เหตุผลที่ทำ.."วิจัย"..น้อยลง


สนับสนุน ส่งเสริม เพิ่มคุณค่า หาเวทีดีๆให้
ได้อ่านบันทึกของคุณศิริ เรื่อง เหตุผลที่ทำ "วิจัย" แล้วรู้สึกชื่นชมในความมุ่งมั่น มีอุดมการณ์ในการที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลาของคุณศิริจริงๆค่ะ  ทำให้พี่เม่ยต้องทบทวนตัวเองทันทีเชียวค่ะว่ายี่สิบกว่าปีที่ผ่านมาเนี่ย ได้ทำอะไรลงไปบ้าง?
ในช่วงเวลานั้น จำได้ว่ามีความสนุกสนานกับการคิดทำโน่น ทำนี่ ทำแล้วนำมาใช้ประโยชน์จริงไม่มีขึ้นหิ้งแม้แต่เรื่องเดียว.....
ก็เหมือนที่คุณศิริพูดไว้ค่ะ เหตุผลที่เราทำก็เพราะเราอยากทำ เราอยากรู้ เรารักที่จะทำ ไม่ได้มุ่งหวังผลตอบแทนใดๆ  เรามีความสุขเมื่อเราเห็นผลสำเร็จของงาน ยิ่งเห็นว่าได้นำมาใช้ประโยชน์ได้จริงอย่างเป็นรูปธรรมด้วยแล้ว....โห...ปลื้มใจค่ะ
  • ในช่วงปี พ.ศ. 30-35 ตอนนั้นยังอยู่ในวัยเลขสองนำหน้าอยู่เลยค่ะมีงานวิจัยเล็กๆของตัวเองอย่างน้อยปีละ 1-2 เรื่อง ส่วนใหญ่ก็เป็นเรื่องการทดสอบเปรียบเทียบวิธีโน้นกับวิธีนี้ ประเมินน้ำยาโน้นกับน้ำยานี้
  • พอช่วงปี พ.ศ. 36-44 อ้าว เหลือเพียงปีละ 0-1 เรื่องเท่านั้นเอง ส่วนใหญ่เป็นเรื่องการนำวิธีใหม่ๆเข้ามาใช้เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพวิธีทดสอบ  นี่ไงคนวัยขึ้นต้นด้วยเลขสามก็เป็นอย่างนี้แหละ
  • หลังจากปี พ.ศ. 45 เป็นต้นมา แหะๆ มีเพียงสองเรื่องเท่านั้นค่ะแต่ก็น่าภูมิใจที่ทั้งสองเรื่องเป็นการคิดค้นน้ำยาขึ้นใหม่เพื่อเลี่ยงการสัมผัสกับสารเคมีอันตราย  ถึงแม้งานวิจัยน้อยลงแต่ก็กลับไปมีส่วนร่วมในการกระตุ้น ส่งเสริม สนับสนุน ทั้งผลักทั้งดันให้น้องๆในหน่วยงานมีงานวิจัยทำนองเดียวกันเพิ่มขึ้น อ๋อ ก็อายุมีเลขสี่นำหน้าแล้วนี่นา
พี่เม่ยมาวิเคราะห์ตัวเองว่ามีเหตุผลอะไรหรือ จึงได้ทำวิจัยน้อยลงไป?....
  • เหตุผลแรกก็คือ เพราะภาระหน้าที่รับผิดชอบของเราเบี่ยงเบนไป ไม่ได้อยู่กับการทำงานบริการเพียงอย่างเดียว ทำให้สมาธิและความทุ่มเทที่จะคิดพัฒนางานประจำลดลง
  • เหตุผลที่สองก็คือ ช่วง 5-10 ปีที่ผ่านมาการนำเสนอผลงานวิจัยประเภท R2R เนี่ย แทบจะหาเวทีลงไม่ได้เลย  จะเสนอในเวทีการวิจัย ก็ถูกมองว่าเล็กไป ไม่ใช่ความรู้ใหม่ๆ sample size เล็กไป ได้รับคำแนะนำให้ไปเสนอในเวทีโครงการพัฒนางานอ้าว พอไปนำเสนอก็กลายเป็นเรื่องที่ไม่ตรงกับเป้าหมายหลักขององค์กรโดยตรงที่มุ่งเน้นความพึงพอใจของผู้ป่วยเสียอีก (เพราะงานทางห้องปฏิบัติการส่วนใหญ่เป็นงานที่เน้นความถูกต้อง แม่นยำ ประสิทธิภาพในการวินิจฉัย...) ได้รับคำแนะนำให้ไปเสนอเป็นงานวิจัย  ก็เลยเหมือนเครื่องบินที่บินอยู่กลางอากาศ หาลานกว้างๆที่จะร่อนลงได้ยากเหลือเกิน  ทำให้เกิดอาการ งง งง ไปเหมือนกัน
  • อีกเหตุผลหนึ่งก็คือ พอเรามีประสบการณ์ด้านนี้บ้างก็ได้รับการวางตัวให้เป็นที่ปรึกษา ให้คำแนะนำ ไปสนับสนุนให้น้องๆสร้างผลงานบ้าง การลงมือสร้างงานด้วยตนเองจึงน้อยลง
แล้วได้ประโยชน์อะไรบ้างจากงานที่ได้ทำมาทั้งหมด? 
  • มีอยู่ 1 เรื่องที่นำมาเขียนตีพิมพ์ในวารสาร และเสนอเป็นผลงานเพื่อขอตำแหน่งชำนาญการได้.....
  • ส่วนผลงานอื่นก็นำเสนอเป็นโปสเตอร์บ้าง oral presentation บ้าง ในงานประชุมวิชาการต่างๆตามความเหมาะสม
  • มีอีกสองเรื่องที่กำลังเขียนเพื่อส่งตีพิมพ์....
  • แต่ที่แน่ๆผลงานประมาณ 80% ยังคงใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อหน่วยงานได้
เหตุผลที่พี่เม่ยได้นำมาบอกเล่าในที่นี้ ก็หวังจะให้เป็นข้อมูลในการที่จะช่วยกันพัฒนาแนวทางส่งเสริมการทำวิจัยประเภท R2R ให้เพิ่มมากขึ้นพร้อมๆกับให้มีคุณค่ามากขึ้น....
  • ด้วยการส่งเสริม สนับสนุน กระตุ้น ให้ความรู้ ให้บุคลากรเข้ามาสร้างงานคุณภาพแบบนี้มากๆ 
  • ไปพร้อมๆกับหาวิธีการที่จะเพิ่มคุณค่าของผลงาน (เช่นถ้าเป็นผลงานวิจัยประเภท R2R จะมีน้ำหนักมากในการใช้เป็นผลงานของบุคลากรสาย ข ค เป็นต้น)  
  • และสร้างเวทีที่มีการยอมรับผลงานประเภทนี้ให้เห็นเป็นรูปธรรมด้วยค่ะ
หมายเลขบันทึก: 49501เขียนเมื่อ 11 กันยายน 2006 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:52 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
พี่เม่ยทราบมั๊ยค๊ะ ตัวเองคิดช้ากว่าพี่เม่ยมากๆ  ค่ะ เพราะเพิ่งจะพบ "รัก" งานวิจัย  ก็ตรงเลข 3 นำหน้าไปกลาง ๆ แล้วค่ะ

ในวัยเลขสี่นำหน้า การเป็นเบื้องหลัง ส่งเสริมความสำเร็จของน้องๆ ถือว่าเป็นบทบาทที่มีคุณค่ายิ่ง

วันนี้คุยกับกานต์ ก็คุยกันเรื่อง R2R บอกว่างาน R2R ของคนแล็บที่ผ่านมา จำกัดอยู่ไม่กี่แบบ เช่น การเปรียบเทียบ test ใหม่กับ test เก่า  การเตรียมนำยาให้มีต้นทุนทูกลง เป็นต้น   จึงบอกกับกานต์ว่า จุดหมายของ R2R ที่วาดฝันไว้ คือ R2R ที่มีเป้าหมายที่ใกล้ตัวคนไข้มากขึ้น คือทำให้เห็นว่าผู้ป่วยจะได้ประโยชน์อะไรชัดเจนมากขึ้น  เป็นการสร้างมูลค่าเพิ่มให้งาน R2R ของแล็บในแง่มุมหนึ่ง  งานแบบเดิมก็ยังส่งเสริม โดยเฉพาะในนักวิจัยใหม่ รุ่นน้องๆ แต่ในคนที่มีประสบการณ์บ้างแล้ว คงต้องขยับให้ต่อยอดไปอีก

ยิ้มๆๆๆ...

กะปุ๋มกำลังสงสัยคะว่า...การทำวิจัยนี้ผันแปรแบบผกผันกับอายุหรือเปล่าคะ....

แต่กะปุ๋มคิดตรงข้ามนะคะ...ว่าความเข้มข้นของงานวิจัยก็น่าจะข้นไปตามการสั่งสมประสบการณ์และอายุของผู้วิจัยนะคะ (แอบแซวคะ....)

*^__^*

กะปุ๋ม

  • ชอบครับนักวิจัยรุ่นเก่าเก่งมาก เราเรียกว่า เก๋าครับพี่เม่ย
  • เรียกกระชากวัยเกินไปไหมครับ
เห็นด้วยกับอาจารย์ปารมีครับ
  • มือใหม่ หัดขับ ก็ควรเลือกเส้นทางที่ไม่ยาก ทางตรงๆ รถวิ่งไม่เยอะ ก็เปรียบเทียบน้ำยา เปรียบเทียบวิธีไปก่อน รอให้คุ้นเคย แล้วค่อยขยับไปเส้นทางที่ยากขึ้น แต่สำหรับมือใหม่ เวลาขับ ก็ต้องมีพี่เลี้ยงนั่งไปด้วย จะได้ไม่เหงา
  • มือเก๋า ขับเป็นแล้ว คุ้นเคยแล้ว ก็ลองขับเข้าเมืองบ้าง ไปผจญกับรถติดในเมือง หรือหาที่จอดรถในช่องเล็กๆ ระดับนี้จะมีพี่เลี้ยงหรือไม่ ไม่ใช่เรื่องสำคัญ เพราะสุดท้ายก็จะหาทางออกเองได้อยู่แล้ว พวกนี้ก็เพียงแต่สนับสนุนให้ใช้ facility ของภาควิชาที่มีอยู่ให้เต็มที่ หาแหล่งทุนวิจัย ฯลฯ
  • มือโปร ชั้นเซียน ปล่อยไปเลยครับ มือชั้นนี้แล้ว ....ไม่ต้องห่วง
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท