สำนวนไทยชวนให้สืบ ๓ สู้ยิบตา


มนุษย์เรา หากแย่งกัน ในเรื่องทำนองนี้ ก็ไม่ต่างอะไร จากเดรัจฉาน

สำนวนไทยชวนให้สืบ ๓

      สู้ยิบตา

 

 

             จากการสัมมนาการใช้ภาษาไทย ครั้งเป็นนักศึกษา ความรู้เก่า ๆ ยังพอได้เค้าเหลืออยู่ยังไม่ลืม จึงนำมาเพื่อเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมด้านภาษา สำนวน“สู้ยิบตา”   สำนวนนี้ มาจากการชนไก่ ไก่ชน จะมีนิสัย ชอบชนกันมาตั้งแต่เป็นลูกเจี๊ยบ แตกจากเปลือกไข่มาตัวเล็ก ๆ ถ้ามีประวัติมาจากสายพันธุ์ พ่อ-แม่ ที่เก่ง ๆราคาก็จะสูงมาก ไม่พอกัน ต้องจองไว้ เมื่อโตขึ้น ราคาเป็นเรือนหมื่นเรือนแสน โดยเฉพาะตัวที่ชนะ ค่าตัวก็จะสูงลิบลิ่ว แต่ถ้าแพ้ น่าสงสาร ต้องลงหม้อ สถานเดียว คงจะเป็นเพราะความแค้นที่ เสียเงินก้อนใหญ่

การซ้อมไก่โดยใช้นวมที่เดือยและใส่เชือกถักที่ปาก

 

            ผมเคยดูเขาชนไก่ ปกติไม่ชอบ แต่สนามไก่ (สังเวียน) อยู่หน้าบ้าน วันเสาร์-อาทิตย์ ไม่ได้นอนไม่ได้พักผ่อน เพราะเสียงเชียร์ไก่ ดังสนั่นหวั่นไหว เหมือนเชียร์มวยถ้าวันธรรมดา เขาจะนำไก่ชน มาขังสุ่มเป็นแถว ๑๐-๒๐ สุ่ม เพื่อรับแดดที่หน้าบ้านผู้เขียนเพราะหน้าบ้านมีสนามกว้าง เพื่อให้ไก่แข็งแรงพร้อมที่จะลงสังเวียนได้ตลอดเวลา โดยฝึกซ้อมไก่ ให้น้ำไก่ (กาดน้ำไก่) ทาขมิ้น ประคบด้วยสมุนไพร บางตัวกางมุ้ง ทำให้ไก่อย่างดี   (ปัจจุบัน สังเวียนที่หน้าบ้านไม่มี เกือบ ๆ ยี่สิบปีแล้ว)

        บางวันก็ จับไก่ตัวหนึ่ง นำไปล่ออีกตัว แล้วออกวิ่ง หลาย ๆรอบ ไก่ชนตัวที่ถูกล่อ จะวิ่งตามไก่ที่เจ้าของอุ้ม อย่างเลือดนักสู้ เป็นการให้ไก่ออกกำลังกาย บางทีเจ้าของจับไก่โยนลงน้ำ ไก่ไม่ถนัดเหมือนเป็ด จึงว่ายน้ำอย่างทุลักทุเลตะเกียกตะกายขึ้นฝั่ง พอขึ้นฝั่งได้ ก็จับโยนต่อ ทำหลายๆรอบ  บอกว่าเพื่อออกกำลังปีก ให้ปีกแข็งแรง เวลาชน จะได้มีกำลัง น่าสงสารไก่ ถ้ามันพูดได้ ผมว่าน่าดู

                พี่เลี้ยงรุ่นจิ๋วให้น้ำ กาดน้ำไก่

            ไก่ชนเป็นนักสู้ที่อดทน ทรหดจริง ๆ ถ้าปล่อยให้ชน กันเองถึงตายไปข้างใดข้างหนึ่ง ตามธรรมชาติไก่จะชนกันเพราะแย่งความเป็นใหญ่ในฝูง คือต้องการตำแหน่งจ่าฝูง เป็นเรื่องธรรมดาของสัตว์ทุกชนิด โดยทั่ว ๆ ไป ดังนั้น จึงเป็นเรื่องศักดิ์ศรี ในการครอบครองตัวเมีย จึงสู้กันถวายชีวิต มนุษย์เรา หากแย่งกัน ในเรื่องทำนองนี้ ก็ไม่ต่างอะไร จากเดรัจฉาน

            การชนไก่ จะให้ไก่ต่อสู้กันเป็นยก ๆ ในอดีตที่ผมเห็น เขาจะ เอากะลามะพร้าว ลูก เหมาะ ๆ มาเจาะรู  หรือใช้กะลาซีกที่มีรู้ ส่วนมาก นำด้านก้น มาเจาะใหม่เพราะถ้ารู้ใหญ่จะจมเร็วเกินไป แล้วไปลอยในหม้อน้ำหรืออ่าง  น้ำจะซึมเข้ารูจนกระทั่งจม กรรมการจะตีเกราะ (กะลอ) ถี่ ๆ  ให้ทราบว่า หมดยก เจ้าของก็จะ เข้าไปจับไก่มาให้น้ำ กาดน้ำไก่ ประคบ ทา ขมิ้น ใช้ขนปีกที่หลุดแยงลงไปในปากหมุนปีก เพื่อ เอาเสลดออก และใชผ้า ชุบน้ำ บีบลงในปากให้ไก่กิน พอได้เวลา ปล่อยให้สู้กันต่อไป จนฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งจะยอมแพ้

            เมื่อนำมาชน เพื่อการพนันขันต่อ ในสังเวียน เงินพนันแต่ละครั้ง ไม่น้อย ถึงไก่จะบอบช้ำแค่ไหน เจ้าของก็ไม่ยอม เห็นแล้วเป็นการทรมานสัตว์ บางตัวปากหลุด(ส่วนที่หุ้มจะงอยปากจะหลุด)  ตาแตก หนังตาฉีกก็ยังสู้ โดยเจ้าของ ทำการเย็บตา เย็บปากช่วงพักยก เพราะไม่มีหมอสนามเหมือนนักมวย เมื่อเย็บเสร็จ ปล่อยให้ชนต่อ อย่างทรหดไม่มีถอย

          สำนวน สู้เย็บตา จึงเกิดขึ้นจากการชนไก่นี่เอง นานเข้าเพี้ยนเป็น สู้ยิบตา เราจึงได้ยินผู้คนพูดว่า สู้ยิบตา มากกว่า สู้เย็บตา โดยใช้ในการต่อสู้ในความหมายว่า สู้จนถึงที่สุด สู้ไม่ถอย... สวัสดีครับ            

 

หมายเลขบันทึก: 494389เขียนเมื่อ 11 กรกฎาคม 2012 09:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 กรกฎาคม 2012 10:09 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

แว่นธรรมทองเชิญชวนอนุรักษ์ภาษาไทย ในโอกาส "วันภาษาไทย ๒๙ กรกฎาคม" ครับ

  • เพิ่งทราบจริงๆ กับที่มาของคำว่า สู้ยิบตา
  • ขอบคุณมากครับ

ครูแว่นธรรมทองค่ะ ขอบคุณค่ะ.. สู้ยิบตา (เย็บตา) มาจากไก่ชนนี่เอง ... อีกอย่างหนึ่งเรื่อง..เวลาที่เค้าใช้ ในการชน หนึ่งยก มากจาก น้ำไหลเข้ากะลาที่เจาะรูจนจมลง คล้ายๆกับนาฬิกาทรายเลยนะค่ะ เพียงแต่ทิศทางต่างกัน เข้า/ออก ..บรรพชนเราก็ช่างคิดแยบยลเช่นกัน ...ชอบฟังเรื่องเล่า วิถีไทยๆสมัยก่อน ดีจังที่มีครูแว่นฯ นำมาแบ่งปันค่ะ :-))

ผมรู้แค่ว่ามาจาก สู้เย็บตา แต่เรื่องอื่นๆ นั้น ขอคารวะเลยดีกว่าครับ

ขอบคุณ ท่านสามสัก คุณKwancha ท่านสล่ากวาม ที่แวะมาเยือน และกำลังใจครับ

.....รัก..ภาษา..ไทย..เจ้าค่ะ...ยายธี

ขอบคุณครับคุณครู ที่นำความรู้ดีๆ มาแบ่งปันศิษย์ให้เป็นวิทยาทาน ผมก็จะสู้จนยิบตาเช่นกันครับ !!!

ขอบคุณ ยายธี อ.นุ และ ครูสุกรณ์... (ครู สพม.๒ ป้ายแดง) ในกำลังใจ สวัสดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท