มีอะไรบ้างที่ไม่อยากเห็นในเว็บไซต์ (2)


เว็บไซต์เป็นเสมือนหน้าบ้าน หน้าร้าน หรือหน้าสำนักงานที่ใครๆก็สามารถเข้ามาเยี่ยมเยียนได้ตลอดยี่สิบสี่ชั่วโมง ทุกหนทุกแห่งบนโลกนี้ที่อินเทอร์เน็ตเข้าถึง

คราวที่แล้วได้กล่าวนำไปบ้างแล้ว ตอนนี้จะขอนำเสนอสิ่งที่อยู่ในเว็บไซต์แต่เราไม่อยากเห็นกันครับ

ขอแยกสิ่งที่อยู่ในเว็บไซต์เป็น 2 ประเภทนะครับ คือเป็นเรื่องของ "หน้าตา" กับ "เนื้อหา"

หน้าตา หมายถึงเรื่องของการออกแบบ ความสวยงาม ความสะดวกในการใช้งาน และรูปแบบการนำเสนอรวมถึงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการนำเสนอ หน้าตาของเว็บไซต์ที่ทำให้รู้สึกอึดอัดเบื่อหน่ายไปจนถึงรู้สึกทนไม่ได้ซึ่งผู้ออกแบบและพัฒนาเว็บไซต์ทั้งหลาย (Web Design and Development) เรียกว่า Bad Web Site Design นั้นน่าจะมีลักษณะดังนี้ครับ

หน้าจอเปิดตัวใช้แฟลชพร่ำเพรื่อเกินไป (Huge Flash Intro Screen)

ไม่ทราบเหมือนกันนะครับว่าใครจะคิดเหมือนผมหรือเปล่า เวลาที่ต้องการเข้าไปค้นหาอะไรในเว็บไซต์ไม่ว่าจะเป็นเว็บเชิงพาณิชย์หรือองค์กรของรัฐ จะรู้สึกรำคาญมากๆที่ถูกบังคับให้ดูหน้าโหมโรงที่เต็มไปด้วยการ์ตูนโดดไปมา หรือพลุดอกไม้ไฟบั้งไฟบรรลัยกัลป์ พร้อมรูปภาพผู้ยิ่งใหญ่ประจำองค์กร(ทั้งที่จริงๆแล้วใหญ่อยู่ไม่กี่ปีก็ต้องไป) เพราะนอกจากต้องเสียเวลาในการรอให้มันโหลดหน้าจอแล้วยังต้องขยับมือมาลากเม้าส์เพิ่มอีกโดยไม่มีเหตุจำเป็น มันต่างจากเว็บไซต์ที่สามารถเข้าถึงหน้าแรกได้ทันทีโดยไม่ต้องมารออะไรอีก จริงๆมันเป็นการเสียความรู้สึกเล็กๆเป็นแค่เรื่องน่ารำคาญ แต่มันก็ส่งผลถึงความน่าเชื่อถือที่มีต่อบุคคลหรือองค์กรเจ้าของเว็บไซต์อยู่ไม่น้อยเช่นกัน

ปัญหาโหลดช้ามากเกินไป (Slow Load Time Problem)

บางเว็บไซต์เมื่อเราคลิกเข้ามาแล้วต้องรอเป็นเวลานานเกินไป ตรงนี้เอาไปเปรียบเทียบกับเวลาที่เข้าเว็บไซต์ทั่วๆไปหลายๆที่นะครับ เราน่าจะพอประมาณได้ ถ้าเปิดแล้ว รอก็แล้วดูไอค่อนเรียกหน้าเพจของเบราว์เซ่อร์(ถ้าเป็นไฟร์ฟ็อกซ์ก็เป็นรูปลูกศรกลมๆ)หมุนติ้วๆอยู่เป็นนานกว่าจะโผล่ขึ้นมาได้ ซ้ำร้ายเวลาเรียกดูหน้าอื่นๆก็ช้าเป็นเต่าเหมือนกัน เจอแบบนี้เราคงไม่อยากเข้ามาบ่อยๆเป็นแน่ ผมเคยต้องเข้าไปค้นหาข้อมูลสำคัญที่เว็บแบบนี้แหละครับด้วยความจำเป็นเพราะข้อมูลที่อ้างอิงได้มีอยู่ที่เขาที่เดียว มันเป็นเรื่องที่เขารับผิดชอบและต้องทำโดยเฉพาะ กว่าจะได้ข้อมูลครบก็งุ่นง่านจนน้ำลายฟูมไปเลยครับ

ปัญหาเรื่องโหลดช้านี่ในยุคนี้ไม่น่าจะมีแล้วนะครับ ส่วนใหญ่น่าจะเกิดจากการมีภาพกราฟิกมากเกินความจำเป็น ใช้กราฟิกอย่างไม่เหมาะสม เขียนโค้ดห่วย หรือมาจากการเลือกใช้เว็บโฮสติ้งราคาถูกเป็นต้น

มีป็อบอัพที่ปิดไม่ได้ ( Pop Ups and Broken Back Buttons)

ปัญหาแบบนี้น่าจะเกิดกับเว็บที่ไม่ใช่ราชการหรือองค์กรคล้ายๆราชการ แต่ส่วนใหญ่น่าจะเป็นพวกเว็บสีเทาๆมากกว่า ลักษณะก็คือเมื่อท่านเปิดเข้าไปแล้วครู่เดียวมันจะมีหน้าอะไรก็ไม่รู้ทะลึ่งพรวดขึ้นมา อาจจะเป็นโฆษณาหรืออย่างอื่น แต่เมื่อมันปรากฏกายขึ้นมาแล้วคุณทำอย่างไรก็ปิดมันไม่ได้ จะใช้วิธีเรียกกลับไปหน้าเดิม(ใช้ปุ่ม Back Button ของเบราว์เซอร์)มันก็ยังดื้อกลับมาที่เดิมอีก วิธีเดียวที่จะให้พ้นจากสิ่งชั่วร้ายนี้ก็คือ ต้องปิดเบราว์เซอร์ของเราไปเลยแล้วค่อยเปิดใหม่ครับ คงไม่ต้องบอกนะครับว่าการที่หลงไปเจอกับเว็บไซต์ประเภทนี้เราจะรู้สึกอย่างไร

คนที่เขาเขียนถึงเรื่องนี้นี่แกถึงกับบอกว่า "ถ้ามีไฟกำลังลุกท่วมเขาอยู่ตอนนี้แล้วไอ้เว็บนี้มันขายน้ำเขาก็จะไม่ซื้อจากมัน"...คงแค้นฝังหุ่นน่าดู

ต้องเลื่อนแนวนอน (Horizontal Scrolling)

เดี๋ยวนี้ผมไม่ค่อยเห็นแล้วนะครับอาการนี้แต่ก็ไม่ใช่ว่าจะไม่มีเสียเลย ปกติเวลาที่เขาออกแบบเว็บไซต์มาหน้าเพจจะต้องพอดีกับความกว้างของจอภาพเราหรือแคบกว่าเล็กน้อย ซึ่งเป็นไปตามความกว้างของจอภาพมาตรฐาน แต่เมื่อใดก็ตามที่หน้าเพจกว้างเกินไปตัวอักษรในแต่ละบรรทัดก็จะล้นออกไป การที่จะอ่านให้ครบทั้งบรรทัดจึงจำเป็นต้องเลื่อนเมาส์ตามแนวนอนไปมาด้วย แค่นั้นก็สร้างความรำคาญกับเราได้ไม่น้อยใช่ไหมล่ะครับ เพราะเมาส์ถูกออกแบบมาให้มีล้อ (Wheel) ที่เลื่อนภาพขึ้นลงไม่ใช่ทางด้านข้าง

ใน G2K ของเราก็เป็นแบบนี้ได้เหมือนกันครับ ลองเขียนบันทึกแล้วเอาภาพที่มีความกว้างมากๆ (เกินกว่า 640) มาใส่ในบันทึกดูซิครับแล้วจะรู้ว่าถึงจะเขียนมาน่าอ่านมากแค่ไหนก็ยังคงมีความรู้สึกหงุดหงิดอยู่เล็กๆเสมอครับ

ความเข้ากันได้กับเว็บเบราว์เซอร์ที่หลากหลาย (Web Browser Compatibility)

สำหรับใครที่ใช้เว็บเบราว์เซอร์หลายๆตัวคงพอจะสังเกตุเห็นความแตกต่างและความผิดปกติเมื่อเราเปิดเว็บไซต์เดียวกันแต่ใช้เบราว์เซอร์คนละตัวมากันบ้างแล้วนะครับ เช่นเว็บหน่วยราชการ ก.ไก่ เมื่อเปิดด้วย Internet Explorer ทุกอย่างดูสวยงามราบรื่นดี แต่หากเปิดด้วยเบราว์เซอร์อื่นอย่าง Firefox Chrome Opera หรือ Safari หน้าจอจะดูเพี้ยนๆเอ๋อๆไปเช่น ตัวอักษรหรือภาพไปซ้อนกันอยู่จนอ่านไม่ออก ดูภาพนางเอกเห็นเป็นดาวยั่วตัวอิจฉาอะไรแบบนั้น บางทีชี้ Main Menu ที่อยู่ขวามือสุดของจอแต่ Submenu ดันทะลึ่งไปขึ้นอยู่ด้านซ้ายสุดจนไม่รู้จะเลื่อนลูกศรไปเลือกได้อย่างไรเป็นต้น

จริงอยู่ครับว่าแม้ก่อนนี้ส่วนใหญ่มักจะยึด IE เป็นมาตรฐานในการออกแบบเว็บไซต์ (โดยเฉพาะเว็บราชการ) แต่อย่าลืมว่าปัจจุบันมีเว็บเบราว์เซอร์ให้เราเลือกใช้มากมาย หลายๆตัวมีคุณสมบัติเป็นที่ชื่นชอบของผู้ใช้มากกว่า IE เสียอีก และระบบปฏิบัติการบางตัวเขาก็จะมีเว็บเบราว์เซอร์ปริยายที่ไม่ใช่ IE ติดตั้งมาอยู่แล้ว (เช่น OS X ของ Mac ใช้ Safari ในลินุกซ์ก็ใช้เบราว์เซอร์อื่นที่ไม่ใช่ IE) ดังนั้นปัจจุบันจึงต้องยอมรับความแตกต่างของผู้ใช้งานในเรื่องนี้เพื่อนำไปใช้ในการปรับปรุงการออกแบบพัฒนาเว็บไซต์ให้ทุกๆคนสามารถใช้งานได้โดยไม่เกิดปัญหา ปัญหานี้อาจจะยุ่งยากสำหรับผู้พัฒนาเว็บไซต์อยู่บ้างเพราะเบราว์เซอร์แต่ละตัวก็ใช้ Layout Engine ที่ต่างกันแต่ก็เชื่อว่าทำได้ครับแม้ว่านั่นอาจหมายถึงการที่ต้องเขียนโค้ดมากขึ้นซับซ้อนขึ้นและมีค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นก็ตาม แต่เมื่อเทียบกับการที่ต้องเสียคนเข้าชมไปเรื่อยๆจนไม่มีใครอยากเข้ามาก็น่าจะคุ้มนะครับ

เมื่อพูดถึงเรื่องมาตรฐานและความเข้ากันได้ตรงนี้ก็นึกขึ้นมาได้อีกเรื่องคือเรื่องการใช้มาตรฐานของรหัสอักขระ(Character Encoding) ในภาษาไทยจะใช้อะไรก็ให้ดูสากลเขาใช้กันด้วยเช่นเขาใช้ UTF8 เรายังใช้อย่างอื่นเวลาเปิดมามันก็เป็นภาษาต่างดาวอ่านไม่ออก ต้องมาเลือกมาเปลี่ยนกันอีกให้วุ่นวายมันน่ารำคาญครับ

เต็มไปด้วยภาพเคลื่อนไหว (Tons of Moving Things)

เคยเห็นเว็บไซต์ที่เต็มไปด้วยแบนเนอร์วูบวาบไปด้วยแฟลช ภาพกราฟิกที่วิ่งไปมาหรือหมุนติ้วๆอยู่ตลอดเวลา เมื่อลากเมาส์ไปที่ใดลูกศรจะเป็นเหมือนดอกไม้ไฟที่กระจายโชนกินบริเวณเกือบจะหนึ่งในสี่ของหน้าไหมครับ บางครั้งภาพพื้นหลังเองก็มีโทนสีแทบจะแยกไม่ออกจากตัวอักษรอยู่แล้วยังต้องมาโดนบดบังด้วยความวูบวาบเหล่านี้อีก คนสายตาไม่ค่อยดีอย่างผมเวลาเข้าไปเจอเว็บประเภทนี้บอกตรงๆครับว่าเวียนหัวตาลายเอามากๆ กว่าจะตั้งสมาธิเพ่งอ่านเอาความจนครบถ้วน ต้องมียาดมเหน็บจมูกไว้ตลอดเวลา ช่างทรมานจริงๆ

ก็ไม่คิดหรอกนะครับว่าถ้าเป็นของหน่วยงานราชการหรือหน่วยงานที่ไม่ใช่เชิงพาณิชย์จะออกแบบเว็บไซต์ให้มีลักษณะเป็นอย่างนี้เพราะมันสุ่มเสี่ยงว่าใครที่เปิดเข้าไปครั้งแรกอาจจะคิดว่าเป็นหน้าร้านขายไวอะกร้าปลอม สร้างความอับอายขายขี้หน้าให้กับองค์กรของเราเปล่าๆครับ

บางทีความเรียบง่ายอาจจะมีเสน่ห์ดึงดูดหรือสร้างความประทับใจมากว่าสีสันก็เป็นได้นะครับ ผมเห็นหน่วยงานสำคัญๆของต่างประเทศจำนวนมากส่วนใหญ่เว็บไซต์ของเขาจะเรียบๆ ง่ายๆ ไม่หรูหราอะไร แต่ในเนื้อหานั้นต้องบอกว่าค้นอะไรก็เจอครับ

เสียงดนตรีใช่ว่าจะประทับใจเสมอไป (Plenty of Music)

สำหรับใครก็ตามที่กำลังคร่ำเคร่งทำงานอยู่ในออฟฟิศที่ทุกคนตั้งอกตั้งใจมุ่นอยู่กับงานของตนจนดูเหมือนสถานที่แห่งนั้นอยู่ในสภาวะสงบเงียบสงัด ขณะกำลังค้นหาข้อมูลสำคัญอยู่พลันที่คลิกเข้าไปในเว็บไซต์แห่งหนึ่งก็ปรากฏภาพนักรบโบราณกำลังเงื้อดาบแยกเขี้ยวตาเขม็ง พร้อมๆกับลำโพงส่งเสียงสนั่นหวั่นไหวเป็นเพลงของลุงสันติ ลุนเผ่ "หนักแผ่นดิน ๆๆ"

ไม่แน่ว่าอาจจะมีสักคนหรือสองคนที่สะดุ้งเฮือกพลัดตกจากเก้าอี้มากองอยู่กับพื้น และก็คงยังโกลาหลกันอีกสักพักกว่าที่คนเปิดจะได้สติไปลดวอลลุ่มหรือปิดหน้าเว็บหนีออกไป นี่เป็นสถานการณ์ที่เปิดเว็บเพื่อหาข้อมูลใช้ในงานนะครับ ในกรณีที่แอบเปิดเล่นในเวลางานนั่นคงมีงานเข้าใครบางคนเป็นแน่

สำหรับเว็บไซต์หรือบล็อกส่วนตัว การนำเอาดนตรีหรือเพลงที่ตนเองชื่นชอบมาใส่ไว้ แม้จะบังคับให้ผู้เยือนต้องทนฟังบ้างก็ไม่น่าจะมีปัญหาอะไร แต่สำหรับเว็บไซต์สาธารณะเพลงที่ท่านคิดว่าช่างซาบซึ้งตรึงใจเหลือประมาณอาจจะเป็นเพลงที่สร้างความรำคาญเหลือทนสำหรับอีกหลายๆคนก็ได้ครับ

หน้าตาของเว็บไซต์ที่สร้างความเบื่อหน่ายรำคาญ ไปจนถึงเป็นปัญหาในการใช้งานอาจจะมีมากกว่านี้อีก หากใครเคยเห็นอะไรในเว็บไซต์ที่เป็นแบบนี้ก็เขียนมาแลกเปลี่ยนกันบ้างนะครับ

ตอนต่อไปจะนำเสนอเรื่องของ"เนื้อหา"ซึ่งเป็นส่วนสำคัญสำหรับเว็บไซต์กันบ้างว่ามีอะไรบ้างที่ทำให้เราหงุดหงิดจนไม่อยากเห็น

หมายเลขบันทึก: 494474เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2012 21:07 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 กันยายน 2013 23:23 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท