ธรรมหรรษา
รศ.ดร. พระมหา หรรษา นิธิบุณยากร

อาสาฬหบูชา: มองพระพุทธเจ้า เข้าใจตัวเอง??!!??


การที่จะทะลายความคิด ความเชื่อ และแนวปฏิบัติที่สุดโต่ง (Extreme) ได้อย่างเด็ดขาดนั้น จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการปรับวิธีคิด (ปัญญา)  การปรับท่าทีการใช้ชีวิต (ศีล) และการปรับสภาพจิตของตัวเองให้เกิดดุลยภาพ (สมาธิ)  การปรับวิธีคิดให้เป็นสัมมาทิฐิจึงเป็น “ประตูด่านแรก” ที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้ศึกษา เรียนรู้ ใคร่ครวญและเข้าใจในวิถีที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะนั่นหมายถึง “ชีวิตจะร้ายหรือดีต้องเริ่มต้นที่ความคิดที่ถูกต้อง”  จะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตของพระองค์เปลี่ยนไปเพราะใจประจักษ์ชัดว่า “ทุกข์ที่ประสบอยู่คืออะไร สาเหตุมาจากไหน เป้าหมายจริงๆ ที่ต้องการคืออะไร และวิธีการที่พาพระองค์ไปสู่เป้าหมายเป็นอย่างไร”

            วันอาสาฬหบูชา ได้รับความเมตตาจากหลวงพ่อเจ้าอาวาสวัดใหม่ พระครูปลัดรัตนวัฒน์ ให้ขึ้นแสดงธรรมโปรดญาติโยมในอุโบสถ วันนี้มีทั้งนักเรียนวัดศรีสุดารามมารับทุนการศึกษาจากหลวงพ่อเจ้าอาวาส ๖ ทุน นอกจากหลวงพ่อแล้ว ตัวเองได้มอบทุนการศึกษาแก่นักเรียนจำนวน ๕,๐๐๐ บาท โดยตั้งใจจะส่งนักเรียน ๑ คนที่โรงเรียนแห่งนี้คัดเลือกให้ศึกษาสูงที่สุดเท่าที่กำลังและความสามารถของเด็กนักเรียนท่านนั้นจะมีศักยภาพศึกษาได้ หลังจากนั้น จึงได้แสดงธรรมในเรื่อง “อาสาฬหบูชากถา”

            เมื่อ ๒๖๐๐ ปีที่แล้ว หลังจากที่พระพุทธเจ้าบรรลุธรรมโดยการเข้าใจความจริงของชีวิตว่า ทุกข์คืออะไร เกิดจากอะไร เป้าหมายอยู่ที่ไหน วิธีการเข้าถึงเป้าหมายควรทำอย่างไร จึงได้ตัดสินพระทัยเดินทางไปโปรดอาจารย์ทั้งสอง คือ อาฬารดาบส และอุทกดาบส แต่กลับพบว่า ทั้งสองท่านเสียชีวิตแล้ว กลุ่มเป้าหมายถัดไปคือ “ปัญจวัคคีย์” ที่ทำหน้าที่อุปัฏฐากพระองค์และมีศักยภาพเพียงพอที่จะเข้าใจสิ่งที่พระองค์จะนำเสนอ

            พระองค์ตัดสินพระทัยเดินทางออกจากอุรุเวลาเสนานิคม โดยมีระยะทาง  ๒๖๐ กิโลเมตร และใช้เวลาเดินทางทั้งสิ้น  ๑๑ วัน เป้าหมายสำคัญคือการตรัสบอกพระปัญจวัคคีย์ว่า ทางสุดโต่งสองทางที่บรรพชิตไม่ควรหมกมุ่น คือ สุขนิยม (กามสุขัลลิกานุโยค) กับทุกข์นิยม (อัตตกิลมถานุโยค) เหตุผลโดยสรุป เช่น เป็นสิ่งที่ไม่เอื้อต่อการเข้าถึงความจริง ก่อให้เกิดความทุกข์ทรมาน  ไม่ประเสริฐ และไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อการพัฒนาคุณค่าภายในและภายนอก ฉะนั้น ทางออกคือ การเดินตามแนวทางสายกลาง (มัชฌิมาปฏิปทา) ซึ่งหมายถึงมรรค ๘

            การแสดงธรรมครั้งแรก (First Sermon) ที่ชื่อว่า “ธรรมจักรกัปปวัตนสูตร” นั้น นับได้ว่าเป็นการ “ถอดบทเรียน” ของพระองค์เองเพื่อให้ปัญจวัคคีย์ได้ตระหนักรู้ว่า “เส้นทางที่ปัญจวัคคีย์กำลังเดินนั้น พระองค์ได้เคยปฏิบัติ และตระหนักรู้ถึงความตีบตันจึงตรัสเตือนไม่ให้ปฏิบัติตนและใช้ชีวิตอย่างสุดโต่ง”  จะเห็นว่า อัญญาโกณฑัญญะเข้าใจแก่นแท้บางส่วน จึงบรรลุเป็นพระโสดาบันก่อน แต่อีก ๔ ท่านเริ่มตระหนักรู้ว่าทางออกคืออะไร ก่อนที่พระองค์จะแสดง “อนัตตลักขณสูตร” ซึ่งเป็นการนำเสนอแนวทาง “อนัตตา” เพื่อเปิดตาในให้ปัญจวัคคีย์ได้เห็นแก่นแท้ว่า จริงๆ แล้ว ไม่มี “อัตตา” ให้ทั้ง ๕ ท่านคอยยึดถือเป็นแก่น หรือแกน เพราะเมื่อถึงความจริงสูงสุดแล้ว ไม่มีอะไร หรือสิ่งใดให้ยึดมั่นถือว่าว่าเป็นสัตว์ บุคคล ตัวตน เราเขาตามที่ปัญจวัคคีย์ทั้ง ๕ เคยเชื่อและยึดถือเป็นแนวปฏิบัติ

            การที่จะทะลายความคิด ความเชื่อ และแนวปฏิบัติที่สุดโต่ง (Extreme) ได้อย่างเด็ดขาดนั้น จำเป็นต้องเริ่มต้นด้วยการปรับวิธีคิด (ปัญญา)  การปรับท่าทีการใช้ชีวิต (ศีล) และการปรับสภาพจิตของตัวเองให้เกิดดุลยภาพ (สมาธิ)  การปรับวิธีคิดให้เป็นสัมมาทิฐิจึงเป็น “ประตูด่านแรก” ที่จะต้องเปิดพื้นที่ให้ศึกษา เรียนรู้ ใคร่ครวญและเข้าใจในวิถีที่ถูกต้องตามความเป็นจริง เพราะนั่นหมายถึง “ชีวิตจะร้ายหรือดีต้องเริ่มต้นที่ความคิดที่ถูกต้อง”  จะเห็นได้ว่า วิถีชีวิตของพระองค์เปลี่ยนไปเพราะใจประจักษ์ชัดว่า “ทุกข์ที่ประสบอยู่คืออะไร สาเหตุมาจากไหน เป้าหมายจริงๆ ที่ต้องการคืออะไร และวิธีการที่พาพระองค์ไปสู่เป้าหมายเป็นอย่างไร


            บทเรียนครั้งแรกที่นำเสนอแก่ปัญจวัคคีย์จะเป็นบทเรียนของผู้หนึ่งผู้ใดไปมิได้ หากมิใช่บทเรียนของพระพุทธองค์ที่ทรงค้นพบทางออกภายหลังที่ประสบกับความทุกข์ทรมานจากการเวียนว่ายตายเกิดมาอย่างยาวนานจนถึงการบำเพ็ญทุกรกิริยาเพื่อเพื่อแลกกับเป้าหมายที่พระองค์เพียรพยายามค้นหามาโดยตลอด และนำบทเรียนดังกล่าวมาตรัสเตือนมิให้ปัญจวัคคีย์ “ติดหล่ม” และ “หลงทาง” จนค้นพบ “ทางรอด” และ “ปลดปล่อย” ตัวเองออกจากโซ่ตรวนของความสุดโต่งทั้งสองด้านดังเช่นที่พระองค์เคยประสบมาก่อน

            ประจักษ์ชัดว่า บทเรียนของพระองค์นับว่าเป็นเป็นแบบอย่างที่ดี (Best Practice) ที่ทรงคุณค่าให้พุทธศาสนิกชนได้ตระหนักรู้ ใส่ใจ และตอบคำถามว่า หากสิ่งที่ทำให้พระองค์เคยทุกข์อย่างแสนสาหัสคือ “ตัณหา” ทั้งเป็นความทุกข์ที่เกิดจากความอยากมี อยากเป็น เมื่อมีและเป็นแล้วเกิดภาวะเบื่อหน่ายต่อสิ่งที่มีและเป็น  เมื่อมองย้อนกลับมาที่ชีวิตของตัวเองแล้ว เราตอบได้หรือไม่ว่า สาเหตุแห่งทุกข์คืออะไร เกิดจากตัณหา หรือเกิดจากอวิชชา สังขาร หรืออุปาทาน  เพราะเมื่อนำตัวแปรที่ทำให้เกิดความทุกข์นั้นประกอบด้วยองค์ประกอบหลายประเด็นดังที่ปรากฎในปฏิจจสมุปบาท ซึ่งนั่นย่อมหมายความว่า ประสบการณ์แต่ละคนล้วนเผชิญหน้ากับความทุกข์ และสาเหตุแห่งทุกข์ที่ไม่เหมือนกัน เพราะแต่ละท่านมีวิถีชีวิตที่แตกต่างกัน ถึงกระนั้น บทเรียนของพระพุทธเจ้าก็ถือได้ว่าเป็นคู่มือที่นักเดินทางชีวิตจะต้องใช้เป็น “เข็มทิศ” ในการสำรวจ ตระหนักรู้ ตั้งคำถาม และหาทางออก เพื่อมิให้เดินหลงทางเข้าไปในหุบเขาและเมฆหมอกของความทุกข์ทั้งยามตื่น และยามหลับไหล

หมายเลขบันทึก: 497020เขียนเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 00:20 น. ()แก้ไขเมื่อ 3 สิงหาคม 2012 15:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

นมัสการพระคุณเจ้าธรรมหรรษา

คนมุสลิมมาฟังธรรมรับอรุณ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

ขอกราบอนุโมทนาบุญและดีใจกับน้องนักเรียนคนนั้นด้วยค่ะที่ได้รับการสนับสนุนด้านการศึกษาจากพระอาจารย์ เพราะการศึกษา...เปลี่ยนชีวิตจริงๆ ค่ะ

หวังว่าพระอาจารย์คงได้พักบ้างในช่วงวันหยุดนี้ค่ะ

กราบนมัสการด้วยความเคารพ

กราบนมัสการพระคุณเจ้าค่ะ

เช้านี้ช่วยดูน้องมี่หาการบ้านเกี่ยวกับพระุพุทธศาสนาก็เลยได้เรียนรู้ร่วมกับน้องมี่เพิ่มเติมในเช้านี้ค่ะ


 

พี่วอญ่า... พุทธเขียน มุสลิมอ่าน มนุษย์ปฏิบัติ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท