมือนกัน

            ด้วยเหตุนี้ ครูจึงมักจะต้องคิดสูตร หรือหาคำคล้องจองมาร้อยให้นักเรียนท่องจำว่าอักษรสูงมีอะไรบ้าง หรืออักษรใดบ้างเป็นอักษรสูง ฯลฯ ท่องไปสักพักก็อาจจะลืมกันได้ง่ายๆ หรือสอบเสร็จก็ลืม อย่างที่เห็นๆ กัน

 

ภาษาใต้แยกหมู่อักษรตามเสียงวรรณยุกต์

            ตอนที่ผมเรียนเรื่องนี้ในโรงเรียน ครูสอนด้วยภาษากลาง และเราก็อ่านตำราเป็นภาษาไทยกลาง ไม่ได้สนใจจะเปรียบเทียบภาษาถิ่น ซึ่งง่ายกว่ามาก ทั้งนี้เพราะภาษาถิ่นใต้บางถิ่นมีเสียงพยัญชนะสามหมู่ที่แตกต่างกันชัดเจน ตัวอย่างพยัญชนะแต่ละหมู่ (คำเป็น) ดังนี้

            ขอ ขา ขาว เขียว สี หัว ไฝ ผอม (ออกเสียงคำเหล่านี้ตามสำเนียงถิ่นใต้) พบว่าเป็นเสียงสูง (ตรงกับเสียงวรรณยุกต์โท)

            กา กาง บาง ดม จาน อาน ปาน (ออกเสียงคำเหล่านี้ตามสำเนียงถิ่นใต้) พบว่าเป็นเสียงสามัญ ตรงกับภาษาไทยถิ่นกลาง

            คลอง คอย มา ยอม ลอง พอ แทน (ออกเสียงคำเหล่านี้ตามสำเนียงถิ่นใต้) พบว่าเป็นเสียงต่ำกว่าเสียงวรรณยุกต์สามัญ ไม่ตรงกับเสียงใดในภาษาไทยถิ่นกลาง (เป็นวรรณยุกต์เฉพาะในภาษาไทยถิ่นใต้)

            เมื่อได้สอบถามพรรคพวกเพื่อนฝูง พบว่าภาษาไทยอีสานบางถิ่นก็มีการแยกหมู่ที่ชัดเจนแบบนี้เช่นกัน

 

การประยุกต์ใช้

            เมื่อครูอธิบายแล้ว ก็สามารถฝึกให้นักเรียนออกเสียงพยัญชนะและบอกหมู่ได้ โดยยกพยัญชนะมาทีละตัว หรือทีละชุด แล้วแนะให้สังเกตระดับเสียง อาจเทียบเสียงจาก ก ข ค เป็นแบบก็ได้

             ก เป็นแบบของเสียงกลาง ข เป็นแบบของเสียงสูง และ ค เป็นแบบของเสียงต่ำ

             หากนักเรียนอยากรู้ว่าพยัญชนะตัวใด เป็นอักษรหมู่ใด ก็ออกเสียง "เป็นสำเนียงใต้" แล้วเทียบกับ ก ข ค

             หลังจากนั้น เมื่อนักเรียนรู้จักและเข้าใจพื้นเสียงของพยัญชนะได้แล้ว ครูสามารถโยงไปสู่เรื่องการผันวรรณยุกต์ เรื่องคำเป็นคำตาย และเรื่องอักษรนำได้ง่ายขึ้น ทั้งนี้ครูยังอาจการสังเกตเสียงอื่นๆ เทียบกับสำเนียงท้องถิ่นที่ทำให้นักเรียนจำได้ง่ายขึ้น

             อนึ่ง เรื่องอักษรสามหมู่ยังสามารถนำไปใช้สอนให้นักเรียนหัดพูดภาษาไทยถิ่นอื่นๆ ได้ด้วย เพราะหลักการผันวรรณยุกต์จะสอดคล้องกับอักษรสามหมู่นี้แล.

หมายเลขบันทึก: 501626เขียนเมื่อ 8 กันยายน 2012 21:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 ธันวาคม 2012 16:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

สวัสดีค่ะคุณครู

น่าจะมีอัดเสียงเป็นตัวอย่างใส่ youtube แล้วลิงก์มาฟังได้ในบันทึกนี้

คงจะเรียนได้ง่ายกว่านี้

ขอบคุณค่ะ  :)

 

สวัสดีครับ คุณ หยั่งราก ฝากใบ

น่าสนใจเหมือนกันครับ ;)

แต่ถ้าอยากฟังเสียง ลองให้เพื่อนๆ คนใต้ออกเสียงดูนะครับ

(ถามศัพท์ให้เขาออกเสียงนะครับ อย่าให้เขาอ่าน ประเ้ดี๋ยวจะสับสน

เพราะเขาอาจจะออกเ้สียงเป็นภาษากลางแทน)

มาให้กำลังใจเช่นเคยค่ะ แต่ถ้ามีเสียงน่าจะโอเคเลยค่ะอาจารย์

สวัสดีครีบ คุณชลัญธร

สงสัยต้องทำเสียงประกอบแล้วสิเนี่ย...

อิๆๆ ไม่ทำหรอก พูดเล่น

 

 

อาจารย์ครับผมสามารถค้นหาข้อมูลประโยคจำนวนมากๆ ที่มีหน่วยเสียงภาษาถิ่นใต้ครบถ้วนได้ที่ไหนบ้างครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท