การเลี้ยงไหมต้องปรับเมื่อโลกเปลี่ยน


การเลี้ยงไหมต้องปรับเมื่อโลกเปลี่ยน

การเลี้ยงไหมต้องปรับเมื่อโลกเปลี่ยน

วิโรจน์ แก้วเรือง

      ภาวะโลกวิกฤติ ก่อให้เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ โดยเฉพาะภาวะโลกร้อน(global warming) กำลังอยู่ในกระแสความสนใจของชาวไทยและชาวโลก ปัญหาดังกล่าวเกิดจากการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ของนานาประเทศ ทั้งจากการทำอุตสาหกรรม การทำการเกษตร การดำเนินกิจกรรมของผู้ให้บริการ และกิจกรรมผู้บริโภค เช่น การใช้ยานพาหนะและเครื่องจักรกล การเปิดเครื่องปรับอากาศ การใช้ตู้เย็น ฯลฯ สิ่งเหล่านี้ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ทั้งเกิดอากาศร้อน อากาศหนาว น้ำท่วม ภัยแล้ง ผิดปกติและรุนแรง รวดเร็วอย่างคาดไม่ถึง

       แม้แต่ประเทศไทย ประเทศที่รักของเราก็เจอกันมาแล้วในช่วงปีที่ผ่านมา เกิดมหาอุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ ได้ประสบการณ์อันเลวร้ายเกือบถ้วนทั่วทุกคน โดยเฉพาะชาวกรุงเทพฯ ที่ชั่วชีวิตอาจไม่เคยเจอวิกฤติจากน้ำท่วมเช่นนี้มาก่อน มาปีนี้ พ.ศ.2555 อากาศก็ร้อน เกิดภาวะแห้งแล้ง แถมบางวัน มีทั้งหนาว ทั้งร้อน และฝนตก ในวันเดียวกัน พวกเราที่มีอาชีพปลูกหม่อนเลี้ยงไหม จะต้องทำอย่างไร ขนาดเราเองเมื่อรู้สึกร้อน ยังต้องพึ่งพัดลม พึ่งเครื่องปรับอากาศ หรือเมื่อทำงานกลางแจ้งยังต้องหลบเข้าร่มไม้เพื่อให้คลายร้อน ช่วงหน้าหนาวก็ต้องใส่เสื้อผ้าหนาๆ พึ่งพาเครื่องทำความร้อน เพื่อให้ร่างกายอบอุ่น  หนอนไหมที่เราเลี้ยง ก็มีความต้องการในสิ่งเหล่านี้เช่นเดียวกับเรา จึงจะเจริญเติบโตแข็งแรงพอจะสร้างเส้นใย สร้างรังไหมให้เราได้ใช้ประโยชน์ ดังนั้นจึงเป็นหน้าที่ของเราที่ต้องช่วยเขา ด้วยการปรับสภาพแวดล้อม คือโรงเลี้ยงไหม ที่เปรียบเสมือนบ้านของเขาให้เหมาะสมกับความต้องการของหนอนไหมเพื่อให้เขาได้อยู่สบาย กินใบหม่อนที่สมบูรณ์อย่างมีความสุข

          ผมได้มีโอกาสไปดูงานที่บริษัทจุลไหมไทย และเยี่ยมชมการเลี้ยงไหมของเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดเพชรบูรณ์ พร้อมได้ข้อมูลจากทั้งบริษัทฯและเกษตรกรหลายๆราย จึงได้ข้อมูลและคำแนะนำดีๆ มาแบ่งปันให้กับเพื่อนเกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหมทั่วประเทศ ได้นำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับสภาพแวดล้อม สภาพโรงเลี้ยงไหมของตนเอง

          การเลี้ยงไหมต้องใช้ทั้งศาสตร์และศิลป์ ใครก็ตามที่เลี้ยงไหมได้ดี จะเห็นว่าบุคคลนั้นต้องเป็นคนช่างสังเกต เอาใจใส่ทุกขั้นทุกตอนของการเลี้ยง ตลอดอายุของหนอนไหม เพื่อให้เข้าใจถึงความต้องการของหนอนไหมในแต่ละวัย ในแต่ละวัน ในแต่ละเวลา ไม่ได้เลี้ยงไหมตามความเคยชิน เนื่องจากไหมแต่ละพันธุ์ ภูมิอากาศแต่ละแห่ง ก็ไม่เหมือนกัน ดังนั้นการช่างสังเกต จึงเป็นสิ่งสำคัญของการเลี้ยงไหมให้ประสบผลสำเร็จ ด้วยการปรับเทคนิคและวิธีการเลี้ยง ให้เหมาะสมกับไหมแต่ละพันธุ์ แต่ละพื้นที่และแต่ละสภาพแวดล้อม

อุณหภูมิและความชื้นที่หนอนไหมต้องการในแต่ละวัย

         1.การเลี้ยงไหมแรกฟัก ต้องเลี้ยงไหมที่อุณหภูมิ 28 องศาเซลเซียส และมีความชื้น 90 เปอร์เซ็นต์

         2. การเลี้ยงไหมวัยอ่อน มีความสำคัญถึง 50 เปอร์เซ็นต์ ที่เชื่อมโยงไปถึงความสำเร็จของการเลี้ยงไหม คือ

           - วัย 1- วัย 2 ต้องเลี้ยงไหมที่อุณหภูมิ 26-28 องศาเซลเซียส และมีความชื้น 90 เปอร์เซ็นต์

         - วัย 3  ต้องเลี้ยงไหมที่อุณหภูมิ 24-26 องศาเซลเซียส และมีความชื้น 80-85 เปอร์เซ็นต์ แต่ช่วงไหมนอนให้มีความชื้น 75 เปอร์เซ็นต์ หรือต่ำกว่า

      3. การเลี้ยงไหมวัยแก่ ซึ่งเป็นวัยที่จะสร้างสารไหมที่ต่อมไหม ซึ่งการเลี้ยงไหมที่ดีจะทำให้ได้ผลผลิตที่สูงสุด ดังนี้

          - วัย 4 ต้องเลี้ยงไหมที่อุณหภูมิ 24-26 องศาเซลเซียส และมีความชื้น 75 เปอร์เซ็นต์

          - วัย 5 ต้องเลี้ยงไหมที่อุณหภูมิ 21-25 องศาเซลเซียส และมีความชื้น 70 เปอร์เซ็นต์

    ในรอบปีที่ผ่านมา(พ.ศ.2553-2554) อุณหภูมิและความชื้นเฉลี่ยในพื้นที่การเลี้ยงไหมหลายจังหวัด พบว่า

   1. ช่วงฤดูร้อน (เดือนมีนาคม-พฤษภาคม) จะมีอุณหภูมิอยู่ในช่วง 30-40 องศาเซลเซียส เฉลี่ย 35องศาเซลเซียส ความชื้นอยู่ในช่วง 35-90 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 43 เปอร์เซ็นต์

     ปัญหาที่พบและแนวทางแก้ไข ใบหม่อนอ่อนสำหรับเลี้ยงไหมวัยอ่อน(วัย1-3)หายากเพราะอากาศมีความชื้นต่ำ ต้องเตรียมใบหม่อนอ่อนไว้ส่วนหนึ่ง ควรเลือกแปลงหม่อนที่อยู่ใกล้บ้าน หรือใกล้โรงเลี้ยงซึ่งสามารถให้น้ำได้ ก็จะทำให้ได้ใบหม่อนที่อ่อน เหมาะสมกับหนอนไหมวัยนี้ หนอนไหมมักจะเป็นโรคหัวสองและลอกคราบไม่ออก ทำให้ตายได้ จำเป็นต้องลดอุณหภูมิและเพิ่มความชื้นภายในโรงเลี้ยงไหม และให้ใบหม่อนที่เปียกน้ำได้ กรณีที่อุณหภูมิในโรงเลี้ยงสูง แต่ความชื้นต่ำกว่าที่ไหมต้องการ ขอแนะนำให้ใช้เทคนิคการลดความร้อน โดยใช้ผ้าเปียกคลุมกองไหมเมื่ออุณหภูมิสูงกว่า 25 องศาเซลเซียส พร้อมกับเพิ่มความชื้นโดยราดน้ำที่พื้นโรงเลี้ยงไหม และใช้ผ้าดิบหรือผ้าห่มราคาถูกแบบที่เขาแจกช่วงประสบภัยหนาว ชุบน้ำแล้วขึงเป็นผ้าม่าน รับรองได้ผลดีแน่ เพราะช่วงเรียนอยู่คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น อาจารย์ผมท่านหนึ่งที่ได้ทุนการศึกษาไปเรียนปริญญาเอกที่อินเดีย บอกว่าอากาศของเมืองที่ไปเรียนร้อนมาก ดูหนังสือหนังหาไม่ได้เลย ต้องใช้ผ้าห่มชุบน้ำขึงรอบห้องจึงจะคลายร้อนเพื่อให้มีสมาธิอ่านหนังสือได้ หนอนไหมก็คงเหมือนเรา อยากกินใบหม่อนให้สบาย จะได้โตวันโตคืน สร้างรังใหญ่ๆให้เรา

    2. ช่วงฤดูฝน (เดือนมิถุนายน-กันยายน) อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 30-38 องศาเซลเซียส เฉลี่ย 34 องศาเซลเซียส ความชื้นอยู่ในช่วง 85-99 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 88 เปอร์เซ็นต์ เรียกว่าสูงทั้งอุณหภูมิและความชื้นเลยทีเดียว

    ปัญหาที่พบและการแก้ไข ใบหม่อนอวบน้ำ ถ้าใบหม่อนเปียกต้องผึ่งลมในที่ร่มให้แห้งก่อน ห้ามใช้ใบหม่อนเปียกน้ำเลี้ยงหนอนไหมโดยเด็ดขาด จะทำให้หนอนไหมเสี่ยงต่อการเกิดโรค หนอนไหมมีโอกาสเป็นโรค เช่นโรคกะทิ โรคหัวส่อง และโรคที่เกิดจากเชื้อรา จำเป็นต้องลดอุณหภูมิและความชื้นในโรงเลี้ยงไหม ด้วยการเปิดพัดลม ให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก ขอให้สังเกตว่าถ้าอุณหภูมิสูง และความชื้นสูงกว่าที่ไหมต้องการ ต้องใช้เทคนิคลดความร้อน เพิ่มการถ่ายเทอากาศ ดังได้กล่าวไว้แล้ว ก็จะลดความเสี่ยงต่อการเกิดโรคของหนอนไหม หนอนจะรู้สึกสบาย ไม่คิดฆ่าตัวตาย มีแต่อยากตอบแทนเจ้าของด้วยเส้นใยที่ทำให้เขาเป็นสุขถึงเพียงนี้ 

   3. ช่วงปลายฝน-ต้นหนาว (เดือนตุลาคม-พฤศจิกายน) อุณหภูมิอยู่ในช่วง 20-35 องศาเซลเซียส เฉลี่ย 27 องศาเซลเซียส ความชื้นอยู่ในช่วง 60-92 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 76 เปอร์เซ็นต์

    ปัญหาที่พบและการแก้ไข ในช่วงนี้เป็นระยะเวลาที่เหมาะสมในการเลี้ยงไหมมาก เนื่องจากใบหม่อนก็อุดมสมบูรณ์ ใบไม่อวบน้ำ อุณหภูมิและความชื้นก็ไม่สูงหรือต่ำเกินไป หนอนไหม ช้อบชอบ ขอให้มีการโรยปูนขาว และสารป้องกันกำจัดเชื้อราตามปฏิทินการเลี้ยงไหมทั่วไปก็ได้ผลผลิตรังไหมเต็มเม็ดเต็มหน่วยแล้วแหละครับ

   4. ช่วงฤดูหนาว(เดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์)อุณหภูมิอยู่ในช่วง10-28 องศาเซลเซียส เฉลี่ย 19 องศาเซลเซียส ความชื้นอยู่ในช่วง 40-92 เปอร์เซ็นต์ เฉลี่ย 66 เปอร์เซ็นต์ ความชื้นเฉลี่ยค่อนข้างต่ำ และอากาศค่อนข้างเย็น

    ปัญหาที่พบและการแก้ไข ใบหม่อนไม่เพียงพอต่อการเลี้ยงไหมวัยแก่ (วัย4-5) ดังนั้นถ้าจะให้ได้ผลผลิตรังไหมเต็มที่ หนอนไหมจะต้องกินอิ่มทุกมื้อ สวนหม่อนจึงจำเป็นต้องมีการให้น้ำในช่วงแล้ง ใบหม่อนจะต้องสดและไม่เปียกน้ำ หนอนไหมที่ต้องผจญภัยอากาศหนาวเย็น และความชื้นต่ำต้องใช้เวลาเลี้ยงนานกว่าปกติ แถมเสี่ยงต่อการเกิดโรค ทั้งโรคกะทิและโรคที่เกิดจากเชื้อรา จำเป็นต้องใช้แผ่นพลาสติกคลุมหนอนไหมบนชั้นเลี้ยง และเพิ่มอุณหภูมิภายในโรงเลี้ยงไหมด้วยเตาถ่านหรือเครื่องทำความร้อนด้วยไฟฟ้า(ตามกำลังทรัพย์)เพื่อให้อุณหภูมิภายในโรงเลี้ยงไม่ต่ำกว่า 20 องศาเซลเซียส หนอนไหมจะได้ไม่หนาวจนจับไข้และจะได้มีแรงกินใบหม่อนได้ตลอด ไม่ต้องยืดอายุตัวเอง ทำให้เจ้าของหงุดหงิดใจที่ได้ตังค์ช้าออกไปอีก

      จะเห็นว่าการเลี้ยงไหมในรอบ 1 ปี มีปัญหาและอุปสรรคที่แตกต่างกัน จำเป็นต้องปรับวิธีการเลี้ยง และแก้ปัญหาไปตามแต่ละฤดูกาล แต่ละสภาพภูมิอากาศ และแต่ละสภาพพื้นที่ แม้จะเกิดการเปลี่ยนแปลงของโลกไปอย่างไร เราจะต้องปรับตัว ปรับวิธีการ ให้เหมาะสมกับความต้องการของหนอนไหม แมลงเศรษฐกิจที่ให้ทั้งอาชีพและคุณค่าต่อเราและประเทศชาติมาอย่างยาวนานและต่อเนื่อง จึงขอให้เกษตรกรผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ได้มีความรู้ ความเข้าใจเบื้องต้น และนำไปเป็นข้อสังเกต ข้อปฏิบัติ ให้เกิดประโยชน์กับการปลูกหม่อนเลี้ยงไหมต่อไป

เอกสารอ้างอิง 

ชาญชัย  ถาวรอนุกูลกิจ. 2538. การผลิตหม่อนไหม. ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น. 351 หน้า.

คำขอบคุณ 

คุณอัญชลี  โพธิ์ดี นักวิชาการเกษตรปฏิบัติการ สำนักพัฒนาและถ่ายทอดเทคโนโลยีหม่อนไหม กรมหม่อนไหม ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ

คุณจิตรกร บัวปลี บรรณาธิการวารสารสมาคมผู้ปลูกหม่อนเลี้ยงไหม ที่เอื้อเฟื้อภาพประกอบ

คุณนันทิดา มาเสม เกษตรกรบ้านเสลี่ยงแห้ง ต.สะเดาะพง อ.เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ ที่ให้ข้อมูลและประสบการณ์การเลี้ยงไหม

บริษัทจุลไหมไทย จำกัด ที่เอื้อเฟื้อสถิติอุณหภูมิและความชื้นของพื้นที่การเลี้ยงไหมของเกษตรกรจังหวัดต่างๆ

หมายเลขบันทึก: 500544เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 12:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 สิงหาคม 2012 14:38 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การเลี้ยงไหมต้องปรับเมื่อโลกเปลี่ยน....ต้องปรับเปลี่ยน...Change...Change ด้วยนะคะ

ผมอยู่เพชรบูรณ์อยากเลี้ยงต้องติดต่อที่ไหนได้คับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท