คุณเชื่อข้อมูลที่อื่นพูดสักแค่ไหน


ในยุคปัจจุบันนี้เป็นยุคแห่งข้อมูลข่าวสาร ในแต่ละวันเราจะพบปะกับข้อมูลต่างๆ มากมายไปหมด บ้างก็มีประโยชน์ บ้างก็ไม่มีประโยชน์อะไรกับเราเลย แต่เชื่อหรือไม่ครับว่า คนเรามักจะชอบฟัง ชอบเชื่อในสิ่งที่ไม่ค่อยเป็นประโยชน์ต่อเราสักเท่าไหร่ โดยเฉพาะกับเรื่องข่าวลือ หรือ เรื่องราวที่ถูกเล่าและนินทาต่อๆ กันมา เรื่องราวเหล่านี้เป็นเรื่องราวที่พูดคุยกันอย่างสนุกปากในกลุ่มคนเกือบทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะในบ้าน โรงเรียน มหาวิทยาลัย หรือแม้แต่ในบริษัทเองก็ตาม

ในเมื่อเราทราบว่าข้อมูลมีเยอะมากมาย แล้วเราจะเลือกวิธีการรับข้อมูลอย่างไรดี เราเลือกที่จะฟังในสิ่งที่เราชอบ หรืออยากได้ยิน หรือเราควรจะฟังในสิ่งที่เราไม่ชอบเลย แต่เป็นประโยชน์ในการพัฒนาตนเอง

วันนี้มีนิทานเรื่องหนึ่งจะมาเล่าให้อ่านกัน ต้องย้อนกลับไปในยุกกรีกรุ่งเรืองกันเลยครับ เรื่องราวมีดังนี้

เช้าวันหนึ่ง โซเครติส นักปราชญ์ผู้ยิ่งใหญ่ในกรีกได้ออกมาเดินซื้อของในตลาด เดินไปมาสักพัก ก็พบกับเพื่อนที่คุ้นเคยคนหนึ่งเดินเข้ามาทักทาย และเดินประชิดตัวพร้อมกระซิบกระซาบข้างๆ เหมือนกลัวคนอื่นจะได้ยิน

“ผมมีบางอย่างอยากจะบอกท่านให้ทราบ” เพื่อนกระซิบ “เป็นเรื่องราวของเพื่อนสนิทของท่านเอง”

โอว ท่านช่างเป็นคนที่มีน้ำใจจริงๆ ที่ตั้งใจจะเอาเรื่องราวมาบอกเล่าให้ข้าพเจ้าได้ฟัง” โซเครติส ตอบกลับไป พร้อมกับกล่าวต่อว่า

“แต่ช้าก่อนท่าน โดยปกติข้าพเจ้าจะมีการกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ ก่อนที่จะพิจารณาว่าควรจะรับฟังข้อมูลเหล่านั้นหรือไม่ ซึ่งการกลั่นกรองข้อมูลนี้ ท่านจะต้องผ่านการทดสอบ 3 ประการเสียก่อน” โซเครติส กล่าวพร้อมมองหน้าไปที่เพื่อนคนนั้น ซึ่งเพื่อนก็มองกลับมาอย่างงงๆ

โซเครติสก็เลยกล่าวต่อไปอีกว่า “ข้อแรกก็คือ คำถามเพื่อหาข้อเท็จจริง เรื่องที่ท่านกำลังจะบอกข้าพเจ้านั้น ท่านได้เห็น หรือประสบมากับตัวท่านเองแบบจะๆ เลยหรือเปล่า?” โซเครติสถามอย่างใจเย็น

“อืม...” เพื่อนลังเลเล็กน้อย “จริงๆ ข้าพเจ้าได้ยินมาจากคนอื่นอีกทีหนึ่ง แต่ก็ถือว่าเป็นแหล่งข่าวที่เชื่อถือได้นะท่าน” เพื่อนตอบ

“นั่นไง การทดสอบข้อแรก ก็ไม่ผ่านแล้ว เนื่องจากจริงๆ แล้วท่านเองก็ไม่รู้ว่าเรื่องราวที่ได้ยินมานั้นมันจริงเท็จประการใด” “ส่วนข้อสองก็คือ คำถามเพื่อหาความดีของเรื่องที่จะรับฟัง” โซเครติสกล่าวต่อไปอีก “เรื่องที่ท่านจะบอกเกี่ยวกับเพื่อนของข้าพเจ้านั้นเป็นเรื่องที่ดีของเพื่อนข้าพเจ้าใช่หรือไม่” โซเครติสถามพร้อมกับดูของในตลาดไปพลาง

“อืม...มันก็ไม่เชิงนะ ก็นี่แหละคือสาเหตุที่ข้าพเจ้าต้องมาบอกท่านว่า....”

เพื่อนพูดยังไม่ทันจบ โซเครติสก็ตัดบททันทีว่า “เรื่องราวที่ท่านต้องการจะบอกข้าพเจ้านั้นเป็นเรื่องราวที่ไม่ดีของเพื่อนข้าพเจ้า แต่ท่านเองก็ไม่รู้ว่าเรื่องนั้นมันถูกผิด หรือจริงเท็จประการใด”

“ข้อที่สามก็คือ คำถามเพื่อที่จะหาประโยชน์ของเรื่องที่จะรับฟัง” โซเครติสกล่าวต่อ “เรื่องราวที่ท่านจะเล่าให้ฟังนั้นเป็นเรื่องราวที่เป็นประโยชน์ต่อข้าพเจ้าในการทำงานหรือการใช้ชีวิตหรือไม่”

อืม..จริงๆ ก็ไม่เชิงอีกแหละ ก็แค่อยากจะเล่าให้ฟังว่ามันเกิดอะไรขึ้นบ้าง” เพื่อนตอบ

“อืม..ในเมื่อข้อมูลที่ท่านจะมาบอกข้าพเจ้านั้น ยังไม่มีข้อพิสูจน์ว่าเป็นความจริง อีกทั้งเป็นข้อมูลในเชิงลบ และยังไม่มีประโยชน์อะไรต่อข้าพเจ้า” โซเครติสสรุปต่อว่า “ถ้าเป็นดังนั้นแล้ว รบกวนว่าไม่ต้องบอกข้าพเจ้าหรอก เพราะข้าพเจ้าไม่ต้องการจะรู้เรื่องราวเหล่านั้นเลย”

อ่านจบแล้วรู้สึกอย่างไรบ้างครับ ผมคิดว่าเป็นคำถาม 3 ข้อที่เราน่าจะลองนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อเป็นเครื่องมือในการกลั่นกรองข้อมูลต่างๆ ที่จะเข้ามาสู่ตัวเราในรูปแบบต่างๆ โดยเฉพาะข้อมูลที่เป็นเรื่องราวของการนินทา การใส่ร้ายป้ายสี การให้ร้ายคนอื่น ถ้าเราไม่เข้าไปรับฟัง และไม่เข้าไปมีส่วนกับสิ่งที่ไม่จริง ไม่ดี และไม่มีประโยชน์อะไรกับชีวิตเรา เราก็จะไม่ต้องเครียด ไม่ต้องแบกรับข้อมูลต่างๆ นานา มากมายจนล้นไปหมด ยิ่งไปกว่านั้น จะทำให้เราเป็นคนที่ได้รับความเชื่อถือจากคนอื่นด้วยครับ เพราะเราเลือกที่จะรับฟังในสิ่งที่เป็นจริง เป็นเรื่องที่มีคุณความดี และมีประโยชน์นั่นเอง ลองไปใช้ดูนะครับ ได้ผลอย่างไรก็ลองมาเล่าสู่กันฟังบ้างนะครับ

หมายเลขบันทึก: 496032เขียนเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 07:26 น. ()แก้ไขเมื่อ 26 กรกฎาคม 2012 10:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

คุณเชื่อข้อมูลที่อื่นพูดสักแค่ไหน?....

 

ความเชื่อ...ต้องเชื่อที่ข้อมูล .... และ ค่าสถิติ + กาลเวลา... (ของ P'Ple นะคะ)

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท