มายาคติแห่งความสุขที่มีการพึ่งพา


ความสุขของคนในสังคมส่วนใหญ่จะเป็นไปในลักษณะของการเสพติดในวัตถุ (รูปธรรม) เพื่อนำมาบำรุงบำเรอให้ได้มากมายหาใช่ความสุขที่จีรังยั่งยืนไม่ เป็นเพียงความสบายใจ สร้างความพึงพอใจให้เกิดขึ้นเพียงชั่วครั้งชั่วคราวและชั่วขณะหนึ่งเมื่อเราได้มาซึ่งวัตถุตามความต้องการเท่านั้น ที่สำคัญ “ความสุขในด้านรูปธรรม (วัตถุ) นี้ ยิ่งสุขมาเท่าใด ก็ยิ่งเดินหน้าเข้าใกล้กับความทุกข์มากขึ้นเท่านั้น

 

          “ความสุข” ในระดับโลกีย์ (ยังเนื่องในโลก หรือขึ้นต่อโลก) ของมวลมนุษยชาติมีมากมายหลากหลายระดับและหลายนัย ขึ้นอยู่กับว่าจะใช้หลักเกณฑ์ไหนในการวัดค่าสัมพัทธ์ (เปรียบเทียบ) ออกมา  ซึ่ง ความสุข ดังกล่าวนั้นส่วนใหญ่ในปัจจุบันนี้มีดัชนีชี้วัดที่ วัตถุ เป็นองค์ประกอบที่สำคัญ เกี่ยวเนื่องจาก สามารถสื่อความหมายทางนัยของการมีความสุขมากขึ้น – น้อยลง ได้ชัดเจนมากกว่าการที่จะวัดคุณภาพด้วยดัชนีชี้วัดทางด้านจิตใจ  ส่วนในทางพุทธศาสนาเมื่อเทียบเคียงกับนัยความสุขของการดำเนินชีวิตนั้นท่านแบ่งความสุขเป็น ๒ อย่าง คือ

 

                  ๑. ความสุขที่มีการพึ่งพา คือ ความสุขที่ต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ มาเป็นส่วนประกอบ

                  ๒. ความสุขที่ไม่ต้องมีการพึ่งพา คือ ความสุขที่ไม่ต้องอาศัยปัจจัยอื่น ๆ มาเป็นส่วนประกอบ

 

           ภาวะปัจจุบันในการดำเนินชีวิตของคนโดยส่วนใหญ่จะอยู่ในมิติของ “ความสุขที่มีการพึ่งพา” เป็นไปในลักษณะของการที่ต้องอาศัยปัจจัยอื่น (ภายนอก) มาประกอบ กระตุ้น หรือเป็นความสุขที่เกิดจากการวิ่งไล่กวดบริโภคสิ่งต่าง ๆ ให้ได้มากที่สุด เพื่อสนองตอบต่อความต้องการที่ไม่มีสิ้นสุดของตัวเอง เมื่อความอยากมาบรรจบกับการได้รับสิ่งสนองตอบ กระบวนการเหล่านั้นคนส่วนใหญ่ในสังคมยึดติดถือมั่นว่าเป็นความสุขที่แท้จริงที่จับต้องสัมผัสได้ 

 

            ความสุขที่มีการพึ่งพา

            เป็นความสุขที่ต้องอาศัยเหตุปัจจัยภายนอกมาเป็นส่วนประกอบของกระบวนการการผลิตความสุข ความสุขในลักษณะดังกล่าวเป็นความสุขที่คนส่วนใหญ่ใช้เป็นมาตรวัดของการดำเนินชีวิตในการวิ่งไล่กวดเพื่อให้ได้มาซึ่งความสุขนั้น ส่วนประกอบสำคัญของความสุขประเภทนี้อยู่ที่ “วัตถุ” นั่นเอง

 

           วิวัฒนาการของการพัฒนาทางด้านวิทยาศาสตร์ก้าวกระโดดเป็นอย่างมากในช่วงกว่าศตวรรษที่ผ่านมา คุณูปการทางด้านวิทยาศาสตร์แผ่ปกคลุมสร้างความลุ่มหลงไปทั่วพื้นพิภพ ศาสตร์ต่าง ๆ เริ่มปรับกระบวนทัศน์แตะเบรก ตีโค้งเลี้ยวเข้าหาวงโคจรแห่งวิทยาศาสตร์ เพื่อที่จะกระโดดเกาะขบวนรถไฟสายวิทยาศาสตร์ เพื่อใช้เป็นแนวทางในการพัฒนาศาสตร์ให้มีความน่าเชื่อถือตามหลักตรรกะแห่งเหตุและผลที่พิสูจน์ได้เฉกเช่นวิทยาศาสตร์ การเกาะกระแสดังกล่าวแม้กระทั่งในแวดวงเศรษฐศาสตร์ก็ไม่ได้รับการยกเว้น

           คุณูปการทางด้านวิทยาศาสตร์ที่ใช้มาตรวัดความเจริญทางด้านวัตถุตามหลักเศรษฐศาสตร์เบ่งบานอย่างเต็มที่เมื่อโลกก้าวกระโดดเข้าสู่ยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรม ทำให้นักเศรษฐศาสตร์ในขณะนั้นถึงกับประกาศชัยชนะไปก้องโลกว่า โลกต่อจากนี้ไปในปัจจุบันและอนาคตจะเข้าสู่ยุคศิวิไลซ์ เป็นยุคแห่งความมั่งคั่ง มวลมนุษยชาติจะอยู่ดีกินดี มีความสุขดื่มด่ำในชีวิตที่แวดล้อมไปด้วยความสะดวกสบายภายใต้ความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีที่ทันสมัย นำพาให้มวลมนุษยชาติมีแต่ความสุขรื่นเริงบันเทิงใจตลอดไป ซึ่งถ้าหากว่านักเศรษฐศาสตร์เหล่านั้นยังมีชีวิตอยู่มาถึงในยุคปัจจุบันอาจจะนึกผิดหวังและเสียใจกับความปีติ เบิกบานใจในครานั้น และจะยิ่งตกตลึงกับภาวะที่เกิดขึ้นของความเจริญก้าวหน้าทางเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ ที่ตามติดมาด้วยพายุของความปั่นป่วนทางเศรษฐกิจที่ทวีความรุนแรงเป็นเงาตามมา รวมถึงภาวะวิกฤติทางธรรมชาติที่พ่วงมาเป็นของแถมอีก

ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม หรือ ที่คนสมัยทั่วไปเรียกว่าคลื่นลูกที่ ๒ เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีการผลิตจากเดิมที่เคยใช้แรงงานคนและสัตว์พลังงานธรรมชาติ หรือเครื่องมือง่าย ๆ ในสังคมเกษตรกรรมมาเป็นใช้เครื่องจักรกลผลิตสินค้าในระบบโรงงานอุตสาหกรรม ทำให้ได้ผลผลิตในปริมาณมาก

           การปฏิวัติอุตสาหกรรมเกิดขึ้นที่ประเทศอังกฤษก่อน เมื่อประมาณ ค.ศ.๑๗๖๐ หรือในคริสต์ศตวรรษที่ ๑๘ และค่อย ๆ แพร่ขยายไปยังประเทศยุโรปและชาติตะวันตกอื่น ๆ เป็นเหตุการณ์สำคัญที่มีผลกระทบต่อประชากรโลกอย่างมาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ การเมืองการปกครอง สังคมและวัฒนธรรม การผลิตอยู่ในรูปแบบ "การผลิตเพื่อมวลชน (Mass Production)"  แรงงานชายจากสังคมเกษตรหลั่งไหลเข้าสู่ภาคอุตสาหกรรม มีการสร้างมาตรฐานต่างๆ ขึ้นมากมาย จากในสมัยคลื่นลูกที่ ๑ (ยุคเกษตรกรรม) ที่ไม่มีการกำหนดเวลาการทำงานที่ตายตัว  กลับกลายมาเป็น "เวลา" เป็นสิ่งมีค่า หรือที่นิยมเรียกกันจนติดปากว่า “เวลา เป็น เงินเป็นทอง”  การผลิตเพื่อการพาณิชย์ ทำให้เกิดการแบ่งงานออกเป็นส่วนๆ เพื่อความรวดเร็วในการผลิตและเพื่อให้ได้ผลผลิตที่เพิ่มพูนขึ้น  

           การปฏิวัติอุตสาหกรรมถือได้ว่าเป็นความสำเร็จที่ศิวิไลซ์ โชติช่วงชัชวาล สร้างความเบิกบานใจให้กับบรรดานักเศรษฐศาสตร์เป็นอย่างมาก ถึงขนาดที่มีบางคนออกมาอย่างอหังการถึงความสำเร็จดังกล่าวในทำนองที่ว่า “การปฏิวัติอุตสาหกรรมถือได้ว่าเป็นความสำเร็จอย่างยิ่งยวดในการนำประโยชน์ที่ได้รับจากวิทยาศาสตร์มาตอบสนองต่อความต้องการทางด้านเศรษฐศาสตร์” ถึงแม้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมดังกล่าวจะสร้างความเจริญ ศิวิไลซ์ ให้กับมวลมนุษยชาติมากเท่าใดก็ตามที แต่ก็มีคำถามตามมาถึงมรดกตกทอดที่ได้ทิ้งไว้ให้

            มรดกที่หนึ่ง  การต่อสู้ทางชนชั้น  : การปฏิวัติอุตสาหกรรมแม้จะมีความเจริญทางด้านวัตถุอย่างมากมาย แต่คนส่วนใหญ่โดยเฉพาะชนชั้นล่างกลับได้รับผลกระทบในด้านลบจากภาวะดังกล่าวด้วย คนที่ลุกขึ้นสู้กับกระแสการปฏิวัติอุตสาหกรรมเพื่อนำมวลชนสู่การปลดแอกออกจากการถูกกดขี่ก็คือ คาร์ล มาร์กซ์

              คาร์ล มาร์กซ์ (Karl Marx, ๑๘๑๘ – ๑๘๘๓) ผู้นำแห่งลัทธิมาร์กซ์ ซึ่งถือกำเนิดในช่วงกลางของศตวรรษที่ ๑๙  มาร์กซ์ถือได้ว่าเป็นนักต่อสู้ทางชนชั้นที่ให้ความสำคัญกับมนุษย์ โดยมาร์กซ์มองว่า การปฏิวัติอุตสาหกรรมซึ่งเป็นผลผลิตมาจากทุนนิยมได้แยกแรงงานออกจากความเป็นมนุษย์โดยองค์รวม ทำให้มนุษย์ตกต่ำลงและมีสภาพที่เป็นเพียงส่วนเกินของเครื่องจักร ในยุคของมาร์กซ์นั้นความเชื่อในเรื่องพระเจ้าถูกยกออกไปโดยสิ้นเชิง มาร์กซ์เองเชื่อว่า กระบวนการที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญดังกล่าวคือ กระบวนการวิภาษวิธีทางประวัติศาสตร์ (dialectical process of history) กล่าวคือ ความขัดแย้งที่เกิดขึ้นอย่างชัดเจนจะนำไปสู่การปรับแก้ไขในที่สุด ซึ่งในกรณีนี้คือ ความขัดแย้งที่เกิดจากวิถีของการผลิต (made of production) และการกระจายผลผลิต (distribution) นั่นเอง

             แนวความคิดในเรื่องวิภาษวิธี (dialectical process of history) แท้ที่จริงแล้วมีความเกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา (ที่ก่อเกิดมากว่า ๒๕ ศตวรรษ) เช่นกัน เพราะเป็นวิธีมองถึงการหลงเข้าไปยึดถือในสิ่งที่ไม่แน่นอนโดยเฉพาะในเรื่องของตัวตนให้เป็นความแน่นอนซึ่งก็จะเกิดความขัดแย้งกับธรรมชาติ นัยก็คือ การไม่เข้าใจในกฎธรรมชาติที่แท้จริง เช่น ในยุคของการปฏิวัติอุตสาหกรรมมนุษยชาติอหังการถึงความสำเร็จทางด้านวัตถุทั้ง เทคโนโลยี เศรษฐกิจที่เฟื่องฟูเบิกบาน ซึ่งมีความเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้จะนำพามาซึ่งความสุขโดยรวมของมวลมนุษยชาติ แต่กาล (เวลา) กลับไม่เป็นเช่นนั้น เมื่อเกิดการกดขี่ข่มเหงขึ้นทางชนชั้น ผลักดันให้มนุษย์กลายเป็นเพียงส่วนเกินของเครื่องจักร ซึ่งถือได้ว่าเป็นการเข้าไปยึดติดกับสิ่งเหล่านั้น (เครื่องจักรและเทคโนโลยี) ในความเป็นตัวเป็นตนที่คาดหวังได้แน่นอนตายตัว ทั้งที่แก่นแท้แล้วทุกสิ่งทุกอย่างอยู่ในสภาวะที่ไม่แน่นอน (อนิจจัง) การที่เข้าไปยึดติดในกระบวนการดังกล่าวจึงนำมาซึ่งความทุกข์ ดังนั้นการแก้ปัญหาของความทุกข์ก็คือ การไม่เข้าไปยึดติด ยึดถือในความเป็นตัวเป็นตน ซึ่งไม่มีในความเป็นจริงตามธรรมชาติ การที่จะหมดทุกข์คือการปฏิบัติตนให้สอดคล้องกับธรรมชาติที่เป็นจริง ซึ่งนัยก็คือ การที่มนุษย์เข้าไปยึดถือ ยึดติดเอาตัวตนมาเป็นที่ตั้ง ก่อให้เกิดสภาวะของความขัดแย้ง (anti-thesis) เมื่อเกิดความขัดแย้งก็จักต้องแก้ไขให้สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริง (synthesis)

           จะพึงสังเกตได้ว่าหลักวิธีคิดของมาร์กซ์เป็นหลักที่เกี่ยวเนื่องกับพุทธศาสนา แต่ เนื่องจากมาร์กซ์เป็นนักวัตถุนิยมที่จงรักภักดีต่อความคิดของตัวเองและเชื่อว่า “วัตถุกำหนดจิต” และโครงสร้างกำหนดพฤติกรรมของมนุษย์ในแต่ละคน ในขณะที่พุทธศาสนาให้ความสำคัญกับจิตมากกว่าวัตถุ พุทธศาสนาจึงมุ่งเน้นพุ่งเป้าของการแก้ปัญหาโดยตรงที่การดับทุกข์ ที่เน้นในกระบวนการทางจิตเป็นปฐมฐาน แต่กรณีของมาร์กซ์นั้นจะไปเน้นที่กระบวนการทางประวัติศาสตร์ (วัตถุ) มาร์กซ์เชื่อว่า อะไรดีหรือเลว ถูกหรือผิด นั้นสามารถแสดงให้เห็นได้อย่างชัดเจนว่า สิ่งนั้นเป็นไปตามหรือขัดแย้งกับกระบวนการทางประวัติศาสตร์ที่เน้นทางวัตถุ

                             

           มรดกที่สอง หลุมพรางทางด้านการพึ่งพา “วัตถุ”  : ถึงแม้ว่าการปฏิวัติอุตสาหกรรมจะนำพามวลมนุษยชาติก้าวเข้าสู่ความเจริญอย่างอหังการทางด้านวัตถุ ทุกสิ่งอย่างสามารถนำมาสนองตอบต่อความต้องการของมนุษย์ได้อย่างเต็มที่ ซึ่งการสนองตอบต่อความต้องการให้กับมนุษย์ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมดังกล่าว เปรียบเสมือน เป็นการขุดหลุมพรางสร้างกับดักของกิเลสโดยไม่ได้ตั้งใจ เป็นการยกมาตรฐานต่อขั้นบันไดขึ้นไล่กวด “กิเลส” อย่างไม่มีวันสิ้นสุด เป็นการดึงเอาพฤติกรรมการบริโภคในอนาคตมาใช้เป็นฐานก่อน เช่น

              สมมติ หากเมื่อก่อนเราเคยใช้รถยุโรปเป็นพาหนะแต่พอหากเกิดความไม่แน่นอน รายได้ลดลงไม่มีเงินผ่อน ก็เปลี่ยนมาใช้รถเอเชียเป็นพาหนะ แต่ฐานของพฤติกรรมการบริโภคของเราไม่ได้อยู่ที่รถเอเชีย (เพราะติดกับดักบริโภคนิยม) แต่อยู่ที่รถยุโรป ที่รอวันไล่กวดความมั่งคั่งดังกล่าวกลับมา เกี่ยวเนื่องจากพฤติกรรมการบริโภคของมนุษย์โดยส่วนใหญ่จะใช้มาตรวัดเปรียบเทียบกับบุคคลรอบข้างที่มีมาตรฐานสูงกว่าตนเอง เพื่อที่จะยกระดับคุณภาพของชีวิตทางวัตถุให้สูงขึ้น

                ในยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมดังกล่าวมวลมนุษยชาติอหังการจากความสำเร็จที่ได้อานิสงจากวิทยาศาสตร์ นำมาสู่การพัฒนาเทคโนโลยี นวัตกรรมต่าง ๆ สามารถสร้างวัตถุขึ้นมาสนองตอบความต้องการของมนุษย์ราวกับเนรมิตได้ ไม่ว่าจะทำอะไร หากนำเอาเทคโนโลยีไปใช้ก็จะให้ซึ่งความสัมฤทธิ์ผลตามมา จนก้าวกระโดดข้ามพรมแดนเข้าไปกินรวบในธรรมชาติ นัยคือ สามารถเอาชนะธรรมชาติได้ด้วยเทคโนโลยี ธรรมชาติถูกมองว่าเป็นเพียงส่วนประกอบของการของการนำมาแปรรูปสร้างความสุขทางวัตถุให้กับมนุษย์ ความอหังการที่มีต่อธรรมชาติดังกล่าว ได้ก้าวล่วงส่งผ่านต่อมายังยุคคลื่นลูกที่สาม* ซึ่งนำมาแห่งวาทกรรมที่ว่า “ยุคบริโภคนิยม”  ซึ่ง เป็นไปในลักษณะของการบริโภค ๓ ประการ คือ

               - บริโภคเพื่อสนองโลภะ เป็นการบริโภคในลักษณะของความฟุ้งเฟ้อ ฟุ่มเฟือย ไม่รู้จักพอประมาณ ไม่สมเหตุสมผล นำไปสู่การเห็นแก่ตัว

               - บริโภคเพื่อสนองโทสะ เป็นการบริโภคในลักษณะของการแก่งแย่งช่วงชิง การกอบโกยเอาผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง นำไปสู่การเบียดเบียน ทำร้ายทำลายกันเองระหว่างมนุษย์ รวมถึงก้าวล่วงเข้าไปตักตวงและทำลายธรรมชาติ

               - บริโภคเพื่อสนองโมหะ เป็นการบริโภคในลักษณะลุ่มหลงตามค่านิยมอันผิด ๆ จนไปติดกับดักของความมัวเมาในสิ่งที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์ โดยเฉพาะในปัจจุบันที่มีความเจริญทางด้านวัตถุแต่คุณค่าแห่งการบริโภคกลับตกต่ำ เช่นการบริโภคเทคโนโลยีอย่างไม่เข้าใจในเหตุผล ไม่รู้เท่าทันต่อคุณและโทษของมัน นำพามาใช้ในทางที่ผิดก่อให้เกิดโทษทั้งต่อตัวเองและสังคมโดยรวม

 

          วัตถุที่ได้จากการบริโภคเพื่อสนองตอบต่อความต้องการ แล้วตีค่าออกมาว่าเป็นราคาแห่งความสุขนั้น หาใช่ความสุขที่จีรังยั่งยืนไม่ เป็นเพียงความสุขที่ฉาบฉวย ชั่วครั้งชั่วคราว เติมไม่เต็ม มีแต่จะใช้เพื่อเป็นบันไดปีนป่านไต่ขึ้นไปสู่ “ความทุกข์” ทั้งกายและใจต่อไปอย่างไม่มีที่สิ้นสุด 

 

 

หมายเลขบันทึก: 494683เขียนเมื่อ 13 กรกฎาคม 2012 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 14 กรกฎาคม 2012 23:45 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

การตอบสนองต่อความต้องการของตนเอง ไม่เท่า "แต่อย่าไปทำความเดือดร้อน ทำความเสียหายต่อผู้อื่น" ขอให้ปฎิบัติ แค่ศิล 5 ก็พอ

ขอบคุณมากค่ะ สำหรับบทความดีดีนี้นะคะ

ความน่ารักมักจะมาในรูปแบบของความไม่น่ารัก เช่นเดียวกัน ความทุกข์มันมักจะมาในรูปแบบของความสุข

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท