ประวัติศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดอกเตอร์เรืองศักดิ์ กันตะบุตร


       ศาสตราจารย์เกียรติคุณ  ดอกเตอร์เรืองศักดิ์  กันตะบุตร  เกิดเมื่อวันที่  10  ตุลาคม  พ.ศ. 2468  ที่บ้านกันตะบุตร ตรงข้ามโรงเรียนนายเรือ  อำเภอเมืองสมุทรปราการ จังหวัดสมุทรปราการ  เป็นบุตรของ เรือโท นายแพทย์โกศล  และนางเลื่อน   กันตะบุตร  มีน้องต่างมารดา  1 คน  คือ  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ  นายแพทย์มนตรี  กันตะบุตร  มีน้องต่างบิดา  1 คน คือ  นางอุทุมพร  ศรีวัฒนกุล  และมีน้องซึ่งเป็นบุตรบุญธรรม  1 คน คือ  พันโทหญิงปานฉวี  กันตะบุตร
        ศาสตราจารย์เรืองศักดิ์ ได้เข้ารับการศึกษาระดับมัธยมที่โรงเรียนเทพศิรินทราวาส(ปัจจุบันคือโรงเรียนเทพศิรินทร์)  จบชั้นมัธยมปีที่ 6  เมื่อ พ.ศ. 2483  แล้วศึกษาต่อที่โรงเรียนเตรียมอุดมศึกษาแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  จนจบประโยคเตรียมอุดมศึกษา ในพ.ศ.2486  จากนั้นเข้าศึกษาต่อระดับปริญญาตรีที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย  สำเร็จได้รับพระราชทานปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรบัณฑิต ใน พ.ศ.2490
           อนึ่ง ในระหว่างเกิดสงครามมหาเอเชียบูรพา  ศาสตราจารย์เรืองศักดิ์มีความสนใจในเหตุการณ์บ้านเมือง ได้เข้าร่วมเป็นเสรีไทย สายนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย โดยได้สมัครเข้าเรียนที่โรงเรียนนายร้อยสารวัตรทหาร  จนสำเร็จหลักสูตรสารวัตรทหาร(เสรีไทย พ.ศ. 2488) ได้รับยศร้อยตรีแห่งกองทัพบก
          ต่อมาได้เข้าศึกษาต่อระดับปริญญาโทที่  Illinois Institute of Technology
 เมืองชิคาโก ประเทศสหรัฐอเมริกา  สำเร็จได้รับปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรมหาบัณฑิต(Master of Science in Architecture) ในพ.ศ. 2501  โดยเป็นคนไทยเพียงคนเดียวที่ได้เป็นศิษย์ของสถาปนิกอัจฉริยะของโลก ซึ่งได้รับยกย่องว่าเป็นบิดาแห่งสถาปัตยกรรมสมัยใหม่ คือ มิส วาน เดอร์ โรห์(Mies Van Der Rohe)
         หลังจากสำเร็จการศึกษาระดับปริญญาโทจาก ประเทศสหรัฐอเมริกาใน พ.ศ. 2501 ศาสตราจารย์เรืองศักดิ์ได้เข้ารับราชการเป็นอาจารย์ผู้สอนที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย (ปัจจุบันคือ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลตะวันออก วิทยาเขตอุเทนถวาย) พ.ศ. 2502ได้เลื่อนตำแหน่งเป็นผู้ช่วยอาจารย์ใหญ่ฝ่ายวิชาการ  พ.ศ. 2509 ได้ย้ายไปอยู่ที่กรมอาชีวศึกษา ในตำแหน่งหัวหน้ากองออกแบบและก่อสร้าง  พ.ศ. 2512 ย้ายไปเป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร โดยมีความก้าวหน้าในตำแหน่งทางวิชาการตามลำดับคือ  เป็นผู้ช่วยศาสตราจารย์ รองศาสตราจารย์ และศาสตราจารย์  จนเกษียณเกษียณอายุราชการใน พ.ศ. 2529           
          หลังเกษียณ พ.ศ.2531ได้รับเชิญจากมหาวิทยาลัยรังสิต ให้มาช่วยก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  ศาสตราจารย์เรืองศักดิ์ได้กล่าวถึงเหตุผลที่ตัดสินใจมาช่วยก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ซึ่งนายยอดเยี่ยม  เทพธรานนท์ ผู้เคยเป็นนายกสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์ ได้เขียนอ้างอิงคำกล่าวไว้ในหนังสือ “ศรัทธาของลูกศิษย์ผูกพันรัก ศ.ดร.เรืองศักดิ์  กันตะบุตร”ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เรืองศักดิ์  กันตะบุตร ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม  วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554  ความตอนหนึ่งว่า
          “...ผมเคยถามพี่เรืองศักดิ์ว่า  ทำไมพี่เขาถึงยอมทิ้งเกียรติและความสบาย...มาตกทุกข์ตกลำบากสร้างคณะใหม่ขึ้นมาที่มหาวิทยาลัยรังสิต  พี่เรืองศักดิ์ตอบผมว่า  ประเทศที่เจริญทางวิชาการทุกประเทศ จะต้องมีมหาวิทยาลัยเอกชนที่เข้มแข็งไม่น้อยกว่ามหาวิทยาลัยของรัฐ จะต้องเปรียบเทียบและแข่งขันกันได้  และเมืองไทยเราต้องยอมรับว่า ระบบการสอบเอนทรานส์นั้น ทำให้เด็กหลายคนไม่ได้เรียนในคณะวิชาที่ตัวเองอยากจะเรียน...แต่ผมต้องการทำให้คณะสถาปัตย์ มหาวิทยาลัยรังสิต เป็นสถานที่ที่เด็กสามารถเลือกทางชีวิตของตัวเองได้ ...แต่ไม่ใช่ว่าเขาเข้ามาได้ง่ายๆแล้วจะจบไปได้อย่างมักง่าย เราต้องเคี่ยวเข็ญเขา เราต้องสร้างมาตรฐานให้เขา  หากเขาได้มาตรฐานแล้วเราจึงปล่อยให้เขาออกไปสู่สังคม  ถ้าใครมาตรฐานไม่ถึงออกไปไม่ได้ หากเขาผ่านไปได้ สังคมก็จะมีคนที่มีคุณภาพ ที่มีใจรักเพิ่มขึ้น 
      เราอาจจะสอนให้เขาเป็นคนเก่งทั้งหมดไม่ได้  แต่เราต้องสอนให้เขามีคุณภาพไม่ต่ำกว่ามาตรฐานของนักวิชาชีพ  และเราต้องสอนให้เขาเป็นคนดี  ให้เขาเป็นคนมีน้ำใจ  เพราะตอนนี้สังคมของเราต้องการคนเช่นนี้มาก
...”
       ดอกเตอร์อาทิตย์  อุไรรัตน์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต  ได้กล่าวถึงผลงานการก่อตั้วคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ของศาสตราจารย์เรืองศักดิ์ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันว่า
         ศาสตราจารย์ ดร.เรืองศักดิ์  กันตะบุตร  เป็นผู้มีคุณูปการอันยิ่งใหญ่ในการเข้ามาเป็นคณบดีก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรม มหาวิทยาลัยรังสิต  ลงหลักปักฐานอันมั่นคง  จนเราสามารถเติบโตยืนหยัด  เป็นคณะที่มีคุณภาพและมาตรฐานการศึกษา เป็นที่ยอมรับอย่างกว้างขวางในชุมชนวิชาการ  สามารถผลิตบัณฑิตที่มีความคิดสร้างสรรค์และมีความเชี่ยวชาญด้านวิชาชีพ ออกไปรับใช้สังคมและประเทศชาติเป็นจำนวนมาก...            
            หลังก่อตั้งคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ ศาสตราจารย์เรืองศักดิ์ก็ได้เป็นคณบดีคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์คนแรกของมหาวิทยาลัยรังสิต รวมทั้งได้เป็นคณบดีบริหารกลุ่มคณะศิลปะและการออกแบบด้วย  และต่อมาพ.ศ.2545 ได้เป็นคณบดีกิตติคุณ มหาวิทยาลัยรังสิต              
       ศาสตราจารย์เรืองศักดิ์ เป็นผู้ที่มีความเชี่ยวชาญในวิชาชีพสูง  และเป็นครูที่มีจิตวิญญาณความเป็นครูอย่างแท้จริง  มีศิษย์และบุตรได้เขียนถึงความเป็นครูของศาสตราจารย์เรืองศักดิ์ไว้ในหนังสือเล่มเดียวกัน  คือ
         นายนิพัทธ์ เทวัต  ศิษย์ที่โรงเรียนช่างก่อสร้างอุเทนถวาย  และศิษย์รุ่นที่ 1 ของคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร ได้เขียนไว้ตอนหนึ่งว่า
    “...วิชา CONSTRUCTION อาจารย์เป็นยอดอย่างหาที่เปรียบไม่ได้ในวิชานี้  ศิษย์ทุกผู้ซึมทราบและฝังหัวตั้งแต่วินาทีนั้น  และจำใส่หัวมิรู้ลืมจนบัดนี้ งาน DETAIL ต่างๆของตัวอาคาร อาจารย์ให้ลูกศิษย์เขียนขยาย 1:1 เป็นรายบุคคลไป  ทุกคนร้องลั่นว่า จะเขียนได้อย่างไร ในเมื่อกระดาษมีเพียงแค่ขนาด A3 กว่าจะรู้ว่าอาจารย์ให้ลูกศิษย์เขียนคนละจุด แยกกันออกไป  อาทิ เขียนโครงสร้าง หลังคาประกอบด้วย หัวเสา คาน  อีกคนเขียนเสา  ตอม่อคอนกรีต  ต่อกับเสาไม้ คาน  ตอ  และอีกหลายๆจุดในตัวอาคารทั้งหลัง  และเวลาตรวจงานอาจารย์จะเอาขึ้นกระดานและอธิบายทีละจุดให้ศิษย์เข้าใจ และเข้าถึงมิรู้เลือน...เราได้วิทยายุทธจากอาจารย์มาเต็มสมอง และใช้จนมาถึงปัจจุบัน  อาจารย์เป็นผู้ให้โดยแท้จริง  ทั้งติ เตือน แก้ไข จนฝังในตัวอย่างลึก  อาจารย์เพียรบอกว่า  แบบผิดเอาออกไปข้างนอกไม่ได้ ...”  
         
นายชินภัศร์  กันตะบุตร  อาจารย์ประจำคณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต  บุตรศาสตราจารย์เรืองศักดิ์ได้เขียนถึงพ่อ ความตอนหนึ่งว่า
          “...ตั้งแต่ผมเป็นเด็กได้เห็นคุณพ่อทำแต่งาน ก้มเงยอยู่กับโต๊ะเขียนทุกคืน มีลูกศิษย์หลายคนเป็นทีมมาทำงานที่บ้านเป็นลูกมือให้ท่าน และท่านก็สอนไปด้วย ท่านให้เวลากับลูกศิษย์ทั้งที่มหาวิทยาลัยและที่บ้าน ตลอดมานั้น ผมได้เห็นคุณพ่อคอยเป็นห่วงเป็นใยต่อลูกศิษย์ และเป็นภาระให้คุณแม่ผมจะต้องช่วยดูแลลูกศิษย์ไปด้วย มีงานจัดเลี้ยงสังสรรค์ที่บ้านให้แก่นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยต่างๆ รุ่นแล้วรุ่นเล่าในโอกาสสำคัญตลอดเวลา มีอยู่ครั้งหนึ่งคุณพ่อผมโดนลูกศิษย์โกงทั้งชื่อเสียง ผลงานและเงินก้อนโต แต่คุณพ่อก็ให้อภัยลูกศิษย์คนนั้น ตอนนั้นด้วยความเป็นเด็กผมคิดไปว่าคุณพ่อรักลูกศิษย์มากกว่าลูกของตัวเองเสียอีก จวบจนวันที่ผมได้มาสอนหนังสือที่มหาวิทยาลัยรังสิตเป็นเวลาสิบกว่าปีแล้วถึงได้เข้าใจว่าความรักของคุณพ่อ “เรืองศักดิ์  กันตะบุตร” นั้นยิ่งใหญ่เพียงใด ... ผมนึกย้อนหลังดูภาพต่างๆในอดีตของคุณพ่อ ผมน้ำตาไหลด้วยความปลื้มใจ และภูมิใจในคุณงามความดีของคุณพ่อที่ได้ให้ความรัก ความรู้ ความเมตตา ต่อลูกศิษย์ และต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน...”
       
ศาสตราจารย์เรืองศักดิ์เป็นทั้ง“อาจารย์พ่อ”ของอาจารย์และเจ้าหน้าที่ในมหาวิทยาลัย  และเป็น “อาจารย์ปู่”ของนักศึกษา เป็นแบบอย่างที่ดีทั้งในด้านการเป็นครูและการดำรงชีวิต โดยศาสตราจารย์เรืองศักดิ์ถือว่าทุกคนล้วนเป็นศิษย์  จะเต็มใจและตั้งใจสอนทุกคนทั้งด้านวิชาการที่ลุ่มลึก ทันสมัยโดยไม่ปิดบังความรู้ ไปพร้อมกับการอบรมให้ปฏิบัติตนอย่างเหมาะสมไปด้วย  ในเรื่องนี้มีผู้เขียนไว้ในหนังสือเล่มเดียวกันหลายคน อาทิ
          ผู้ช่วยศาสตราจารย์ณัฐธร  ธรรมบุตร  อาจารย์ประจำคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต  ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
              ผมมาเป็นลูกศิษย์ อาจารย์พ่อ ก็เมื่ออายุมากแล้ว โดยมาเป็นอาจารย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต เรียกได้ว่าเป็น ลูกศิษย์แก่ ซึ่งอาจารย์พ่อ ก็มอบหมายให้ทำหน้าที่สอน... อีกทั้ง สอนให้ผมเป็นครู สอนให้ถ่อมตน... อาจารย์พ่อสอนผมเรื่องของแรงที่กระทำต่อ member ก่อให้เกิดความงามทางสถาปัตย์ ต่อยอดความรู้ที่ บรรดาช่าง มีมาแต่โบราณทั้งสกุลช่างตะวันออกและตะวันตก ทำไม Arch ถึงโค้งและโค้งแค่ไหนถึงพอ ไม่มากเกินไปและไม่น้อยจนเกินไป... สอนให้ผมเป็นช่าง สอนให้เข้าถึงในวิธีแห่งสัจจะ ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการซักถามที่อาจารย์พ่อ ก็เพียรอธิบายความให้อย่างเต็มใจ  ในเรื่องของ องค์ความรู้ ที่ได้เปิดให้เห็นความเป็น คนช่างสังเกตและช่างรวบรวม เป็นขุมพลังแห่งความรู้ lecture ที่อาจารย์พ่อ ได้สอนไว้กับลูกศิษย์ รุ่นแรกถ้าใครยังเก็บไว้ ต้องขอบอกว่า เป็นดั่งคัมภีร์ ผมยังจำได้ถึงรูป graphic ของการกระทำของแรง บนโค้ง arch ดูแล้วเสมือน ปริศนาธรรม ที่สะกดให้ ต้องใช้เวลาทำความเข้าใจ…”
            นายอำนวยวุฒิ  สาระศาลิน รองอธิการบดีฝ่ายบริหาร และคณบดีคณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต และรองศาสตราจารย์พิศประไพ  สาระศาลิน  คณบดีคณะศิลปะและการออกแบบ มหาวิทยาลัยรังสิต  ได้กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า 
“…ท่านอาจารย์พ่อเป็นบุคคลที่มีคุณูปการอย่างใหญ่หลางต่อวงการสถาปัตยกรรม ในศตวรรษที่ 20 ของประเทศไทย... ปรัชญาการให้การศึกษา และผลงานการออกแบบสถาปัตยกรรม ท่านอาจารย์พ่อ มีความชัดเจน... ท่านอาจารย์พ่อเป็นผู้ที่มีความรู้และความเข้าใจอันลึกซึ้งในการใช้วัสดุและเทคโนโลยี ท่านสามารถที่จะใช้วิธีการ ก่อสร้าง และเครื่องมือ กับวัสดุแต่ละชนิดได้ด้วยความเหมาะสม ด้วยความเข้าใจสิ่งแวดล้อม ตัวอย่างเช่น สถาปัตยกรรมบ้านพักอาศัยของท่าน สะท้อนความเคารพในสถาปัตยกรรมเรือนไทยเดิม ที่ถูกออกแบบด้วยความเข้าใจสภาพแวดล้อม และวิถีชีวิต โดยท่านได้นำหลักคิดดังกล่าวมาพัฒนาด้วยเทคโนโลยีโครงสร้าง ที่ท่านคิดขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับช่วงเวลาและยุคสมัยได้อย่างอัจฉริยะ ท่านอาจารย์พ่อยังได้สอนให้นักออกแบบประหยัด และเคารพในวัสดุธรรมชาติ ท่านเคยกล่าวให้ฟังว่า การผลิตขันไม้สักนั้น เนื้อไม้สักภายในขันที่ขูดออกทิ้ง ถ้าไม่ได้ทำประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ก็เป็นการสูญเสีย และเป็นการเสียเปรียบในเชิงเศรษฐกิจโดยไม่รู้ตัว…”
        
ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดอกเตอร์ตรึงใจ  บูรณสมภพ  สมาชิกวุฒิสภา ซึ่งเคยเป็นอาจารย์คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยศิลปากร กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
      “…อาจารย์เรืองศักดิ์เป็นตัวอย่างของผู้ที่ใช้ชีวิตอย่างพอเพียงและสมถะ แม้กระทั่งงานออกแบบอาคารของอาจารย์ ก็เป็นงานที่เรียบง่ายตรงไปตรงมาและมีสัจจะ มีความงดงามด้วยรูปทรงสัดส่วน...อาจารย์ยึดถือแนวคิด Less is more เป็นคติประจำใจ และพร่ำสอนลูกศิษย์ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์มหาวิทยาลัยศิลปากร ดิฉันได้มารับราชการเป็นอาจารย์ที่คณะนี้ ก็ได้รับความรู้ทางด้านการออกแบบและโครงสร้างจากอาจารย์เพิ่มขึ้นมาก...”
    
 รองศาสตราจารย์ ดอกเตอร์ชาติชาย  ตระกูลรังสี  ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายวิชาการ มหาวิทยาลัยรังสิต  กล่าวไว้ตอนหนึ่งว่า
     “...ท่านเป็นบุคคลที่ดูเป็นผู้ใหญ่มีบุคลิกดี สง่างาม ทรงไว้ซึ่งความดีงามและภูมิปัญญาอันลุ่มลึก มีความเป็นไทยและเป็นสากลอยู่ในบุคคลเดียวกัน... ท่านมีความเสียสละ ทำงานเพื่อประเทศชาติ เพื่อการศึกษา และเพื่ออุดมการณ์ฯ เพื่อรักษาไว้ซึ่งศิลปะและวัฒนธรรมอันทรงคุณค่าของไทย  ในยามที่สนทนากับท่าน  ท่านจะส่งผ่านความเป็นปราชญ์ออกมาทางคำพูดที่นิ่มนวลเนิบช้าฟังสบายหู และทางสายตาที่พรายรอยยิ้มแห่งความใสซื่อบริสุทธิ์เปี่ยมด้วยความสุขและจินตนาการอันกว้างไกล ท่านรักและเมตตาทุกคน เป็นพ่อที่ดีของลูก เป็นอาจารย์ที่ดีของศิษย์ และเป็นคนไทยที่ทรงคุณค่าซึ่งหาได้ยากยิ่งในโลกทุกวันนี้…”
            ศาสตราจารย์เรืองศักดิ์ มีผลงานทางวิชาการมากมาย  เขียนหนังสือไว้หลายเล่ม เฉพาะที่ตีพิมพ์โดยมหาวิทยาลัยรังสิต เมื่อ พ.ศ. 2540 ได้แก่  การวางผังอาคารด้วยตารางพิกัด Modular Planning  เทคนิคการใช้ไม้ในการก่อสร้าง  และเทคนิควิทยาการอาคาร  เขียนบทความทางวิชาการตีพิมพ์เผยแพร่ในวงวิชาการหลายเรื่อง เช่น เรื่องบ้านไท บ้านไต  รูปแบบของศิลปะและสถาปัตยกรรมไทย จากอดีตสู่ปัจจุบัน  เป็นต้น  เป็นวิทยากรให้ความรู้แก่บุคลากรในหน่วยงานต่างๆอย่างต่อเนื่อง  เป็นกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิหลายคณะ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีผลงานวิจัยที่มีคุณค่าซึ่งได้รับทุนจากหน่วยงานต่างๆ เช่น  ทุนสภาวิจัยแห่งชาติ  เรื่อง ข้อต่อพิเศษสำหรับโค้งสะพานคอนกรีตสำเร็จรูป  ซึ่งได้แสดงเป็นหุ่นจำลองสะพาน  ณ พิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ปทุมธานี  รวมทั้งได้รับทุนวิจัยสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี   ทุนวิจัยมหาวิทยาลัยรังสิต  ทุนวิจัยจากสำนักงานคณะกรรมการการวิจัยแห่งชาติ   ทุนวิจัยจากสภาคณบดี คณะวิศวกรรมศาสตร์ เครือข่ายนักวิจัย 
            นอกจากนี้ยังเป็นผู้วิจัยร่วมโครงการปัญหาด้านสถาปัตยกรรมกับการใช้กระแสไฟฟ้าเกินความจำเป็นของบ้านพักอาศัย   เป็นที่ปรึกษาโครงการคุณสมบัติทางวิศวกรรมของไม้เนื้ออ่อนในประเทศไทยเพื่อการออกแบบโครงสร้าง  เป็นที่ปรึกษาโครงการใช้ไม้เนื้ออ่อนโตเร็วในประเทศไทยเป็นองค์ประกอบในโครงสร้างไม้ เป็นต้น
            ศาสตราจารย์เรืองศักดิ์ได้สร้างสรรค์ผลงานเป็นที่ประจักษ์ไว้มากมาย  ตัวอย่างผลงานด้านการอนุรักษ์สถาปัตยกรรมไทย และผลงานการออกแบบ  เช่น  การออกแบบกองบัญชาการทหารสูงสุด กองทัพภาคที่ 1   อาคารอนุสรณ์สถานแห่งชาติ อำเภอลำลูกกา จังหวัดปทุมธานี  อาคารพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ ปทุมธานี  อาคารส่วนวิชาการ ธนาคารแห่งประเทศไทย   พระมหามณฑปบนยอดเขาวงพระจันทร์ จังหวัดลพบุรี  เขื่อนริมแม่น้ำเจ้าพระยา วัดระฆังโฆสิตาราม  ศาลาหลวงปู่ศุข  วัดศรีนวล  กรุงเทพมหานคร   ประกวดแบบอาคารเรียนมหาวิทยาลัยเอเชียอาคเนย์(ได้รับรางวัลที่ 1)  ประกวดแบบโรงแรมเอราวัณ โครงการเริ่มแรก(ได้รับรางวัลที่ 2) ประกวดแบบธนาคารแห่งประเทศไทย สาขาหาดใหญ่(ได้รับรางวัลที่ 3)  อาคารไทยประยุกต์ของ De Compotosa  ท่านทูตการค้าสเปน  บ้านไทยประยุกต์ของ Mr. Robert Golden   บ้านไทยประยุกต์ของคุณพันธ์ศักดิ์  วิญญูรัตน์  บ้านไทยประยุกต์ของคุณพ้อง  กันตะบุตร  บ้านไทยประยุกต์ของศาสตราจารย์ นายแพทย์มนตรี  กันตะบุตร  บ้านคุณสมควร  บุญยมานนท์  บ้านสำเร็จรูปสร้างเสร็จภายใน 3 ชั่วโมง(แสดงในงานศิลปหัตถกรรม)  อาคารสำนักงานและโรงงาน International Engineer Co.,Ltd.  อาคารสำนักงานบริษัทเทพวงศ์ จำกัด จังหวัดเชียงใหม่  อาคารสำนักงานและโรงงานผลิตยา บริษัทฟีฮาแลปส์ จำกัด กรุงเทพมหานคร  อาคารสำนักงานและโรงงานผลิตกระสอบพลาสติก บริษัทกระสอบแหลมทองจำกัด มีนบุรี  แท่นทดลองกำลังแสงสว่างของหลอดไฟฟ้า Joslyn Co.,Ltd.Chicago,U.S.A. เป็นต้น        
          เกืยรติคุณที่ได้รับ
          พ.ศ. 2511  ศาสตราจารย์เกียรติคุณ คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์  มหาวิทยาลัยศิลปากร
          พ.ศ. 2535  ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  มหาวิทยาลัยศิลปากร
          พ.ศ. 2538   ปูชนียบุคคลด้านสถาปัตยกรรมไทย  โดยคณะกรรมการอำนวยการวันอนุรักษ์
                              มรดกไทย
          พ.ศ. 2547    สถาปนิกดีเด่นด้านวิชาการ  โดยสมาคมสถาปนิกสยาม ในพระบรมราชูปถัมภ์
          พ.ศ. 2548   ปริญญาสถาปัตยกรรมศาสตรดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์  มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
          เครื่องราชอิสริยาภรณ์ชั้นสูงสุดที่ได้รับพระราชทาน  คือ มหาปรมาภรณ์ช้างเผือก  มหาวชิรมงกุฎ และเหรียญจักรพรรดิมาลา
         ศาสตราจารย์เรืองศักดิ์  สมรสกับ นางสาวนริศรา  วรรณทวี  เมื่อพ.ศ. 2505  มีบุตร 3 คน คือ  นางพิจินต์  พิมพา  นายชินภัศร์  และนายต้นเพชร  กันตะบุตร
         ในบั้นปลายของชีวิต แม้อายุจะมากขึ้นแต่ศาสตราจารย์เรืองศักด์ก็ยังคงทำงานในวิชาชีพอย่างไม่หยุดหย่อน และทำหน้าที่ความเป็นครูอย่างต่อเนื่อง  บ้านพักที่ซอยสายลม ถนนพหลโยธิน  มีลูกศิษย์หลายรุ่นมาเขียนแบบกันที่บ้าน  มีทั้งไปกลับและอยู่ประจำก็มี  ศาสตราจารย์เรืองศักดิ์จะมีความสุขเวลาอยู่ที่โต๊ะเขียนแบบที่แวดล้อมด้วยลูกศิษย์  จนพ.ศ. 2545  เริ่มป่วยด้วยโรคหลอดเลือดหัวใจตีบ  ได้รักษาโดยการขยายหลอดเลือด  พ.ศ. 2546 ก็ป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่อีก  ทำการผ่าตัดและรักษาอยู่ร่วมหนึ่งปี  ระหว่างทำการรักษามีลูกศิษย์จากทุกสถาบันที่เคยสอน ร่วมกันจัดงาน “รวมใจเพื่อ ศ.เรืองศักดิ์  กันตะบุตร”  นำเงินรายได้มาเป็นกองทุนค่ารักษาพยาบาลให้อาจารย์  ด้วยกำลังใจอย่างท่วมท้นจากลูกศิษย์มากมาย ทำให้มีอาการดีขึ้นจนเกือบเป็นปกติ  ต่อมา พ.ศ.2552  มีอาการเส้นเลือดในสมองตีบ ทำให้ร่างกายซีกขวาเป็นอัมพฤกษ์  กลืนอาหารไม่ได้ พูดไม่ชัด ต้องให้อาหารทางสายยาง  ลูกศิษย์ก็ยังมาเยี่ยมอยู่ไม่ขาด  ทำให้มีกำลังใจดี  จนกระทั่งวันที่ 2  พฤศจิกายน  พ.ศ. 2553  ได้ถึงแก่อนิจกรรมอย่างสงบ  สิริอายุได้  85 ปี 22 วัน
                                                               นายธเนศ  ขำเกิด    ผู้เรียบเรียง

                                ******************************
                                   ข้อมูลอ้างอิง
         1. หนังสือ “ศรัทธาของลูกศิษย์ผูกพันรัก ศ.ดร.เรืองศักดิ์  กันตะบุตร”ที่ระลึกในงานพระราชทานเพลิงศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.เรืองศักดิ์  กันตะบุตร ณ เมรุวัดมกุฎกษัตริยาราม  วันที่ 3 สิงหาคม พ.ศ. 2554
         2. สัมภาษณ์นายชินภัศร์  กันตะบุตร  บุตร
              

หมายเลขบันทึก: 497552เขียนเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 20:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 สิงหาคม 2012 20:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท