Firms


เอกสารประกอบการเรียนการสอนเรื่อง หน่วยการผลิต Firms

หน่วยการผลิต (Firms)

หน่วยการผลิตมีความสำคัญมากต่อระบบเศรษฐกิจ เพราะทำให้มีสินค้าและบริการสนองความต้องการของประชาชน ทำให้บุคคลมีงานทำและมีรายได้ ทำให้ประชาชนมีความเป็นอยู่ดีขึ้น คำว่าการผลิตที่ใช้ในเศรษฐศาสตร์อาจเรียกชื่ออื่น ๆ หลายอย่างเช่น การประกอบการ การประกอบกิจการ วิสาหกิจ หรือถ้าเป็นการผลิตของเอกชนโดยมุ่งหวังกำไรเป็นสำคัญก็เรียกว่า ธุรกิจ หน่วยการผลิต

หลายหน่วย ทำการผลิตสินค้าและบริการ ประเภทเดียวกัน หรือเกี่ยวข้องกันเรียกว่าอุตสาหกรรม(INDUSTRY) ของสินค้าและบริการนั้น เช่นอุตสาหกรรมรถยนต์ก็หมายถึงการผลิตหน่วยการผลิตที่เกี่ยวกับรถยนต์ทั้งหมด อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวก็หมายถึงหน่วยการผลิตที่เกี่ยวกับการท่องเที่ยวทั้งหมด

หน่วยการผลิตมี 5 ประเภทใหญ่ๆ ดังนี้

1.  การประกอบการโดยเจ้าของคนเดียว (Sole Proprietorship)
2.  ห้างหุ้นส่วน (Partnership)
3.  บริษัทจำกัด (Corporative)
4.  สหกรณ์ (Co-operative)
5.  รัฐวิสาหกิจ (State Enterprise)

  1. การประกอบการโดยเจ้าของคนเดียว

คือ ธุรกิจที่มีบุคคลเพียงคนเดียวเป็นเจ้าของรับผิดชอบในการบริหารจัดการทุกด้านด้วยตนเอง จัดตั้งได้ง่ายและมักเป็นธุรกิจขนาดเล็ก เงินทุนในการดำเนินกิจการเป็นของตนเองหรือไม่ก็หยิบยืมมาจากญาติ พี่ น้อง เพื่อนฝูง การดำเนินกิจการทุกอย่างขึ้นอยู่กับเจ้าของกิจการ

ข้อดี

  1. จัดตั้งง่าย ไม่ยุ่งยาก
  2. มีอิสระในการตัดสินใจ
  3. ผลตอบแทนหรือกำไรทั้งหมดเป็นของเจ้าของ
  4. ระเบียบข้อบังคับของกฎหมายไม่เข้มงวด
  5. ค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการ
  6. การเลิกกิจการทำได้ง่าย ไม่ยุ่งยาก เพราะอยู่ที่การ  ตัดสินใจเพียงคนเดียว
  7. รักษาความลับของกิจการได้ดี ไม่รั่วไหล
  8. ความเอาใจใส่ และผู้บริหารมีความรับผิดชอบสูง
  9. ไม่ต้องผ่านกระบวนการทางกฎหมายมาก
  10. การดำเนินกิจการมีความคล่องตัว รวดเร็ว

 ข้อเสีย

  1. เจ้าของรับหนี้สินไม่จำกัดจำนวน
  2. การจัดหาเงินทุนทำได้ยาก
  3. ธุรกิจไม่ยืนยาวและต่อเนื่อง
  4. เจ้าของขาดความสามารถในการบริหารจัดการ และขาดประสบการณ์
  5. โอกาสก้าวหน้าของพนักงานมีน้อย
  6. อาจเป็นธุรกิจที่มีอายุสั้น เพราะการตัดสินใจเลิกกิจการ หรือยุบกิจการ อยู่ที่บุคคลคนเดียว
  7. การตัดสินใจอาจจะผิดพลาดได้ง่าย/เสี่ยงสูง
  8. ความสามารถในการระดมทุนไม่คล่อง การขอกู้ทำได้ยาก
  9. หลักประกันสินเชื่อที่จะขอกู้อยู่ในวงจำกัด
  10. หาผู้บริหารแทนได้ค่อนข้างยาก

2.  ห้างหุ้นส่วน (Partnership)

          คือ การประกอบการที่มีบุคคลตั้งแต่ 2 คนขึ้นไปทำสัญญาร่วมกัน และกระทำกิจการเพื่อวัตถุประสงค์ในการแบ่งผลกำไรหรือผลตอบแทนระหว่างกัน มีประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ เป็นข้อกำหนด และแบ่งได้ 2 ประเภท คือ

-  ห้างหุ้นส่วนสามัญ (Ordinary Partnership) หากกิจการขาดทุน ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบต่อหนี้ไม่จำกัดจำนวน จะจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย หรือไม่ก็ได้ ถ้าจดทะเบียนตามกฎหมายก็จะกลายเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญนิติบุคคล

-  ห้างหุ้นส่วนจำกัด (Limited Partnership)  หากกิจการขาดทุน ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดชอบต่อหนี้ตามจำนวนที่ระบุไว้ มีผู้ถือหุ้น 2 พวกคือ

ก. จะเป็นคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ มีความรับผิดชอบจำกัด ไม่เกินจำนวนเงินที่ลงหุ้นในห้าง

ข. จะเป็นคนเดียวหรือหลายคนก็ได้ มีความรับผิดชอบร่วมกันไม่จำกัดจำนวน ไม่จำกัด ความรับผิดชอบผู้เป็นหุ้นส่วนจำกัดความรับผิดชอบเข้าไปเกี่ยวข้อง จัดการโดยตรงไม่ได้ นอกจากออกเสียงลงคะแนนแนะนำในการแต่งตั้งถอดถอน ผู้จัดการเท่านั้น

ห้างหุ้นส่วนจำกัด กฎหมายบังคับให้จดทะเบียน ถ้าไม่จดทะเบียนกฎหมายถือว่าเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญประเภทไม่จดทะเบียน ไม่มีฐานะเป็นนิติบุคคลทางกฎหมาย

ข้อดี         

  1. จัดตั้งง่าย
  2. เป็นการระดมความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ของหุ้นส่วน
  3. สามารถระดมแหล่งเงินมาดำเนินงานได้ 
  4. ข้อจำกัดของกฎหมายไม่ยุ่งยาก
  5. การเลิกกิจการทำได้ง่าย

ข้อเสีย

  1. รับผิดชอบในหนี้สินไม่จำกัด
  2. การเจริญเติบโตของธุรกิจมีขอบเขตจำกัด
  3. ความขัดแย้งของหุ้นส่วน
  4. ถอนเงินทุนคืนยาก
  5. มีข้อจำกัดในการโอนหุ้น

3.  บริษัทจำกัด (Corporation)

          คือ นิติบุคคลที่ก่อตั้งขึ้นโดยมีวัตถุประสงค์ในการแสวงหากำไรจากกิจการและนำกำไรนั้นมาแบ่งกัน การลงทุนแบ่งออกเป็นหุ้น มูลค่าหุ้นละเท่าๆ กัน มีผู้ถือหุ้นตั้งแต่ 7 คน ขึ้นไป ผู้ถือหุ้นจะเป็นเจ้าของบริษัทร่วมกัน มีความรับผิดชอบจำกัดตามจำนวนหุ้น การทำงานกระทำโดยเจ้าหน้าที่ ซึ่งอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะกรรมการบริษัท

ข้อดี

  1. ผู้ถือหุ้นรับผิดชอบในหนี้สินจำกัด
  2. สามารถหาทุนเพิ่มโดยการขายหุ้นได้
  3. โอนหุ้นได้ง่าย
  4. อายุของการดำเนินงานไม่จำกัด
  5. สามารถดึงผู้ที่มีความรู้ความสามารถเข้ามาบริหารจัดการได้
  6. รูปแบบเหมาะสมกับธุรกิจทุกขนาด
  7. ดำเนินกิจการตามมติของกรรมการบริหาร
  8. เรื่องสำคัญ ต้องผ่านและขอมติจากที่ประชุมใหญ่ ช่วยพิจารณา กลั่นกรอง เป็นการลดความเสี่ยง

ข้อเสีย

  1. ขั้นตอนการจัดตั้งยุ่งยาก และต้องจดทะเบียนเป็นนิติบุคคล
  2. มีข้อจำกัดทางกฎหมายและข้อบังคับมาก
  3. สิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายในการบริหารจัดการสูง
  4. ความลับของบริษัทเปิดเผยได้ง่าย
  5. การบริหารสามารถใช้บุคคลภายนอกได้ ซึ่งอาจขาดความตั้งใจ เสียสละ ซื่อสัตย์
  6. ผู้ถือหุ้นใหญ่บงการบริษัทได้
  7. การตัดสินใจล่าช้า ต้องรอการอนุมัติจากกรรมการบริหาร
  8. ต้องนำเรื่องสำคัญเข้าที่ประชุมใหญ่ ให้รับทราบ และตัดสินใจ ทำให้การดำเนินงานล่าช้า    ไม่ทันการณ์

 บริษัท และ บรรษัท ต่างกันอย่างไร

          ทั้งสองคำ คือการเรียก การดำเนินการทางธุรกิจ แตกต่างกันที่ขนาดของธุรกิจบริษัท (Company) จะใช้เรียกกิจการใดกิจการหนึ่งที่ดำเนินธุรกิจจำเพาะด้าน เช่น บริษัท บาจา จำกัด ก็ดำเนินธุรกิจในการทำรองเท้าอย่างเดียว เป็นต้น

          บริษัท (Corporation) เป็นการเรียกกิจการที่มีธุรกิจขนาดใหญ่เกินกว่าหนึ่งกิจการ และอาจดำเนินการแบบครบวงจร นิยมใช้กับกิจการธุรกิจต่างประเทศ นิยมเรียกว่า “บรรษัทข้ามชาติ” มี 2 ลักษณะ คือ

1. เป็นแบบบริษัทแม่กับบริษัทลูก (Wholly Subsidiziries) ที่บริษัทแม่เป็นผู้ลงทุน และส่งผู้บริหาร หรือตัวแทนมาดำเนินกิจการ ซึ่งจะต้องทำตามนโยบายของบริษัทแม่ เช่น บริษัท IBM แห่งประเทศไทย จำกัด ต้องรับ นโยบายจากบริษัท IBM ในอเมริกา

2. เป็นบริษัทแบบร่วมทุน (Joint Ventures) คือ ต่างชาติเข้ามาซื้อหุ้นลงทุนร่วมกับคนไทย การกำหนดนโยบายและอำนาจสั่งการขึ้นอยู่กับผู้ถือหุ้นรายใหญ่ และจะทำงานกับบริษัทในเครือ ในลักษณะประสานงานร่วมเท่านั้น เช่น บริษัทมิตซูบิชิแห่งประเทศไทย  บริษัท หรือบรรษัท ตั้งขึ้นมาเพื่อรวบรวมทุนจากบุคคลหลายๆ คน ให้ได้เงินทุนก้อนใหญ่ แบ่งเป็นหุ้น มีมูลค่าเท่าๆ กันต่างรับผิดชอบจำกัดเพียงไม่เกินไม่เกินจำนวนเงินที่ตนเองมีหุ้นอยู่ มุ่งให้เป็นบริษัท หรือกิจการที่มีขนาดใหญ่มีประชาชนเป็นเจ้าของ อาจมีการซื้อขายหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ มีพระราชบัญญัติ เกี่ยวกับ บริษัทโดยเฉพาะ การดำเนินงานทำโดย จ้าหน้าที่ ภายใต้การควบคุมจากคณะกรรมการบริษัท ตามที่ประชุมใหญ่ของผู้ถือหุ้น แต่งตั้ง ผู้ถือหุ้นออกเสียงได้ ตามจำนวนหุ้นที่ตนถือใครมีหุ้นมากก็ออกเสียงได้มาก ผู้ถือหุ้นจะโอนและขายหุ้นให้แก่ผู้อื่นได้ ราคาหุ้นจะสูงหรือต่ำ ขึ้นอยู่กับธุรกิจของบริษัท ถ้ากำไรดีก็จะจ่ายเงินปันผลให้สูง ราคาหุ้นที่ขายอาจจะมีราคาสูงกว่ามูลค่าหุ้นที่จดทะเบียนไว้มากมาย

การรวบรวมเงินทุนของบริษัทมี 2 วิธีคือ.-

1. การขายหุ้น ให้แก่บุคคลทั่วไป ถ้าเป็นบริษัทมหาชนแจมีการขายหุ้นผ่านตลาดหลักทรัพย์ ผู้ถือหุ้นได้รับผลประโยชน์เป็นกำไร และเงินปันผล หุ้นของบริษัท ก็แบ่งเป็น  2  ประเภทคือ.-

          1.1  หุ้นสามัญ เป็นหุ้นที่ไม่มีสิทธิ์พิเศษในการรับเงินปันผล และรับเงินทุนคืน

          1.2  หุ้นบุริมสิทธิ์ ผู้ถือหุ้นสามัญไม่มีสิทธิพิเศษอย่างใดในการรับเงินปันผลและการรับเงินทุนคืน ผู้ถือหุ้นบุริมสิทธิ์ จะมีสิทธิ์พิเศษในการรับเงินปันผลก่อนหุ้นสามัญ เป็นอัตราที่กำหนดไว้แน่นอน นอกจากนั้นมีบุริมสิทธิ์รับเงินในการรับเงินก่อนด้วย การออกหุ้นบุริมสิทธิ์จะต้องระบุไว้ในรายงานการประชุมให้มีสิทธิ์พิเศษอะไรบ้าง และต้องนำความไปจดทะเบียน และหุ้นบุริมสิทธิ์อาจแบ่งเป็นหลายชนิด เช่น หุ้นบุริมสิทธิ์ไม่สะสม และหุ้นบุริมสิทธิ์สะสม เช่น ถ้าเป็นหุ้นบุริมสิทธิ์ไม่สะสม ก็ไม่มีสิทธิ์ได้รับเงินปันผลย้อนหลัง แต่ถ้าเป็นหุ้นบุริมสิทธ์สะสม ย่อมมีสิทธิ์จะสมสมกำไร ที่ได้ไม่ครบจำนวน ไว้รับในปีถัดไปได้

4.  สหกรณ์ (Co-operative)

          คือ หน่วยธุรกิจที่จัดตั้งโดยการจดทะเบียนโดยถูกต้องตามกฎหมาย โดยมีการกระทำร่วมกันของบุคคลตั้งแต่ 10 คนขึ้นไป มีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมอาชีพ การครองชีพของสมาชิกหรือผู้ถือหุ้น และของครอบครัวให้มีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ซึ่งต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบของสหกรณ์ ประเทศแรกที่ดำเนินงานเกี่ยวกับสหกรณ์ คือ ประเทศอังกฤษ สาเหตุมาจากความเดือดร้อนของคนงาน ในคริสต์ศตวรรษที่ 18-19 คนงานมีรายได้ตกต่ำ ถูกนายทุนขูดรีด และกดขี่คนงาน ชีวิตกรรมกร คนงาน อัตคัด ขัดสน จึงมีการรวมตัวกันจัดตั้งสหกรณ์คนงานทอผ้า ที่เมืองรอชเดล เมื่อ พ.ศ. 2387 กิจกรรมประสพผลสำเร็จ สหกรณ์จึงได้แพร่หลาย และมีการพัฒนา

          ในประเทศไทยเกิดจากภาวะบีบคั้นทางเศรษฐกิจและสังคมของประชาชนในชนบทคือชาววนา เนื่องมาจากเกิด อุทกภัย ฝนแล้ง ทำนาไม่ได้ผลขาดแคลนทุนทรัพย์ขาดเครื่องมือ เครื่องใช้ ถูกเอาเปรียบจากนายทุนและพ่อค้าคนกลางจึงได้มีการตั้งสหกรณ์ในชนบทครั้งแรกเมื่อ 26 ก.พ.2459 ณ.อำเภอเมือง จ.พิษณุโลกชื่อว่า  “สหกรณ์วัดจันทร์ ไม่จำกัดสินใช้”

-  เป็นสหกรณ์ประเภทหาทุน รวบรวมชาวนาที่ต้องการกู้เงินมาเป็นสมาชิก รับผิดชอบหนี้สินโดยไม่จำกัด ให้สมาชิกควบคุมซึ่งกันและกัน จะเข้าเป็นสมาชิกต้องรู้จักกันอย่างดี คุณสมบัติดูจากนิสัยใจคอ การงาน ต้องการช่วยเหลือสมาชิกที่ยากจน เงินที่จะให้กู้ได้กู้มาจากธนาคารไทยพาณิชย์

-  ต่อมามีการตั้ง สหกรณ์สินเชื่อประเภทจำกัดสินใช้ แพร่หลายมากในปัจจุบันและเรียกชื่อว่า สหกรณ์ออมทรัพย์

หลักการที่สำคัญของสหกรณ์

1. เป็นการรวมคนสำคัญกว่าการรวมทุน เอาคนมารวมกันทำกิจกรรม ออกความคิดเห็นในการทำงาน

2. ใช้หลักประชาธิปไตยความสมอภาคของบุคคล สมาชิกทุกคนออกเสียงได้เท่ากันคนละ 1 เสียง (ONE MAN ONE VOTE) ไม่ว่าใครจะถือหุ้นมากน้อยเท่าใดก็ตามในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์

3. การแบ่งผลกำไรจะแบ่งตามส่วนมากน้อยของธุรกิจที่ก่อเกิดกำไร เช่น สหกรณ์ร้านค้าก็แบ่งกำไรให้แก่สมาชิกตามส่วนยอดซื้อของสมาชิกใครซื้อมากก็ได้รับส่วนแบ่งมาก ใครซื้อน้อยก็ได้รับส่วนแบ่งน้อย ส่วนหุ้นที่สมาชิกซื้อไว้ ก็ได้รับผลประโยชน์เหมือนกัน เป็นอัตราเดียวกัน

4. สหกรณ์มิได้มุ่งหวังด้านเศรษฐกิจด้านเดียวแต่มุ่งเน้นทางสังคม (มิได้หากำไรอย่างเดียว) แต่ต้องการให้ผู้ที่อ่อนแอทางเศรษฐกิจ ได้รวมกำลังให้พ้นจากการบีบคั้นของผู้ที่มีกำลังทางเศรษฐกิจที่เหนือกว่า

จุดเด่น  คือ  1. สหกรณ์มีอุดมการณ์ทางสังคม ด้านมนุษยธรรม จริยธรรม และศีลธรรม

จุดด้อย  คือ  1. การแข่งขันกับธุรกิจที่มีเงินทุนมาก เช่นห้างสรรพสินค้า

                   2. สหกรณ์มีเงินทุนน้อย

                   3. ไม่สามารถหาเงินทุนมาขยายกิจการและแข่งขันกับผู้อื่นได้

ประเภทของสหกรณ์
- สหกรณ์การเกษตร ช่วยแก้ไขปัญหาความเดือดร้อนจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
- สหกรณ์ประมง ช่วยกันแก้ไขปัญหาและอุปสรรคในการประกอบอาชีพ
- สหกรณ์นิคม จัดตั้งเพื่อดำเนินการจัดที่ดินให้เกษตรกรได้มีที่ทำกิน
- สหกรณ์ร้านค้า ช่วยเหลือสมาชิกโดยการนำสินค้ามาจำหน่ายโดยไม่แสวงหากำไร
- สหกรณ์ออมทรัพย์ สามารถให้สมาชิกกู้ยืมเงินได้เมื่อมีความจำเป็น
- สหกรณ์บริการ ช่วยแก้ไขความเดือดร้อนของผู้ที่ประกอบอาชีพต่างๆ

5. รัฐวิสาหกิจ (State Enterprise)

          คือ กิจการที่รัฐบาลจัดตั้งขึ้นในเชิงของธุรกิจ เป็นเจ้าของหรือมีหุ้นส่วนมากกว่าครึ่งหนึ่งของหุ้นส่วนทั้งหมด ส่วนใหญ่เป็นด้านสาธารณูปโภค หรือกิจการที่ต้องลงทุนสูง ให้ผลตอบแทนช้า และเอกชนไม่ต้องการลงทุน การรถไฟ ไฟฟ้า ไปรษณีย์ ต่อมาได้ขยายกิจการในรูปของการผลิตสินค้าและบริการ และกิจการพาณิชย์ เช่นธนาคาร การดำเนินงานมีทั้งรัฐบาลเข้าถือหุ้นร่วมกับเอกชน และบางวิสาหกิจ ก็เป็นผู้ถือหุ้นทั้งหมด

จุดเด่นของรัฐวิสาหกิจ

1. ทำการผลิต ดูแล ควบคุม สาธารณูปโภค ที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชนโดยตรง เป็นการพัฒนาประเทศ

2. ใช้เงินลงทุนมาก-สูง จะได้รับผลประโยชน์ทางด้านเศรษฐกิจอย่างคุ้มค่า ถ้าให้เอกชนเข้ามาดำเนินการ จะได้กำไรน้อย จึงไม่มีเอกชนสนใจเข้ามาดำเนินการ

3. เป็นการผลิตยุทธ์ปัจจัยเพื่อการทหาร เกี่ยวข้องกับความมั่นคงของประเทศชาติ

4. เป็นธุรกิจผูกขาด เพื่อหารายได้ให้แก่รัฐบาล เป็นการส่งเสริมให้พลเมือง พัฒนาประเทศและสังคม

5. เป็นการป้องกันการผูกขาด เพื่อรักษาระดับราคาขิงสินค้า และบริการ

จุดด้อย  คือ การดำเนินงานของรัฐวิสาหกิจเป็นไปตามระบบราชการ จึงมักเกิดความล่าช้าและไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร

    วัตถุประสงค์ของการจัดตั้งรัฐวิสาหกิจ
    -  กิจการบางอย่างเป็นกิจการสาธารณูปโภค หากให้เอกชนดำเนินการเองอาจให้บริการได้ไม่ทั่วถึง
    -  เป็นกิจการที่ใช้เงินลงทุนสูง แต่ได้ผลตอบแทนต่ำ
    -  กิจการบางประเภท อาจมีผลกระทบต่อความมั่นคงของประเทศได้
    -  เพื่อเผยแพร่เกียรติคุณของชาติ
    -  เพื่อควบคุมการผลิตสินค้าบางประเภท
    -  เพื่อเป็นแหล่งรายได้ของรัฐ เช่น สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล
    -  เพื่อให้ความช่วยเหลือเอกชนเฉพาะด้าน

ที่มาของรัฐวิสาหกิจ หรือการก่อตั้งรัฐวิสาหกิจ มีที่มาดังนี้คือ.-

1). รัฐวิสาหกิจที่จัดตั้งโดยการ  “ตราพระราชบัญญัติ” จัดตั้งโดยเฉพาะทุนดำเนินการทั้งสิ้นเป็นของรัฐ ได้แก่การรถไฟแห่งประเทศไทย การท่าเรือแห่งประเทศไทย การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย เป็นต้น

2). รัฐวิสาหกิจจัดตั้งขึ้นโดย “พระราชกฤษฎีกา” นำทุนดำเนินงานเป็นของรัฐบาลได้แก่ องค์การรับส่งสินค้า และพัสดุภัณฑ์ (รสพ.) องค์การอุตสาหกรรมป่าไม้ องค์การสวนยาง เป็นต้น

3). รัฐวิสาหกิจจัดตั้งโดย “ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์” โดยมีฐานะเป็น บริษัทจำกัด มีทั้งที่รัฐบาลถือหุ้นทั้งหมด และรัฐบาลถือหุ้นบางส่วนร่วมกับเอกชน โดยมีหุ้นเกินกว่าร้อยละ 50 บริษัท มีหุ้นทั้งหมดเป็นของรัฐได้แก่ บริษัทไม้อัดไทย จำกัด บริษัทที่รัฐถือหุ้นเกินร้อยละ 50 ได้แก่ บริษัทเดินอากาศไทย จำกัด บริษัท วิทยุการบินไทย จำกัด

4). รัฐวิสาหกิจที่ตั้งขึ้นโดย “มติคณะรัฐมนตรี” โดยรัฐบาลกำหนดทุนหมุนเวียนเพื่อการดำเนินงานให้อยู่ภายใต้การควบคุมของกระทรวงเจ้าสังกัด รัฐวิสาหกิจประเภทนี้ ฐานะเป็นนิติบุคคล การทำนิติกรรมต่างๆ จะต้องกระทำในนามกระทรวงเจ้าสังกัด ได้แก่ สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล โรงงานยาสูบ เป็นต้น

ธุรกิจทั้ง 5 ประเภท  3  ประเภทแรกเป็นธุรกิจที่มุ่งแสวงหากำไร และ 2 ประเภทหลังเป็นธุรกิจที่ไม่ได้แสวงหาผลกำไร

คำสำคัญ (Tags): #economics
หมายเลขบันทึก: 500280เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 16:11 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 16:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

Firms(หน่วยการผลิต).... เป็นความรู้ใหม่ .... ของหมอเปิ้น ค่ะ .... ขอบคุณมากกับบทความดีดีที่มีคุณภาพนี้ค่ะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท