ทำอย่างไรจึงจะส่งเสริมให้นักเรียนสามารถใช้เทคโนโลยีได้อย่างเหมาะสมเพื่อเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้และเข้าสู่ประชาคมอาเซียนได้อย่างภาคภูมิใจ


การที่เราจะเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน หรือเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล เราคงต้องฝึกกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนมากกว่าการสอนให้ความรู้แก่นักเรียนโดยครูผู้สอนเท่านั้น

         ตอนผมเป็นประธานเยี่ยมติดตามและประเมินผลการดำเนินงานฯเขตพื้นที่การศึกษาหลายๆจังหวัดทั่วประเทศ ซึ่งแต่ละเขตพื้นที่ก็จะพาผมไปเยี่ยมโรงเรียนในเขต ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นโรงเรียนที่มีผลงานดีเด่น และผลงานที่มาแสดงให้ดูทั้งระดับประถมและมัธยมก็ยอดเยี่ยมจริงๆ
         แต่ละโรงเรียนก็จะให้นักเรียนเป็นผู้นำเสนอผลงานเอง ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี แต่สิ่งที่ผมรู้สึกไม่สบายใจ ไม่ใช่ผลงานของนักเรียน  แต่เป็นองค์ความรู้ในตัวนักเรียน  ที่สามารถพิสูจน์ได้จากการสอบถามความรู้นักเรียน  จึงพบว่านักเรียนทั้งกลุ่มยังมีปัญญาเรื่องความแน่นในความรู้ที่จะมาจัดทำโครงงานหรือพัฒนาผลงาน เมื่อถามถึงความรู้ในเรื่องนั้นจริงๆนักเรียนจะเริ่มหันซ้ายหันขวา หาตัวช่วย ซึ่งก็คือครูผู้สอนนั่นเอง  บางครั้งครูจะโดดลงมาช่วยอธิบาย  แต่เมื่อถามถึงตัวผลงานนักเรียนก็จะตอบได้อย่างฉะฉาน เหมือนกับมีสคริปต์ที่ท่องไว้ และมีผลงานให้ดูที่เป็นผลสำเร็จ ไม่ว่าจะเป็นเห็ดจัมโบ้  ถั่วงอกหัวโต  อาหารสมุนไพร ฯลฯ
       นึกถึงตอนเราทำวิจัยหรือทำวิทยานิพนธ์ก่อนจะได้หัวข้องานวิจัยเราจะต้องศึกษาวรรณคดีที่เกี่ยวข้องอย่างหนักอาจารย์จึงจะให้ผ่านหัวข้อ  แต่พอเราดูการเรียนการสอนนักเรียนในขั้นพื้นฐานก็น่าจะมีการเตรียมความพร้อมฝึกให้นักเรียนได้รู้จักศึกษาค้นคว้าหาความรู้ในเรื่องที่จะลงมือปฏิบัติอย่างเพียงพอ  ไม่ใช่เพียงฟังคำบรรยายให้ความรู้จากครูเท่านั้น  เพราะปัจจุบันเทคโนโลยีสารสนเทศมีความก้าวหน้าอย่างมาก รวมทั้งมีแหล่งเรียนรู้ต่างๆมากมาย  อยากจะค้นคว้าหาความรู้เรื่องใดก็สามารถทำได้สะดวก
         ปัญหาอยู่ตรงไหน? ก็คงไม่พ้นคุณครูผู้สอนที่ต้องจัดกิจกรรมส่งเสริมเขาอย่างเป็นระบบ  และให้ความสำคัญเรื่องกระบวนการศึกษาหาความรู้อย่างจริงจัง  ไม่ใช่เพียงมอบหมายงานหรือแบ่งกลุ่มให้นักเรียนเขียนรายงานส่งครู แล้วก็ให้คะแนนเท่านั้น  เพราะผลที่ปรากฏคือนักเรียนก็จะเปิดค้นหาจากเว็บกลูเกิล(กูกู๋)ไฟล์เดียวแล้วก็ก้อปปี้ส่งครู โดยที่ตนเองอาจไม่ได้อ่านรายละเอียดของเนื้อหาด้วยซ้ำ และทั้งกลุ่มอาจจะมีคนทำเพียงคนเดียว  จบแล้วจบเลย ไม่มีinteraction แลกเปลี่ยนเรียนรู้กันด้วยซ้ำ
          ผมคิดว่าการที่เราจะเตรียมพร้อมสู่ประชาคมอาเซียน หรือเป็นโรงเรียนมาตรฐานสากล เราคงต้องฝึกกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนมากกว่าการสอนให้ความรู้แก่นักเรียนโดยครูผู้สอนเท่านั้น  นั่นคือน่าจะเน้นที่กระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนมากกว่าการสอนของครูนั่นเอง
         ขอนำเสนอกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียนที่ครูอาจนำไปใช้จัดการเรียนการสอนได้  โดยมีหลักการพื้นฐานว่าทุกกระบวนการเรียนรู้ทั้ง 5 ขั้นตอนนี้ นักเรียนจะต้องเป็นผู้กระทำทั้งหมด โดยครูเป็นเพียงผู้จัดกิจกรรม กระตุ้น ให้คำปรึกษาแนะนำ  และเสริมแรงให้เขาได้ปฏิบัติอย่างต่อเนื่อง เท่านั้น กล่าวคือ
          1. การเข้าถึงความรู้   
          2. การแลกเปลี่ยนเรียนรู้
          3. การลงมือปฏิบัติ
          4. การประเมินผลการเรียนรู้
          5. การสื่อสารเผยแพร่ความรู้
        กล่าวโดยสรุป  การเข้าถึงความรู้ควรจะเปลี่ยนจากครูเป็นผู้บอกความรู้ มาเป็นนักเรียนแต่ละคนต่างค้นคว้าหาความรู้จากแหล่งต่างๆให้ได้มากที่สุด ซึ่งก็ยังเป็นเพียงข้อมูล(Data)หรืออาจถึงขั้นสารสนเทศ(Information)ก็ได้  แต่ข้อมูลเหล่านั้นจะต้องได้รับการวิเคราะห์ สังเคราะห์ด้วยการเปิดเวทีให้เขาได้นำความรู้ที่ไปคนคว้ามาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน มีการสะท้อนความคิดหรือสะท้อนข้อมูล (reflecting) มีการปฏิสัมพันธ์ (interactive) กับเพื่อนนักเรียนด้วยกัน    ก็จะนำไปสู่การปรับเปลี่ยนความคิดใหม่ (new thinking) แล้วสร้างความรู้ใหม่ (new  constructing) จากนั้นแต่ละคน(กลุ่ม)ก็จะเชื่อมโยงความรู้สู่การปฏิบัติ โดยอาจจัดทำเป็นโครงงานหรือกิจกรรมดำเนินการต่อไป  แล้วการประเมินผลว่าเขาก้าวหน้าหรือประสบผลสำเร็จแค่ไหนก็ประเมินโดยนักเรียนเอง (ไม่ใช่ให้ครูประเมินเหมือนที่ผ่านมา) แล้วขั้นตอนสุดท้ายเขาก็จะหาวิธีการสื่อสารเผยแพร่ความรู้ที่เขาค้นพบด้วยความภาคภูมิใจ  และคิดค้นต่อยอดพัฒนางานต่อไป
         สิ่งที่ลำค่าที่จะเกิดขึ้นในขั้นตอนสุดท้ายนี้ก็คือ นักเรียนจะเกิดจินตนาการ และจินตนาการนี่แหละถือเป็นสุดยอดของการเป็นบุคคลแห่งการเรียนรู้ อย่างแท้จริง ที่สามารถนำไปสู่การสร้างนวัตกรรมความเจริญก้าวหน้าให้เกิดขึ้นได้อย่างมากมาย

หมายเลขบันทึก: 495943เขียนเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 13:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กรกฎาคม 2012 14:01 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท