การศึกษาตีความใหม่


ผมตีความว่า การศึกษาที่เราดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเน้นที่คนส่วนแรกเท่านั้น หากจะให้การศึกษาสร้างคนดีมีความสามารถ เราต้องเน้นฝึกหรือให้การศึกษาแก่คนทั้งสองคนนั้น และที่ต้องเอาใจใส่มากคือคนหลัง เพราะเจ้าคนหลังนี่แหละที่มีบทบาทสูงกว่าคนแรกหลายสิบหลายร้อยหรือพันเท่า
 
          หนังบีบีซีชุดHorizon  เรื่องOut of Controlทำให้ผมนึกขึ้นได้ว่า    นี่คือหลักฐานหนึ่งสำหรับตีความความหมายของการศึกษาเสียใหม่   เพื่อการปฏิรูปการศึกษาหรือการเรียนรู้   ว่าหมายถึงการฝึกฝนเคี่ยวกรำ เพื่อฝึกจิตใต้สำนึกของตนเอง    ซึ่งเป็นส่วนตัวตนที่แท้จริงของแต่ละคน
 
          การศึกษาที่แท้ เพื่อมนุษย์ที่แท้
 
          ดูหนังเรื่องนี้ทั้งเรื่องได้ ที่นี่
 
          จากหนังเรื่องนี้ ผมตีความว่าคนเรามีสองคนในร่างเดียวกัน   คือคนในส่วนที่อยู่ใต้การควบคุมของจิตสำนึก   กับคนที่อยู่ใต้ควบคุมของจิตใต้สำนึกหรือไร้สำนึก    ผลการวิจัยตามที่เล่าในหนังบอกว่า ตัวตนส่วนหลังใหญ่กว่ามาก
 
          ผมตีความว่า การศึกษาที่เราดำเนินการอยู่ในปัจจุบันเน้นที่คนส่วนแรกเท่านั้น   หากจะให้การศึกษาสร้างคนดีมีความสามารถ เราต้องเน้นฝึกหรือให้การศึกษาแก่คนทั้งสองคนนั้น   และที่ต้องเอาใจใส่มากคือคนหลัง    เพราะเจ้าคนหลังนี่แหละที่มีบทบาทสูงกว่าคนแรกหลายสิบหลายร้อยหรือพันเท่า
 
          ผมโชคดีมาก ที่มีเทวดาคอยมาเตือนสติ ให้หมั่นฝึกฝนเจ้าตัวหลังในร่างของผม มาตลอดชีวิต   แม้จะทำได้ไม่มากดังใจ   แต่ก็ให้คุณแก่ชีวิตของผมมากจริงๆ 
 
          กลับมาที่หนัง ผมชอบคำว่า The wisdom of the crowd หรือปัญญามวลชน   สมองของเราทำงานแบบใช้ปัญญามวลชน   คือช่วยกันตัดสินใจ ผ่านการแบ่งปันส่งต่อข้อมูล/สารสนเทศ (information) ของเซลล์สมองจำนวนมาก    สมองของเราต้องตัดสินใจในเวลาเสี้ยววินาที   ซึ่งหมายความว่าคิดไม่ทัน ก็ได้ทำไปแล้ว เป็นการทำแบบอัตโนมัติ    นี่คือทักษะชีวิต  
 
          ผมตีความทักษะชีวิต ว่าหมายถึงทักษะเพื่อการตัดสินใจแบบไม่ต้องคิด   ซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของเจ้าตัวหลังในร่างกายของเรา    และผมเดาว่า ส่วนหนึ่งอยู่ใต้การควบคุมของ EFตามที่ผมได้เคยบันทึกไว้
 
          ทำให้ผมนึกย้อนไปว่า เวลานี้วิทยาศาสตร์สมัยใหม่ ที่ศึกษาปรากฏการณ์ในสมองได้ อย่างที่ บีบีซี เอามาให้เราดู   เป็นการอธิบายตัวตนส่วนหลังของมนุษย์ผ่านวิทยาศาสตร์   ในขณะที่พุทธศาสนาและปฏิบัติการด้านในได้อธิบายไว้กว่า ๒๕๐๐ ปีมาแล้ว    ผ่านการปฏิบัติ ซึ่งในสมัยใหม่เราบอกว่าไม่เป็นวิทยาศาสตร์    แต่เป็นประสบการณ์ส่วนตน (เอหิปัสสิโก)    และผมคิดว่าท่านเจ้าคุณพระธรรมคุณาภรณ์ อธิบายได้ดีที่สุด ที่นี่
 
          การศึกษาที่แท้ คือการฝึกทั้งมนุษย์คนที่หนึ่ง และมนุษย์คนที่ ๒ ในร่างเดียวกัน   จนเกิดปัญญาอัตโนมัติ    ผมเชื่อว่าการเรียนรู้แบบ PBLเพื่อให้เกิด 21st Century Skillsคือคำตอบ
 
 
 
วิจารณ์ พานิช
๔ ส.ค. ๕๕
หมายเลขบันทึก: 501022เขียนเมื่อ 3 กันยายน 2012 09:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 กันยายน 2012 09:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท