อิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจ : วงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ (๕)


๓. การพิจาณาความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของวงจรปัจจัยเหตุต่าง ๆ ที่เป็นไปในลักษณะของเรื่องอดีต (เหตุ) ปัจจุบัน (ผลและเหตุ) และอนาคต (ผล) เรียกว่า หลักไตรวัฏฏ์แห่งเศรษฐกิจ สามารถแยกองค์ประกอบพิจารณาเป็นช่วง ๆ ละ ๔ ได้ทุกตอน ดังนี้

     ๓.๑  อดีตเหตุ ๔        =  ความต้องการ  การสนองตอบ  การสะสมความมั่งคั่ง  การเก็งกำไร

     ๓.๒  ปัจจุบันผล ๔     =  ราคา  การแลกเปลี่ยน     เงิน   =   วิกฤติเศรษฐกิจ (ล้มละลาย, ตกงาน)

     ๓.๓  ปัจจุบันเหตุ ๔    =  ความต้องการ  การสนองตอบ  การสะสมความมั่งคั่ง  การเก็งกำไร

     ๓.๔  อนาคตผล ๔     =  ราคา  การแลกเปลี่ยน    เงิน    =   วิกฤติเศรษฐกิจ (ล้มละลาย, ตกงาน)

       

           จากคำอธิบายที่แยกองค์ประกอบพิจารณาเป็นช่วงดังกล่าว สามารถแยกองค์ ๘ (ความต้องการ การสนองตอบ ราคา (เทียบสัมพัทธ์) การแลกเปลี่ยน เงิน การสะสมความมั่งคั่ง การเก็งกำไร และวิกฤติเศรษฐกิจ) ของอิทัปปัจจยตาแห่งเศรษฐกิจ ตามหน้าที่ของมันในวงจรเป็น ๓ พวก เรียกว่า ไตรวัฏฏ์แห่งเศรษฐกิจ หรือ กระแสสายธารแห่งการดำเนินไปในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ คือ

 

               ๑.) ความต้องการ  การสะสมความมั่งคั่ง  เป็น  กิเลส  คือ ตัวสาเหตุหลักผลักดันให้คิดกระทำการต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

               ๒.) การสนองตอบ  การเก็งกำไร  เป็น  กรรม  คือ กระบวนการกระทำทั้งหลายที่ทำให้กระแสสายธารของกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจเป็นไปในลักษณะของรูปแบบต่าง ๆ

 

               ๓.) ราคา  การแลกเปลี่ยน  เงิน  เป็น  วิบาก  คือ  สภาพของเศรษฐกิจที่เป็นผลแห่งการกระทำอันน้อมนำไปสู่ วิกฤติเศรษฐกิจ (ล้มละลายและตกงาน) และกลับมาเป็นปัจจัยเหตุเสริมสร้าง “กิเลส” ให้หมุนเวียนต่อไปอีก

 

         วงจรทั้ง ๓ นี้ จะหมุนเวียนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงเป็นปัจจัยเกื้อหนุนซึ่งกันและกันทำให้วงจรแห่งกระแสสายธารของการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปไม่ขาดสาย ซึ่งอาจเขียนให้เห็นเป็นภาพได้ดังนี้

             

 

      ภาพ ๔  ไตรวัฏฏ์แห่งเศรษฐกิจ : กระแสสายธารแห่งการดำเนินไปในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

            จากภาพ : ในฐานะที่กิเลสเป็นตัวมูลเหตุของการทำกรรมต่าง ๆ ที่ปรุงแต่งผลักดันขับเคลื่อนให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินไปไม่ขาดสาย จึงกำหนดให้ กิเลส เป็นตัวเด่นชัดเจนที่เริ่มต้นในวงจร สามารถพิจารณาตามลูกศรได้ว่า

             ความต้องการเป็นปฐมฐานของการเริ่มต้นในช่วงอดีต ที่ขับเคลื่อนนำพาส่งผลมายังปัจจุบันและถึงซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจ (ล้มละลายและตกงาน) เป็นเบื้องถัดไปในที่สุด ความต้องการที่ถูกผลิตขึ้นจากชุดความคิดที่ขาดสติและปัญญา เมื่อมาบรรจบกับการสนองตอบถือเป็นการครบรอบของการก่อเกิดที่สมบูรณ์แห่ง “กิเลส” ที่ครอบงำนำทางมุ่งสู่ประตูของ “การกระทำ (กรรม)” ที่ก้าวล้ำเข้าไปในการเบียดเบียนซึ่งกันและกันรวมถึงเบียดเบียนในธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม น้อมนำไปให้เกิด “วิบาก (ผล)” ซึ่งจะสะท้อนความเข้มข้นออกมาตามเหตุปัจจัยที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน วิบาก (ผล) จะเลวร้ายเพียงใด ขึ้นอยู่กับเหตุปัจจัยแห่งกระแสสายธารการสั่งสมของการกระทำ (กรรม)

             ๑. ในไตรวัฏฏ์แห่งเศรษฐกิจนั้น กิเลสสำคัญที่เป็นตัวเด่นชัดเจนในการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจให้ดำเนินไปในกระแสสายธารด้านเศรษฐกิจก็คือ ความต้องการกับการสะสมความมั่งคั่ง ซึ่งถ้าหากพิจารณาโดยแยบคายแล้ว ความต้องการถือเป็นปฐมฐานทางความคิดให้ไปเสพติดในอวิชชาที่มีทัศนะที่ว่า หากสะสมความมั่งคั่งได้มากเท่าใด ก็จะทำให้ได้รับความสุข (ความสะดวกสบายทางกาย) ในการดำเนินชีวิตมากขึ้นเท่านั้น ความต้องการจึงเปรียบเสมือน สารตั้งต้นที่เข้าไปปนเปื้อนในทุก ๆ กระบวนการของการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจ น้อมนำวิถีชีวิตไปสู่ลู่ทางของการวิ่งไล่กวดตักตวงเอาความมั่งคั่งมาไว้ในครอบครองให้ได้มากที่สุด

             ๒. ในตัวเด่นที่สำคัญของกรรม (การกระทำ) นั้น เป็นไปในลักษณะของกระบวนการขั้นตอนการแปลงค่าความต้องการ (นามธรรม) ให้แปรสภาพเป็นรูปธรรม (สินค้าและบริการ) หรือหากพูดให้เข้าใจได้ง่าย ๆ ก็คือ เป็นขั้นตอนของการสนองตอบ (กระบวนการผลิต) ที่ต่อยอดมาจากความต้องการนั่นเอง กระแสสายธารแห่งการกระทำ (กรรม) นั้น ตัวเด่นที่ชัดเจนในไตรวัฏฏ์แห่งเศรษฐกิจก็คือ การสนองตอบและการเก็งกำไร ซึ่งถือเป็นการกระทำ (กรรม) ที่สำคัญเป็นเสมือนการเหยียบคันเร่งเดินหน้าเข้าหาจุดวิกฤติ ซึ่งจะมากหรือน้อย จะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับว่าความเข้มข้นของการสนองตอบและการเก็งกำไรมีมากหรือน้อยเพียงใดในกระแสสายธารของกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

             ๓. วิกฤติเศรษฐกิจ (เป็นไปในลักษณะของการเจือปนไปด้วยองค์ประกอบของการดำเนินไปใน ราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน นั้นมันมีความเข้มข้นเป็นอย่างมากที่เกิดจากเหตุปัจจัยในการเก็งกำไร) ถือเป็นตัวเด่นชัดเจนในวิบาก (ผล) ของไตรวัฏฏ์แห่งเศรษฐกิจ ที่เป็นผลิตผลเบื้องปลายจากกระแสสายธารของการเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ นำพาชีวิตเข้าไปติดอยู่ในวังวนแห่งความทุกข์ (ล้มละลายและตกงาน) เปรียบเสมือน เป็นด่านที่สำคัญในการทดสอบกำลังสติและปัญญาของมวลมนุษย์ว่า จะสามารถสลัดให้หลุดออกจากกับดักของหลุมพรางแห่งชีวิตดังกล่าวได้หรือไม่

            ซึ่งกระบวนการของวิกฤติเศรษฐกิจที่สะท้อนออกมาในรูปของการล้มละลายและการตกงานนั้นมีส่วนสำคัญที่พึงทำความเข้าใจในกระสายธารของไตรวัฏฏ์แห่งเศรษฐกิจ ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน จะได้ว่า ผลจากการล้มละลายและการตกงาน ก็จะเข้าสู่กระบวนการของการปรับดุลยภาพใหม่ในสภาวะทางเศรษฐกิจ บีบคั้น บังคับให้กลับมาเป็นเหตุปัจจัยในการเกื้อหนุนจุนเจือเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้กับกิเลสต่อไปได้อีก ซึ่งก็จะหมุนเวียนเปลี่ยนไปในความต่อเนื่องตลอดทั้งสายไม่ขาดตอนในกระแสสายธารของกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

            

         ๔. การพิจาณาความเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงของวงจรปัจจัยเหตุต่าง ๆ ที่เป็นไปในลักษณะของเรื่องอดีต (เหตุ)  ปัจจุบัน (ผลและเหตุ) และอนาคต (ผล) สามารถนำมาอธิบายขยายความได้ตามภาพประกอบ ดังนี้

    

 

      ภาพ ๕ กระแสสายธารของการดำเนินไปในวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ : อดีต (เหตุ) ปัจจุบัน (ผลและเหตุ) และอนาคต (ผล) 

          

จากภาพ : กระแสสายธารของการดำเนินไปในวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจ : อดีต (เหตุ) ปัจจุบัน (ผลและเหตุ) และอนาคต (ผล) พึงพิจารณาได้ว่า

         ๑. อดีตเหตุ ประกอบไปด้วย

                   - ความต้องการ + การสะสมความมั่งคั่ง      ซึ่งก็คือ      กิเลส

                   - การสนองตอบ + การเก็งกำไร                ซึ่งก็คือ      กรรม

          ๒. ปัจจุบัน :

               ๒.๑ ปัจจุบันผล ประกอบไปด้วย

                   - ราคา การแลกเปลี่ยน เงิน = วิกฤติเศรษฐกิจ (ล้มละลายและตกงาน) ซึ่งก็คือ วิบาก

               ๒.๒ ปัจจุบันเหตุ ประกอบไปด้วย

                   - การสะสมความมั่งคั่ง + ความต้องการ        ซึ่งก็คือ      กิเลส

                   - การเก็งกำไร + การสนองตอบ                  ซึ่งก็คือ      กรรม

          ๓. อนาคตผล ประกอบไปด้วย

                   - วิกฤติเศรษฐกิจ (ล้มละลายและตกงาน) = ราคา การแลกเปลี่ยน เงิน ซึ่งก็คือ วิบาก

 

          กระบวนการของวงจรหลักวิกฤติเศรษฐกิจที่พิจารณาตามสภาวะของอดีต (เหตุ) ปัจจุบัน (ผลและเหตุ) และอนาคต (ผล) เป็นไปในลักษณะของการแสดงถึงความสัมพันธ์ที่เกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงกันไปตลอดทั้งสายไล่เรียงจาก อดีตเหตุ (กิเลสและกรรม)  ไปสู่   ปัจจุบันผล (วิบาก) ไปสู่ ปัจจุบันเหตุ (กิเลสและกรรม) ไปสู่  อนาคตผล (วิบาก) ไปสู่ อดีตเหตุ (กิเลสและกรรม) ไปสู่   ปัจจุบันผล (วิบาก) ไปสู่ ปัจจุบันเหตุ (กิเลสและกรรม) ไปสู่ อนาคตผล (วิบาก) ...  หมุนเวียนสืบเนื่องเป็น “วัฏฏะ” ในกระแสสายธารของกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจอย่างนี้เรื่อยไป นัยคือ วิบาก (วิกฤติเศรษฐกิจ : ล้มละลายและตกงาน) มิใช่เบื้องปลายท้ายสุด หากแต่เป็นเพียงกระบวนการปรับดุลยภาพใหม่ในทางเศรษฐกิจ (เกี่ยวเนื่องจาก วิกฤติเศรษฐกิจก็คือการเสียสมดุลทางเศรษฐกิจ) และการล้มละลายและการตกงานนั้นก็จะเป็นแรงบังคับ บีบคั้นให้สร้างความต้องการ (กิเลส) ซึ่งความต้องการก็เป็นแรงขับให้เกิดการสนองตอบ (กรรม) ... หมุนเวียนอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ ไม่มีที่สิ้นสุด ดังที่กล่าวไว้ว่า “ไม่มีเบื้องแรก ไม่มีเบื้องสุดท้าย” เหตุปัจจัยทั้งหลายล้วนเกี่ยวเนื่องเชื่อมโยงอาศัยซึ่งกันและกันในกระแสสายธารของกระบวนการกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 497831เขียนเมื่อ 9 สิงหาคม 2012 14:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 สิงหาคม 2012 00:03 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

วงจร .... หลักวิกฤติเศรษฐกิจ ...

อดีตเหตุ==>ปัจจุบัน==>อนาคตผล


ขอบคุณบทความดีดีนี้ค่ะ

 ขอบคุณ P' Ple มากครับที่แวะมาให้กำลังใจเสมอ

สวัสดีค่ะอาจารย์...การเชื่อมโยงของวงจร ดูเหมือนเป็นพลวัตรนะค่ะ.. อดีต ปัจจุบันและอนาคต...

 อดีต.(เหตุ) ...... ปัจจุบัน (ผล & เหตุ) ....อนาคต (ผล)

.........      ( เหตุ- ผล  เหตุ- ผล)....

 ...........กิเลส กรรม วิบาก  กิเลส กรรม วิบาก...

ถ้าอย่างนั้น....  เกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป..    เอามาใช้อธิบายในส่วนนี้ด้วยได้ไหม๊ค่ะ??.

ขออภัย... ข้าน้อยไม่ค่อยจะเข้าใจนัก พยายามมองความสัมพันธ์ค่ะ :-))

ขอบคุณอาจารย์ kwancha ที่เข้ามาเยี่ยมและให้กำลังใจเสมอครับ

        ในส่วนของความสัมพันธ์ของวงจรดังกล่าวที่เป็น วัฏฏะ ๓ (ไตรวัฏฏ์) หรือ กิเลส – กรรม – วิบาก นั้น หากมองความสัมพันธ์ ที่เชื่อมโยงกับ การเกิดขึ้น ตั้งอยู่ ดับไป... ก็สามารถอธิบายได้เช่นกันครับ เช่น

          -  เมื่อมนุษย์มีความต้องการเกิดขึ้น ก็ถือได้ว่า มีความเกิดขึ้น (กิเลส)

          -  เมื่อความต้องการที่เกิดขึ้นมาบรรจบครบรอบกับการได้รับการสนองตอบในแง่ของการผลิต กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ก็ถือได้ว่า มีการตั้งอยู่ของการดำเนินไปในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ (กรรม)

          -  เมื่อการตั้งอยู่ของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ถูกปนเปื้อนในส่วนของการสะสมความมั่งคั่งและการเก็งกำไรเพื่อให้ได้มาซึ่งความมั่งคั่งดังกล่าวแล้ว ก็จะทำให้กระบวนการของกิจกรรมทางเศรษฐกิจเสียดุลยภาพ ซึ่งจะสะท้อนออกมาในรูปของวิกฤติเศรษฐกิจ  (วิบาก) ซึ่งวิกฤติเศรษฐกิจก็คือ การปรับดุลยภาพใหม่ของระบบเศรษฐกิจนั่นเอง  โดยวิกฤติจะมากหรือน้อยขึ้นอยู่กับขนาดของระบบเศรษฐกิจที่เสียสมดุลนั้น หากเป็นระบบเศรษฐกิจที่ใหญ่เฉกเช่นสหรัฐอเมริกาซึ่งเกิดวิกฤติซับไพร์มก็จะส่งผลกระทบเป็นวงกว้าง

         การที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ อาจจะถือได้ว่าเป็นการดับไปในรอบของกระบวนการของวงจรกิจกรรมทางเศรษฐกิจนั้น แต่การดับไปนั้น หากยังมีความต้องการ (หัวเชื้อ) ที่เป็นหัวจักรขับเคลื่อนอยู่ก็จะเป็นเสมือนการก่อเกิด (กิเลส) ให้เข้าไปสู่วงจร กิเลส – กรรม – วิบาก...

          ซึ่งหากมองในแง่ปัจจุบันก็เป็นไปในลักษณะอย่างนั้นครับ กล่าวคือ การที่เกิดวิกฤติเศรษฐกิจ (ธุรกิจล้มละลาย หรือตกงาน) คนส่วนใหญ่ก็จะกระทำทุกวิถีทางเพื่อพยายามกลับไปสู่จุดเดิมให้ได้ ซึ่งแรงขับของความต้องการก็จะทำงานโดยอัตโนมัติ แต่ที่สำคัญในปัจจุบันนั้นกับดักที่ถูกวางไว้น่ากลัวก็คือ พฤติกรรมการบริโภคส่วนใหญ่จะเป็นการดึงเอาพฤติกรรมการบริโภคในอนาคตมาใช้เป็นฐานก่อนในรูปแบบของการเอาเงินในอนาคตในรูปแบบต่าง ๆ มาใช้ กล่าวคือ สมมติ หากเมื่อก่อนเราเคยใช้รถยุโรปเป็นพาหนะแต่พอเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ รายได้ไม่มีเงินผ่อน ก็เปลี่ยนมาใช้รถเอเชียเป็นพาหนะ แต่ฐานของพฤติกรรมการบริโภคของเราไม่ได้อยู่ที่รถเอเชีย (เพราะติดกับดักบริโภคนิยม) แต่อยู่ที่รถยุโรป ที่รอวันไล่กวดความมั่งคั่งดังกล่าวกลับมา เฉกเช่นเดียวกับระบบเศรษฐกิจเมื่อระบบเศรษฐกิจติดกับดักของฐานบริโภคนิยมเดิมที่ถูกปั่นขึ้นไป ถึงแม้ว่าจะล่มสลายลงมาแต่ระบบเศรษฐกิจก็ยังมีฐานที่เคยสูงสุดเป็นบรรทัดฐานบ่งชี้ถึงพฤติกรรมในอนาคตของตลาดในการผลิตความต้องการ (กิเลส)เพื่อไล่กวดความมั่งคั่งดังเดิมต่อไป...

     เพิ่มเติมอีกนิดนึงครับ

            แก่นแท้ของความสัมพันธ์และกลไกในส่วนประกอบของเศรษฐกิจ “เงิน” ถือได้ว่าเป็นเพียงแค่เครื่องมือที่มนุษย์สร้างขึ้นมาเพื่ออำนวยความสะดวกให้กับกลไก (ราคาและการแลกเปลี่ยน) ในการหมุนเวียนแลกเปลี่ยนของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ซึ่งเมื่อพิจารณาจากองค์ประกอบและความสัมพันธ์ดังกล่าว จะได้ว่า

          ๑.      สภาวะตัวการ ของเศรษฐกิจประกอบไปด้วย

                   ๑.๑ ความต้องการ ซึ่งมีแรงบีบคั้น บังคับจาก “ความโลภ” เป็นสำคัญ

                   ๑.๒ การสนองตอบหรือการผลิต ซึ่งมีแรงบังคับ บีบคั้นจาก “การจำกัดของทรัพยากร” เป็นสำคัญ

          ๒.     สภาวะเงื่อนไข ของเศรษฐกิจประกอบไปด้วย

                  ๒.๑ กลไกในการจัดสรรสินค้าและบริการก็คือ ราคาและการแลกเปลี่ยน  

                  ๒.๒ เครื่องมือซึ่งก็คือ “เงิน”

 

         หากพิจารณาจากตัวสภาวะของเศรษฐกิจ ในภาคส่วนของ ตัวการและเงื่อนไข จะพึงเห็นได้ว่า ปัญหาทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นจะถูกเพ่งพินิจโยนความผิดไปที่ตัวเงื่อนไขโดยหัวใจหลักก็คือ “เงิน” เป็นไปในลักษณะของทัศนะที่ว่า ปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจมีมาก (น้อย) เกินไป จึงทำให้เกิดวิกฤติ แท้ที่จริงแล้วหากว่าเราเข้าใจในความสัมพันธ์และกลไกในส่วนประกอบของเศรษฐกิจตามจริง ก็จะรู้ได้ว่า “เงิน” เป็นเพียงเครื่องมือในภาคส่วนของเงื่อนไขในการทำให้กลไกของกิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ตลอดทั้งสายไม่ขาดตอนเท่านั้นเองหาใช่ปัจจัยเหตุที่แท้จริงไม่

 

            “เงิน”  แท้ที่จริงแล้วเป็นเพียงตัว เงื่อนไข ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ที่ถูกผลิตคิดค้นเพื่อใช้เป็นเครื่องมือทำให้กลไก (ราคาและการแลกเปลี่ยน) ในกิจกรรมทางเศรษฐกิจดำเนินต่อไปได้ตลอดทั้งสายไม่ขาดตอน ปัญหาทางเศรษฐกิจที่พ่นพิษอยู่ทั่วทุกมุมโลก เกี่ยวเนื่องจาก คนส่วนใหญ่ไม่เข้าใจในส่วนประกอบของเศรษฐกิจตามจริง จึงทำให้เกิดการแก้ไขปัญหาที่ไม่ตรงจุด เปรียบเสมือนเป็นการบิดเบือน ปิดบังอำพรางแก่นแท้ของปัญหาเอาไว้นั่นเอง

              การแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจโดยทั่วไปในปัจจุบันเป็นเพียงการผลักภาระปัญหาไปข้างหน้า เกี่ยวเนื่องจาก มุ่งเน้นแก้ปัญหาที่ตัวเงื่อนไขซึ่งก็คือเงิน แต่ไม่ได้แก้ไขปัญหาที่เหตุปัจจัยในสภาวะตัวการ (ความต้องการและการสนองตอบ) ซึ่งถือได้ว่าเป็นปฐมฐานของกระบวนการทั้งหมด ดังนั้นปัญหาวิกฤติเศรษฐกิจในอนาคตก็จะเกิดขึ้นเรื่อย ๆ และที่สำคัญจะซับซ้อนและทวีความรุนแรงมากยิ่งขึ้นเพราะถูกบังคับ บีบคั้นจากวิกฤติธรรมชาติเป็นแรงหนุนส่ง

                

           ตัวการ (ความต้องการ + การสนองตอบ) และเงื่อนไข (ราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน) ในความสัมพันธ์ของเศรษฐกิจเมื่อพิจารณาเกี่ยวเนื่องกับ “สังสารวัฏฏ์” หรือที่เรียกว่า วัฏฏะ ๓ (ไตรวัฏฏ์ : วน ๓) ตามหลักพระพุทธศาสนา สามารถเชื่อมโยงได้ว่า

             ตัวการ : ความต้องการ                      =   กิเลส

                         การสนองตอบ                      =   กรรม (การกระทำหรือกระบวนการการผลิต)

           เงื่อนไข : ราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน   =   วิบาก (ผล)

 

              การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจหากแก้ที่เงื่อนไข (ราคา การแลกเปลี่ยน และเงิน) ซึ่งถือได้ว่าเป็นวิบาก จึงเป็นเสมือนการแก้ปัญหาเพื่อก่อปัญหาในภายภาคหน้าไม่รู้จบ เกี่ยวเนื่องจาก สภาวะตัวการ (ความต้องการ + การสนองตอบ) ที่เป็นตัวสาเหตุหลักใหญ่ยังไม่ได้ถูกแก้ไขในเบื้องแรกนั่นเอง การแก้ปัญหาทางเศรษฐกิจที่ถูกต้องตาม (สภาวะ) จริง ต้องแก้ที่ต้นเหตุ (ตัวการ : ความต้องการและการสนองตอบ) จึงจะถือเป็นกรอบของการแก้ปัญหาที่นำพาไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคตครับ

 

            ขอบคุณอาจารย์มากครับที่เข้ามาให้ข้อสังเกตที่เป็นประโยชน์




พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท