เม่งจื๊อ นักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ที่รองจากขงจื๊อ


“โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานเป็นคนดีมาแต่กำเนิด แต่สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีต่าง ๆ ทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงไป”

孟子 เม่งจื๊อ

นักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ที่รองจากขงจื๊อ

 

ปรัชญาการเมือง

ทรรศนะทางการเมืองของเม่งจื๊อนั้นอาศัยหลักธรรมของขงจื๊อแล้วนำมาขยายความให้ชัดเจนยิ่งขึ้น เปรียบเทียบทฤษฏีขงจื๊อคือ Paternalism (ทฤษฏีบิดา) ส่วนทฤษฏีของเม่งจื๊อคือ Maternalism (ทฤษฏีมารดา) ซึ่งก็คือกลุ่มทฤษฏีเดียวกันสนับสนุนซึ่งกันและกันให้เกิดพลังในการนำมาปฏิบัติให้ได้ผล สิ่งหนึ่งที่เม่งจื๊อเน้นในหลักปรัชญาของเขาก็คือ การพัฒนาคุณธรรมให้เกิดในปัจเจกบุคคลก่อน แล้วค่อยขยายออกไปสู่การเมืองการปกครองต่อไป บุคคลต้องมีคุณธรรมประจำใจเสียก่อน การที่ทุกคนต้องมีคุณธรรมประจำตัวนั้น ได้ส่งเสริมทฤษฏีของเขาที่ว่า

 

“โดยธรรมชาติแล้ว มนุษย์ทุกคนมีพื้นฐานเป็นคนดีมาแต่กำเนิด แต่สิ่งแวดล้อมที่ไม่ดีต่าง ๆ ทำให้คนเราเปลี่ยนแปลงไป”

 

เม่งจื๊อมีทรรศนะเช่นเดียวกับอริสโตเติ้ลว่า “มนุษย์เป็นสัตว์การเมือง” คือรู้จักคิดค้นหาหลักในการอยู่ร่วมกัน รัฐจึงจัดว่าเป็นสถาบันทางจริยธรรมที่สำคัญ ผู้นำของรัฐจึงควรเป็นผู้นำที่ประกอบด้วยคุณธรรมและเป็นผู้นำทางจริยธรรมในขณะเดียวกัน นักปรัชญากลุ่มขงจื๊อจึงยึดถือว่า “ปราชญ์เท่านั้นที่จะเป็นพระราชาที่แท้จริงได้” เม่งจื๊อกล่าวว่า ถ้าหากขาดคุณธรรมที่จะพึงมี ประชาชนที่มีสิทธิ์โดยชอบธรรมที่จะปฏิวัติและหากมีใครฆ่าผู้นำที่ปราศจากคุณธรรมก็ไม่ถือว่าเป็นฆาตรกรฆ่าผู้นำ เพราะเม่งจื๊อถือว่าผู้มีอำนาจสูงสุดในทางการปกครองไม่ว่าจะอยู่ในฐานะเป็นอะไร หากไม่ตั้งอยู่ในคุณธรรมแห่งตน ก็จัดว่าเป็นเพียงคนสามัญธรรมดาเท่านั้น และในการปกครองนั้นผู้นำจะต้องถือประชาชนเป็นสำคัญ

เกี่ยวกับรูปแบบการปกครองทรรศนะของเม่งจื๊อและพวกนิยมขงจื๊อรุ่นหลังมีว่าการปกครองมีอยู่ 2 รูปแบบคือ

วัง หรือธรรมานุภาพหมายเอาการปกครองโดยธรรมซึ่งเป็นการปกครองของปราชญ์หรือมุนี

ปา หรือเดชานุภาพ การปกครองโดยอำนาจซึ่งเป็นการปกครองของขุนนาง

เปรียบกับรูปแบบการปกครองในปัจจุบันวังก็คือ การปกครองแบบประชาธิปไตย ส่วนปาได้แก่การปกครองแบบเผด็จการ

รัฐบาลในอุดมคติของเม่งจื๊อคือรัฐบาลที่มีความเมตตากรุณา และเม่งจื๊อปฏิเสธรัฐบาลที่ครองประชาชนด้วยอำนาจ ตราบใดที่ผู้ปกครองมีความเมตตากรุณาต่อประชาชนเป็นแรงจูงใจ ประชาชนก็จะเข้าใจและยอมรับถึงหน้าที่ของประชาชนเอง ความเมตตากรุณาจึงเป็นเอกลักษณ์ของผู้ปกครอง ทั้งนี้จะเห็นได้ว่า ปรัชญาของขงจื๊อที่เม่งจื๊อเห็นความสำคัญเรื่องคุณธรรม

เม่งจื๊อจึงมีทรรศนะคัดค้านสงคราม เพราะสงครามย่อมนำความทุกข์ยากอันใหญ่หลวงมาให้ประชาชน อย่างไรก็ตาม เม่งจื๊อยอมรับว่ามีสงครามที่เป็นธรรม สงครามนั้นก็คือ สงครามที่ล้มล้างผู้ปกครองที่ชั่วร้าย แต่ถ้าเป็นสงครามที่รุกรานแล้ว ล้วนเป็นสงครามที่ชั่วร้ายทั้งสิ้น

ส่วนการอบรมให้พลเมืองมีคุณธรรมนั้น คุณธรรมก็มีหลายอย่าง แต่คุณธรรมที่สำคัญและเป็นพื้นฐานของคุณธรรมทั้งหลายมี ๒ อย่าง คือ ให้มีความเมตตาปราณีต่อกัน และให้มีความละลายและเกรงกลัวต่อความชั่ว เมื่อประชาชนมีทั้งการศึกษาและคุณธรรม จะทำให้มีความสุข ปลอดโปร่งใจ เพราะฉะนั้น หน้าที่สำคัญของผู้ปกครองจึงมี ๒ อย่าง คือ

ทำให้ประชาชนมีความสุขอันเกิดจากการอยู่ดีกินดี มีความปลอดภัย

ทำให้ประชาชนได้รับการศึกษาวิทยาการต่างๆตลอดทั้งจารีตประเพณีมารยาทสังคม อีกทั้งให้การอบรม เพื่อให้เป็นพลเมืองดีมีศีลธรรมประจำใจ

 

“ผู้ใดปกครองด้วยคุณธรรม ผู้นั้นจะสามารถตั้งตนเป็นจักพรรดิได้สำเร็จ โดยมิต้องเอาอาณาเขตดินแดนอันกว้างใหญ่มาเป็นขุมกำลัง”

 

 

ปรัชญาเศรษฐกิจ

เม่งจื๊อให้ทรรศนะว่า หากมนุษย์อยู่รวมกันโดยปราศจากคุณธรรมที่พึงมีต่อกันมีเพียงแค่สนองความอยากเยี่ยงสัตว์อื่นๆสังคมก็จะมีแต่ความวุ่นวายและการแก่งแย่งชิงดี เม่งจื๊อเชื่อว่าการปกครองแบบวังหรือธรรมานุภาพเหมาะสมกับสังคมจีนและเป็นการนำไปสู่ความสงบเรียบร้อยอย่างแท้จริงประชาชนจะมีความเชื่อถือ มีศรัทธาในรัฐบาลด้วยใจจริงมิใช่เพราะความหวาดกลัว แต่การปกครองดังกล่าวจะประสบผลสำเร็จอย่างน่าพอใจจะต้องวางพื้นฐานทางเศรษฐกิจให้เหมาะสม และเนื่องจากประชากรจีนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพกสิกรรม เม่งจื๊อจึงเห็นว่าพื้นฐานทางเศรษฐกิจที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปกครองแบบวังคือ “การจัดสรรที่ดินให้ประชาชนทำกิน” ระบบการจัดสรรที่ดินที่เม่งจื๊อเห็นว่าเหมาะที่สุดคือระบบนาบ่อ ได้แก่การนำเอาที่ดินแต่ละ 900 มู (ประมาณ 90 ไร่) มาจัดแบ่งให้ครอบครัว 8 ครอบครัวทำกิน ครอบครัวละ 100 มู ดังนี้

100

100

100

100

100

100

100

100

100

 

100 มูตรงกลางถือว่าเป็นนาหลวง ส่วนรอบๆอีก 800 มู ถือว่าเป็นนาราษฏ์ จัดสรรให้กับ 8 ครอบครัว ครอบครัวละ 100 ม รัฐบาลไม่ต้องเก็บภาษีจากนาราษฏร์ เก็บเกี่ยวได้เท่าไรเป็นสมบัติของเจ้าของแต่ราษฏร์ทั้ง 8 ครอบครัวต้องช่วยกันทำนาหลวง ผลิตผลที่ได้จากนาหลวงนั้นมอบให้แก่รัฐในฐานะเป็นภาษีอากร

นอกจากนโยบายการจัดสรรที่ดินให้ทั่วถึงดังกล่าว เม่งจื๊อยังได้วางนโยบายเศรษฐกิจอื่นๆเพื่อนำมาปฏิบัติควบคู่กันไปอีกคือ

ยกเลิกภาษีสินค้า เพื่อให้เกิดความอุดมสมบูรณ์ในสินค้านานภัณฑ์ ข้าวของจะได้ถูกลง

กำหนดราคาสินค้า เพื่อมิให้พ่อค้าฉวยโอกาสโก่งราคาและให้ประชาชนได้ซื้ออุปโภคบริโภคที่ได้ยกเลิกภาษีให้แล้วในราคายุติธรรม

ในสมัยเก็บเกี่ยวพืชผล ไม่ให้รัฐเกณฑ์แรงงานราษฏร

สงวนพันธ์สัตว์น้ำ สัตว์บกและสงวนป่าไม้

ส่งเสริมให้ทุกครัวเรือนทำสวนครัวและอุตสาหกรรมภายในครอบครัว

สร้างโรงเรียนอบรมสั่งสอนจริยธรรมและวิชาความรู้แขนงต่างๆ ให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง

เม่งจื๊อคัดค้านนโยบายเศรษฐกิจที่เสนอให้ทุกคนใช้แรงทำงานเหมือนๆกัน เช่น ถ้าจะกินข้าวก็ต้องใช้แรงไถนา เป็นต้น นักเศรษฐกิจที่สอนอย่างนี้ หันหลังให้กับความจริง เพราะคนเรามีฐานะมีความสามารถแตกต่างกันจะประกอบอาชีพอย่างเดียวกันไม่ได้ แม้จะทำงานแตกต่างกันต่างฝ่ายต่างก็อาศัยกันอยู่

 

ปรัชญาชีวิต

ความก้าวหน้าของปรัชญาเม่งจื๊อประการที่สุดก็คือ  ขณะที่ขงจื๊อให้ความสนใจต่อการปฏิบัติในชีวิตประจำวัน ดังนั้น ขงจื๊อจึงสอนว่ามนุษย์สามารถประพฤติดีได้อย่างไรแต่ไม่เคยสอนว่าทำไมมนุษย์ต้องประพฤติดีมีคุณธรรม เม่งจื๊อจึงเป็นผู้เสริมคำตอบให้คำถามดังกล่าวด้วยคำสอนเรื่องธรรมชาติของมนุษย์ ทั้งนี้ สำหรับเม่งจื๊อแล้ว เหตุที่มนุษย์ต้องประพฤติดี หรือต้องมีคุณธรรมก็เพราะมนุษย์มีธรรมชาติดีโดยธรรมชาติอยู่แล้ว

ทรรศนะเกี่ยวกับธรรมชาติของมนุษย์ เรื่องสำคัญประการหนึ่งในปรัชญาจีนคือเรื่องว่าด้วยเรื่องธรรมชาติดั้งเดิมของมนุษย์ นั่นคือธรรมชาติของมนุษย์ โดยกำเนิดดีหรือชั่ว พูดอีกนัยหนึ่งก็คือ มนุษย์เกิดมามีคุณธรรมในใจแล้วหรือคุณธรรมเป็นสิ่งที่จะต้องปลูกฝังให้มีขึ้นใหม่ ปัญหานี้เม่งจื๊อให้ทรรศนะว่า ธรรมชาติของมนุษย์มีสภาพเป็นความดีงามโดยกำเนิด นั่นคือจิตใจของมนุษย์โดยธรรมชาติดั้งเดิมประกอบด้วยคุณธรรม และเม่งจื๊อได้ยอมรับว่ามีธรรมชาติส่วนหนึ่งไม่ดีไม่เลวในตัวของมันเอง คือส่วนที่มนุษย์มีเหมือนกับสัตว์ชนิดอื่นๆ เช่นความต้องการและสัญชาตญาณต่างๆ ธรรมชาติส่วนนี้จะดีหรือเลวขึ้นอยู่กับการสั่งสมอบรมและการพัฒนาคุณธรรมที่มีอยู่โดยดั้งเดิมนั้นได้แค่ไหนเพียงไร การที่เม่งจื๊อยืนยันว่าธรรมชาติของมนุษย์ดีโดยกำเนิดนั้นมิได้หมายความว่าทุกคนเกิดมาจะต้องเป็นปราชญ์

คุณธรรมที่มีอยู่ภายในจิตใจหรือธรรมชาติของมนุษย์นั้นแยกแยะให้เห็นได้โดยลักษณะ 4 ประการ คือ

ความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น นั่นคือไม่มีจิตดวงใดโดยสภาพปกติจะเฉยเมยต่อความทุกข์ทรมาณของชีวิตอื่นๆได้โดยไม่เกิดความรู้สึกเวทนาสงสาร คุณธรรมเบื้องต้นในลักษณะนี้เมื่อได้รับการพัฒนาให้สมบูรณ์ขึ้นก็คือยิ้น ซึ่งถือว่าเป็นคุณธรรมที่สำคัญประการหนึ่งในลัทธิขงจื้อ

ความรู้สึกละอายใจและรังเกียจต่อความชั่ว นั่นคือจิตทุกดวง โดยปกติมีความรู้สึกละอายใจและรังเกียจต่อความชั่ว เป็นจุดเริ่มต้นของการยึดมั่นในศีลธรรมและพัฒนาให้สมบูรณ์เป็นคุณธรรมคือ หยี

ความรู้สึกที่เป็นความสุภาพอ่อนโยน  อันเป็นบ่อเกิดหรือจุดเริ่มต้นของการปฏิบัติอันงดงาม เหมาะสมหรือนิติธรรมเนียม

ความรู้จักผิดชอบชั่วดี หมายเอาความสามารถทางพุทธิปัญญาอันเป็นจุดเริ่มต้นของปัญญา ในเมื่อความรู้สึกอันเป็นคุณธรรมเบื้องต้นนี้มีอยู่แล้วโดยธรรมชาติหน้าที่ของมนุษย์คือการส่งเสริมพัฒนาให้เจริญงอกงามขึ้น เพราะเป็นสิ่งที่ทำให้มนุษย์แตกต่างไปจากสัตว์อื่นๆ เม่งจื๊อกล่าวว่า “บัณฑิตรู้จักนำเอาธรรมชาติอันดีออกมาใช้ให้เป็นประโยชน์แก่ตนเองและสังคม ส่วนพาลชนหลงลืมธรรมชาตินั้นไป” ในแง่ของจุดมุ่งหมายของการศึกษาเม่งจื๊อกล่าวไว้ว่า “อันการศึกษาศิลปวิทยานั้นมิใช่เพื่ออะไรอื่นนอกจากเพื่อติดตามค้นหาคุณสมบัติที่พรากหายไปจากจิตสันดานให้กลับคืนมา”

 

อุดมคติและเครื่องหมายของความสุข

เม่งจื๊อมีอุดมคติในการดำเนินชีวิตอยู่ว่า “สมัยใดที่คนทั้งหลายถือธรรมเป็นใหญ่ เราจงยึดมั่นในธรรม บำเพ็ญประโยชน์ต่อประเทศชาติ สมัยใดที่คนทั้งหลายถืออธรรมเป็นใหญ่ เราจงอุทิศชีวิตเพื่อรักษาธรรมไว้ ฉันไม่เคยได้ยินว่าต้องแก้ไขเปลี่ยนแปลงธรรมเพื่ออนุโลมตามใจคนส่วนอะไรที่จะช่วยให้ชีวิตมีความสุขนั้นเม่งจื๊อกำหนดไว้ 3 ประการคือ

บิดามารดาอยู่ครบบริบูรณ์ วงศาคณาญาติปรองดองกัน

เมื่อสำรวจดูตัวเองแล้วไม่มีข้อเสียหายทั้งในสายตาของเทพยดาฟ้าดินและในสายตาของมนุษย์

ได้คนดีมีความสามารถมาเลี้ยงดู

 

จุดเด่นของปรัชญาเม่งจื้อ

ทรรศนะของเม่งจื้อที่เชื่อว่า ทุกคนมีธรรมชาติดั้งเดิมเหมือนกัน นั่นคือมีแต่ความดี ส่วนที่ต้องกลายเป็นคนชั่วก็เพราะสิ่งแวดล้อม และเม่งจื้อเชื่ออีกว่า การแก้ปัญหาไม่ให้มีคนชั่ว ก็ต้องแก้ที่เศรษฐกิจก่อน เมื่อแก้ปัญหาเศรษฐกิจได้ เรื่องศีลธรรมต่างๆก็จะต้องตามมา ทรรศนะดังกล่าวก็ตรงกับความเห็นของม่อจื้อเช่นกัน ส่วนที่ต่างกันไปบ้างก็ตรงที่เม่งจื้อไม่เน้นความรักสากลและประโยชน์นิยม เหมือนม่อจื้อเท่านั้น

เม่งจื้อเชื่อว่าธรรมชาติดั้งเดิมของคนนั้นดีอยู่แล้ว ไม่มีใครอยากเป็นคนเลว แต่ที่มาทำชั่วเพราะถูกอำนาจอย่างอื่น

ปรัชญาการเมืองของเม่งจื้อ ถือประโยชน์ตนเป็นสำคัญเหมือนอย่างปรัชญาของขงจื้อ เน้นความสำคัญของประชาชนมาก ประชาชนสำคัญที่สุด ส่วนผู้นำสำคัญน้อยที่สุด ผิดกับขงจื้อถือผู้นำสำคัญที่สุด แต่ต้องปกครองให้สอดคล้องกับประชาชน

 

สรุปปรัชญาเม่งจื้อ

เม่งจื้อเป็นเมธีคนหนึ่ง ซึ่งมีชื่อเสียงโด่งดังในสำนักของปรัชญาขงจื้อ เขาเป็นผู้มีความเคารพและภักดีต่อขงจื้ออย่างมาก แม้จะเกิดคนละสมัยและไม่มีโอกาสได้อยู่ใกล้ชิดกับขงจื้อ เม่งจื้อถือว่าเป็นผู้มีส่วนสำคัญอย่างมากที่นำเอาปรัชญาของขงจื้อออกประกาศเป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย เมื่อมีคำถามถึงหลักปรัชญาของเขา เม่งจื้อก็มักจะกล่าวว่า “สิ่งที่ข้าพเจ้าสอนนี้มิใช่สิ่งใหม่ แต่ขงจื้อเมธีผู้ยิ่งใหญ่สอนไว้ก่อนหน้าที่ข้าพเจ้าสอนแล้ว”

 

 

 

แหล่งอ้างอิง :

เมธีตะวันออก      เสถียร โพธินันทะ

ปรัชญาจีน            น้อย พงษ์สนิท

ปรัชญาจีน            ผศ.ปนาทิพย์ ศุภนคร

ปรัชญาจีน – ญี่ปุ่น             พระมหาบรรจง สิริจนฺโท

คัมภีร์การปกครอง              สรรนิพนธ์เมิ่งจื่อ ส. สุวรรณ แปล

 

คำสำคัญ (Tags): #ฆ.ระฆัง
หมายเลขบันทึก: 500276เขียนเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 15:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 27 สิงหาคม 2012 16:25 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

 

เม่งจื๊อ นักปรัชญาเมธีผู้ยิ่งใหญ่ที่รองจากขงจื๊อ....

 

ขอบคุณ ...ความรู้ใหม่..และดี + มีคุณภาพนี้นะคะ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท