ข้อคิดเห็นต่อการจัดทำวารสารวิชาการR2R


 

          ผมได้รับ อีเมล์ จาก อ. นพ. อัครินทร์ นิมมานนิตย์ ผู้อำนวยการโครงการ R2R ของศิริราช ดังนี้

 

เรียน อาจารย์ทุกท่านที่เคารพ

 

          ก่อนอื่นผมต้องขอขอบคุณอาจารย์สุธีร์ ที่ช่วยยกประเด็นเรื่องเกี่ยวกับการจัดทำวารสาร R2R ขึ้นมาครับ


          เมื่อตอนต้นๆของการดำเนินการโครงการ R2R ระดับประเทศเคยมีกรรมการหลายท่านเสนอ การจัดทำวารสาร R2R โดยเฉพาะและหลายๆท่านมีความเห็นว่ายังไม่พร้อมนักในขณะนั้น    แต่ในปัจจุบันมีการขยายตัวของแนวคิด R2R และมีทีมงานจากหน่วยงานองค์กรต่างๆเข้ามาร่วมกันทำงานมากขี้นมาก   ผมและอาจารย์เชิดชัยขอถือโอกาสนี้ปรึกษาอาจารย์ทุกท่านอีกครั้งก่อนถึงกำหนดการประชุม Core Team R2R-HSRI ครับ


          ผมขอตั้งประเด็นเบื้องต้นเพื่อปรึกษาหารือในกลุ่มเล็กก่อนดังนี้ครับ

๑. วารสาร R2R เพื่อเผยแพร่ผลงาน R2R ในระดับประเทศควรมีหรือไม่ (ถึงเวลาที่ควรมีแล้วหรือไม่) อย่างไรก็ดีผมคิดว่าเราคงต้องสื่อสารกับคุณอำนวยที่สนับสนุนการวิจัยในดีว่า ควรส่งเสริมการตีพิมพ์เผยแพร่ผลงาน R2R ในระดับนานาชาติก่อนหากเป็นไปได้

๒. การจัดการให้มี peer review ที่ดี ควรทำอย่างไร

๓. Format ที่จัดพิมพ์ควรเป็นอย่างไร –paper-based vs. electronic-based or both?

๔. Section ต่างๆที่ตีพิมพ์ควรมีอะไรบ้าง นอกจากผลการวิจัยทั่วไปแล้ว ควรเพิ่ม ประเด็น Lesson Learnt (นุ่งผ้า) ด้วย?

๕. ประเด็นอื่นๆ...


          ทีมงานจะได้เตรียมแผนรวมทั้งพยายามทรัพยากรทั้งคน เวลา และทุน ต่างๆสำหรับการดำเนินการต่อไปครับ


          ในเบื้องต้นนี้ อ.สุธีร์ ได้กรุณาปรึกษากับรองคณบดีฝ่ายวิจัยที่ มศว.โดยจะเชิญเจ้าของบางผลงานวิจัยที่ได้รับรางวัลในการประกวดครั้งนี้ และดูน่าสนใจ/เผยแพร่ (และยังไม่เคยตีพิมพ์ในวารสารอื่น) ครับ อ.สุธีร์จะขออนุญาตประสานกับ อ.สมพนธ์ เพื่อขอรายละเอียดที่สามารถติดต่อเจ้าของผลงานต่อไปครับ

 

ขอบคุณครับ 

ด้วยความเคารพ

อัครินทร์

 


          จึงได้โอกาสแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับการเตรียมรับภาระและความสนุกสนานเรียนรู้จากการจัดทำวารสารวิชาการ  เพื่อ ลปรร. กันใน Gotoknow   โดยผมมีความเห็นดังต่อไปนี้


  • คำถามแรกไม่น่าจะถามว่าควรจัดทำวารสาร R2R โดยตรงหรือไม่   แต่ควรถามว่า ผลงาน R2R ควรเผยแพร่ในลักษณะใดบ้าง (น่าจะเผยแพร่ได้หลายลักษณะ เพราะผลงานวิจัย R2R มีหลายแบบ)    และการเผยแพร่ลักษณะใดบ้างที่มีช่องทางที่ดีอยู่แล้ว    การเผยแพร่ลักษณะใดบ้างที่ยังไม่มีช่องทาง หรือมีก็ยังไม่ดีพอ หรือไม่เพียงพอ   นั่นหมายความว่า เราควรตรวจสอบ landscape ของวารสารวิจัยในประเทศไทย (และต่างประเทศ) ให้เข้าใจถ่องแท้เสียก่อน
  • ตามความเห็นข้างต้น ผมมีฐานคิดว่า หากไม่จำเป็นจริงๆ อย่าทำวารสาร R2R แยกต่างหาก 
  • หากคิดจะทำ ต้องถามว่าวารสารนี้จะมีความจำเพาะอย่างไร   จะรับ/ไม่รับ ต้นฉบับแบบไหนบ้าง    จะ reject ตัว manuscript ที่ส่งมาไหม   มีความเคร่งครัดในการ reject แค่ไหน   มีความประสงค์จะ “ช่วยเหลือ” เจ้าของ manuscript แค่ไหน    ตอนแถวๆ ปี ๒๕๒๓ ผมทำหน้าที่บรรณาธิการวารสารสงขลานครินทร์  วงการวิจัยของ มอ. อ่อนแอมาก    ทีมของบรรณาธิการต้องช่วยเหลือมาก   ส่วนใหญ่ต้องเขียนให้ใหม่หมด และมีบางกรณีถึงขนาดต้องขอข้อมูลดิบมาดู และวิเคราะห์ให้ใหม่   เพื่อหาประเด็น new finding ให้ชัด   หากเราทำวารสาร R2R แล้วมีคนส่ง poor manuscript แต่เราพอจะรู้ว่า data ดี และมี new finding เราจะช่วยเขาอย่างถึงที่สุดแบบนั้นไหม   เรามีกำลังทำอย่างนั้นไหม
  • ถ้าทำ แล้วมีคนส่ง manuscript ที่มี scientific merit สูงมาให้   เราจะแนะให้เขาส่งไปวารสารต่างประเทศไหม  ถ้าเราทำ ก็หมายความว่าเรายอมรับว่า วารสารของเราไม่เน้น scientific novelty   ไม่แข่งกับวารสารต่างประเทศ (ที่มีคุณภาพ)  
  • ผมเองอยากเห็นทีมจัดการ R2R ทำหน้าที่ประสานงานกับวารสารวิชาการด้านสุขภาพที่มีอยู่แล้วในประเทศไทย ที่มีการจัดการดี   เชื่อมโยงกับเจ้าของผลงานวิจัย   เพื่อให้มีการตีพิมพ์ผลงานวิจัย R2R ที่มีคุณภาพสูง   และเกิดการอ้างอิงต่อกันและกัน   เน้นที่วารสารที่เน้น translational research  และเน้นสร้างความรู้เชิงการประยุกต์ใช้ในบริบทไทย   รวมทั้งชักชวนวารสารเหล่านี้ให้ทำฉบับ eJournal คล้ายๆ PLOS ขึ้น โดยดำเนินการเป็น consortium ของวารสาร เพื่อลดต้นทุนการพัฒนาระบบ online   แล้วให้วารสารไทยเหล่านี้ attract ผู้อ่าน (readers) และ attract manuscript ดีๆ จากประเทศอาเซียนและประเทศใกล้เคียง    คือผมฝันเห็น R2R ทำหน้าที่ยกระดับการยอมรับนับถือประเทศไทยในด้าน translational research ของวงการสุขภาพไทย ในวงการนานาชาติ

          ซึ่งหมายความว่าวารสารเหล่านี้ควรต้องมีภาคภาษาอังกฤษด้วย   อย่างน้อยๆ ก็มี abstract เป็นภาษาอังกฤษ   มิฉนั้นก็สื่อสารกับต่างชาติไม่ได้


  • ย้ำว่า ผมเสนอว่า ทางเลือกแรกคือ ทีมจัดการ R2R เน้นทำหน้าที่ประสานระหว่างวารสารที่มีอยู่แล้ว กับเจ้าของผลงานวิจัย R2R อย่างเป็นระบบ   เพื่อรวมพลังกันนำเอาผลงานที่ดีออกสู่การตีพิมพ์ที่มีคุณภาพ   ถ้าประสานงานแล้ว พบว่าวงการวารสารไทยอ่อนแอหรือไม่เพียงพอ เราค่อยคิดจัดทำวารสารใหม่
  • ขอเสนอว่าในการประชุม ลปรร. R2R ครั้งที่๖ ในปีหน้า น่าจะพิจารณาเลือกวารสารที่มีคุณภาพดี เหมาะต่อการตีพิมพ์ผลงาน R2R สัก ๓-๔ ฉบับ   เชิญบรรณาธิการมาอภิปรายชักชวนและแนะนำวิธีส่งลงพิมพ์
  • และขอเสนอว่า ทีมจัดการ R2R น่าจะจัดสัมมนาระหว่างบรรณาธิการวารสารวิชาการด้านสุขภาพ   เพื่อปรึกษาหารือการรวมพลังดำเนินการเผยแพร่และ ลปรร. ผลงานวิจัยด้าน translational research   ตามแนวความคิดข้างบน


          ผมไม่ยืนยันว่าความคิดของผมจะถูกต้อง    เสนอมาแบบเสนอความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งมักจะผิดมากกว่าถูก



วิจารณ์ พานิช

๒๖ ก.ค. ๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 498683เขียนเมื่อ 15 สิงหาคม 2012 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 สิงหาคม 2012 06:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

"น่าจะพิจารณาเลือกวารสารที่มีคุณภาพดี เหมาะต่อการตีพิมพ์ผลงาน R2R สัก ๓-๔ ฉบับ" เห็นด้วยค่ะอาจารย์

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท