ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

วิทยาลัยสงฆ์พะเยาเร่งพัฒนาอาจารย์เขียนบทความรองรับประกันคุณภาพ


        ระหว่างวันวันที่ ๑๕-๑๗ สิงหาคม ๕๕ พระครูศรีวรพินิจ ผู้อำนวยการวิทยาลัยสงฆ์พะเยา ได้นิมนต์ พระศรีคัมภีรญาณ, รศ.ดร. รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ พระมหาสมบูรณ์ วุฒิกโร, ดร. รองคณบดีบัณฑิตวิทยาลัย และนายอุทัย สติมั่น เจ้าหน้าสถาบันภาษา ไปเป็นวิทยากรในงาน “สัมมนาเชิงปฏิบัติการการเขียนบทความทางวิชาการสัญจร ครั้ง ๑/๒๕๕๕” แก่คณาจารย์ เจ้าหน้าที่ และนิสิตของวิทยาเขตพะเยา วิทยาลัยสงฆ์นครน่าน และห้องเรียนวัดพระแก้ว จำนวนกว่า ๘๐ รูป/คน



        พระครูศรีวรพินิจ ในฐานะผู้ดำเนินการจัดโครงการนี้กล่าวว่า “ วิทยาลัยสงฆ์พะเยาตั้งใจที่จะพัฒนาศักยภาพของคณาจารย์ โดยการกระตุ้นอาจารย์ และนิสิตระดับปริญญาโทให้สามารถเขียนบทความทางวิชาการอย่างมีประสิทธิภาพ และประยุกต์แนวทางดังกล่าวไปพัฒนาการเขียนงานทางวิชาการ งานวิจัย และวิทยานิพนธ์ อีกทั้ง คณาจารย์สามารถนำผลงานดังกล่าวไปขอกำหนดตำแหน่งทางวิชาการทั้งในระดับ ผศ. รศ. ปและ ศ. เพื่อให้เอื้อต่อการประเมินของ สมศ. และ สกอ. ในปีนี้ และปีหน้าอีกด้วย”

        ในขณะที่พระศรีคัมภีรญาณ, รศ.ดร. ในฐานผู้บริหารระดับสูงของมหาวิทยาลัยที่กำกับงานด้านวิชาการ ได้กล่าวถึงความสำคัญของการเขียนงานทางวิชาการว่า “บทความหรืองานวิจัยนั้นมีอิทธิพลสำคัญการยอมรับของนิสิตที่เข้ารับการ บริการจากวิทยาเขต วิทยาลัยสงฆ์ หรือห้องเรียน เพราะสิ่งเหล่านี้จะสะท้อนแก่นแท้ของการจัดการศึกษา ที่จะนำไปสู่การศึกษาค้นคว้า การเรียนรู้ และนำเสนอสิ่งใหม่ๆ”

        “การเขียนบทความหรืองานวิจัย ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ "ข้อมูล" แต่อยู่ที่ "การบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ" เครื่องมือที่จะนำมาจัดการข้อมูล เช่น การเลือกข้อมูล การจัดกลุ่มข้อมูล การจัดลำดับความสำคัญของข้อมูล และการนำเสนออย่างเป็นขั้นเป็นตอน ภายใต้กรอบแนวคิด หรือกระบวนการในการเขียนที่ได้วางแผนตั้งแต่เบื้องต้นก่อนที่จะมีการเขียนบท ความ หรือวิจัย” พระศรีคัมภีรญาณ, รศ.ดร. กล่าวเพิ่มเติม

 



        พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. ในฐานะที่ได้จัดหลักสูตรนี้ในส่วน กลาง คือ นิสิตปริญญาเอก คณะสังคมศาสตร์ สาขารัฐประศาสนศาสตร์ และการจัดการเชิงพุทธ และบัณฑิตวิทยาลัย สาขาพระพุทธศาสนา ทั้งปริญญาโท และเอก มากว่า ๕ ปี กล่าวว่า "โลกจดจำนักเขียน นานกว่านักพูด จะเห็นว่า ชาวโลกจดจำพระพุทธโฆษาจารย์ผ่านงานวิสุทธิมรรค พุทธทาสภิกขุไม่เคยตายไปจากโลกนี้เพราะ ธรรมโฆษณ์ เราเคารพ กราบไหว้พระพรหมคุณาภรณ์ (ป.อ.ปยุตฺโต) ผ่านพุทธธรรม ทั้งวิสุทธิมรรค ธรรมโฆษณ์ และพุทธธรรม ล้วนเป็นธรรมเจดีย์ที่เปรียบประดุจอนุเสาวรีย์ของชีวิต"

        “การเขียนเป็นทั้งการบันทึกประวัติศาสตร์ของชีวิต และเป็นการบันทึกบทเรียนครั้งหนึ่งในชีวิตที่เดินทางผ่านเข้ามาทักทาย การเขียนที่ดีไม่ได้มีเพียงเหตุผล แต่เป็นการเขียนที่เพียบพร้อมไปด้วยจิตวิญญาณของผู้เขียนที่ใส่แรงกระตุ้น และแรงบันดาลใจ เพื่อให้เกิดการเรียนรู้ซึ่งจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงภายใน และภายนอก จะเห็นว่า ตัวหนังสือทรงคุณค่าหนึ่งเพียงประโยค อาจจะช่วยลบรอยเศร้าโศกของปวงประชา” พระมหาหรรษา ธมฺมหาโส, รศ.ดร. กล่าวเสริม

        พระมหาสมบูรณ์ วุฒิกโร, ดร. ได้ให้ข้อคิดเกี่ยวกับการเขียนบทความทางวิชาการว่า "จุดอ่อนถือที่ถือได้ว่าเป็นจุดตายของมือใหม่หัดเขียน คือ ขาดการวางโครงสร้าง (Structure) ที่แข็งแรง ชัดเจน และรัดกุม เพราะโครงสร้างการเขียนที่ดีจะประกอบด้วยคำนำ (Introduction) เนื้อเรื่อง (Body) และ บทสรุป (Conclusion) แล้วจัดวางองค์ประกอบให้ประสานสอดคล้องกัน (Function) เพื่อให้บทความเกิดความเป็นเอกภาพ สารัตถภาพ สัมพันธภาพ ทั้งเนื้อหา และภาษาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงบทสรุป ข้อสังเกตในการสรุปนั้น ควรเป็นการสรุปประเด็นสำคัญที่ผ่านการวิเคราะห์ สังเคราะห์ อธิบาย และตีความ ไม่ใช่การสรุปเนื้อหา (Summary) เพราะการสรุปเนื้อหาหมายถึงการย่อความ ดังที่ปรากฎในบทคัดย่อของวิทยานิพนธ์”

        โครงการพัฒนาคณาจารย์เพื่อเขียนบทความทางวิชาการครั้งนี้ วิทยาลัยสงฆ์พะเยาร่วมกับสถาบันภาษา มหาจุฬาฯ จะดำเนินการจัดสองครั้ง โดยครั้งที่สองจะจัดระหว่างวันที่ ๒๐-๒๓ กันยายน ๒๕๕๕ เพื่อนำแนวทางที่วิทยากรได้ให้คำแนะนำทั้งหัวข้อ และวัตถุประสงค์ ไปเขียนบทความแล้วนำเสนอในวันและเวลาดังกล่าว สำหรับบทความที่ได้รับการพิจารณาจากผู้ทรงคุณวุฒิจะนำไปตีพิมพ์ในวารสาร บัณฑิตศึกษาปริทรรศน์ และร่วมนำเสนอในงานวิสาขบูชาโลกครั้งที่ ๑๐ ซึ่งประเทศไทยจะเป็นเจ้าภาพในปีหน้าต่อไป

หมายเลขบันทึก: 499671เขียนเมื่อ 22 สิงหาคม 2012 16:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 กันยายน 2012 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

Namasakara Venerable,

Thank you for this important lesson which has been summed up clearly with “การเขียนบทความหรืองานวิจัย ปัญหาหลักไม่ได้อยู่ที่ "ข้อมูล" แต่อยู่ที่ "การบริหารจัดการข้อมูลอย่างมีประสิทธิภาพ"

We do have enough "data" but we have not used them to say anything "useful".

  • นมัสการท่าน
  • ผมอยากพบสมาชิกที่อบรมทุกๆท่าน
  • ที่มหาจุฬาฯ
  • ช่วงเดือนตุลาคม
  • เป็นไปได้ไหมครับ
  • เผื่อมีหลายท่านสนใจ classstart หรือเทคนิคอื่นๆ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท