Archanwell
รศ.ดร. พันธุ์ทิพย์ กาญจนะจิตรา สายสุนทร

จำแนกแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือหรือกึ่งไร้ฝีมือในประเทศไทย : จากข้อกฎหมายไทยสู่ข้อเท็จจริงในสังคมไทย


ในโลกแห่งยุคโลกกาภิวัฒน์  แรงงานต่างด้าวเป็น “ประชากร” ที่พบในทุกประเทศก็ว่าได้ รัฐแต่ละรัฐมีท่าทีต่อคนที่เป็นแรงงานต่างด้าวในลักษณะที่แตกต่างหลากหลาย ซึ่งหลักการก็ไม่น่าจะแตกต่างกัน รัฐเจ้าของดินแดนย่อมมีท่าทีที่ดีและต้อนรับขับสู้สำหรับแรงงานที่เป็นประโยชน์ต่อประเทศ และในทางกลับกัน รัฐเจ้าของดินแดนย่อมมีท่าทีที่ไม่ต้อนรับหรือแม้ผลักไสแรงงานที่น่าจะเป็นโทษต่อประเทศของตน

สำหรับประเทศไทยนั้น เราตระหนักมาหลายปีแล้วว่า เราขาดแคลนแรงงานไร้ฝีมือหรือกึ่งไร้ฝีมือในหลายสาขาอาชีพในประเทศไทย แต่อย่างไรก็ตาม มาตรา ๑๒ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งเป็นบทบัญญัติหลักที่กำหนดการเปิดประตูการเข้าเมืองของคนต่างด้าวในสถานการณ์ทั่วไป กลับกำหนดห้ามคนต่างด้าวมิให้อนุญาตให้ “กรรมกร” เข้ามาในประเทศไทย ดังปรากฏตามมาตรา ๑๒ ซึ่งบัญญัติว่า “ห้ามมิให้คนต่างด้าวซึ่งมีลักษณะอย่างใดอย่างหนึ่งดังต่อไปนี้เข้ามาในราชอาณาจักร ....(๓).เข้ามาเพื่อมีอาชีพเป็นกรรมกร หรือเข้ามาเพื่อรับจ้างทำงานด้วยกำลังกายโดยไม่ได้อาศัยวิชาความรู้หรือการฝึกทางวิชาการ หรือเข้ามาเพื่อทำงานอื่นอันเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว

แต่อย่างไรก็ตาม การอนุญาตให้คนต่างด้าวเข้ามาทำงานกรรมกรในประเทศไทยก็ยังเป็นไปได้ภายใต้มาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ ซึ่งเป็นบทบัญญัติพิเศษที่อาจกำหนดการเปิดประตูในสถานการณ์พิเศษ ซึ่งบัญญัติว่า ในกรณีพิเศษเฉพาะเรื่อง รัฐมนตรีโดยอนุมัติของคณะรัฐมนตรีจะอนุญาตให้คนต่างด้าวผู้ใดหรือจำพวกใดเข้ามาอยู่ในราชอาณาจักรภายใต้เงื่อนไขใดๆ หรือจะยกเว้นไม่จำต้องปฏิบัติตามพระราชบัญญัตินี้ ในกรณีใดๆ ก็ได้

แต่อย่างไรก็ตาม โดยข้อเท็จจริง เราก็พบว่า ยังมีคนต่างด้าวเข้ามาทำงานเป็นกรรมกรในประเทศไทย โดยงานวิจัยหลายฉบับ เราพบแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือหรือกึ่งไร้ฝีมือในประเทศไทย ซึ่งอาจจะจำแนกการปรากฏตัวของแรงงานในลักษณะนี้ในประเทศไทยได้ใน ๔ ทิศทาง กล่าวคือ

๑.แรงงานกรรมกรซึ่งมีลักษณะการเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย “อย่างสิ้นเชิง

เราพบว่า โดยข้อเท็จจริง มีแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือหรือกึ่งไร้ฝีมือทำงานอยู่ในประเทศไทย โดยไม่มีทั้งสิทธิเข้าเมืองและสิทธิอาศัย การปรากฏตัวในประเทศไทยของพวกเขาเหล่านี้จึงเป็นความผิดกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมืองอย่างสิ้นเชิง อันทำให้พวกเขาเหล่านี้ไม่อาจร้องขอสิทธิทำงานภายใต้กฎหมายไทยว่าด้วยการทำงานของคนต่างด้าว พวกเขาจึงเสี่ยงต่อการถูกจับเพื่อการลงโทษอาญาตามกฎหมายทั้งสองลักษณะข้างต้น

ข้อสังเกตอีกประการหนึ่ง ก็คือ กรรมกรต่างด้าวไร้ฝีมือหรือกึ่งไร้ฝีมือในประเทศไทยส่วนใหญ่ทีเดียวเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนประชิดติดประเทศไทย จำนวนที่มากที่สุด ก็คือ ชนกลุ่มน้อยจากพม่า

แต่อย่างไรก็ตาม สำหรับประเทศไทยในยุคที่มีการรับรองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานไว้ในบททั่วไปแห่งกฎหมายรัฐธรรมนูญไทย ก็เป็นที่ยอมรับว่า กรรมกรต่างด้าวที่ผิดกฎหมายคนเข้าเมืองก็ยังคงได้รับความคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เพราะพวกเขายังมีสถานะเป็นมนุษย์ เมื่อถูกจับได้ ก็จะถูกลงโทษและส่งกลับออกออกไปยังประเทศต้นทาง

๒. แรงงานกรรมกรซึ่งมีลักษณะการเข้าเมืองที่ผิดกฎหมาย แต่“มีสถานะรอการส่งกลับออกไปนอกประเทศไทย”

แม้ในสถานการณ์ที่แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือหรือกึ่งไร้ฝีมือถูกจับแล้วโดยเจ้าหน้าที่ตำรวจแล้วเพราะมีความผิดตามกฎหมายคนเข้าเมืองโดยสิ้นเชิงแล้ว แต่ก็มีความเป็นไปได้ที่กรรมการในลักษณะนี้จะยังคงทำงานต่อไปได้ในประเทศไทย หากเจ้าหน้าที่ของรัฐผู้รักษาการตามกฎหมายคนเข้าเมืองพิจารณาแล้วว่า ไม่ควรที่จะส่งแรงงานที่ถูกจับแล้วกลับออกไปจากประเทศไทย ทั้งนี้ อาจจะมีสาเหตุที่ต้องรอการส่งกลับอยู่ ๒ ประการ กล่าวคือ (๑) ชีวิตของกรรมกรผู้นั้นยังตกอยู่ในสถานการณ์ที่เสี่ยงภัยความตาย หรือ (๒) อาชีพที่เขาทำเป็นอาชีพจัดเป็นสาขาอาชีพที่ขาดแคลนในตลาดแรงงานไทย การผ่อนผันให้อาศัยต่อไปเพื่อทำงานจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย  

การผ่อนผันทางนโยบายนี้เป็นไปได้โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๕๔ วรรค ๓ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒  อันเป็นบทบัญญัติเพื่อกำหนดแนวคิดและวิธีการในการส่งออกคนต่างด้าวที่ไม่มีสิทธิใดตามกฎหมายคนเข้าเมือง ซึ่งบัญญัติในเรื่องนี้ว่า ในกรณีที่มีคำสั่งให้ส่งตัวคนต่างด้าวกลับออกไปนอกราชอาณาจักรแล้วในระหว่างรอการส่งกลับ พนักงานเจ้าหน้าที่มีอำนาจอนุญาตให้ไปพักอาศัยอยู่ ณ ที่ใด โดยคนต่างด้าวผู้นั้นต้องมาพบพนักงานเจ้าหน้าที่ตามวัน เวลา และสถานที่ที่กำหนด โดยต้องมีประกัน หรือมีทั้งประกันและหลักประกันก็ได้ หรือพนักงานเจ้าหน้าที่จะกักตัวคนต่างด้าวผู้นั้นไว้ ณ สถานที่ใดเป็นเวลานานเท่าใดตามความจำเป็นก็ได้ ค่าใช้จ่ายในการกักตัวนี้ให้คนต่างด้าวผู้นั้นเป็นผู้เสีย

เราพบต่อไปว่า กรรมกรต่างด้าวที่รอการส่งกลับออกจากประเทศไทยตามมาตรา ๕๔ วรรค ๓ ข้างต้นมีสิทธิร้องขออนุญาตทำงานภายใต้มาตรา ๑๓ (๒) แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า เข้ามาหรืออยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาตตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมืองแต่ได้รับอนุญาตให้อยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราวเพื่อรอการส่งกลับออกไปนอกราชอาณาจักรตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ทั้งนี้ มาตรานี้รับรองสิทธิให้แก่กรรมการต่างด้าวรอการส่งกลับฯ ที่จะ “ขอรับใบอนุญาตต่อนายทะเบียนเพื่อทำงานตามประเภทที่คณะรัฐมนตรีกำหนดโดยประกาศในราชกิจจานุเบกษาตามข้อเสนอแนะของคณะกรรมการ[1] โดยคำนึงถึงความมั่นคงของชาติและผลกระทบต่อสังคม

เราเรียนรู้จากข้อกฎหมายนี้ว่า การเปิดตลาดแรงงานสำหรับกรรมกรต่างด้าวซึ่งรอการส่งกลับออกจากประเทศไทยดังกล่าวนี้จะต้องมีขั้นตอนดังนี้ (๑) รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานและสวัสดิการสังคมซึ่งรักษาการตาม พ.ร.บ.การทำงานคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ที่จะต้องนำเรื่องเข้าหารือคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว (๒) รัฐมนตรีดังกล่าวจะต้องนำข้อเสนอแนะของคณะกรรมการดังกล่าวเข้าขอสู่ความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีเพื่อกำหนดให้เป็นงานที่กรรมกรต่างด้าวดังกล่าวทำได้ (๓) รัฐมนตรีดังกล่าวจะต้องนำประเภทงานที่คณะรัฐมนตรีกำหนดแล้วไปประกาศในราชกิจจานุกเบกษา และ (๔) รัฐมนตรีดังกล่าวย่อมจะต้องจัดให้มีใบอนุญาตทำงานแก่กรรมการต่างด้าวซึ่งรอการส่งกลับฯ ร้องขอ ด้วยขั้นตอน ๔ ประการดังกล่าว การจ้างงานกรรมกรดังกล่าวก็จะเป็นไปโดยชอบด้วยกฎหมาย

ขอให้ตระหนักว่า นับตั้งแต่มีมติคณะรัฐมนตรีเรื่องการจัดระบบแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมายตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๗ เป็นต้นมา การเข้าของสถานะคนต่างด้าวรอการส่งกลับฯ ตามมาตรา ๕๔ วรรค ๓ นี้ เกิดจากการสมัครใจ “ขึ้นทะเบียนแรงงานต่างด้าวเข้าเมืองผิดกฎหมาย” ของแรงงานเอง มิใช่เกิดจากการถูกจับแล้วนายจ้างไปประกันตัวมาเพื่อการทำงาน ซึ่งเป็นกรณีที่เกิดในช่วง พ.ศ.๒๕๓๕

แรงงานต่างด้าวที่มีสิทธิร้องขอขึ้นทะเบียนแรงงาน ก็คือ แรงงานที่ยอมรับว่า ตนเองมีสัญชาติพม่าหรือลาวหรือกัมพูชาเท่านั้น และเอกสารที่รับรองการขึ้นทะเบียนแรงงานดังกล่าว ก็คือ สำเนาทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘/๑ ตามมาตรา ๓๘ วรรค ๒[2]  แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งถูกแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑ ดังนั้น แรงงานในประเภทที่สามนี้จึงมีสถานะเป็น “ราษฎรต่างด้าวประเภทคนอยู่ชั่วคราวที่ไม่มีสิทธิอาศัยตามกฎหมายไทยว่าด้วยคนเข้าเมือง” [3]  

อีกประเด็นที่ต้องตั้งข้อสังเกตสำหรับแรงงานกรรมกรในประเภทที่สาม ก็คือ แรงงานในสถานการณ์นี้จะมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราฎรไทยที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐ แต่ไม่มีบัตรประจำตัวออกให้ถือแต่อย่างใด

บุตรที่เกิดในประเทศไทยของแรงงานกรรมกรในประเภทที่สองนี้จะถูกบันทึกใน ท.ร.๓๘/๑ และมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราฎรไทยที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐ เช่นกัน

ส่วนบุตรที่เกิดในประเทศต้นทางและติดตามเข้ามาในประเทศไทย หรือบุตรที่เกิดในประเทศไทยก่อนการขึ้นทะเบียนแรงงาน อาจได้รับการขึ้นทะเบียนแรงงานเป็น “ผู้ติดตามแรงงานต่างด้าว” ในบางช่วงเวลา หรือบางช่วงเวลา ก็ถูกปฏิเสธ

ยังเป็นข้อยืนยันได้เช่นกันว่า กรรมกรต่างด้าวในสถานการณ์ที่สองนี้ก็มักเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาติจากประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนประชิดติดประเทศไทย จำนวนที่มากที่สุด ก็คือ ชนกลุ่มน้อยจากพม่า เช่นเดียวกัน

ข้อสังเกตต่อมา การบันทึกแรงงานชนกลุ่มน้อยไร้รัฐจากพม่าหรือลาวหรือกัมพูชาใน ท.ร.๓๘/๑ ย่อมหมายถึงการขจัดปัญหาความไร้รัฐให้แก่แรงงานดังกล่าว โดยการบันทึกในทะเบียนประวัติดังกล่าวย่อมทำให้รัฐไทยมีสถานะเป็นรัฐเจ้าของตัวบุคคล (Personal State) ของแรงงานดังกล่าว อันมาจากเหตุผลที่ว่า คนไร้รัฐดังกล่าวตั้งบ้านเรือนในประเทศไทย อันทำให้มีภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนในประเทศไทยตามมาตรา ๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๖๘/ค.ศ.๑๙๒๕[4] เมื่อความไร้รัฐปรากฏในประเทศไทยจึงเป็นหน้าที่ของรัฐไทยซึ่งเป็นรัฐเจ้าของดินแดนที่จะต้องรับรองสถานะบุคคลตามกฎหมายให้แก่มนุษย์ที่มีปัญหาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายตามพันธกรณีตามกฎหมายระหว่างประเทศที่รัฐไทยมีตามข้อ ๖ แห่ง ปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ค.ศ.๑๙๔๘/พ.ศ.๒๔๙๑ และข้อ ๑๖ แห่ง กติกาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิทางแพ่ง/พลเมืองและสิทธิทางการเมือง ค.ศ.๑๙๖๖/พ.ศ.๒๕๐๙ ซึ่งผูกพันประเทศไทยตั้งแต่วันที่ ๓๐ มกราคม พ.ศ.๒๕๔๐/ค.ศ.๑๙๙๗

กรรมกรต่างด้าวในลักษณะนี้ย่อมได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานดังเช่นกรรมกรไร้ฝีมือหรือกึ่งไร้ฝีมือประเภทแรก แต่พวกเขาเริ่มมีสิทธิทำงานถูกกฎหมายได้ และในคนที่ประสบความไร้รัฐมาจากประเทศต้นทาง ก็เริ่มต้นสถานะคนมีรัฐในประเทศไทย

๓. แรงงานกรรมกรซึ่งมีลักษณะ “การเข้าเมืองที่ผิดกฎหมายแต่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒”

นับแต่มติคณะรัฐมนตรีเรื่องการจัดระบบแรงงานต่างด้าวเมื่อ พ.ศ.๒๕๔๗ สำหรับแรงงานเข้าเมืองผิดกฎหมายจากพม่าลาวกัมพูชา เราเริ่มมี “แรงงานกรรมกรต่างด้าวไร้ฝีมือหรือกึ่งไร้ฝีมือที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ แต่ยังคงมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย”  โดยนโยบายตามมติคณะรัฐมนตรีดังกล่าว สิทธิอาศัยชั่วคราวดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อแรงงานต่างด้าวใน ท.ร.๓๘/๑ ยื่นขอใบอนุญาตทำงานตามมาตรา ๑๓ (๒) แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ สิทธิอาศัยนี้จะมีขอบเขตภายในจังหวัดที่มีการขออนุญาตทำงานเท่านั้น การออกนอกพื้นที่ดังกล่าวจะต้องได้รับอนุญาตจากผู้ว่าราชการจังหวัดของจังหวัดที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่

เราพบข้อกฎหมายว่า แรงงานที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวแล้วอาจร้องขอย้ายชื่อจากทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘/๑ ไปยังทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราวประเภท ท.ร.๑๓ ทั้งนี้ เพราะคนต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมืองย่อมมีสิทธิในเอกสารตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรดังกล่าว โดยอาศัยอำนาจตามมาตรา ๓๘ วรรค ๑ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔ ซึ่งแก้ไขและเพิ่มเติมโดย พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ.๒๕๕๑[5] และผลของการมีชื่อใน ท.ร.๑๓ ก็หมายความว่า บุคคลดังกล่าวย่อมทั้งภูมิลำเนาตามกฎหมายเอกชนในประเทศไทยมาตรา ๓๗ แห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ศ.๒๔๖๘/ค.ศ.๑๙๒๕[6]  และยังมีภูมิลำเนาตามกฎหมายมหาชนไทยตามมาตรา ๒๙ แห่ง พ.ร.บ.การทะเบียนราษฎร พ.ศ.๒๕๓๔[7]  

หากแรงงานในสถานการณ์ที่สามได้รับรองสถานะบุคคลใน ท.ร.๑๓ พวกเขาก็จะมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราฎรไทยที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๖ และบุตรที่เกิดในประเทศไทยในเวลาต่อไป ก็จะมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราฎรไทยที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๗ และถู กบันทึกใน ท.ร.๑๓ เช่นเดียวกับบุพการี

บุตรที่เกิดในประเทศไทยของแรงงานกรรมกรในประเภทที่สามนี้จะถูกบันทึกใน ท.ร.๓๘/๑ และมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐ เช่นกัน หากบุพการียังมีชื่ออยู่ใน ท.ร.๓๘/๑

แรงงานกรรมกรในประเภทที่สามมีบัตรประจำตัวตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรที่มีชื่อว่า “บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย” เป็นบัตรพลาสติกแข็งสีชมพู

เราเข้าใจว่า ความไม่สนใจที่จะพัฒนาสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรที่ดีขึ้นนี้คงจะมาจากเหตุผลที่ว่า สถานะดังกล่าวนี้ไม่ทำให้พวกเขามีเสรีภาพที่จะเดินทางอย่างเสรีภายในประเทศไทย ตราบเท่าที่พวกเขายังมีสถานะเป็นคนเข้าเมืองผิดกฎหมาย พวกเขาก็ยังต้องร้องขออนุญาตออกนอกพื้นที่ที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราว และการอนุญาตนั้นก็มีขั้นตอนที่ยุ่งยากและใช้เวลามาก อีกทั้งยังมีข้อจำกัดสิทธิมากมาย ซึ่งเป็นอำเภอใจของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครองที่จะใช้ดุลยพินิจที่ไม่มีกรอบคิดที่แน่นอนชัดเจน ดังนั้น ความเป็นราษฎรไทยที่ “ไม่มี” สิทธิอาศัยใน ท.ร.๓๘/๑ หรือความเป็นราษฎรไทยที่ “มี” สิทธิอาศัยใน ท.ร.๑๓ จึงไม่เป็นที่สนใจของแรงงานในสถานการณ์ที่สามนี้ ขอสรุปอีกครั้งว่า แรงงานกรรมกรที่เป็นราษฎรไทยใน ท.ร.๓๘/๑ และใน ท.ร.๑๓ มีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายคนเข้าเมืองไทยที่ไม่ต่างกัน

๔.แรงงานกรรมกรซึ่งมีลักษณะ “การเข้าเมืองที่ถูกกฎหมายและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒”

แรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือหรือกึ่งไร้ฝีมือในประเทศไทยในประเภทสี่ ก็คือ แรงงานที่เข้าเมืองถูกและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามบันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลไทยและรัฐบาลของประเทศต้นทางของแรงงานต่างด้าวไร้ฝีมือจำนวนมากที่สุดในประเทศไทย กล่าวคือ (๑) รัฐบาลลาว[8]  (๒) รัฐบาลกัมพูชา[9] และ (๓) รัฐบาลพม่าหรือเมียนม่าร์ [10] ซึ่งเรียกกันโดยทั่วไปว่า MOU

สิทธิในสถานะบุคคลที่ชอบด้วยกฎหมายคนเข้าเมืองไทยของแรงงานใน ท.ร.๓๘/๑ หรือใน ท.ร.๑๓ เป็นไปตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ หากมีการยื่นขอพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางและผ่านการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทาง จนทำให้ได้รับการรับรองสถานะคนสัญชาติของประเทศต้นทางโดยหนังสือเดินทางชั่วคราวที่ออกโดยเจ้าหน้าที่ของรัฐต้นทาง ทั้งนี้ การพิสูจน์สัญชาติและการรับรองสถานะคนสัญชาติของรัฐต้นทางเป็นไปตามกฎหมายของรัฐต้นทาง ส่วนความร่วมมือในการจัดการพิสูจน์และการรับรองสัญชาติของแรงงานเป็นไปตามที่เจรจากันภายใต้กรอบของ MOU ซึ่งเจรจากันมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ความมีผลของ MOU ตั้งแต่ พ.ศ.๒๕๔๕-๒๕๔๖

สิทธิอาศัยของแรงงานกรรมกรในประเภทที่สี่นี้มีระยะเวลา ๔ ปีตามที่กำหนดใน MOU และเมื่อครบระยะเวลานี้ ก็จะต้องกลับไป ๒ ปี แล้วจึงจะกลับมาทำงานได้อีก ๔ ปี

แรงงานกรรมกรในประเภทที่สี่นี้มีสิทธิเดินทางอย่างเสรีภายในประเทศไทย ไม่มีความจำเป็นต้องขออนุญาตออกจังหวัดที่ทำงานอีกต่อไป

เราพบว่า มีแรงงานกรรมกรในประเภทที่สี่จำนวนหนึ่งที่อยากย้ายชื่อจากทะเบียนประวัติประเภท ท.ร.๓๘/๑ ไปยังทะเบียนบ้านประเภทคนอยู่ชั่วคราวประเภท ท.ร.๑๓  ซึ่งก็เป็นสิทธิของพวกเขาที่จะทำได้ เป็นที่แน่นอนว่า แรงงานกลุ่มนี้ย่อมมีความรู้กฎหมายไทยตามสมควรและมีความปรารถนาที่จะอาศัยอยู่ต่อไปในประเทศไทย แต่แรงงานกรรมกรส่วนใหญ่น่าจะไม่เห็นความจำเป็นในเรื่องนี้ ในส่วนเจ้าหน้าที่เขต/เทศบาล/อำเภอที่เข้าใจเรื่องนี้บ้าง ไม่เข้าใจบ้าง

หากแรงงานในสถานการณ์ที่สี่ได้รับรองสถานะบุคคลใน ท.ร.๑๓ พวกเขาก็จะมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราฎรไทยที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๖ และบุตรที่เกิดในประเทศไทยในเวลาต่อไป ก็จะมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราฎรไทยที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๗ และถู กบันทึกใน ท.ร.๑๓ เช่นเดียวกับบุพการี

บุตรที่เกิดในประเทศไทยของแรงงานกรรมกรในประเภทที่สี่นี้จะถูกบันทึกใน ท.ร.๓๘/๑ และมีเลขประจำตัว ๑๓ หลักตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรไทยที่ขึ้นต้นด้วยเลข ๐๐ เช่นกัน หากบุพการียังมีชื่ออยู่ใน ท.ร.๓๘/๑

แรงงานกรรมกรในประเภทที่สี่ก็ยังมีบัตรประจำตัวตามกฎหมายการทะเบียนราษฎรที่มีชื่อว่า “บัตรประจำตัวคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทย” เป็นบัตรพลาสติกแข็งสีชมพู

ขอให้ตระหนักว่า แรงงานกรรมกรในประเภทที่สี่นี้อาจเปลี่ยนกลับไปเป็นแรงงานกรรมกรประเภทหนึ่งหากพ้นเวลา ๔ ปีนับแต่พิสูจน์สัญชาติแล้ว แต่ไม่ยอมกลับไปยังประเทศต้นทางตามเวลาที่กำหนดใน MOU หรือพวกเขาไม่ต่อใบอนุญาตทำงานตามที่กำหนดใน พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑

โดยสรุป แรงงานกรรมกรทั้ง ๔ ประเภทข้างต้นยังปรากฏตัวในประเทศไทย และยังมีปัญหาสิทธิมนุษยชนอย่างใดอย่างหนึ่งอยู่ต่อไป  ปัญหาของพวกเขาอาจจะมากขึ้นหรือน้อยลง ทั้งนี้ เป็นไปตามปัจจัยแห่งข้อเท็จจริงที่แทรกเข้ามาในชีวิตของมนุษย์แต่ละคน อาทิ เราพบว่า แรงงานเชื้อสายโรฮินยาจากแคว้นอารากันในประเทศพม่าดูจะเป็นแรงงานที่ศึกษากันมาก ด้วยว่า ความคลี่คลายของปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนของพวกเขายังไม่ลดลงเลยในช่วงเวลาที่ผ่านไป พวกเขายังเป็นแรงงานจากพม่าที่รัฐบาลพม่าไม่ยอมรับว่า เป็นคนสัญชาติพม่า และก็ยังไม่มีการยอมรับที่ชัดเจนของประเทศที่สามเพื่อที่พวกเขาจะไปเริ่มต้นชีวิตใหม่

---------------------------------------------

[1] ซึ่งก็คือ “คณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว” ตาม มาตรา ๕ แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งประกอบด้วยบุคคลตามที่กำหนดไว้ในมาตรา ๔๑ แห่ง พ.ร.บ.การทำงานของคนต่างด้าว พ.ศ.๒๕๕๑ ซึ่งบัญญัติว่า

“ให้มีคณะกรรมการพิจารณาการทำงานของคนต่างด้าว ประกอบด้วยปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธานกรรมการ เลขาธิการคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ เลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ ผู้อำนวยการสำนักข่าวกรองแห่งชาติ อัยการสูงสุด ผู้แทนกระทรวงกลาโหม ผู้แทนกระทรวงการต่างประเทศ ผู้แทนกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ผู้แทนกระทรวงมหาดไทย ผู้แทนกระทรวงสาธารณสุข ผู้แทนกระทรวงอุตสาหกรรม ผู้แทนสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ผู้แทนองค์กรนายจ้างและผู้แทนองค์กรลูกจ้างฝ่ายละไม่เกินสามคน และผู้ทรงคุณวุฒิอีกไม่เกินสี่คนซึ่งรัฐมนตรีแต่งตั้งโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีจากผู้ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านแรงงาน การอุตสาหกรรม และกฎหมาย เป็นกรรมการ

ให้อธิบดีเป็นกรรมการและเลขานุการ และผู้อำนวยการสำนักบริหารแรงงานต่างด้าวเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการ

การได้มา วาระการดำรงตำแหน่ง และการพ้นจากตำแหน่งของผู้แทนองค์กรนายจ้างและผู้แทนองค์กรลูกจ้าง และวาระการดำรงตำแหน่งและการพ้นจากตำแหน่งของกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิตามวรรคหนึ่ง ให้เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะรัฐมนตรีและประกาศในราชกิจจานุเบกษา”

[2] ซึ่งบัญญัติว่า ให้ผู้อำนวยการทะเบียนกลางจัดให้มีทะเบียนประวัติสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยอื่นนอกจากที่บัญญัติไว้ตามวรรคหนึ่งตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนดรายการและการบันทึกรายการตามวรรคหนึ่งและวรรคสอง ให้เป็นไปตามระเบียบที่ผู้อำนวยการทะเบียนกลางกำหนด

[3] ซึ่งหากแรงงานดังกล่าวเข้าสู่การทำใบอนุญาตทำงานพวกเขาก็จะมีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามมาตรา ๑๗ แห่ง พ.ร.บ.คนเข้าเมือง พ.ศ.๒๕๒๒ พวกเขาก็จะจัดเป็นแรงงานต่างด้าวประเภทที่ ๔ ซึ่งจัดเป็นแรงงานต่างด้าวที่มีสิทธิอาศัยชั่วคราวตามกฎหมายคนเข้าเมืองไทยแต่นังมีสถานะคนเข้าเมืองไทยแบบผิดกฎหมาย และหากแรงงานดังกล่าวผ่านการพิสูจน์สัญชาติกับประเทศต้นทางจนได้รับการจัดทำหนังสือเดินทางโดยรัฐต้นทางที่รับรองสถานะคนสัญชาติของประเทศต้นทาง พวกเขาก็จะจัดเป็นแรงงานต่างด้าวประเทศที่ห้า ซึ่งจัดเป็นแรงงานต่างด้าวที่เข้าเมืองถูกกฎหมายไทยและมีสิทธิอาศัยชั่วคราวในประเทศไทยตามบันทึกความเข้าใจระหว่างประเทศไทยและประเทศต้นทาง ซึ่งเรียกกันทั่วไปว่า “MOU”

[4] ซึ่งบัญญัติว่า ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ”

[5] ซึ่งบัญญัติว่า ให้นายทะเบียนอำเภอหรือนายทะเบียนท้องถิ่นจัดทำทะเบียนบ้านสำหรับคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับอนุญาตให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นการชั่วคราว และคนซึ่งไม่มีสัญชาติไทยที่ได้รับการผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักรเป็นกรณีพิเศษเฉพาะรายตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง ตามที่รัฐมนตรีประกาศกำหนด และบุตรของบุคคลดังกล่าวที่เกิดในราชอาณาจักร ในกรณีผู้มีรายการในทะเบียนบ้านพ้นจากการได้รับอนุญาตหรือผ่อนผันให้อาศัยอยู่ในราชอาณาจักร ให้นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของผู้นั้นโดยเร็ว

[6] ซึ่งบัญญัติว่า ภูมิลำเนาของบุคคลธรรมดา ได้แก่ถิ่นอันบุคคลนั้นมีสถานที่อยู่เป็นแหล่งสำคัญ”

[7] ซึ่งบัญญัติว่า ผู้ใดมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านใด ให้สันนิษฐานไว้ก่อนว่าผู้นั้นอยู่และมีภูมิลำเนาอยู่ ณ ที่นั้น

[8] บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลแห่งราชอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวว่าด้วยความร่วมมือด้านการจ้างแรงงานณ นครเวียงจันทร์ เมื่อวันที่ ๑๘ ตุลาคม พ.ศ.๒๕๔๕/ค.ศ.2002

http://learners.in.th/blog/archanwell-and-right2work/394119

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=118&d_id=118

[10] บันทึกความเข้าใจระหว่างรัฐบาลอาณาจักรไทยกับรัฐบาลแห่งสหภาพพม่าว่าด้วยความร่วมมือในการจ้างแรงงาน ณ จังหวัดเชียงใหม่ เมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน พ.ศ.๒๕๔๖/ค.ศ.๒๐๐๓

http://learners.in.th/blog/archanwell-and-right2work/394116

http://www.archanwell.org/autopage/show_page.php?t=1&s_id=117&d_id=117

หมายเลขบันทึก: 494925เขียนเมื่อ 15 กรกฎาคม 2012 23:36 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 กรกฎาคม 2012 22:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

Thank you.

I learned many things from this excellent article.

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท