คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22 /2555 ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาได้ด้วยตนเอง


คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18 – 22 / 2555 นับเป็นคุณูปการต่อประเทศชาติอย่างยิ่ง เพราะเป็นคำวินิจฉัยที่ได้รับรองซึ่งสิทธิและเสรีภาพของประชาชนในความเป็นผู้เสียหายมีสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญาต่อการกระทำของสมาชิกรัฐสภาหรือมีการใช้อำนาจรัฐที่ได้กระทำอันไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญและละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของประชาชนได้

คำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่ 18-22 /2555 ได้รับรองสิทธิและเสรีภาพให้ประชาชนเป็นผู้เสียหายฟ้องคดีอาญาได้ด้วยตนเอง

 

           มีผู้ส่งบทความนี้มาให้ทาง อีเมล์    ผมเห็นว่ามีประโยชน์ต่อสังคม จึงนำมาเผยแพร่ต่อ

 

ยินดี วัชรพงศ์ ต่อสุวรรณ

       

       บทความทางวิชาการนี้ผู้เขียนมิได้มีเจตนาที่จะก่อให้เกิดความเสียหายแก่ผู้ใด แต่มีเจตนาที่จะเผยแพร่ความเห็นทางวิชาการสู่สาธารณะ เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้กลายเป็นกฎหมายรัฐธรรมนูญไปโดยอัตโนมัติ เนื่องจากคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเป็นเด็ดขาดมีผลผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาลและองค์กรอื่นของรัฐที่ต้องให้ความคุ้มครองในสิทธิและเสรีภาพของประชาชน ( ตาม ร.ธ.น.มาตรา 27 , 216 วรรค 5 ) และเมื่อรัฐธรรมนูญได้บัญญัติให้คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและความเห็นในการวินิจฉัยของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องเผยแพร่โดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญและความเห็นของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญนั้น อาจจะกลายเป็นปัญหาการตีความคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะเกิดปัญหาความขัดแย้งในสังคมจนอาจกลายเป็นวิกฤติของชาติไปในที่สุด

       

        รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ไม่มีบทลงโทษทั้งทางอาญาและทางแพ่ง แต่เป็นกฎหมายสูงสุดที่เป็นแม่แบบของการปกครองประเทศ เป็นกฎหมายที่เป็นหลักในการกำหนดการใช้อำนาจขององค์กรรัฐทุกองค์กรไว้อย่างเหมาะสมกับสังคมในขณะหนึ่ง หากมีการใช้อำนาจที่ไม่เหมาะสมโดยมีการทุจริต คอรัปชั่นไม่ว่าโดยการกระทำโดยตนเองของผู้ใช้อำนาจรัฐ หรือ โดยนโยบายของพรรคการเมือง พรรคการเมืองก็อาจจะต้องถูกถอดถอน ถูกยุบพรรคได้ รัฐธรรมนูญจึงเป็นกฎหมายที่กำหนดการตัดสิทธิของนักการเมือง ของพรรคการเมือง อันมิใช่เป็นการตัดสิทธิอันเนื่องมาจากสถานภาพของบุคคลเป็นหลัก แต่เป็นการตัดสิทธิอันเนื่องจากการกระทำอันไม่ชอบด้วยกฎหมายหรือขัดต่อรัฐธรรมนูญของนักการเมืองหรือของพรรคการเมืองเป็นหลัก รัฐธรรมนูญได้วางหลักเกณฑ์ที่แน่นอนในการกระทำที่เกี่ยวข้องกันในสถานะที่เท่าเทียมกันของอำนาจทั้งสามฝ่าย

       

        รัฐธรรมนูญได้ให้อำนาจรัฐบาลประเทศไทย ( government ) ในการทำหน้าที่ที่แตกต่างกัน ทั้งในอำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร และอำนาจตุลาการ อำนาจทั้งสามอำนาจแม้จะมีที่มาแตกต่างกัน ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งโดยตรง เลือกตั้งโดยอ้อม หรือมาจากการแต่งตั้งโดยการยอมรับของประชาชนหรือสังคมหรือโดยนิติประเพณี เมื่อเข้ามาสู่การมีอำนาจของทุกฝ่ายแล้ว ก็ต้องถือว่าทุกฝ่ายเป็นผู้ที่ทำหน้าที่เป็นรัฐบาลในอำนาจหน้าที่และความรับผิดชอบที่แตกต่างกัน ซึ่งเท่าเทียมกัน คืออำนาจทั้งสามจะต้องตรวจสอบและคานซึ่งกันและกันตามหลักประชาธิปไตยที่เป็นสากล เพราะการใช้อำนาจทั้งสามฝ่ายนั้นเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยในการทำหน้าที่โดยการใช้อำนาจรัฐในฐานะเป็นรัฐบาลทั้งสิ้น

       

        ส่วนการเข้าสู่การมีอำนาจรัฐของฝ่ายใด โดยวิธีใด เป็นอำนาจของประชาชนโดยตรงที่จะเป็นผู้ตัดสินใจ ไม่ใช่เป็นอำนาจของผู้เข้าสู่อำนาจและมีอำนาจแล้ว จะเป็นผู้ตัดสินหรือกล่าวอ้างว่าการเข้าสู่อำนาจของฝ่ายอื่นไม่ถูกต้องหรือไม่ถูกใจตนเองนั้นแล้ว จะใช้ความเข้าใจในอำนาจหน้าที่ของตนเอง จะยุบองค์กรของรัฐอื่นนั้นหาอาจทำได้ไม่ ผู้มีและใช้อำนาจรัฐไม่ได้มีและใช้อำนาจรัฐโดยอำนาจของตนเอง แต่เป็นการมีและใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนทั้งสิ้น ผู้ใช้อำนาจรัฐไม่ใช่เป็นดาวฤกษ์ที่จะมีแสงสว่างในตัวเองและให้แสงสว่างจากตัวเองได้ แต่ผู้ใช้อำนาจรัฐเป็นดาวเคราะห์ที่ต้องอาศัยแสงสว่างจากดวงอาทิตย์ คือเป็นผู้ใช้อำนาจรัฐโดยอาศัยอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยเท่านั้น หากผู้ใช้อำนาจรัฐใช้อำนาจรัฐโดยปราศจากความเข้าใจในที่มาแห่งอำนาจหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐของตนเองแล้ว สันติภาพหรือความปรองดองก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้ในราชอาณาจักรไทย การแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยมีจุดประสงค์ที่จะจัดทำรัฐธรรมนูญเพื่อยกเลิกรัฐธรรมนูญที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน โดยไม่มีการลงประชามติให้แก้ไขรัฐธรรมนูญ ( mandatory referendum ) หรือการออกกฎหมายเพื่อบังคับให้คนปรองดองหรือบังคับให้เกิดสันติภาพในความขัดแย้งในทางอำนาจนั้น ไม่อาจกระทำได้ไม่ว่าในกรณีใด หากผู้ใช้อำนาจรัฐไม่ทราบและไม่เข้าใจในอำนาจหน้าที่ ( Authority ) ของตนเอง ซึ่งมีความหมายถึงความไร้เดียงสาและขาดความรับผิดชอบ ( responsibility) ในการทำหน้าที่ของตนเองเป็นอย่างยิ่ง

       

        พลเมืองของรัฐใด ประเทศใดที่ผู้ใช้อำนาจรัฐรู้แต่เฉพาะการมีอำนาจหน้าที่ในการใช้อำนาจรัฐเพียงด้านเดียว โดยไม่รับรู้ถึงการได้มาซึ่งอำนาจหน้าที่โดยสุจริต ไม่รับรู้ถึงความรับผิดชอบและวินัยของการทำหน้าที่โดยการใช้อำนาจอธิปไตยของประชาชนแล้ว รัฐนั้น ประเทศนั้น อาจต้องถึงกาลเวลาที่ล่มสลายในที่สุด

       

        จึงเป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่พลเมืองของรัฐและผู้ใช้อำนาจรัฐจะต้องรู้ถึง “การถูกจำกัดสิทธิในการใช้อำนาจรัฐ” ซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของประชาชนอย่างถ่องแท้ด้วย

       

       ผู้ใช้อำนาจรัฐหรือรัฐบาล ไม่ว่าจะเป็นนิติบัญญัติ บริหาร หรือตุลาการจะต้องตระหนักและต้องรู้ว่า รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายที่ได้ให้อำนาจในสายงานดังกล่าวโดยสมดุล ในขณะเดียวกัน รัฐธรรมนูญก็เป็นกฎหมายที่ได้จำกัดการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลหรือจำกัดสิทธิในการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาลไว้ด้วยเช่นกัน ( Constitution provide limitation on the power of government ) การจำกัดการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลที่โดดเด่นที่สุดที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย 2550 คือ หมวด 3 ซึ่งว่าด้วย สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยและโดยเฉพาะมาตรา 26 , 27 , 28 และ 29

       

        ดังนั้นการใช้อำนาจหน้าที่ไม่ว่าจะเป็นนิติบัญญัติ บริหาร หรือ ตุลาการ รวมทั้งองค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐ จะใช้อำนาจหน้าที่โดยปราศจากการคำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยทั้งประเทศนั้นหาได้ไม่ ( ตาม ร.ธ.น. มาตรา 26 ) ในการใช้อำนาจหน้าที่ดังกล่าวจึงต้องมีจิตสำนึก ( Conscience ) ของการเป็นผู้ใช้อำนาจหน้าที่ในฐานะรัฐบาล โดยต้องมีความผูกพันที่จะต้องคุ้มครอง ( bonding ) ซึ่งสิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้ โดยชัดแจ้ง ( ตาม ร.ธ.น.มาตรา 30 ถึง มาตรา 69 ) หรือรัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองไว้โดยปริยาย ( ตาม ร.ธ.น.มาตราอื่นๆในหมวดอื่น ) หรือได้รับรองไว้โดยคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ และโดยเฉพาะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 18 – 22 /2555 

       

        การจำกัดการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐบาลโดยรัฐธรรมนูญนั้น รัฐธรรมนูญได้จำกัดการใช้อำนาจหน้าที่เฉพาะในเรื่อง “การตรากฎหมาย หรือ การออกกฎหมาย ” “ การใช้บังคับกฎหมาย” และ “การตีความกฎหมาย” เท่านั้น ( ตาม ร.ธ.น.มาตรา 27 ) การจำกัดการใช้อำนาจหน้าที่ในกรณีดังกล่าว รัฐธรรมนูญได้จำกัดการใช้อำนาจหน้าที่ขององค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานอื่นของรัฐด้วย

       

        การที่รัฐธรรมนูญได้จำกัดการใช้อำนาจหน้าที่หรือจำกัดสิทธิในการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาลในการ “ตรากฎหมาย” “การใช้บังคับกฎหมาย” และ “ การตีความกฎหมาย” ดังกล่าว จึงเป็นการที่รัฐธรรมนูญได้กำหนดให้รัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐต้องมีความรับผิดร่วมกัน ทั้งในความรับผิดชอบตามกฎหมาย ( legal responsibility ) ความรับผิดชอบในทางการเมือง( political responsibility ) และความรับผิดชอบในทางสังคม ( social responsibility ) โดยจะ “ ตรากฎหมาย” “ ใช้บังคับกฎหมาย” และ “ ตีความกฎหมาย ” โดยไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของประชาชนตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติคุ้มครองไว้ไม่ได้ และจะ“ตราออกกฎหมาย” “ใช้บังคับกฎหมาย ” และ “ตีความกฎหมาย” โดยไม่คำนึงถึงศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ สิทธิและเสรีภาพที่รัฐธรรมนูญบัญญัติรับรองไว้ไม่ได้ด้วยเช่นกัน

       

        ดังนั้นรัฐธรรมนูญมาตรา 26 , 27 , 28 และ 29 เป็นบทบัญญัติรัฐธรรมนูญที่ต้องนำไปใช้บังคับกับการใช้อำนาจของรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญและหน่วยงานของรัฐในทุกกรณีที่มี “ การกระทำ หรือ จะกระทำ ” ของรัฐบาล ในส่วนที่เกี่ยวกับ “การตรากฎหมาย” “ ใช้บังคับกฎหมาย” และ “ตีความกฎหมาย” ในทุกกรณี เพราะรัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดที่เป็นหลักประกันซึ่งสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของชนชาวไทยไว้ ( Mandatory statute ) ตามหลักประชาธิปไตยตามมาตรฐานสากล

       

        ในความรับผิดชอบร่วมกันทางกฎหมาย ทางการเมือง และทางสังคม ของรัฐบาลที่จะต้องร่วมกันรับผิดชอบในการใช้อำนาจ “ ตรากฎหมาย ” “ ใช้บังคับกฎหมาย ” และ

       “ ตีความในกฎหมาย ” ตามระบอบประชาธิปไตยนั้น คืออำนาจทั้งสามต้องตรวจสอบและคานอำนาจกัน การตรวจสอบและคานอำนาจกันจึงไม่ใช่เป็นเรื่องก้าวก่ายหรือก้าวล่วงอำนาจของอีกฝ่ายหนึ่งแต่อย่างใดไม่ และไม่ใช่เป็นการสร้างอำนาจให้ตนเองหรือขยายอำนาจของตนเองแต่อย่างใด

       

       อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหารและอำนาจตุลาการ จะมีอำนาจตรวจสอบและคานอำนาจกันได้หรือไม่นั้น จะขึ้นอยู่กับ “ มีการกระทำ ” โดยการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งโดยละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ หรือใช้อำนาจรัฐโดยไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้หรือไม่ ใช้อำนาจรัฐโดยละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยหรือไม่ เพราะการใช้อำนาจรัฐของรัฐบาลไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี หรือ ศาล รวมทั้งการใช้อำนาจขององค์กรตามรัฐธรรมนูญหรือของหน่วยงานของรัฐ เช่นอำนาจของอัยการสูงสุดตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 ก็ล้วนเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทย ซึ่งการใช้อำนาจดังกล่าวต้องอยู่ภายใต้บังคับของรัฐธรรมนูญ มาตรา 26 , 27 , 28 และ 29 และมาตราอื่นๆตามรัฐธรรมนูญในหมวด 3 ทั้งสิ้น 

       

       การที่ผู้ร้องยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญตามคำร้องที่ 18-22/2555 นั้น เป็นการที่ผู้ร้องซึ่งเป็นประชาชนได้ขอให้ศาลรัฐธรรมนูญใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางศาล เพื่อให้ตรวจสอบการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางรัฐสภาว่า การที่ฝ่ายนิติบัญญัติ ฝ่ายบริหารใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางรัฐสภาโดยการแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 เพื่อให้มีการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามนโยบายของพรรคการเมืองที่ได้หาเสียงไว้ในขณะเลือกตั้งและที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภาเพื่อนำมาใช้แทนรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับในปัจจุบันนั้น เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยโดยไม่คำนึงถึงสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของชนชาวไทย และไม่คุ้มครองซึ่งสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทยที่รัฐธรรมนูญ 2550 ได้บัญญัติรับรองไว้ ได้หรือไม่ ? และพรรคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งเข้ามาเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทยทำหน้าที่บริหารและนิติบัญญัติโดยใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยนั้น จะนำนโยบายของพรรคการเมืองมาใช้แทนอำนาจอธิปไตยของชนชาวไทยที่ได้บัญญัติบังคับใช้ไว้รัฐธรรมนูญ 2550 โดยการจัดทำรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่เพื่อให้อำนาจอธิปไตยของชนชาวไทยเป็นอำนาจอธิปไตยตามนโยบายของพรรคการเมืองที่ได้แถลงนโยบายต่อรัฐสภา โดยอาศัยเสียงข้างมากในรัฐสภานั้น จะกระทำได้หรือไม่ ? และจะเป็นการล้มล้างรัฐธรรมนูญ 2550 ที่ได้ผ่านประชามติแล้วหรือไม่ ? 

       

        การที่ผู้ร้องได้ยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญจึงมิใช่เป็นกรณีมีข้อพิพาทระหว่างผู้ร้องกับรัฐสภาหรือคณะรัฐมนตรีเช่นเดียวกับคดีที่มีข้อพิพาททางแพ่งและคดีปกครอง แต่เป็นกรณีที่ได้มีการใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของผู้ใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย โดยใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยเพื่อจะจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้นใช้แทนรัฐธรรมนูญที่ใช้ในปัจจุบัน โดยให้สภาร่างรัฐธรรมนูญหรือสสร.เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เพื่อให้เป็นไปตามนโยบายของพรรคการเมือง กรณีดังกล่าวจึงไม่อาจจะใช้ประเด็น “การมีอำนาจยื่นคำร้องของผู้ร้อง” หรือ “การมีอำนาจรับคำร้องของศาล” มาพิจารณาในเบื้องต้นได้ เพราะสิทธิในการยื่นคำร้องของผู้ร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญในกรณีนี้ไม่ใช่เป็นเรื่องเกี่ยวกับเขตอำนาจการพิจารณาพิพากษาคดีของศาลรัฐธรรมนูญ แต่เป็นการใช้อำนาจอธิปไตยทางศาลรัฐธรรมนูญเพื่อให้ศาลตรวจสอบการใช้อำนาจอธิปไตยทางรัฐสภาของคณะรัฐมนตรีและของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ว่าเป็นการใช้อำนาจทางรัฐสภาโดยละเมิดต่อสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญของผู้ร้องหรือไม่ ซึ่งศาลรัฐธรรมนูญจะใช้หลักการ “ตีความกฎหมาย” ในแนวทางของการยอมรับสิทธิของผู้ร้องมิใช่จำกัดสิทธิตามรัฐธรรมนูญมาตรา 68 วรรคสอง ( Rule adjudication ) แต่เพียงประการเดียวนั้น ย่อมจะเกิดปัญหาในทางการเมืองและในทางสังคมต่อศาลรัฐธรรมนูญอย่างร้ายแรงด้วยการที่ศาลถูกบดขยี้ในทางการเมือง ( Steam roller ) และมีข้อครหาว่า ศาลรัฐธรรมนูญสร้างกฎหมายให้อำนาจกับตนเอง หรือศาลรัฐธรรมนูญไม่มีอำนาจตามรัฐธรรมนูญที่จะก้าวล่วงอำนาจนิติบัญญัติได้ และ ฯลฯ

       

       ศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นจะต้องใช้หลัก “ การบังคับใช้กฎหมาย” โดยจะต้องนำบทบัญญัติที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของชนชาวไทย มาตรา 26 , 27 , 28 มาร่วมบังคับใช้กับมาตรา 68 ด้วย เพราะมิฉะนั้นคำสั่งรับคำร้องของผู้ร้องไม่อาจป้องกันการถูกบดขยี้และถูกข้อครหาที่จะเกิดขึ้นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ และไม่อาจป้องกันอคติ ( deviant conduct ) ของผู้มีอำนาจรัฐฝ่ายอื่นหรือมวลชนของผู้มีอำนาจรัฐฝ่ายอื่นที่ต้องการให้ศาลรัฐธรรมนูญตีความกฎหมายเพื่อให้ประโยชน์แก่ตนและพวกตนเอง และอาจจะนำมาซึ่งการจลาจลเพราะอาจจะมีการเผชิญหน้าของมวลชนขึ้นได้

       

        และโดยเฉพาะเมื่อเกิดมีการชุมนุมต่อต้านของนปช. หรือ คนเสื้อแดงที่ได้แสดงออก

       ถึงการไม่ยอมรับการมีอำนาจรับคำร้องของศาลรัฐธรรมนูญไว้พิจารณาได้แล้ว แสดงให้เห็น

       ถึงแรงจูงใจภายใน ( intrinsic motivation ) ของกลุ่มนปช. และคนเสื้อแดงที่จะแทรกแซง

       ( intervention ) การใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางศาลรัฐธรรมนูญของผู้ร้องที่ได้ยื่นคำร้องไว้ต่อศาลรัฐธรรมนูญ การแทรกแซงดังกล่าวก็เพื่อให้การจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของฝ่ายนิติบัญญัติ และฝ่ายบริหารต้องไม่มีอุปสรรคและถูกตรวจสอบเสมือนหนึ่งอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยนั้น เป็นอำนาจที่จะใช้ได้แต่เฉพาะการใช้อำนาจรัฐของฝ่ายนิติบัญญัติและฝ่ายบริหารซึ่งได้รับการเลือกตั้งเข้ามาเท่านั้น โดยได้มีการกระทำของนปช.และคนเสื้อแดงปรากฏแก่ประชาชน ปรากฏการณ์ดังกล่าวเป็นการกระทำถึงขั้นเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในกฎหมายแผ่นดิน ( Mandatory statutes ) อันมิใช่เป็นการกระทำภายในความมุ่งหมายแห่งรัฐธรรมนูญ จึงเข้าข่ายของการกระทำความผิดอาญามาตรา 116 ซึ่งย่อมเกิดอันตรายอย่างใหญ่หลวงต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เพราะการแก้ไขรัฐธรรมนูญโดยจัดทำรัฐธรรมนูญใหม่ตามนโยบายของพรรคการเมืองดังกล่าว ย่อมเป็นการได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศโดยวิธีการซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่ได้บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญตามมาตรา 68 วรรคแรก และการจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ตามนโยบายของพรรคการเมืองเสียงข้างมากในรัฐสภาโดยสสร.หรือจะโดยวิธีใดก็ตาม ก็จะเกิดระบบการปกครองตามนโยบายของพรรคการเมืองโดยนำนโยบายของพรรคการเมืองมาบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ซึ่งก็จะเกิดช่องทาง “ การรวบอำนาจของพรรคการเมือง นักการเมือง และมวลชนของพรรคการเมือง ” ตามหลัก “ ทฤษฎีสมคบกันรวบอำนาจ ” ( conspiratorial theory ) และมิใช่เป็นรัฐธรรมนูญที่อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย แม้จะมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขก็ตาม

       

       การนำรัฐธรรมนูญมาตรา 26 , 27, 28 มาบังคับใช้ จึงเป็นกรณีที่เป็นเรื่องต้องกระทำ มิใช่แต่เฉพาะศาลรัฐธรรมนูญเท่านั้น แต่จะต้องนำมาใช้บังคับในกรณีมีการใช้อำนาจรัฐ ไม่ว่าจะเป็นรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล องค์กรตามรัฐธรรมนูญ หรือหน่วยงานอื่นของรัฐ ในกรณีที่จะ “ ตรากฎหมาย ” “ ใช้บังคับกฎหมาย” และ “ ตีความกฎหมาย ” เพราะการปกครองของประเทศเป็นวิถีการปกครองแบบรัฐสภาในระบบผู้แทนราษฎร ( Representative government ) การใช้อำนาจรัฐจึงถูกจำกัดตามบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญดังกล่าว

       

        ด้วยความเคารพเป็นอย่างสูงต่อคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ ศาลรัฐธรรมนูญจำเป็นต้องใช้เหตุผลเชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่าง “ การกระทำ ” ที่ “ เกิดขึ้น” และ “ จะเกิดขึ้น” กับ “ สิทธิ เสรีภาพของประชาชนที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้” ว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมนั้น จะเกิดผลเป็นรัฐธรรมนูญที่ไม่คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพตลอดจนศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้แล้วนั้นเพียงใด เมื่อปรากฏว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับแก้ไขเพิ่มเติมได้บัญญัติให้คณะบุคคลหรือ สสร.เป็นผู้จัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ โดยจะมีการเลือกตั้งและแต่งตั้งสสร.โดยรัฐสภา โดยที่รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันไม่ได้ให้รัฐสภามีอำนาจมอบหมายอำนาจ ( delegation of power ) ให้มีการเลือกตั้งและแต่งตั้งสสร. เพื่อไปจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ได้เลย การใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยในการยกร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 และรัฐสภาได้พิจารณาผ่านวาระที่สองไปแล้วนั้น จึงเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยที่นอกเหนือบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน กรณีจึงเป็นการใช้อำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยที่นอกเหนือรัฐธรรมนูญ หรือ เกินกว่ารัฐธรรมนูญ มาตรา 291 การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิพิทักษ์รัฐธรรมนูญและละเมิดต่อสิทธิเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตยอยู่ในตัว หรือกล่าวอีกนัยหนึ่ง เป็นการที่ตัวแทนได้กระทำการเกินกว่าอำนาจของตัวการและทำการนอกเหนืออำนาจของตัวการ โดยแก้ไขรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ให้มีอำนาจเหนือตัวการและถ่ายทอดอำนาจเหนือตัวการไปให้ผู้อื่นหรือสสร.ใช้อำนาจจัดทำรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ขึ้น การกระทำดังกล่าวสุ่มเสี่ยงต่อการนำพาประเทศไปสู่การปกครองในระบอบทรราชหรือทรชนาธิปไตย ( Kakistocracy ) ได้โดยง่าย การกระทำดังกล่าวจึงเป็นการกระทำนอกรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ( extraconstitution) หรือขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (unconstitution ) ร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมที่ได้ผ่านวาระสองของรัฐสภาไปแล้วนั้น จึงเป็นร่างรัฐธรรมนูญที่ละเมิดต่อสิทธิ เสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของประชาชนตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 , 27, 28 และ 68 แล้ว

       

        ร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ที่ได้ผ่านการพิจารณาของรัฐสภาวาระสองไปแล้วนั้น จึงเป็นร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เป็นโมฆะ เพราะขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ประกอบกับมาตรา 26 , 27, 28 , 68 แต่เมื่อร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวยังไม่ใช่เป็นกฎหมาย ยังไม่มีผลบังคับ จึงไม่อาจกล่าวได้ว่าร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ 2550 กรณีไม่เข้าหลักเกณฑ์ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 6 ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมจึงไม่ตกไปเพราะเป็นโมฆะหรือเป็นอันใช้บังคับไม่ได้ ในความหมายทางรัฐสภาและทางการเมือง อันมิใช่เป็นความหมายในทางรัฐธรรมนูญหรือความหมายตามหลักกฎหมายสากล แต่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมดังกล่าวได้ผูกพันรัฐสภาโดยในผลของ “การกระทำ” ของรัฐสภา เพราะรัฐสภาได้ใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางรัฐสภาโดยขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 291 ซึ่งได้ถูกตรวจสอบโดยศาลรัฐธรรมนูญแล้ว เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยไว้ในประเด็นที่สองแล้วว่า “ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยยกร่างใหม่ทั้งฉบับยังไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ มาตรา 291” แต่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ใช้อำนาจของศาลในการคานอำนาจของฝ่ายนิติบัญญัติหรือรัฐสภา โดยศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้วินิจฉัยสั่งการให้รัฐสภาเลิกการกระทำดังกล่าวตามรัฐธรรมนูญมาตรา 62 วรรคสอง แต่อย่างใด

       

       แต่ในทางตรงกันข้ามศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำสั่งยกคำร้องของผู้ร้อง จึงเป็นกรณีที่ศาลรัฐธรรมนูญได้ผลักใสให้เป็นภาระหน้าที่ของผู้ร้องซึ่งเป็นประชาชนต้องคอยระมัดระวัง “ การกระทำ”ของรัฐสภา โดยให้เสนอเรื่องต่ออัยการสูงสุดตรวจสอบข้อเท็จจริงและยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญให้วินิจฉัยสั่งการให้เลิกการกระทำดังกล่าวตราบเท่าที่รัฐธรรมนูญมาตรา 68 มีผลใช้บังคับ จึงเป็นการที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้นำบทบัญญัติแห่งรัฐธรรมนูญมาตรา 26 , 27 มาใช้บังคับเพื่อทำหน้าที่ใช้อำนาจรัฐซึ่งเป็นอำนาจอธิปไตยของปวงชนชาวไทยทางศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพและศักดิ์ศรีในความเป็นมนุษย์ของประชาชนซึ่งเป็นผู้ร้องตามที่รัฐธรรมนูญได้บัญญัติรับรองและคุ้มครองไว้ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 , 27 แต่อย่างใดเลย

       

        การที่ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้คุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องซึ่งเป็นประชาชน โดยไม่ได้สั่งให้รัฐสภาเลิกการกระทำการพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติม ซึ่งอาจจะมีการพิจารณาในวาระสามต่อไป ย่อมจะเกิดปัญหาทั้งปัญหาในทางกฎหมาย ปัญหาในทางการเมือง และปัญหาในทางสังคมตามมาอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ ซึ่งได้มีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาพิจารณาว่า จะดำเนินการต่อไปอย่างไร จะลงมติในวาระสามหรือจะพิจารณาแก้เป็นรายมาตราต่อไปได้ หรือไม่ ซึ่งได้เกิดวิกฤติของชาติทางรัฐสภาขึ้นแล้ว เพราะรัฐสภาไม่รู้ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป จึงได้เกิดมีการถ่วงร่างหรือแช่ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมไว้ในสภา ( pigeonholing ) ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหากับคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ได้วินิจฉัยไว้แล้วว่า “ การแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญโดยการยกร่างใหม่ทั้งฉบับไม่สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายมาตรา 291 ” นั้น ได้กลายเป็นการที่รัฐสภาได้กระทำการอันฝ่าฝืนรัฐธรรมนูญหรือขัดรัฐธรรมนูญมาตรา 291 อยู่ตลอดของการแช่ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในสภา โดยไม่ปรากฏว่ามีการเสนอญัตติให้เลื่อนการพิจารณาไปโดยไม่มีกำหนดเวลา ( motion to postpone indefinitely ) แต่อย่างใด วิกฤติของชาติทางรัฐสภาในกรณีนี้ ย่อมเป็นปัญหาในการปฏิบัติหน้าที่โดยไม่ชอบของประธานรัฐสภา และสมาชิกรัฐสภาที่เกี่ยวข้องตามมา ซึ่งเป็นการสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะมีผู้ยื่นขอถอดถอน และสุ่มเสี่ยงต่อการที่จะถูกดำเนินคดีอาญาเป็นอย่างยิ่ง เพราะคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญได้รับรองความเป็นผู้เสียหายในคดีอาญาให้กับประชาชนแล้วโดยสมบูรณ์ ประชาชนทุกคนมีสิทธิที่จะดำเนินคดีอาญากับสมาชิกรัฐสภาที่จะดำเนินการผ่านร่างรัฐธรรมนูญต่อไปได้ในศาลที่มีอำนาจดำเนินคดีอาญาได้ทั่วราชอาณาจักร

       

        เพราะศาลรัฐธรรมนูญได้มีคำวินิจฉัยว่า “ อำนาจในการก่อตั้งองค์กรสูงสุดทางการเมืองหรืออำนาจสถาปนารัฐธรรมนูญเป็นอำนาจของประชาชน อันเป็นที่มาโดยตรงในการให้กำเนิดรัฐธรรมนูญ” และมีคำวินิจฉัยอีกว่า “ การตรารัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2550 เป็นกระบวนการที่ได้ผ่านการลงประชามติโดยตรงของประชาชนผู้เป็นเจ้าของอำนาจอธิปไตย ประชาชนจึงเป็นผู้สถาปนารัฐธรรมนูญฉบับนี้” คำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญดังกล่าวได้ “ รับรองสิทธิความเป็นเจ้าของรัฐธรรมนูญ 2550 ” ของประชาชนไว้แล้วโดยสมบูรณ์ ซึ่งผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ศาล รวมทั้งองค์กรทุกองค์กร ( ตามร.ธน. มาตรา 27 )

       

       และโดยผลของคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ เมื่อมีการกระทำที่จะแก้ไขหรือเปลี่ยนแปลงรัฐธรรมนูญ 2550 ไม่ว่าทั้งหมดหรือแต่บางส่วน หรือจะพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมโดยจะลงมติในวาระสามต่อไป ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของผู้สถาปนารัฐธรรมนูญ จึงเป็นผู้ได้รับความเสียหายที่จะดำเนินคดีอาญากับผู้ที่กระทำการในการกระทำที่เข้าข่ายของการกระทำความผิดอาญาได้ทั้งสิ้น อันเป็นการใช้สิทธิทางศาลตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 28 วรรคสอง

       

        และโดยผลแห่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญนี้ ได้ผูกพันรัฐสภา คณะรัฐมนตรี ให้การแก้ไขรัฐธรรมนูญจะต้องดำเนินการตามหลักเกณฑ์และวิธีการตามที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 เท่านั้น และการแก้ไขรัฐธรรมนูญนั้นจะต้องแก้ไขภายใต้การถูกจำกัดการใช้อำนาจหน้าที่ของรัฐสภาตามรัฐธรรมนูญมาตรา 26 ถึงมาตรา 69 ด้วย เพราะมิฉะนั้นประชาชนจะเป็นผู้เสียหายที่จะใช้สิทธิดำเนินคดีอาญาทางศาลได้

       

        การแก้ไขรัฐธรรมนูญที่มีผลเป็นการเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเปลี่ยนแปลงรูปของรัฐ ตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 291 (1) วรรคสองนั้น รัฐธรรมนูญได้บัญญัติไม่ให้เสนอญัตติดังกล่าว ไม่ว่าญัตตินั้นจะมาจากการเสนอของคณะรัฐมนตรี สมาชิกรัฐสภา หรือแม้แต่มาจากอำนาจการเสนอญัตติของประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้ง ก็ห้ามมิให้เสนอญัตติทั้งสิ้น ( รัฐธรรมนูญห้ามเด็ดขาดตั้งแต่การเสนอญัตติ ) ญัตติร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่เข้าข่าย ตามรัฐธรรมนูญมาตรา 291 (1) วรรคสองนั้น รัฐสภาจะใช้สิทธิหรือใช้อำนาจหน้าที่ในทางรัฐสภาเพื่อพิจารณาหรือลงมติไม่ได้เลย เพราะเป็นญัตติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะซึ่งจะรับเข้าสู่การพิจารณาของรัฐสภาไม่ได้มาตั้งแต่ต้น

       

        ร่างรัฐธรรมนูญแก้ไขเพิ่มเติมที่ได้ผ่านการพิจารณาและลงมติในวาระสองไปแล้วนั้น เป็นการพิจารณาและลงมติในญัตติที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญและเป็นโมฆะ เมื่อรัฐสภาซึ่งเป็นองค์กรนิติบัญญัติไม่อาจใช้อำนาจนิติบัญญัติตรารัฐธรรมนูญในกรณีดังกล่าวได้เลย ( เป็นกรณีที่องค์กรนิติบัญญัติไม่อาจกระทำได้โดยเด็ดขาด ) การดำเนินการพิจารณาและลงมติของของรัฐสภาจึงเป็นการกระทำของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งเป็นเรื่องที่สมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญที่เข้าข่ายเพื่อล้มล้างหรือเปลี่ยนแปลงการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข หรือเป็นการที่สมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิและเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจในการปกครองประเทศซึ่งมิได้เป็นไปตามวิถีทางที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ตามมาตรา 68 วรรคแรก โดยเป็นการที่สมาชิกรัฐสภาใช้สิทธิและเสรีภาพของตนเองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคหนึ่ง ซึ่งรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคหนึ่งได้บัญญัติจำกัดการใช้สิทธิและเสรีภาพของสมาชิกรัฐสภาไว้ โดยให้ใช้สิทธิและเสรีภาพได้เท่าที่ไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพของบุคคลอื่น ไม่เป็นปฏิปักษ์ต่อรัฐธรรมนูญ หรือไม่ขัดต่อศีลธรรมอันดีของประชาชน เมื่อปรากฏว่าการใช้สิทธิและเสรีภาพของสมาชิกรัฐสภาขัดต่อรัฐธรรมนูญมาตรา 28 วรรคหนึ่ง และหากปรากฏว่

หมายเลขบันทึก: 500499เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 04:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 สิงหาคม 2012 18:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ผมคิดว่าท่านผู้อาวุโสกำลังเข้าใจผิดนะครับ

สิ่งที่ตุลาการรัฐธรรมนูญแถลงออกมานะครับ  เป็นเพียงความเห็นเกี่ยวกับตัวบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญนะครับ  ว่าสามารถดำเนินการได้แบบนี้ 1 2 3 หรือ 1 3 2 

 

แต่ไม่ได้หมายความจะต้องดำเนินการแบบนี้ไปโดยตลอดนะครับ เพราะการตีความตัวบทกฎหมายนั้น  แล้วแต่ว่าใครจะดีความเข้าทางไหนนะครับ  แล้วก็เป็นแต่ละกรณีครับ  แม้ว่าจะประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว ก็ตามครับ ขอเสนอความเห็นสั้น ๆ แค่นี้นะครับ

 

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท