หนึ่งหลักสูตรหนึ่งชุมชน : หมอลำน้อย...ว่าด้วยเรื่องผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและกระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลงฯ


ทางกระบวนการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของโครงการหมอลำน้อยฯ ล้วนสัมพันธ์กับแนวคิด หรือปรัชญาของการศึกษาที่มุ่ง “พัฒนาผู้เรียน” ให้เกิด “ทักษะ” ในด้านต่างๆ อย่างท้าทาย ครอบคลุมถึงด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) จิตพิสัย (Affective Domain) และทักษะพิสัย (Psychomotor Domain)

 

จุดเด่นของนโยบายเชิงรุกด้านการบริการวิชาการแก่สังคมภายใต้ชื่อ  “1 หลักสูตร 1 ชุมชน” มีหลายประการ แต่ที่สำคัญอย่างใหญ่หลวงเลยก็คือการมุ่งให้ “นิสิต (ผู้เรียน) เป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้”

 

ในมิติของคำว่า “ศูนย์กลางของการเรียนรู้”  ผมไม่ได้จำเพาะเจาะจงอยู่แต่เฉพาะผู้เรียนเท่านั้น  หากแต่หมายรวมถึง “ชุมชน” อันเป็น “ห้องเรียน” หรือ “แหล่งเรียนรู้”  ไปด้วย  ซึ่งภายใต้องค์ประกอบ หรือโครงสร้างของชุมชนนั้นมีอะไรบ้าง  ผมก็นับรวมเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ไปด้วยเช่นกัน

 

 

 

โครงการ "หมอลำน้อย : วิถีหมอลำนำชุมชนยั่งยืน” ของสาขา กศ.บ.การศึกษาปฐมวัย คณะศึกษาศาสตร์ โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์วีณา ประชากูล เป็นผู้รับผิดชอบหลัก  ได้สะท้อนให้เห็นภาพของคำว่า “ศูนย์กลางของการเรียนรู้”  ดังที่ผมกล่าวถึงข้างต้น  เพราะทั้งนิสิต อาจารย์ นักเรียน ครู หรือแม้แต่ผู้ปกครอง ต่างล้วนเป็นหัวใจหลักและมีส่วนร่วมกับการเรียนรู้ในครั้งนี้ค่อนข้างสูง

 

โครงการดังกล่าวจัดขึ้น ณ ชุมชนบ้านหนองคู ต.หนองปลิง อ.เมือง จ.มหาสารคาม  ภายใต้วัตถุประสงค์หลักที่สำคัญๆ คือ (1) เพื่อสืบสานศิลปวัฒนธรรมหมอลำ (2) ศึกษาคุณภาพชีวิตเด็กในชุมชนตามข้อกำหนดในอนุสัญญาสิทธิเด็ก (3) พัฒนาทักษะชีวิตของเด็กปฐมวัยในพื้นที่เทศบาลตำบลหนองปลิง

 

จากวัตถุประสงค์ข้างต้น  ทำให้เห็นภาพโดยรวมอันเป็นความมุ่งหมายของการพัฒนาการเรียนรู้และคุณภาพชีวิตของเด็กๆ ในชุมชน ผ่านกลไก หรือเครื่องมือที่เรียกกันว่า “หมอลำ” อันเป็นมรดกวัฒนธรรมของท้องถิ่น หรือกลุ่มชาติพันธุ์ที่เรียกตนเองว่า “คนอีสาน”  มิหนำซ้ำยังชี้ประเด็นไปถึงเรื่อง “สิทธิเด็ก”  คล้ายส่งสัญญาณไปยังผู้ใหญ่ในสังคมเพื่อให้ความสำคัญกับเรื่องเด็กๆ ในชุมชนของตนเองให้แน่นหนักและเป็นรูปธรรมมากกว่าที่ผ่านมา

 

 

>>

  

จะว่าไปแล้ว- โครงการหมอลำน้อยฯ  มีความน่าสนใจหลายประเด็น  เป็นต้นว่า  การหยิบจับเอา “หมอลำ” มาเป็น “สื่อการเรียนรู้”  เป็นการเรียนรู้ผ่านมิติของ “ศิลปวัฒนธรรม”  ในแขนง “การละคร”  ขณะเดียวกันยังเชื่อมร้อยไปถึงเรื่องเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ของความเป็นท้องถิ่นและความเป็นชาติไปในตัว  เนื่องเพราะเรื่องราวที่หยิบจับมาแสดงหมอลำฯ  หากไม่นับเรื่องภาษาประจำท้องถิ่น หรือภาษาประจำชาติแล้ว   สิ่งที่เป็นเรื่องราว (ท้องเรื่อง) ล้วนเกี่ยวโยงกับปรากฏการณ์ หรือนาฏการณ์ที่พบเจอและสัมผัสได้จริงในวิถีพื้นถิ่นของผู้เรียนอย่างไม่ต้องสงสัย  ครบทั้งในมิติ “ศิลปะเพื่อศิลปะ” และ “ศิลปะเพื่อชีวิต”

    เพราะ  ...

  • เรื่องบางเรื่อง อาจหมายถึงการตีแผ่เรื่องราวอันไม่พึงประสงค์ที่สังคมทิ้งไว้เป็น “บทเรียน”  ทั้งสดใหม่และเก่าแก่  เพื่อให้ตระหนัก ละข้าม (ให้พ้น) หรือไม่ตกลงไปในหลุมดำเช่นนั้นอีก

  • ขณะที่เรื่องบางเรื่อง อาจยืนบนฐานคิดหลักของการบอกเล่าเรื่องราวอันคติธรรมสอนใจ  รวมถึงส่งเสริมทัศนคติที่ดีต่อการใช้ชีวิตในสังคม ทั้งในมิติของปัจเจกส่วนตัวและมิติของจิตสำนึก หรือ “พลเมือง” ของสังคม

 

 

 

>>

  

โดยหลักคิดแล้ว-ผมถือว่า “หมอลำน้อย”  มีสถานะคล้ายคลึงกับ "ละครสร้างสรรค์" (Creative Drama) หรือ "ละครที่ใช้ในการศึกษา" (Drama-In-Education) เหมาะต่อการนำมาใช้เป็น “กระบวนการของการพัฒนาผู้เรียน”  อย่างมหาศาล  เพราะเป็นการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลง (Transformative Learning) ที่สร้างสรรค์  โดยแต่ละกระบวนการของการแสดงหมอลำ จะทำหน้าที่บ่มเพาะและขัดเกลาให้ผู้เรียนมี “ทักษะการเรียนรู้”  อย่างหลากหลาย  นับตั้งแต่การคัดเลือกเรื่องที่จะนำมาแสดง  การเขียนบท  การคัดเลือกนักแสดง  การฝึกซ้อม ทั้งซ้อมร้อง ซ้อมลำ ซ้อมเต้น รวมถึงการออกแบบการแต่งกาย  การออกแบบฉาก  และอื่นๆ อีกจิปาถะ

 

กระบวนการหรือขั้นตอนเช่นนั้น  ล้วนหมายถึง “ผู้เรียนได้เรียนรู้ผ่านการปฏิบัติจริง”  เป็นการเรียนรู้ในสองมิติคือเรียนรู้ด้วยตนเองและเรียนรู้ร่วมกันอย่างเป็นทีม

 

 

 

นอกจากนั้น  กิจกรรมหมอลำน้อยยังจะสะท้อนให้เห็นถึงการเป็นเสมือนแบบฝึกหัดที่ผู้เรียนต้องเรียนรู้ปรัชญาแห่งการอยู่ร่วมกัน  หลักคิดของการทำงานที่ต้องมีกระบวนยุทธ กระบวนท่า มีระเบียบแบบแผน มีขั้นมีตอน  มีการแบ่งบทบาทและหน้าที่อย่างเสร็จสรรพ  และยิ่งหากพิจารณาให้หยั่งลึกลงไป  ยิ่งจะพบว่า ...

       ...ในระหว่างทางของการฝึกซ้อมเพื่อนำไปสู่การแสดงจริงนั้น  ผู้เรียนย่อมมีโอกาสได้พบเจอกับอุปสรรคหลากรูปลักษณ์  การพบเจอดังกล่าว เสมอเหมือนการแล่นเรืออยู่กลางมหาคลื่นแห่งท้องทะเลอันไพศาล  หรือไม่ก็เผชิญอยู่กับความร้อนแรงของแสงอาทิตย์กลางทะเลทรายผืนใหญ่  ...

 

ภาวะเช่นนั้นเองจะเคี่ยวบ่มให้ผู้เรียนได้ทำศึกสงครามกับอุปสรรค เสมือนยุทธหัตถีแห่งชีวิต  ที่ต้องมีการเรียนรู้เพื่อแก้ปัญหา (Problem solving)  เมื่อผ่านพ้นไปได้ ทุกหยาดเหงื่อของกระบวนการเรียนรู้  ย่อมกลายเป็นพลัง หรือทุนทางปัญญาที่จะหล่อเลี้ยงให้ชีวิตได้เติบโตและเติบกล้าอย่างมีคุณค่า

 

 

>>

 

ด้วยเหตุนี้จึงนับได้ว่าโครงการ “หมอลำน้อย: วิถีหมอลำนำชุมชนยั่งยืน”  คือกระบวนการเรียนรู้ที่ช่วยให้ผู้เรียนทั้งนิสิตและนักเรียนได้กลายเป็นศูนย์กลางของการเรียนรู้อย่างแท้จริง  เพราะทั้งสองฝ่ายได้ร่วมคิด ร่วมออกแบบ และลงมือปฏิบัติการจริงร่วมกัน  ซึ่งเหล่าบรรดาผู้เรียน โดยเฉพาะนิสิตนั้น  ถือเป็นการเรียนรู้ทักษะของการเป็น “ผู้นำกิจกรรม”  ไปในตัว  จบไปบรรจุเป็นครู ก็เป็นครูประเภท “ครูกิจกรรม”  มี “ทักษะ” ในการสร้าง “กระบวนการเรียนรู้”  ที่ไม่ตกยุคตกสมัย

 

ส่วนนักเรียนที่อยู่ในบริบทการเรียนรู้ร่วมกัน ย่อมเกิดแรงทักษะต่างๆ ไม่ต่างไปจากนิสิต แต่ที่สำคัญที่สุดก็คือ ...นักเรียนจะมีความสุขกับการเรียนในแบบที่ “บันเทิงเริงปัญญา”  ...สนุกและได้สาระ ...มีทักษะในการกล้าแสดงออก  เรียนรู้การสื่อสารที่สร้างสรรค์  มีแรงบันดาลใจในการที่จะพัฒนาตนเองไปตามครรลองที่ถูกต้องและสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก...

 

 

 

นอกจากกรณีของนิสิตและนักเรียนแล้ว โครงการดังกล่าวนี้  ยังเป็นเหมือนสะพานเชื่อมโยงให้อาจารย์จากมหาวิทยาลัย ครูในโรงเรียน หรือแม้แต่ผู้ปกครองได้ขยับเข้ามามีส่วนในการเรียนรู้ร่วมกันอย่างชัดแจ้ง  ทุกฝ่ายเปลี่ยนบทบาทจากการ “สอน” มาสู่การเรียนรู้ร่วมกัน หรือในอีกมุมหนึ่งก็คือการถอดถอนทัศนคติเดิมๆ ที่เน้นการ “ครูผู้สอน”  มาสู่การเป็น "ครูผู้อำนวยความสะดวก" (Facilitator) ต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน  ทั้งนี้หากสามารถชักจูงให้ชาวบ้าน หรือปราชญ์ชาวบ้านได้เข้ามามีส่วนร่วมกับกระบวนการเรียนรู้ร่วมกับลูกหลาน  ทั้งในฐานะของการเป็นคนบอกเล่าเรื่องราวที่สามารถนำมาผูกโยงเป็น “ท้องเรื่อง” ของการแสดงหมอลำ หรือแม้แต่การทำหน้าที่บอกเล่าประสบการณ์และทักษะการแสดงของตนเองสู่ลูกหลาน สิ่งเหล่านี้คือกระบวนการที่จะหนุนนำให้ผู้เรียนในทุกสถานะ (นิสิต นักเรียน อาจารย์ ครู) มีทักษะการเรียนรู้ที่มหัศจรรย์ –

 

และการศึกษาในกระบวนการเช่นนี้แหละที่จะเป็นพลังในการพัฒนาคน พัฒนาท้องถิ่นและพัฒนาประเทศชาติให้เจริญก้าวหน้าบน “ทุนทางสังคม” ของเราเอง

 

 

>>

 

เหนือสิ่งอื่นใด  ในทางกระบวนการที่เกิดขึ้นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำของโครงการหมอลำน้อยฯ  ล้วนสัมพันธ์กับแนวคิด หรือปรัชญาของการศึกษาที่มุ่ง  “พัฒนาผู้เรียน” ให้เกิด “ทักษะ” ในด้านต่างๆ อย่างท้าทาย  ครอบคลุมถึงด้านพุทธิพิสัย (Cognitive Domain) จิตพิสัย (Affective Domain) และทักษะพิสัย (Psychomotor Domain) 

ทั้งนี้ทั้งนั้น-- หากแม้นมีระบบการออกแบบการเรียนรู้ที่ดี  มีระบบควบคุมและประเมินผลที่ดี  เชื่อเหลือเกินว่า อย่างน้อยที่สุด  “หมอลำน้อย”  จะช่วยหล่อหลอมให้ผู้เรียนเกิดทักษะพื้นฐานในเรื่องสำคัญๆ ของการพัฒนาตนเองและสังคมควบคู่กันไปอย่างไม่ต้องกังขา  เช่น 

  • ความคิดสร้างสรรค์ (Creativity)
  • การสื่อสารและความร่วมมือ (Communication and Collaboration)
  • การยืดหยุ่นและการปรับตัว (Flexibility and Adaptability)
  • ภาวะผู้นำและความรับผิดชอบ (Leadership and Responsibility)
  • ฯลฯ

 

 

 

 

หมายเหตุ :

 

การจัดกิจกรรมให้กับเด็กนักเรียน หรือแม้แต่การลงทุนกับนิสิตนักศึกษา หรือเยาวชนคนหนุ่มสาวนั้น  ถือเป็นกระบวนการลงทุนเพื่อสังคมโดยแท้ เพราะไม่ช้าไม่นาน  พวกเขาทั้งหลาย ย่อมเปลี่ยนสถานะมาสู่การเป็น “ผู้ใหญ่” ที่ต้องรับช่วงในการ “สืบสร้างสังคม” ต่อไป  ประหนึ่งเมื่อมีใบไม้แก่ปลิดขั้วลงสู่พื้น ใบไม้ใบใหม่ ก็ย่อมผลิใบเบ่งบานขึ้นมาแทนที่อยู่วันยังค่ำ

 

การแตกใบใหม่  จะแกร่งกล้าเฉกเช่นใบเก่าหรือไม่  ยังต้องใช้องค์ประกอบ หรือบริบทหลายอย่าง แต่ที่แน่ๆ นอกจากการสังเคราะห์แสงด้วยตนเองแล้ว การดูแลบ่มเพาะจากปัจจัยภายนอกก็ถือเป็นหัวใจหลักไม่แพ้ปัจจัยภายใน  ในทำนองเดียวกันนี้  เด็กๆ หรือเยาวชนเองก็เช่นกัน  ก็ยังต้องอาศัยการดูแลใส่ใจจากผู้ใหญ่ หรือสังคมเหมือนกัน  มิเช่นนั้นย่อมยากยิ่งต่อการเติบโตและมีศักยภาพดีพอที่จะรับช่องสืบสร้างสังคมได้

 

 

ไฟล์ภาพเพิ่มเติม
http://www.facebook.com/media/set/?set=oa.445859575436289&type=1

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 501330เขียนเมื่อ 5 กันยายน 2012 22:25 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กันยายน 2012 10:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)

ผู้เรียนเป็นศูนย์กลางและกระบวนการเรียนรู้สู่การเปลี่ยนแปลง===> ดีจังเลยค่ะ .... เด็กได้คิด + ปฏิบัติ...ฝึกทักษะ...มีผลลัพธ์...และ...การเรียนนอกห้องเรียน นะคะ

ขอบคุณบทความดีดีมีคุณภาพนี้ค่ะ

ขอบคุณที่อนุรักษ์วัฒนธรรมอีสานบ้านเฮาไว้ค่ะ

สืบทอดต่้อยอดไปอีกยาวไกล ให้ของดีอิสานมีที่ยืนในสังคม

ยินดีด้วยนะคะอาจารย์แผ่นดิน

สวัสดีครับ คุณพนัส ปรีวาสนา

เนื่องจากท่านได้รับรางวัลจากเว็บไซต์ GotoKnow.org จากการเขียนบันทึกแบ่งปันความรู้ของท่านโดยใส่คำสำคัญว่า "GotoKnow" ผ่านทางเว็บไซต์ GotoKnow.org ทาง GotoKnow จึงคัดเลือกให้ท่านได้รับรางวัล ซึ่งของรางวัลที่ท่านได้รับนั้นคือ "เสื้อโปโล" ดังนั้นทางทีมงานจึงเรียนขอชื่อ ไซต์เสื้อ และที่อยู่ของท่านที่สะดวกในการรับของรางวัลจากทีมงาน โดยท่านสามารถส่งข้อมูลมาที่ ([email protected])

                              ขอบคุณครับ
                           ทีมงาน GotoKnow

ขอบคุณทีมวิจัยนิสิต พ่อครูแม่ครู และชาวชุมชนหนองปลิงสำหรับความรักตลอดระยะเวลา 1 ปีที่งานวิจัยนี้ทำให้มี"เรา" เสมอมา. ... และท้ายสุดขอบคุณผู้เขียนบทความนี้ที่ร่วมแบ่งปัน"ความรัก" ในงานพัฒนาชุมชนร่วมกับ"เรา" และสู่ผู้เกิดใหม่ในแนวทางนี้ทุกคน .....ขอบคุณค่ะ

อ.วีณา

หนูสนใจงานอาจารย์มากค่ะ อยากได้ข้อมูลค่ะ หนูจะต้องทำอย่างไรบ้างคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท