ตำราพิชัยสงคราม ซุนวู


ตำราพิชัยสงคราม ซุนวู


 

 

ตำราพิชัยสงคราม ซุนวู








บทที่ ๑ ประเมินศึก

    อันสงครามนั้น เป็นเรื่องของประเทศชาติ เป็นแหล่งแห่งความเป็นความตาย เป็นเหตุแห่งการดำรงอยู่ดับสูญ จักไม่พินิจ พิเคราะห์มิได้

    ฉะนั้น พึงวิเคราะห์จากห้าเรื่อง นำมาเปรียบเทียบเพื่อประเมิน ให้ถ่องแท้ในสถานการณ์หนึ่งคือ คุณธรรม สองคือลมฟ้าอากาศ สามคือ ภูมิประเทศ สี่คือ แม่ทัพ ห้าคือ กฎระเบียบ

    ที่ว่าคุณธรรม ก็คือ สิ่งที่ทำให้ทวยราษฎร์และเบื้องบนมีเจตนารมณ์ร่วมกัน ร่วมเป็นก็ได้ ร่วมตายก็ได้ ทวยราษฎร์มิหวั่นอันตราย

    ที่ว่าลมฟ้าอากาศ ก็คือ สว่างหรือมืด หนาวหรือร้อน ฤดูนี้หรือฤดูนั้น

    ที่ว่าภูมิประเทศ ก็คือ สูงหรือต่ำ ใกล้หรือไกล คับขันหรือราบเกรียบ กว้างหรือแคบ เป็นหรือตาย

    ที่ว่าแม่ทัพ ก็คือ สติปัญญา ศรัทธา เมตตา กล้าหาญ เข้มงวด

    ที่ว่ากฎระเบียบ ก็คือ ระบบจัดกำลัง ระบบยศตำแหน่ง ระบบพลาธิการ

    ทั้งห้าเรื่องนี้ แม่ทัพพึงรู้แจ้ง ผู้รู้จักชนะ ผู้ไม่รู้จักไม่ชนะ ในสถานการณ์ กล่าวคือ เจ้านายมีคุณธรรมหรือไม่ แม่ทัพสามารถหรือไม่ ฟ้าดินอำนวยหรือไม่ วินัยเข้มงวดหรือไม่ กองทัพเข้มแข็งหรือไม่ ทหารฝึกดีหรือไม่ การรางวัลลงโทษแจ่มชัดหรือไม่ เรารู้ฝ่ายแพ้ชนะได้จากนี้

    แม่ทัพใดเชื่อแผนศึกเรา ใช้ก็จักชนะ ให้เอาตัวไว้ แม่ทัพใดไม่เชื่อแผนศึกเรา ใช้ก็จักแพ้ ให้ปลดออกไป

    เมื่อการประเมินผลดีเป็นที่รับฟัง ก็ให้สร้างพลานุภาพขึ้นเพื่อเป็นส่วนช่วยแผนศึก ที่ว่าผลานุภาพ ก็คือการปฏิบัติการตามสภาพอันจะก่อให้เกิดผลนั่นเอง

    อันสงครามนั้น คือการใช่เล่ห์เพทุบาย ฉะนั้น รบได้ให้แสดงรบไม่ได้ จะรุกให้แสดงไม่รุก ใกล้ให้แสดงไกล ไกลให้แสดงใกล้ ให้ล่อด้วยประโยชน์ ให้ชิงเมื่อระส่ำระสาย ข้าศึกแน่นให้เตรียมรับ ข้าศึกแข็งให้หลีกเลี่ยง ข้าศึกโกรธง่ายให้ก่อกวน ข้าศึกยโสให้เหิมเกริม ข้าศึกสบายให้เหนื่อยล้า ข้าศึกกลมเกลียวให้แยกสลาย ให้จู่โจมเมื่อไม่ระวังตัว ให้รุกรบเมื่อไม่คาดคิด นี้คืออันฉริยะของนักการทหาร อันจักกำหนดล่วงหน้ามิได้

    การประเมินศึกในศาลเทพารักษ์ก่อนรบบ่งบอกชัยชนะเพราะคำนวณผลได้มากกว่า การประเมินผลในศาลเทพารักษ์ก่อนรบบ่งบอกไม่ชนะ เพราะคำนวณผลได้น้อยกว่า คำนวณผลได้มมากก็ชนะ คำนวณผลได้มีน้อยก็แพ้ ถ้าไม่คำนวณก็จักไม่ปรากฎผล เราพิจารณาจากนี้ ก็ประจักษ์ในชัยชนะหรือพ่ายแพ้แล้ว

ภาคปฏิบัติ

"เปรียบเทียบเพื่อประเมินให้ถ่องแท้ในสถานการณ์"

"เจ้านายมีคุณธรรมหรือไม่"

"แม่ทัพสามารถหรือไม่"

"วินัยเข้มงวดหรือไม่"

"กองทัพเข้มแข็งหรือไม่ ทหารฝึกดีหรือไม่"

"การรางวัลลงโทษแจ่มชัดหรือไม่"

"แม่ทัพใดเชื่อแผนศึกเรา ใช้ก็จักชนะ ให้เอาตัวไว้ แม่ทัพใดไม่เชื่อแผนศึกเรา ใช้ก็จักแพ้ ให้ปลดออกไป"

"อันสงครามนั้น คือการใช่เล่ห์เพทุบาย"

"รบได้ให้แสดงรบไม่ได้"

"จะรุกให้แสดงไม่รุก"

"ใกล้ให้แสดงไกล"

"ไกลให้แสดงใกล้"

"ให้ล่อด้วยประโยชน์"

"ให้ชิงเมื่อระส่ำระสาย"

"ข้าศึกแน่นให้เตรียมรับ"

"ข้าศึกแข็งให้หลีกเลี่ยง"

"ข้าศึกโกรธง่ายให้ก่อกวน"

"ข้าศึกยโสให้เหิมเกริม"

"ข้าศึกสบายให้เหนื่อลา"

"ข้าศึกกลมเกลียวให้แยกสลาย"

"ให้จู่โจมเมื่อไม่ระวัง ให้รุกเมื่อไม่คาดคิด"

บทที่ ๒ การทำศึก

    อันหลักแห่งการบัญชาทัพนั้น ต้องใช้รถเร็วพันคัน ค่าใช้จ่ายในและนอกประเทศ ค่าให้จ่ายการทูต ค่าซ่อมสร้าง ยุทโธปกรณ์ ค่ารถรบเสื้อกันเกราะ ต้องสิ้นเปลืองวันละพันตำลึงทองดังนี้ จึงจะเคลื่อนพลสิบหมื่นออกรบได้

    เมื่อรบพึงชนะรวดเร็ว ยืดเยื้อกำลังก็เปลี้ยขวัญทหารก็เสีย ตีเมืองจักไร้พลัง ทำศึกนอกประเทศนาน ในประเทศจักขาดแคลนเมื่อกำลังเปลี้ยขวัญทหารเสีย สูญสิ้นทั้งไพร่พลและเศรษฐกิจ เจ้าครองแคว้นอื่น จักฉวยจุดอ่อนเข้าบุกรุก แม้จะมีผู้เยี่ยมด้วยสติปัญญาก็สุดจะแก้ไขให้กลายดี

    เคยฟังมาว่า ทำศึกพึงชนะเร็วแม้จะไม่ดีนัก แต่ไม่เคยเห็นว่า มีการทำศึกที่ชาญฉลาดทว่าต้องยืดเยื้อ ส่วนที่ว่าทำศึกยืดเยื้อเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ ก็ไม่เคยมีมาก่อน ฉะนั้น ผู้มิรู้ผลร้ายแห่งการทำสึกอย่างถ่องแท้ ย่อมไม่สามารถรู้ผลดีแห่งการทำศึกอย่างถ่องแท้ได้เช่นกัน

    ผู้สันทัดการบัญชาทัพ จักเกณฑ์พลมิซ้ำสอง ส่งเสบียงมิซ้ำสาม ใช้ยุทโธปกรณ์ประเทศตน เอาเสบียงจากข้าศึก อาหารของกองทัพจึ่งพอเพียง

    ประเทศชาติยากจนเพราะส่งเสียงไกลให้กองทัพ ส่งเสบียงไกล ราษฎรต้องลำเค็ญ ใกล้กองทัพของจักแพง ของแพงทรัพย์สินราษฎรจักขอดแห้ง เมื่อพระคลังร่อยหรอ ก็เร่งรีดภาษีไพร่พลสูญเสีย ทรัพย์สินสิ้นเปล่อง ทุกครัวเรือนในประเทศจึงว่างเปล่า สมบัติราษฎรต้องสูญไปเจ็ดในสิบส่วน ทรัพย์สินของหลวงรถรบเสียหายม้าศึกอ่อนเปลี้ย เสื้อเกราะและเกาทัณฑ์ ของ้าวและโล่ตั้ง วัวควายและรถสัมภาระ ก็สูญไปหกในสิบส่วน

    ฉะนั้น แม่ทัพผู้มีสติปัญญา พึงหาอาหารจากข้าศึก เอาข้าวข้าศึกหนึ่งจง เท่ากับของเราสิบจง เอาอาหารสัตว์หนึ่งสือเท่ากับของเรายี่สิบสือ

    ฉะนั้น เมื่อจักเข่นฆ่าข้าศึก พึงให้ไพร่พลโกรธแค้น เมื่อจักกวาดต้อนสินศึก พึงตังรางวัลไพร่พล ฉะนั้น ในศึกรถรบเมื่อยึดรถรบข้าศึกได้กว่าสิบคัน พึงรางวัลผู้ยึดได้ก่อน แล้วให้เปลี่ยนธงบนรถ ขับร่วมในขบวนเรา พึงเลี้ยงดูเชลยให้ดี นี้ก็คือที่ว่ารบชนะข้าศึก เรายิ่งเข้มแข็ง

    ฉะนั้น ทำศึกจึ่งสำคัญที่รวดเร็ว ใช่สำคัญที่ยืดเยื้อ

    ฉะนั้น แม่ทัพผู้รู้การศึก จึงเป็นผู้กุมชะตากรรมของทวยราษฎร์ เป็นผู้บันดาลความสงบสุขหรือภยันตรายของประเทศชาติ

ภาคปฏิบัติ

"เมื่อกำลังเปลี้ยขวัญทหารเสีย สูญสิ้นทั้งไพร่พลและเศรษฐกิจ เจ้าครองแคว้นอื่นจักฉวยโอกาสเข้าบุกรุก แม้จะมีผู้เยี่ยมด้วยปัญญาก็สุดจะแก้ไขให้กลายดี"

"ที่ว่าศึกยืดเยื้อเป็นผลดีแก่ประเทศชาติ ก็ไม่เคยมีมาก่อน"

"เอาเสบียงจากข้าศึก"

"แม่ทัพผู้รู้การศึก จึงเป็นผู้กุมชะตากรรมของทวยราษฎร์ เป็นผู้บันดาลความสงบสุข หรือภยันตรายของประเทศชาติ"

บทที่ ๓ กลวิธีรุก

    อันหลักแห่งการทำศึกนั้น บ้านเมืองสมบูรณ์เป็นเอก บ้านเมืองบอบช้ำเป็นรอง กองทัพสมบูรณ์เป็นเอก กองทัพบอกช้ำเป็นรอง  กองพลสมบูรณ์เป็นเอก กองพลบอบช้ำเป็นรอง กองร้อยสมบูรณ์เป็นเอก กองร้อยบอบช้ำเป็นรอง หมวดหมู่สมบูรณ์เป็นเอก หมวดหมู่บอบช้ำเป็นรอง เหตุนี้ รบร้อยครั้งชนะร้อยครั้ง ยังหาใช่ความยอดเยี่ยมในความยอดเยี่ยมไม่ มิต้องรบ แต่สยบทัพข้าศึกได้ จึงจะเป็นความยอดเยี่ยมในความยอดเยี่ยม

    ฉะนั้น การบัญชาทัพชั้นเอกคือชนะด้วยอุบาย รองมาคือชนะด้วยการทูต รองมาคือชนะด้วยการรบ เลวสุดคือการตีเมือง ตีเมืองเป็นเรื่องสุดวิสัย เพราะการสร้างรถโล่ การเตรียมยุทโธปกรณ์ สามเดือนแล้วจึงเสร็จ การถมเนินเข้าตีเมือง ต้องอีกสามเดือนจึงลุล่วง แม่ทัพจักกลั้นโทสะมิได้ ทุ่มทหารเข้าตีดุจมดปลวก ต้องล้มตายหนึ่งในตาม แต่เมืองก็มิแตก นี้คือความวิบัติจากการตีเมือง

    ฉะนั้น ผู้สันทัดการบัญชาทัพ จักสยบทัพข้าศึกได้โดยมิต้องรบ จักยึดเมืองข้าศึกได้โดยมิต้องตี จักทำลายประเทศข้าศึกได้โดยมิต้องนาน จักครองปฐพีได้ด้วยชัยชนะอันสมบูรณ์ ดังนี้ กองทัพมิต้องเหน็ดเหนื่อยยากเข็ญ ก็ได้ชัยชนะอย่างสมบูรณ์ นี้คือกลวิธีแห่งการรุก

    ฉะนั้น หลักแห่งการบัญชาทัพคือ มีสิบเท่าให้ล้อม มีห้าเท่าให้รุก มีหนึ่งเท่าให้แยก มีเท่ากับก็รบได้ มีน้อยกว่าก็เลี่ยงหนี มีไม่ทัดเทียมก็หลบหลีก เหตุนี้ ด้อยกว่าข้าศึกยังขืนรบ ก็จักตนเป็นเชลยข้าศึกที่เข้มแข็งล

    อันแม่ทัพนั้น คือผู้ค้ำจุนประเทศ ถ้ารอบคอบ บ้านเมืองจักเข้มแข็ง ถ้าบกพร่อง บ้านเองจักอ่อนแอ

    ประมุขนำความวิบัติแก่กองทัพมีสาม ไม่รู้ากองทัพรุก มิได้บัญชาให้รุก ไม่รู้ว่ากองทัพถอยมิได้บัญชาให้ถอย นี้เรียกว่าจำจองกองทัพ ไม่รู้เรื่องของสามทัพ แต่เข้าสอดแทรกกิจการของสามทัพ แม่ทัพนายกองก็สับสน ไม่รู้อำนาจของสามทัพ แต่เข้าแทรกแซงการบัญชาของสามทัพ แม่ทัพนายกองก็สงสัย เมื่อแม่ทัพนายกองทั้งสับสนและสงสัย เจ้าครองแคว้นอื่นก็จักนำภัยมาสู่ นี้เรียกว่าก่อกวนกองทัพ ชักนำข้าศึกให้ชนะ

    ฉะนั้น เราสามารถล่วงรู้ชัยชนะได้ห้าทาง ผู้รู้ว่าควรรบ หรือไม่ควรรบจักชนะ ผู้เข้าใจการรบในภาวะกำลังมากหรือกำลังน้อยขักชนะ ฝ่ายเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันทั้งชั้นบนและชั้นล่างจักชนะ ฝ่ายพร้อมรบบุกฝ่ายไม่พร้อมรบจักชนะ ฝ่ายแม่ทัพมีปัญญาประมุข ไม่ยุ่งเกี่ยวจักชนะ ห้าทางนี้คือวิถีแห่งการล่วงรู้ชัยชนะ

    ฉะนั้น จึงกล่าวว่า รู้เขารู้เรา ร้อยรบมิพ่าย ไม่รู้เขาแต่รู้เรา ชนะหนึ่งแพ้หนึ่ง ไม่รู้เขาไม่รู้เรา ทุกรบจักพ่าย

ภาคปฏิบัติ

"อันหลักแห่งการทำศึกนั้น บ้านเมืองสมบูรณ์เป็นเอก"

"มีต้องรบแต่สยบข้าศึกได้ จึงจะเป็นความยอดเยี่ยมในความยอดเยี่ยม"

"การบัญชาทัพชั้นเอก คือชนะด้วยอุบาย"

"รองลงมาคือชนะด้วยการทูต"

"เลวที่สุดคือการเข้าตีเมือง"

"มี ๑๐ เท่าให้ล้อม"

"ด้อยกว่าข้าศึกยังฝืนรบ ก็จักตกเป็นเชลยข้าศึกที่เข้มแข็ง"

"ก่อกวนกองทัพ ชักนำข้าศึกให้ชนะ"

"แม่ทัพมีปัญญา ประมุขไม่ยุ่งเกี่ยวจักชนะ"

"รู้เขารู้เรา ร้อยรบมิพ่าย ไม่รู้เขาแต่รู้เรา ชนะหนึ่งแพ้หนึ่ง ไม่รู้เขาไม่รู้เรา ทุกรบจักพ่าย"

บทที่ ๔ รูปลักษณ์การรบ

    ผู้สันทัดการรบในอดีต จักทำให้ตนมิอาจพิชิตได้ก่อน เพื่อรอโอกาสข้าศึกจะถูกพิชิต มิอาจพิชิตเป็นฝ่ายตน ถูกพิชิตเป็นฝ่ายข้าศึก ฉะนั้น ผู้สันทัดการรบ อาจทำให้ตนมิอาจพิชิตได้ แต่ไม่อาจทำให้ข้าศึกจะต้องถูกพิชิต ดังนี้จึงว่า ชัยชนะอาจล่วงรู้ แต่ไม่อาจกำหนดได้

    ผู้ที่เราไม่อาจเอาชนะ พึงตั้งรับ ผู้ที่เราอาจเอาชนะ พึงเข้าตี ตั้งรับเพราะกำลังไม่พอ เข้าตีเพราะกำลังเหลือเฟือ

    ผู้สันทัดการตั้งรับ จักประหนึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้บาดาล ผู้สันทัดการเข้าตี จักประหนึ่งเคลื่อนตัวอยู่เหนือฟากฟ้า ฉะนั้น จึงสามารถพิทักษ์ตนเอง ให้ได้รับชัยชนะอย่างสมบูรณ์

    หยั่งเห็นในชัยชนะมิเกินซึ่งคนทั้งปวงรู้ หาใช่ความยอดเยี่ยมที่แท้ไม่ ฉะนั้น ยกขนนกขึ้นได้ใช่ว่าทรงพลัง เห็นแสงเดือนตะวัน ใช่ว่าตาสว่าง ได้ยินเสียงฟ้าคำรณใช่ว่าโสตไว

    ที่โบราณเรียกว่าผู้สันทัดการรบนั้น คือผู้ที่เอาชนะได้ง่าย ฉะนั้น ชัยชนะของผู้สันทัดการรบ จึงมิได้ชื่อว่ามีสติปัญญา มิ้มีควววามชอบในเชิงกล้าหาญ ฉะนั้น ชัยชนะของเขาจึงมีพึงกังขา เหตุที่มิพึงกังขา ก็เพราะปฏิบัติการของเขาจักต้องชนะ จึงชนะผู้ต้องพ่ายแพ้ ฉะนั้น ผู้สันทัดการรบจึงตั้งอยู่ในฐานะไม่แพ้ และไม่สูญเสียโอกาสทำให้ข้าศึกต้องแพ้

    เหตุนี้ ฝ่ายชนะรู้ว่าชนะก่อนจึงออกรบ ฝ่ายแพ้รบก่อนแล้วจึงหวังว่าจะชนะ

    ฉะนั้น ผู้สันทัดการบัญชาทัพ จักจรรโลงไว้ซึ่งมรรคและกฎระเบียบ ฉะนั้น จึงสามารถกำหนดชัยชนะและพ่ายแพ้ได้

    หลักแห่งการทำศึก มี หนึ่งคือวินิจฉัย สองคือคำนวณ สามคือปริมาณ สี่คือเปรียบเทียบ ห้าคือชัยชนะ

    พื้นที่ก่อให้เกิดการวินิจฉัย การวินิจฉัยก่อให้เกิดการคำนวณ การคำนวณก่อให้เกิดปริมาณ ปริมาณก่อให้เกิดการเปรียบเทียบ การเปรียบเทียบก่อให้เกิดชัยชนะ

    ฉะนั้น กองทัพที่ชนะจึงประดุจเอาหนึ่งอี้ไปเปรียบกับหนึ่งจู กองทัพที่แพ้จึงประดุจเอาหนึ่งจูไปเปรียบกับหนึ่งอี้ ไพร่พลของฝ่ายชนะ จึงเสมือนปล่อยน้ำที่กักในลำธารสูงแปดพันเซียะ ให้ทะลักกระโจนลงมา นี้คือรูปลักษณ์ของการรบ

ภาคปฏิบัติ

"จักทำให้ตนมิอาจพิชิตได้ก่อน เพื่อรอโอกาสข้าศึกจะถูกพิชิต"

"ชัยชนะอาจล่วงรู้ แต่ไม่อาจกำหนดได้"

"ผู้ที่เราไม่อาจเอาชนะ พึงตั้งรับ ผู้ที่เราอาจเอาชนะ พึงเข้าตี"

"ผู้สันทัดการตั้งรับ จักประหนึ่งซ่อนตัวอยู่ใต้บาดาล ผู้สันทัดการเข้าตีจักประหนึ่งซ่อนตัวอยู่เหนือฟากฟ้า"

"ผู้สันทัดการรบจึงตั้งอยู่ในฐานะไม่แพ้ และไม่สูญเสียโอกาสทำให้ข้าศึกต้องแพ้"

"ฝ่ายชนะรู้ว่าชนะก่อนจึงออกรบ ฝ่ายแพ้รบก่อนแล้วจึงหวังว่าชนะ"

"ผู้สันทัดการบัญชาทัพ จักจรรโลงไว้ซึ่งมรรคและกฎระเบียบ ฉะนั้นจึงสามารถกำหนดชัยชนะและพ่ายแพ้ได้"

 บทที่ ๕ พลานุภาพ

    อันการปกครองไพร่พลมาก ให้เสมือนหนึ่งปกครองไพร่พลน้อย ก็ด้วยการจัดกำลังพล การบัญชาไพร่พลมาก ให้เสมือนหนึ่งบัญชาไพร่พลน้อย ก็ด้วยการจัดอาณัติสัญญาณ ไพร่พลสามทัพมิพ่ายเมื่อสํ้ข้าศึก ก็ด้วยการรบสามัญและพิสดาร การรุกรบข้าศึก ประหนึ่งเอาหินทุ่มไข่ ก็ด้วยการใช้แข็งตีอ่อน

    อันการรบนั้น สู้ศึกด้วยรบสามัญ ชนะด้วยรบพิสดาร ฉะนั้นผู้สันทัดการรบพิสดาร จักไร้สิ้นสุดดุจฟ้ดิน จักมิเหือดแห้งดุจสายน้ำ จักหยุดหรือหวนรบดุจเดือนตะวัน จักตายหรือกลับฟื้นดุจฤดูกาล เสียงมีเพียงห้า ห้าเสียงพลิกผัน จึงฟังมิรู้เบื่อ สีมีเพียงห้า ห้าสีพลิกผัน จึงดูมิรู้หน่ย รสมีเพียงห้า ห้ารสพลิกผัน จึงลิ้มมิรู้จาง สถานะศึก มีเพียงสามัญ และพิสดาร สามัญและพิสดารพลิกผัน จึงเห็นมิรู้จบ สามัญและพิสดารพัวพันหันเหียน ดุจวงกลมที่มิมีจุดเริ่มต้น จักมีที่สิ้นสุดได้ไฉน

    ความแรงของกระแสน้ำไหลเชี่ยว สามารถพัดหินลอยเคลื่อนนี้คือพลานุภาพ ความเร็วยามเหยี่ยวบินโฉบ สามารถพิชิตล่ำสัตว์ นี้คือช่วงระยะ เหตุนี้ ผู้สันทัดการรบ จึงมีพลานุภาพเหี้ยมหาญ มีช่วงระยะสั้น พลานุภาพเหมือนหนึ่งเหนียวน้าวเกาทัณฑ์ช่วงระยะเหมือนหนึ่งปล่อยเกาทัณฑ์สู่เป้า

    การรบจักซับซ้อนสับสน แม้อลผม่านก็มิควรระส่ำระสาย การรบจักชุลมุนวุ่นวาย หากขบวนทัพเป็นระเบียบก็จะมิพ่าย

    ความวุ่นวายเกิดจากความเรียบร้อย ความขลาดกลัวเกิดจากความกล้าหาญ ความอ่อนแอเกิดจากความเข้มแข็ง จักเรียบร้อยหรือวุ่นวาย อยู่ที่การจัดกำลังพล จักกล้าหาญหรือขลาดกลัว อยู่ที่พลานุภาพ จักอ่อนแอหรือเข้มแข็ง อยู่ที่รูปลักษณ์การรบ

    ฉะนั้น ผู้สันทัดการเคลื่อนทัพข้าศึก พึงสร้างรูปลักษณ์ให้ข้าศึกต้องคล้อยตาม พึงวางเหยื่อล่อ ให้ข้าศึกรีบฉวย ให้หวั่นไหวด้วยผลประโยชน์ จึ่งพิชิตด้วยกำลัง

    ฉะนั้น ผู้สันทัดการรบ พึงแสวงหาจากพลานุภาพ มิพึงเรียกร้องจากผู้อื่น จึงจะสามารถเลือกเฟ้นคนซึ่งใช้พลานุภาพเป็น ผู้ใช้พลานุภาพจักประหนึ่งรุนท่อนซุงและก้อนหิน ธรรมชาติของท่อนซุงและก้อนหิน อยู่ที่ราบก็นิ่ง อยู่ที่ลาดก็เคลื่อน ที่เป็ฯเหลี่ยมก็หยุดที่กลมเกลี้ยงก็กลิ้ง พลานุภาพของผู้สันทัดการรบ จึงประดุจผลักหินกลมลงจากภูเขาสูงแปดพันเซียะ นี้ก็คือพลานุภาพ

ภาคปฏิบัติ

"อันการรบนั้น สู้ศึกด้วยรบสามัญ ชนะด้วยรบพิสดาร"

"สถานะศึกมีเพียงสามัญและพิสดาร สามัญและพิสดารพลิกผัน จึงเห็นมิรู้จบ"

"ผู้สันทัดการรบจึงมีพลานุภาพเหี้ยมหาญ มีจังหวะฉับไว"

"ผู้สันทัดการเคลื่อนทัพข้าศึก พึงสร้างรูปลักษณ์ ให้ข้าศึกคล้อยตาม"

"ผู้ใช้ผลานุภาพ จักประหนึ่งรุนท่อนซุงและก้อนหิน"

บทที่ ๖ ตื้นลึกหนาบาง

    ผู้เข้าสนามรบคอยข้าศึกก่อนย่อมสดชื่น ผู้เข้าสนามรบสู้ศึกฉุกละหุกทีหลังย่อมอิดโรย ฉะนั้น ผู้สันทัดการรบ จึงกระทำต่อผู้อื่นใช่ถูกผู้อื่นกระทำ

    ที่สามารถทำให้ข้าศึกมาเอง ก็เพราะล่อด้วยประโยชน์ที่สามารถทำให้ข้าศึกมิกล้าเข้า ก็เพราะเผยให้เห็นภัย ฉะนั้น ข้าศึกสดชื่นพึงให้อิดโรย อิ่มพึงให้หิว สงบพึงให้เคลื่อน

    พึงดีที่ข้าศึกมิอาจหนุนช่วย พึงรุกที่ข้าศึกมิได้คาดคิด เดินทัพพันลี้มิเหนื่อย เพราะเดินในที่ปลอดคน โจมตีก็ต้องได้เพราะข้าศึกมิอาจป้องกัน รักษาก็ต้องมั่นคง เพราะข้าศึกมิอาจเข้าตี

    ฉะนั้น ผู้สันทัดการโจมตี ข้าศึกมิรู้ที่จะตั้งรับ ผู้สันทัดการตั้งรับ ข้าศึกมิรู้ที่จะโจมตี แยบยลแสนจะแยบยล จนมิเห็นแม้วี่แววพิสดารสุดพิสดาร จนไร้สิ้นซึ่งสำเนียง ฉะนั้น จึงสามารถบัญชาชะตากรรมข้าศึก

    รุกก็มิอาจต้านทาน เพราะตีจุดอ่อนข้าศึก ถอยก็มิอาจประชิด เพราะเร็วจนสุดจะไล่ ฉะนั้นเมื่อเราจักรบ แม้ข้าศึกมีป้อมสูงคูลึก ก็จำต้องรบกับเรา เพราะโจมตีจุดที่ข้าศึกต้องช่วย เมื่อเราไม่รบ แม้ป้องกันเพียงขีดเส้นเขต ข้าศึกก็มิอาจรบด้วย เพราะได้ถูกชักนำไปอื่น

    ฉะนั้น ให้ข้าศึกเผยรูปลักษณ์แต่เราไร้รูปลักษณ์ เราจึงรวมศูนย์ แต่ข้าศึกกระจาย เรารวมเป็นหนึ่ง ข้าศึกกระจายเป็นสิบ เอาสิบไปตีหนึ่งของข้าศึก เราก็มากแต่ข้าศึกน้อย เมทื่อเอามากไปตีน้อย ผู้ที่เรารบด้วยก็มีจำกัด

    พื้นที่ซึ่งเรากำหนดเป็นสนามรบ มิควรให้รู้ เมื่อมิรู้ ข้าศึกจำต้องเตรียมการมากด้าน เมื่อเตรียมการมากด้าน กำลังที่เรารบด้วยก็น้อย ฉะนั้น เตรียมหน้า หลังก็น้อย เตรียมหลัง หน้าก็น้อย เตรียมซ้าย ขวาก็น้อย เตรียมขวา ซ้ายก็น้อย เตรียมทุกด้าน ทุกด้านก็น้อย ฝ่ายน้อย เพราะเตรียมรับข้าศึก ฝ่ายมาก เพราะให้ข้าศึกเตรียมรับตน

    ฉะนั้น เมื่อรู้สนามรบ รู้วันเวลารบ ก็ออกรบได้ไกลพันลี้ หากมิรูสนามรบ มิรู้วันเวลารบ ซ้ายก็มิอาจช่วยขวา ขวาก็มิอาจช่วยซ้าย หน้าก็มิอาจช่วยหลัง หลังก็มิอาจช่วยหน้า จักรบไกลหลายสิบลี้ หรือใกล้ไม่กี่ลี้ได้ไฉน

    ตามการคาดคะเนของเรา ชาวแคว้นเย่แม้ทหารจะมาก จักเกิดผลแพ้ชนะได้ไฉน

    ฉะนั้น จึงกล่าวว่า ชัยชนะสร้างขึ้นได้ ข้าศึกแม้จะมาก ก็อาจทำให้รบมิได้

    ฉะนั้น พึงวินิจฉัยเพื่อรู้แผนซึ่งจะเกิดผลได้เสีย พึงดำเนินการเพื่อรู้เหตุความเป็นไป พึงสังเกตการณ์เพื่อรู้จุดเป็นตาย พึงลองเข้าตีเพื่อรู้ส่วนการเกิน

    ฉะนั้น การเผยรูปลักษณ์ชั้นเลิศ จึงปราศจากเค้าเงื่อน เมื่อปราศจากเค้าเงื่อน จารชนที่แฝงตัวก็มิอาจรู้เห็น ผู้มีสติปัญญาก็มิอาจใช้อุบาย

    แม้ชัยชนะจะปรากฎต่อผู้คนเพราะรูปลักษณ์ คนทั้งหลายก็มิอาจรู้ ผู้คนล่วงรู้ว่ารูปลักษณ์ทำให้เราชนะ แต่ไม่รู้รูปลักษณ์ของเราว่าเหตุไฉนจึงชนะ ฉะนั้น ชัยชนะจึงไม่ซ้ำซาก แต่จักมิรู้สิ้นตามรูปลักษณ์

    รูปลักษณ์การรบดุจดั่งน้ำ รูปลักษณ์ของน้ำ เลี่ยงที่สูงลงที่ต่ำ รูปลักษณ์การรบ เลี่ยงที่แข็งตีที่อ่อน น้ำไหลไปตามสภาพพื้นที่การรบชนะตามสภาพข้าศึก ฉะนั้น การรบจึงไม่มีรูปลักณษณ์ตายตัวน้ำ ก็ไม่มีรูปร่างแน่นอน ผู้สามารถเอาชนะขณะที่ข้าศึกเปลี่ยนแปลงเรียกว่าเทพ

    ฉะนั้น ห้าธาตุจึงไม่มีธาตุใดชนะตลอดกาล สี่ฤดูก็ไม่อยู่คงที่เสมอไป ดวงตะวันมีสั้นมียาว ดวงเดือนก็มีขึ้นมีแรม

ภาคปฏิบัติ

"ผู้สันทัดการรบ จึงกระทำต่อผู้อื่นใช่ถูกผู้อื่นกระทำ"

"ที่สามารถทำให้บข้าศึกมาเอง ก็เพราะล่อด้วยประโยชน์"

"ที่สามารถทำให้ข้าศึกมิกล้าเข้า ก็เพราะเผยให้เห็นภัย"

"สดชื่นให้อิดโรย"

"อิ่มพึงให้หิว"

"สงบพึงให้เคลื่อน"

"เดินพันลี้มิเหนื่อย เพราะเดินในที่ปลอดคน"

"โจมตีก็ต้องยึดได้ เพราะข้าศึกมิอาจป้องกัน"

"รักษาก็ต้องมั่นง เพราะข้าศึกมิอาจเข้าตี"

"ถอยก็มิอาจประชิด"

"โจมตีจุดที่ข้าศึกต้องช่วย"

"ข้าศึกเผยตัวแต่เราซ่อนแร้ เราจึงรวมแต่ข้าศึกกระจาย"

"เมื่อรู้สนามรบ รู้วันเวลารบ ก็ออกรบได้ไกลพันลี้"

"การเผยรูปลักษณ์ชั้นเลิศ จึงปราศจากเค้าเงื่อน เมื่อปราศจากเค้าเงื่อน จารชนที่แฝงตัวมิอาจรู้เห็น ผู้มีสติปัญญาก็มิอาจใช้อุบาย"

"ชัยชนะไม่ซ้ำซาก แต่จักมิรู้สิ้นตามรูปลักษณ์"

"การรบไม่มีรูปลักษณ์ตายตัว"

 

บทที่ ๗ การสัประยุทธ์

    อันหลักแห่งการบัญชาทัพนั้น แม่ทัพรับโองการจากประมุข ระดมไพร่รวบรวมพล ตั้งทัพเผชิญข้าศึก ที่ยากคือการชิงชัย ความยากของการชิงชัยอยู่ที่แปลงอ้อมให้เป็นตรง แปลงภยันตรายให้เป็นประโยชน์ ฉะนั้นจึงพึงเดินทางอ้อม แล้วล่อด้วยประโยชน์ เคลื่อนพลทีหลัง ถึงที่หมายก่อน นี้คือผู้รู้กลยุทธ์อ้อมตรง

    ฉะนั้น การชิงชัยมีประโยชน์ การชิงชัยมีภัย ยกทัพทั้งกองไปชิงประโยชน์ จักไม่ทันกาล ทิ้งยุทโธปกรณ์ไปชิงประโยชน์ จักสูญเสียสัมภาระ

    เหตุนี้ แม้นเก็บเสื้อเกราะเร่งเดินทัพ ไม่หยุดทั้งกลางวันกลางคืน รีบรุดเป็นทวีคูณ เพื่อไปชิงประโยชน์ในร้อยลี้ แม่ทัพทั้งสามจักเป็นเชลย เพราะผู้แข๋งแรงจะขึ้นหน้า ผู้เหนื่อยล้าจะตกหลัง การนี้จะมีทหารถึงที่หมายเพียงครึ่งเดียว แม้นเพื่อชิงประโยชน์ในสามสิบลี้ ก็จะมีทหารถึงที่หมายเพียงสองในสาม

    เหตุนี้ กองทัพที่ขาดยุทธสัมภาระจักล่ม ขาดเสบียงอาหารจักล่ม ขาดคลังสำรองจักล่ม

    ฉะนั้น มิรู้เจตจำนงเหล่าเจ้าครองแคว้น ก็มิพึงคบหามิรู้ลักษณะป่าเขา ที่คับขันอันตราย ห้วยหนองคลองบึง ก็มิอาจเดิมทัพ ไม่ใช้มัคคุเทศน์พื้นเมือง ก็มิได้ประโยชน์จากภูมิประเทศ

    ฉะนั้น การศึกจึงกำหนดด้วยเล่ห์ เคลื่อนทัพด้วยประโยชน์ กระจายหรือรวมพลตามศึก

    ฉะนั้น จึงรวดเร็วดังหนึ่งพายุ เชื่องช้าดังหนึ่งไม้ลู่ รุกไล่ดังหนึ่งเพลิงผลาญ ตั้งมั่นดังหนึ่งภูผา รู้ยากดังหนึ่งความมืด เคลื่อนทัพดังหนึ่งฟ้าคำรณ ได้บ้านให้แบ่งสินศึก ได้เมืองให้ปูนบำเหน็จประมาณการแล้วจึงเคลื่อน ผู้รู้กลยุทธ์อ้อมตรงก่อนจักชนะ นี้คือหลังแห่งการสัประยุทธ์

    "ตำราการทหาร" กล่าวว่า "ส่งเสียงไม่ได้ยิน จึงใช้ฆ้องกลอง แลมองมิได้เห็น จึงใช้ธงทิว" อันฆ้องกลองและธงทิวนั้นเพื่อให้หูตาไพร่พลเป็นหนึ่งเดียว เมื่อไพร่พลเป็นหนึ่งเดียว ผู้กล้าหาญก็ไม่บุกแต่ลำพัง ผู้ขลาดกัวก็ไม่ถอยแต่คนเดียว นี้คือหลักแห่งการบัญชาไพร่พล ฉะนั้น รบกลางคืนจึงมากด้วยแสงไฟเสียงกลอง รบกลางวันจึงมากด้วยธงธวัชสะบัดโบก ดังนี้ จึงเปลี่ยนแปลงหูตาไพร่พลได้

    ฉะนั้น สามทัพอาจเสียขวัญ แม่ทัพอาจท้อแท้ โดยเหตุที่ยามเช้ามักฮึกเหิม ยากสายจักอิดโรย ยามเย็นก็สิ้นแรง ฉะนั้นผู้สันทัดการบัญชาทัพ พึงเลี่ยงความฮึกเหิม เข้าตีเมื่ออิดโรย นี้คือคุมขวัญ เอาสงบรอปั่นป่วน เอาเงียบรอโกลาหล นี้คือคุมจิต เอาใกล้รอไกล เอาสบายรอเหนื่อย เอาอิ่มรอหิว นี้คือคุมพลัง อย่าตีสกัลทัพซึ่งธงทิวปลิวไสว อย่าโจมตีทัพซึ่งตั้งอยู่อย่างผ่าเผย นี้คือคุมเปลี่ยนแปลง

    ฉะนั้น หลักแห่งการบัญชาทัพ ที่สูงอย่าบุก อิงเนินอย่ารุก แสร้งถอยอย่าไล่ แกร่งกล้าอย่าตี อ่อยเหยื่ออย่ากิน คินถิ่นอย่าขวาง ล้อมพึงเปิดช่อง จนตรอกอย่าเค้น นี้คือหลักแห่งการสัประยุทธ์

ภาคปฏิบัติ

"ความยากของการชิงชัย อยู่ที่แปลงอ้อมให้เป็นตรง แปลงภยันตรายให้เป็นประโยชน์ เคลื่อนพลทีหลังถึงที่หมายก่อน"

"การชิงชัยมีประโยชน์ การชิงชัยมีภัย"

"สามทัพอาจเสียขวัญ แม่ทัพอาจท้อแท้"

"ยามเข้ามักฮึกเหิม ยามสายจักอิดโรย ยามเย็นก็สิ้นแรง"

"ที่สูงอย่าบุก อิงเนินอย่ารุก"

"แสร้งถอยอย่าไล่ อ่อยเหยื่ออย่ากิน"

"คืนถิ่นอย่าขวาง"

"ล้อมพึงเปิดช่อง จนตรอกอย่าเค้น"

บทที่ ๘ เก้าลักษณะ

    อันหลักแห่งการบัญชาทัพนั้น แม่ทัพรับโองการจากประมุข ระดมไพร่รวบรวมพล พื้นที่วิบากไม่ตั้งค่าย พื้นที่คาบเกี่ยวพึงคบมิตร พื้นที่กันดารอย่าหยุดทัพ พื้นที่โอบล้อมใช้กลยุทธ์ พื้นที่มรณะต้องสู้ตาย

    เส้นทางบางสายไม่ผ่าน กองทัพบางกองไม่ดี หัวเมืองบางเมืองไม่บุก ชัยภูมิบางแห่งไม่ชิง โองการบางอย่างไม่รับ

    ฉะนั้น แม่ทัพผู้แจ้งในประโยชน์แห่งเก้าลักษณะ จึงเป็นผู้รู้การศึก แม่ทัพผู้ไม่แจ้งผลแห่งเก้าลักษณะ แม้จะรู้ภูมิประเทศ ก็จักมิได้ประโยชน์จากพื้นที่ การบัญชาทัพมิรู้กลวิธีแห่งเก้าลักษณะ แม้จะแจ้งในผลดีทั้งห้าก็นำทัพมิได้

    เหตุนี้ การคิดคำนึงของผู้ฉลาด จึงใคร่ครวญทั้งผลดีผลเสีย ใคร่ครวญผลดี จักทำให้เชื่อมั่นในภารกิจ ใคร่ครวญผลเสีย จักปัดเป่าอันตรายให้หายสูญ

    เหตุนี้ พึงให้เจ้าครองแคว้นอื่นสยบด้วยภยันตราย ให้เจ้าครองแคว้นอื่นรับใช้ด้วยอิทธิพล ให้เจ้าครองแคว้นอื่นขึ้นต่อด้วยประโยชน์

    ฉะนั้น หลักแห่งการบัญชาทัพ อย่าหวังข้าศึกไม่มา เราพึงเตรียมการให้พร้อม อย่าหวังข้าศึกไม่ตี เราพึงทำให้มิอาจโจมตี

    ฉะนั้น แม่ทัพจึงมีอันตรายห้าประการ สู้ตายอาจถูกฆ่า กลัวตายอาจถูกจับ ฉุดเฉียวอาจถูกข่ม ซื่อตรงอาจถูกหยาม รักราษฎร์อาจถูกกวน ห้าประการนี้ เป็นความผิดของแม่ทัพ เป็นภัยแก่การบัญชา กองทัพล่มจมแม่ทัพมอดม้วย ก็ดว้ยอันตรายห้าประการนี้ จักไม่พินิจพิเคราะห์มิได้

ภาคปฏิบัติ

"พื้นที่วิบากไม่ตั้งค่าย พื้นที่กันดารอย่าหยุดทัพ"

"พื้นที่คาบเกี่ยวพึงคบมิตร"

"พื้นที่โอบล้อมใช้กลยุทธ์"

"พื้นที่มรณะต้องสู้ตาย"

"เส้นทางบางสายไม่ผ่าน"

"กองทัพบางกองไม่ดี"

"หัวเมืองบางเมืองไม่บุก ชัยภูมิบางแห่งไม่ชิง"

"โองการบางอย่างไม่รับ"

"การคิดคำนึงของผู้ฉลาด จึงใคร่ครวญทั้งผลดีผลเสีย"

"อย่าหวังข้าศึกไม่มา อย่าหวังข้าศึกไม่ตี"

บทที่ ๙ การเดินทัพ

    อันการบัญชาทัพวินิจฉัยข้าศึกนั้น ข้ามภูพึงอิงหุบห้วย ตั้งทัพที่สูงโล

หมายเลขบันทึก: 496633เขียนเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 09:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 กรกฎาคม 2012 09:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท