ชีวิตที่พอเพียง: ๑๖๑๐. เที่ยวมะละกา


 

          บ่ายวันที่ ๑๔ มิ.ย. ๕๕ รถบัสคันใหญ่และไกด์ คือคุณริชาร์ด ก็พาเราถึงมะละกา หลังจากงีบบนรถที่แล่นบนทางด่วนอย่างราบเรียบเป็นเวลา ๒ ชั่วโมง    แวะพักตรงที่พักระหว่างทางเพื่อเข้าห้องน้ำ และดูคนมาเลย์กินทุเรียนและมะม่วง ๒๐ นาที

 

          จุดแรกคือศาลเจ้าและบ่อน้ำโบราณ ฮังลิโป อายุ ๖ ศตวรรษ  ตั้งอยู่เชิงเขา บูกิตชินา ที่สุลต่านตั้งชื่อให้เป็นเกียรติแก่มเหสีเจ้าหญิงจีนราชวงศ์หมิง ที่ถูกส่งมาแต่งงานกับสุลต่านพร้อมบริวาร ๕๐๐   และบ่อน้ำก็ขุดขึ้นใช้เป็นบ่อสาธารณะและเป็นเกียรติแก่มเหสีองค์นี้เช่นกัน    ผมดูทำเลของบ่อน้ำแล้ว ก็คิดว่าคนโบราณเขามีภูมิปัญญาว่าน้ำใต้ดินคุณภาพดีควรจะอยู่ตรงไหน  

 

          เขาจีนนี้เวลานี้เป็นสุสานหรือแหล่งสร้างฮวงซุ้ย    และตรงบ่อน้ำก็มีการสร้างศาลเจ้าอายุกว่าสองร้อยปี ชื่อวัดซำปอกง ที่เคยมีรูปสลักของแม่ทัพเรือเจิ้งเหอผู้นำกองเรือจีนไปถึงอเมริกาก่อนใครๆ และเดินทางมาที่มะละกา ๒ ครั้ง ในช่วงปี คศ. ๑๔๐๖ - ๑๔๐๘   แต่ทางมาเลเซียว่าศาสนาอิสลามห้ามมีรูปเคารพ รูปสลักจึงถูกย้ายออกไปที่อื่น   แต่เราก็พบรูปสลักหินของเจิ้งเหอยืนสง่าอยู่ที่มุมหนึ่งริมกำแพง    ขนาดครึ่งหนึ่งของคนจริง    ตามหนังสือที่ผมเคยอ่านบอกว่าเจิ้งเหอรูปร่างสูงใหญ่ เป็นมุสลิม และเป็นยูนุก คือถูกตอนเพื่อเลี้ยงให้เป็นเจ้าหน้าที่ชายภายในวังฝ่ายใน

 

          หลังจากนั้นเราไปเที่ยวหมู่บ้านปอร์ตุเกศ    ที่คนเชื้อสายปอร์ตุเกศยังอยู่ที่หมู่บ้านนี้ ๑,๑๐๐ คน ตามคำบอกของคุณลุงอายุ ๘๑ ปีที่ใจอารีเปิดพิพิธภัณฑ์ให้เราชมพร้อมคำอธิบาย   เห็นชัดว่าพลังรวมใจคนเหล่านี้ให้ยังอยู่เป็นชุมชนคือศาสนา (คริสต์นิกายคาทอลิก)   คุณลุงบอกว่าเคยไปแสดงการเต้นรำปอร์ตุเกศที่กรุงเทพด้วย   คุณลุงบอกว่าตนเองเชื้อสายปอร์ตุเกศแท้   ตอนออกไปชมบริเวณไกด์เจอผู้หญิงปอร์ตุเกศถามว่าเชื้อสายแท้ไหม เขาก็ตอบว่าแท้อีก   ทั้งๆ ที่หน้าดูจะมีเชื้อมาเลย์

 

          อาหารเย็นเราเดินหาร้านฟาโมซา (Famosa - แปลว่าสวย) ที่ไกด์กิตติมศักดิ์ (หญิง) หมายตาไว้ไม่พบ   ถามทางไปพบร้าน Bistro ท่าทางโหงวเฮ้งดี เข้าไปกิน เขาแนะนำอาหารน้องยา (Nyongya) เป็นชุด   เราสั่งมากิน มันคืออาหารจีนรสจัดแบบอาหารจีนในประเทศไทยนั่นเอง อร่อยดี   และคุณธวัชเดินไปพบร้านฟาโมซาอยู่ตรงกันข้ามถนนเยื้องๆ กันนั่นเอง  

 

          เช้าวันที่ ๑๕ มิ.ย. ผมออกไปวิ่งชมเมือง ไปออกย่านเมืองใหม่ที่อยู่ติดกัน   ได้เห็นบรรยากาศเด็กนักเรียนมาโรงเรียนตั้งแต่ยังไม่สว่าง   คือเวลาเกือบๆ ๗ โมงเช้าของเขาพระอาทิตย์ยังไม่ขึ้น คือเท่าๆ กับ ๖ โมงเช้าของเรา 

 

          ทาง สคส. เขาจัดทีมรับผิดชอบการเที่ยวและกิจกรรมประจำวันไว้วันละ ๔ คน   วันนี้ทีมที่ ๒ เป็นทีมหญิงล้วน   ฟิตจัดเตรียมชุดสาวอิสลามมาสวม   และเตรียมรายการพาเที่ยวมาอย่างดี   แต่ในที่สุดก็ต้องย่อรายการลง เพราะตกบ่ายอากาศร้อนทุกคนหมดแรงเดิน   ต้องให้กลับมาพักผ่อนที่โรงแรม   แต่เราก็ได้เที่ยวประตูซานเตอาโก   บริเวณเขา เซ็นต์ปอล   แล้วไปเดินย่านจตุรัสปอร์ตุเกศ  ริมแม่น้ำมะละกา   แล้วไปกินข้าวมันไก่ไหหลำอันเลื่องชื่อ   มีคนมาเข้าคิวยาว และเขาปิดร้านเป็นระยะๆ คนต้องเข้าแถวรอริมถนน    โดยข้าวมันทำเป็นก้อนกลมๆ เท่าลูกปิงปอง    ลักษณะคล้ายข้าวเหนียว ข้าวไม่เป็นเม็ด ไม่อร่อย   และเนื้อไก่ก็ยุ่ย   ผมว่าสู้ข้าวมันไก้เจ้าอร่อยๆ ที่บ้านเราไม่ได้  

 

          อิ่มแล้วไปกินลอดช่องเจ้าอร่อยในไชน่าทาวน์ ที่เพิ่งเปิดร้าน   พวกเรา ๑๗ คนเต็มร้านพอดี   รสชาติอร่อยมาก ขายเป็นแก้ว (พลาสติก) มีหลอดขนาดใหญ่ให้ดูดกิน   ความอร่อยส่วนหนึ่งอยู่ที่น้ำกะทิสด    แล้ว เดินบริเวณไชน่าทาวน์   เดินไปไกลพอควรไปนั่งรับลมที่อาคารสมาคมจีน   ชมวัดจีนที่เป็นวัดพุทธวัดแรกในมาเลเซียชื่อ Cheng Hoon Tengแล้วไปชมมัสยิดกำปงกลิงที่อยู่ใกล้ๆ  ที่มีสระน้ำให้ล้างตัวก่อนละหมาด โดยคุณธวัชทำพิธีล้างตัวให้ดู   แล้วไปนั่งรอชมพิพิธภัณฑ์ Baba Nyonya Heritage Museum (Jalan Tun Tan Cheng Lock, [email protected])รอบ ๑๔.๑๕ น. ระหว่างนั่งรอในห้องรอของพิพิธภัณฑ์ที่ติดแอร์เย็นฉ่ำ    นั่งบนเก้าอี้ไม้บ้านเศรษฐีจีนแบบเก่า เป็นเวลาชั่วโมงเศษ    ผมนั่งทำสมาธิและงีบหลับไปหลายรอบ

 

          พิพิธภัณฑ์ลูกครึ่งจีนมาเลย์นี้ เป็นของมหาเศรษฐีพ่อค้าเครื่องเทศ   บ้านนี้สร้าง ค.ศ. ๑๘๙๖   ไกด์บอกว่าเจ้าของบ้านในปัจจุบันเป็นทายาทรุ่นที่ ๖  การชมพิพิธภัณฑ์บาบ๋านยองหยา ๓๐ นาทีแบบมีไกด์พาชมนี้ทำให้ผมรำลึกย้อนกลับไปตอนไปเที่ยวพิพิธภัณฑ์เปอรานากันที่สิงคโปร์   ซึ่งให้ความรู้ดีกว่านี้   และเราชมเองโดยมีคู่มือให้

 

          จบแล้วทีมเจ้าภาพวันนี้บอกว่าหมดแรง   ปล่อยทุกคนเดินกลับโรงแรมเพื่อพักผ่อน    และนัดพบใหม่เวลา ๑๗.๐๐ น.

 

          ตอนเย็นเราไปนั่งเรือล่องแม่น้ำ ๔๕ นาที   ทำให้ได้เห็นว่าเมืองมะละกาเขาปรับปรุงสองฝั่งแม่น้ำให้เป็นที่ท่องเที่ยวทั้งหมด   มีบริเวณอนุรักษ์ป่าชายเลนไว้หน่อยหนึ่ง มีต้นลำพูมากมาย   บนกิ่งหนึ่งมีตะกวดตัวอ้วนนอนอยู่

 

          หลังจากนั้นเป็นรายการเดินถนนคนเดินที่ย่านไชน่าทาวน์ ซึ่งปิดถนนตอนเย็นให้คนมาขายของบนถนนในวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์   และปล่อยให้ทุกคนเดินเล่นและหาอาหารกินโดยอิสระ  สาวน้อยกับผมเดินดูพอได้ไอเดียก็เร่ไปเข้าคิวร้านอาหาร Famosa ที่ได้รับคำแนะนำว่าอาหารอร่อย   เรากินข้างสวย ไม่สั่งข้าวมันปั้นกลม เพราะรู้แล้วว่าไม่อร่อย    และสั่งเป็ดย่าง กับหมูแดงอย่างละจาน (ขนาดเล็ก)   อาหารอร่อยสมคำเล่าลือ   ลงท้ายด้วยน้ำแข็งใส Cendol สั่งมาถ้วยเดียวกินสองคน   รวมทั้งหมดไม่ถึง ๓๐ ริงกิต

 

          ความเป็นเมืองท่าของมะละกาทำให้มีผู้คนหลายชาติหลายภาษาและศาสนามาตั้งแต่โบราณ   ชาติสำคัญคือมาเลย์ (จากอาเจะ สุมาตรา) กับจีน   แล้วใน ๕๐๐ ปีหลังฝรั่งก็มาครอบครองเป็นเมืองขึ้น   เริ่มจากปอร์ตุเกศ  ฮอลันดา  และอังกฤษ คั่นด้วยญี่ปุ่น ๓ ปีสมัยสงครามโลกครั้งที่สอง    สถานที่ทางประวัติศาสตร์จึงเกี่ยวข้องกับ ๓ ชาติตะวันตกนี้   แต่ในทางวัฒนธรรมแล้ว จีนยึดครอง    ผมอาจรู้สึกเช่นนี้ด้วยความลำเอียงที่ไปเดินย่านไชน่าทาวน์ทุกวันก็ได้   เพราะจากจตุรัสดัทช์เดินข้ามสะพานตันกิมเส็งก็ถึงแล้ว    ผมไม่รู้สึกว่าคนมาเลย์เป็นชนส่วนใหญ่ของเมืองมะละกา    รู้สึกว่าเมืองนี้คนจีนมีบทบาทหลัก   แม้จะมีย่านที่เรียกว่า ลิตเติลอินเดียก็ตาม

 

          คืนวันที่ ๑๕ นี้ ผมนอนฟังเสียงคนตะโกน เสียงรถยนต์ และเสียงรถมอเตอร์ไซคล์ ทั้งคืน    ตื่นเช้าวันที่ ๑๖ มิ.ย. ๕๕ มองลงไปที่สถานีตำรวจเห็นคนและรถเต็ม    ออกไปวิ่งแถว Walker Street ในไชน่าทาวน์ที่เขาส่งเสริมการท่องเที่ยว   จัดให้เป็นถนนคนเดิน   ที่ผมไปเดินมาแล้วทุกวัน วันละ ๑ รอบบ้าง สองรอบบ้าง    และไปวิ่งที่ทางเดินริมน้ำที่ผมนั่งเรือล่องแม่น้ำไปเห็นเมื่อวาน   ได้เห็นว่าทางเมืองมะละกาเขาจัดระเบียบพื้นที่ริมน้ำได้ยอดเยี่ยมมาก   มีทางให้คนเดินทั้งริมแมาน้ำและหลังร้านค้าซึ่งสะอาดเป็นระเบียบเรียบร้อย

 

          แล้วกลับมาถามคนที่มุงอยู่ข้างนอกรั้วสถานีตำรวจว่าเกิดอะไรขึ้น    คนส่วนใหญ่เป็นวัยรุ่นมาเลย์ พูดภาษาอังกฤษไม่ได้   ได้ความจากคนจีนสูงอายุ และจากพนักงานภัตตาคารของโรงแรม   ว่าเป็นการจับรถไม่มีใบขับขี่หรือไม่มีทะเบียน   ได้รถมอเตอร์ไซคล์กว่า ๒๐๐ คัน    พนักงานภัตตาคารบอกว่าเขาไม่เคยเห็นการจับครั้งมโหฬารเช่นนี้    จึงรู้ที่มาของเสียงรบกวนตอนกลางคืน

 

          ทำให้ได้ตระหนักว่า เวลาเราไปเที่ยว เราจะเห็นเพียงผิวๆ ของสังคมเท่านั้น   อาจกล่าวได้ว่าผมโชคดีที่ได้เห็นและสัมผัสสังคมมาเลเซียที่ครบถ้วนขึ้น   ให้เห็นว่า ไม่ว่าสังคมใด ก็มีการแบ่งแยกคนออกไปต่างฐานะกัน   จุดสำคัญคือ ทำอย่างไรไม่ให้ความเหลื่อมล้ำมากเกินไป   สิ่งที่เราเดาไม่ออกคือสังคมมาเลย์กับสังคมไทย ใครมีความเหลื่อมล้ำมากกว่ากัน   โดยที่ภาพเฉลี่ยของ จีดีพี มาเลย์สูงกว่าไทยมาก

 

           วันนี้เป็นวันเที่ยวพิพิธภัณฑ์ เราได้เที่ยวถึง ๘ จาก ๒๔ พิพิธภัณฑ์ที่มีอยู่ในมะละกา    ทั้งหมดเป็นพิพิธภัณฑ์เชิงประวัติศาสตร์    และการจัดแสดงก็เป็นแบบถาวรทั้งสิ้น   ไม่มีการจัดพิพิธภัณฑ์แนวสมัยใหม่ แบบที่มีนิทรรศการพิเศษเฉพาะช่วงเวลาเลย    พิพิธภัณฑ์ที่เราไปชมได้แก่ (๑) พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์และชาติพันธุ์  (๒) พิพิธภัณฑ์การศึกษา  (๓) พิพิธภัณฑ์ผู้ว่าการรัฐมะละกา  (๔) พิพิธภัณฑ์รัฐบาลประชาธิปไตย  (๕) พิพิธภัณฑ์วรรณคดี  (๖) พิพิธภัณฑ์อิสลาม  (๗) พิพิธภัณฑ์วังสุลต่าน  และ (๘) พิพิธภัณฑ์เสรีภาพ   โดยมีการพักเที่ยงไปกินอาหารร้าน Famosa โดยกินที่ตึกใหญ่ ซึ่งชั้นบนสวยงามมีห้องจัดไว้ให้ถ่ายรูปสวยงามมาก

 

          ตกบ่ายเราไป AAR สคส. ในช่วง ๑๐ ปีที่ผ่านมาเพื่อใช้เป็นฐานคิดยุทธศาสตร์ไปข้างหน้า    อ. ไกรฤทธิ์ช่วยให้ความรู้และข้อมูลที่เป็นประโยชน์มากต่อการคิดไปข้างหน้า    เห็นจุดแข็งและจุดอ่อนชัดเจน

 

          แค่เดินชมพิพิธภัณฑ์ ๘ แห่ง เราก็เมื่อยขากันทั่วหน้า   วันนี้ทีมเจ้าภาพประจำวันคือทีม ผม  สาวน้อย  คุณธวัช  และยุ้ย   เราเปลี่ยนอารมณ์จากบริการสุดเริ่ดของสี่สาวเมื่อวาน มาเป็นทีมเงียบๆ แต่จริงจังสไตล์คุณธวัช 

 

          เช้าวันที่ ๑๗ มิ.ย. วันสุดท้าย ผมออกไปวิ่งเพื่อดูรอยต่อระหว่างเมืองเก่ากับเมืองใหม่ให้ชัดๆ ต่อจากที่เห็นเมื่อเย็นวาน   เพื่อศึกษาวิธีวางผังเมืองเพื่อให้เก่ากับใหม่ต่อเนื่องกลมกลีน   และดำรงเอกลักษณ์เมืองเก่าไว้    เห็นว่าเขากั้นด้วยสวนสาธารณะขนาดเล็ก ที่มีต้นไม้อายุหลายร้อยปีจำนวนประมาณสิบต้นช่วยให้ความร่มรื่นและบังรอยต่อ    และใช้พิพิธภัณฑ์การเดินเรือ (Maritime Museum) เป็นตัวเชื่อม

 

          คุณริชาร์ด บอกว่าบริเวณเมืองใหม่เกิดจากการถมทะเลเมื่อ ๒๐ กว่าปีมานี้เอง   เดิมชายฝั่งทะเลอยู่ตรงทิวต้นไม้ใหญ่    ทำให้เราเข้าใจว่าเนินเขามะละกาเป็นจุดยุทธศาสตร์ในสมัยโบราณชัดแจ้ง    เพราะเดิมผมสงสัยว่าทำไมจุดยุทธศาสตร์ต่างๆ มันอยู่ลึกเข้ามามากนัก 

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๙ มิ.ย. ๕๕

 

ไปดูบ่อน้ำฮังลิโปและศาลเจ้าเจิ้งเหอ แต่ผมกลับติดใจต้นพิกุลอายุหลายร้อยปี


 

รูปหินสลัก เจิ้งเหอ 


 

 จตุรัสปอร์ตุเกศ แหล่งท่องเที่ยวชายทะเลยามเย็น


 

เลยต้นไม้นี้ออกไปเป็นย่านเมืองใหม่ที่เกิดจากการถมทะเลเมื่อ ๒๐ ปีมานี้เอง

 


 

ภาพถ่ายจากการล่องเรือชมเมือง สองฝั่งคลองเป็นทางสาธารณะสะอาด

หลายย่านตกแต่งผนังบ้านด้วยภาพเขียน

 


 ย่านที่ตกแต่งผนังบ้านด้วยภาพเขียน

 


Jonker Street กลายเป็นถนนคนเดินยามค่ำของวันศุกร์ เสาร์ อาทิตย์

 


ถ่ายกับสี่ไกด์ย่าหยาสั่งตรงจาก สคส.

 


ถ่ายจาก St Paul's Hill เห็นประตูซานติอาโกอยู่ด้านหน้า

เลยออกไปเป็นย่านเมืองใหม่ที่เกิดจากการถมทะเล

 


ในร้านข้าวมันไก่ไหหลำที่ไม่ถูกปากพวกเรา

 


ในห้องหอจีน

 



 ใบสน ศิลปะธรรมชาติ

 








 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 496049เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 11:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 30 กรกฎาคม 2012 08:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

เคยดูหนัง เรื่อง "บ่าบา ย่ายา"... เมืองมะละกา  สวยจริงๆ ดังภาพ ของท่าน อจ.หมอ เลยค่ะ

มีภาพต้นลำพูที่ในมะละกาให้ดูบ้างไหมครับคุณหมอวิจารณ์ ถ้ามีขอบพระคุณมากที่จะโพสให้ดูครับ


เอารูปต้นลำพูริมแม่น้ำมะละกาให้แล้ว  

แถมรูปตัวแลนบนต้นให้ด้วยครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท