ตอนที่ ๑


๐๘.๐๐น.  เสาร์ที่ ๔ กรกฎาคม  ๒๕๗๙

 

ลูกชาย : พ่อครับ วันนี้หมู่บ้านรอบ ๆ ของเรามีงานฉลองใหญ่โต ผมเห็นมีการประดับธงไว้เต็มหมู่บ้านเลย มีทั้งธงของหมู่บ้านพวกเขาเอง และก็ธงของหมู่บ้านอินทรีด้วยครับ

พ่อดี : แต่เดิมนั้นทุกหมู่บ้านจะมีวันเฉลิมฉลอง “วันหมู่บ้าน” ของแต่ละแห่ง ลูกจำได้ไหมปีที่แล้วหมู่บ้านเหล่านั้น พวกเขาจะฉลองวันหมู่บ้านของพวกเขาเอง ซึ่งไม่ใช่วันนี้

ลูกชาย : จำได้ครับพ่อ แต่ทำไมปีนี้ บางหมู่บ้านก็ฉลองเร็วกว่าเดิม หรือบางหมู่บ้านที่ฉลองถ้ารวมครั้งนี้ด้วยก็เป็นครั้งที่ ๒ แล้วครับพ่อ

พ่อดี : ๔ กรกฎาคม ของทุกปีจะเป็นวันเฉลิมฉลองของหมู่บ้านอินทรี ซึ่งตลอดกว่า ๑๐ ปี ที่ผ่านมาจะมีหมู่บ้านอื่น ๆ ร่วมฉลองด้วยเพิ่มขึ้นทุก ๆ ปี และที่ปีนี้พิเศษหน่อยก็คือ มีการเฉลิมฉลองเพิ่มขึ้นที่หมู่บ้านรอบ ๆ ของเรา เพราะว่าหมู่บ้านเหล่านั้นกลายเป็นส่วนหนึ่งของการปกครองแบบ “เขตปกครองเศรษฐกิจพิเศษ” ของหมู่บ้านอินทรี

ลูกชาย : เขตปกครองเศรษฐกิจพิเศษ เป็นอย่างไรครับ

พ่อดี : เขตปกครองเศรษฐกิจพิเศษ เปรียบได้กับ อำนาจหรือศูนย์กลางของการปกครองและนโยบายต่าง ๆ ที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจ การเมืองและสังคม อยู่ที่ส่วนกลางหรือรัฐบาลของหมู่บ้านอินทรี ส่วนหมู่บ้านที่เป็นเป็นเขตปกครองเศรษฐกิจพิเศษนั้นเป็นเพียงสังคมหนึ่ง ๆ ของหมู่บ้านอินทรีเท่านั้นเอง

ลูกชาย : เพื่อนผมบางคนที่เคยไปศึกษาที่หมู่บ้านเหล่านั้นบอกว่าถ้าหมู่บ้านของเราเป็นอย่างนั้นด้วยก็คงดีจะได้ฉลอง ๒ ครั้ง ต่อปี และที่สำคัญหมู่บ้านเหล่านั้นล้วนทันสมัยมากเลย มีอะไรหลายอย่างไฮเทคกว่าเราเยอะ ศิวิไลซ์มากกว่า เพื่อนของผมยังบอกว่าเจริญและดีกว่าหมู่บ้านเรามากนะครับ

            พ่อดี มองหน้าลูกชายที่กำลังอธิบายตามคำบอกเล่าของเพื่อนด้วยน้ำเสียงที่ตื่นเต้นและมีความสุข ราวกับว่าตัวเองอยู่ที่หมู่บ้านเหล่านั้นจริง ๆ

ลูกชาย :  บางครั้งผมก็เคยคิดคล้อยตามและเห็นด้วยกับเพื่อนเลยนะครับ

           พ่อดี กล่าวด้วยน้ำเสียงที่นุ่มนวลว่า “การที่ลูกคิดอย่างนั้นเพราะอะไรหรือ”

ลูกชาย : ก็เพราะว่าหมู่บ้านเหล่านั้น มีอะไรหลาย ๆ อย่างที่หมู่บ้านเราไม่มี ไม่ว่าจะเป็นทางด้านอุตสาหกรรม เทคโนโลยีเขาทันสมัยมากมีการใช้หุ่นยนต์แทนแรงงานคนด้วยนะครับ การติดต่อสื่อสาร ระบบการขนส่ง ทุกอย่างดูไฮเทคมากถ้าเทียบกับหมู่บ้านของเรา ดูท่าทางคนในหมู่บ้านนั้นชีวิตคงมีความสุขน่าดู เพื่อนผมยังเคยบอกอีกว่าการใช้ชีวิตของพวกเขาน่าทึ่งมากทำทุกอย่างรวดเร็ว ทุกนาทีมีค่าคำนวณออกมาเป็นตัวเงินทั้งนั้น

พ่อดี : การที่ลูกมองว่าที่นั่นมีอะไรหลาย ๆ อย่างที่ดูทันสมัย ไฮเทค ศิวิไลซ์ กว่าหมู่บ้านเราถูกต้องแล้วลูก แต่ที่มองว่าวิถีชีวิตของคนเหล่านั้นดี ได้รับความสะดวกสบายน่าจะมีการดำเนินชีวิตที่มีความสุขกว่าพวกเราก็อาจจะจริง อาจจะนะลูก ซึ่งที่พ่อบอกว่าอาจจะก็เพราะว่า เป็นการมองในระยะสั้น ๆ และมิติเดียวเท่านั้น

ลูกชาย : มิติเดียว คือยังไงครับพ่อ

พ่อดี : ก็คือว่าสิ่งที่ลูกได้ฟังจากเพื่อนหรือได้เห็นจากสื่อต่าง ๆ ถึงความเจริญทางเทคโนโลยีของหมู่บ้านเหล่านั้นแต่เบื้องหลังของความเจริญก็ต้องแลกมากับบางสิ่งของคนในสังคมที่สูญเสียไปนั่นก็คือ ช่องว่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองหรือช่องว่างของความสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์กับสิ่งแวดล้อมยิ่งมีเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ เพราะความสัมพันธ์ดังกล่าวมีเป้าหมายที่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้องสูงสุด ทำให้ต้นทุนของความสัมพันธ์ดังกล่าวที่สูญเสียไปมีต้นทุนที่สูงมาก (ซึ่งคำนวณออกมาเป็นตัวเลขไม่ได้)  ก็เปรียบเสมือนกับทุกสิ่งบนโลกนี้ล้วนมีต้นทุนในตัวของมันเอง หรือที่ลูกเคยได้ยินคนทั่ว ๆ ไปพูดว่า “ของฟรีไม่มีในโลก”

          พ่อดีมองหน้าลูกชาย เห็นลูกยังนิ่งและเหมือนยังมีคำถามอยู่ในแววตาของลูก จึงอธิบายต่อ

พ่อดี : สมัยนี้การวัดมูลค่าของคำที่ว่า “ของฟรีไม่มีในโลก” ต่างจากสมัยก่อนมาก

ลูกชาย : ต่างกันอย่างไรครับพ่อ

พ่อดี : สมัยนี้จะใช้เกณฑ์การวัดจากมูลค่าที่คำนวณออกมาเป็นตัวเงินได้เพียงอย่างเดียว เช่น เวลาที่มีการช่วยเหลือคนอื่น คนส่วนมากต้องการผลตอบแทนในรูปแบบของการคำนวณออกมาเป็นตัวเลขที่ชัดเจน ไม่เหมือนในสมัยก่อนที่การช่วยเหลือกัน ถูกมองว่าเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำ เปรียบเสมือนหน้าที่ที่มนุษย์ในสังคมพึงกระทำแก่กันและกัน และผลตอบแทนเป็นเพียงผลพลอยได้จากการช่วยเหลือเท่านั้น ซึ่งส่วนมากจะเป็นการตอบแทนลักษณะน้ำใจช่วยเหลือกลับ เช่น การช่วยกันลงแขกเกี่ยวข้าว เป็นต้น ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นสิ่งที่สวยงามในสังคมหมู่บ้านของเรา แต่แทบจะหาไม่มีแล้วในปัจจุบัน เนื่องจากถูกลัทธิบูชาวัตถุเข้ามาแทนที่

ลูกชาย : การช่วยเหลือซึ่งกันและกันในสมัยก่อนทำให้ความผูกพันทางสังคมมีมากกว่าในปัจจุบันมากเลยนะครับพ่อ

พ่อดี : ใช่แล้วลูก สมัยก่อนความผูกพันในสังคมจะมี “น้ำใจความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่” เป็นตัวเชื่อมระหว่างมนุษย์ด้วยกันเองหรือแม้กระทั่งมนุษย์กับสิ่งแวดล้อม แต่ในปัจจุบันความสัมพันธ์ดังกล่าวมี “ผลประโยชน์” เป็นตัวเชื่อม ทำให้ช่องว่างของความผูกพันห่างออกจากกันไปเรื่อย ๆ

       พ่อดีมองหน้าลูกชาย เห็นลูกยังนิ่งและเหมือนยังมีคำถามอยู่ในแววตาของลูก จึงอธิบายต่อ

พ่อดี : ก็อย่างเช่น เอ่อ... เอาใกล้ ๆ เลย ก็ตัวของลูกนี่ก็ใช่ การที่ลูกเกิดมาก็ถือได้ว่ามีต้นทุนในตัวเอง จากการที่ พ่อและแม่เลี้ยงดูตลอดจนให้ได้รับการศึกษาสำเร็จจบมา ลูกรู้ไหมทำไม วิศวกร และ หมอ คนกลุ่มนี้จึงสามารถสร้างรายได้ในวิชาชีพมากกว่ากลุ่มอื่น ๆ ถ้าเทียบในระดับเดียวกัน

ลูกชาย : เป็นเพราะเขาเรียนหนัก และต้องเก่งด้วยใช่ไหมครับ

พ่อดี : ถูกต้องลูก เพราะคนกลุ่มนี้ถือได้ว่ามีต้นทุนโดยเฉลี่ยสูงกว่ากลุ่มอื่น ทั้งในสิ่งที่ลูกพูดมา รวมถึงค่าใช้จ่ายในการเรียนด้วย ซึ่งการเรียนหนักจนบางครั้งอาจเสียโอกาสในการพักผ่อนหรือท่องเที่ยวอย่างคนในวัยเดียวกัน นั่นก็เป็นต้นทุนในการเสียโอกาส อีกอย่างหนึ่ง แต่มันอาจจะวัดเป็นมูลค่าที่ไม่ชัดเจนเหมือนกับ ลักษณะที่คำนวณออกมาได้เป็นตัวเลขเหมือนค่าใช้จ่ายในการเรียน

ลูกชาย : พ่อกำลังจะบอกผมว่าการที่เราจะเลือกทางไหนมันมีทั้งโอกาสที่ได้มาซึ่งบางอย่าง และมีโอกาสที่จะเสียไปอีกบางอย่างก็ได้ใช่ไหมครับ

พ่อดี : ใช่แล้วลูก สิ่งที่พ่อกำลังจะบอกก็คือ บางครั้งคนส่วนใหญ่มองเฉพาะด้านที่เห็นชัดเจนที่สามารถวัดค่าออกมาได้ อย่างเช่นตัวอย่างที่แล้ว คนที่เรียนหมอ หรือวิศวะ ต้นทุนที่เขาเสียไประหว่างเรียนก็ถือว่าสูง แต่หลายๆ คนจะวัดเฉพาะที่เป็นรายจ่ายตัวเงิน แต่มองข้ามต้นทุนที่วัดเป็นตัวเลขไม่ได้ คือ ต้นทุนของการเสียโอกาส

ลูกชาย : ต้นทุนของการเสียโอกาส มีความสำคัญขนาดไหนครับ

พ่อดี : ต้นทุนของการเสียโอกาสมีความสำคัญมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับมุมมองของแต่ละคน ซึ่งถือว่าเป็นต้นทุนที่มีกันทุกคนนั่นแหละลูก แต่กรณีของคนที่เรียนหมอหรือ   วิศวะอาจจะเห็นภาพที่ชัดเจนกว่ากลุ่มอื่น การที่เรียนหนักและมีแต่กลุ่มคนที่เก่ง ทำให้ต้องมีการแข่งขันกันสูง

ลูกชาย : การแข่งขันก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ดีนี่ครับพ่อ

พ่อดี : การแข่งขันเป็นเรื่องที่ดีลูก ไม่ใช่เรื่องเสียหาย พูดถึงเรื่องการแข่งขันแล้ว พ่อนึกขึ้นได้ อาชีพ หมอและวิศวกรเป็นอาชีพที่คนส่วนใหญ่ใฝ่ฝันอยากเรียนสายนี้ เพราะจบออกมาแล้วการันตีในตัวของมันเองทั้งเรื่องงานและรายได้ ดั้งนั้นต้นทุนเพิ่มเติม ก็คืออาจจะต้องเสียค่าใช้จ่ายในการเรียนพิเศษด้วย เออเมื่อสักครู่เราคุยถึงไหนแล้วนะ

ลูกชาย : เรื่องการแข่งขันครับพ่อ

พ่อดี : ที่พ่อบอกเมื่อกี้ การแข่งขันเป็นสิ่งที่ดี ไม่ใช่สิ่งที่ไม่ดี แต่บางครั้งถ้านึกถึงแต่ผลของการแข่งขันอย่างเดียวโดยไม่นึกถึงองค์ประกอบอย่างอื่น ๆ เลยก็อันตราย

ลูกชาย : หรือที่เรียกว่า ไม่มีน้ำใจนักกีฬาใช่ไหมครับ

พ่อดี : ใช่ลูก เรามาพูดถึงต้นทุนของการเสียโอกาสต่อดีกว่า คนที่เรียนหมอ หรือวิศวะบางคน พ่อขอย้ำว่าบางคนนะลูก เรียนอย่างเดียว เพราะมีจุดมุ่งหมาย คือ อันดับหนึ่งหรือเกียรตินิยม หรือแม้แต่คณะอื่น ๆ ก็มี แต่ที่พ่อยกตัวอย่าง หมอ และวิศวะ เนื่องจากเราพูดถึงเรื่องต้นทุนที่สูง ดังนั้น บางครั้งถ้าเรามุ่งเน้นด้านใดด้านหนึ่งมากเกินไป จนลืมนึกถึงความสำคัญอีกด้านหนึ่งก็จะส่งผลเสียในระยะยาวได้

ลูกชาย : ผลเสียในระยะยาว คือ ยังไงครับ

พ่อดี : การที่เรามีความมุ่งมั่นและตั้งใจเป็นสิ่งที่ดี แต่สมมติว่า การที่ลูกตั้งใจเรียนอย่างเดียวโดยไม่สนใจสังคมรอบ ๆ ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน ๆ ตัวเอง ท้ายที่สุดลูกอาจได้รับสิ่งที่มุ่งหมาย คือ เกียรตินิยมอันดับหนึ่ง แต่อาจสูญเสียโอกาสทางสังคมในมหาวิทยาลัยไป ลูกอาจจะประสบความสำเร็จในด้านไอคิว  คือ ความรู้ความฉลาด แต่ลูกอาจะสูญเสียในด้านอีคิว คือการควบคุมภาวะอารมณ์เมื่ออยู่ในสังคม เพราะว่าลูกเรียนรู้เฉพาะในตำราอย่างเดียว แต่ไม่ได้เรียนรู้การใช้ชีวิตในสังคม

ลูกชาย : เปรียบเสมือนกับการที่เราจะได้มาซึ่งสิ่งหนึ่ง ต้องแลกกับการสูญเสียอีกสิ่งหนึ่งอย่างนั้นหรือครับ

พ่อดี :ไม่เสมอไปลูก บางครั้งอาจจะได้มาทั้งสองอย่างหรือเสียทั้งสองอย่างไปเลยก็ได้  แต่มีเพียงส่วนน้อย ส่วนใหญ่ที่พ่อเห็นก็คือ ได้อย่างแต่ต้องแลกกับการสูญเสียอีกอย่าง แต่ก็ขึ้นอยู่กับว่าจะได้มากกว่า หรือเสียมากกว่าเท่านั้นเอง  เออเมื่อกี้เรากำลังคุยถึงหมู่บ้านรอบ ๆ ของเราใช่ไหมลูก

ลูกชาย : อ๋อ...ใช่ครับพ่อ

พ่อดี : ที่ลูกบอกว่าทันสมัย ศิวิไลซ์ ทุกอย่างดีกว่าหมู่บ้านเรา วิถีชีวิตของประชาชนคงมีความสุข และเพื่อนของลูกอยากให้หมู่บ้านเราเป็นแบบนั้นด้วย

ลูกชาย : ใช่ครับพ่อ

 

 

              *****************************************

ต้นทุนค่าเสียโอกาส (opportunity cost) คือ คุณค่าหรือมูลค่า (value) ของทางเลือก (choice) ที่ดีที่สุดในบรรดาทางเลือกทั้งหลายที่มีอยู่ที่ต้องสละไป (the best alternative forgone) เมื่อมีการตัดสินใจในการเลือกใช้ทรัพยากรการผลิตไปในทางใดทางหนึ่ง 

 

 

คำสำคัญ (Tags): #พ่อ#ลูกชาย
หมายเลขบันทึก: 496285เขียนเมื่อ 28 กรกฎาคม 2012 11:04 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2012 17:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท