ประโยชน์จากบันทึก อิฐก้อนหนึ่งที่แข็งแกร่ง


คุยต่อจากบันทึกนี้ การศึกษาไทย…. อิฐก้อนหนึ่ง...ที่แข็งแกร่ง – ปริม ทัดบุปผา
อ้างอิง : http://www.gotoknow.org/blogs/posts/493821?refresh_cache=true

บันทึกนี้เราก็สามารถนำมาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ ต่อยอดได้เช่นกัน อย่างที่คุณปริมว่าล่ะครับระบบการศึกษาไทยจะจัดใหม่นั้น ต้องบอกว่าทำไม่ได้หรอก เพราะอะไร เพราะว่ามันคือความเปลี่ยนแปลง ที่บ้านเรา ไทยเรา นั้นแสน..จะไม่ชอบ พวกเรามีวิวัฒนาการในแบบของเรา  อันนี้ปกติ

ฉะนั้นมุมมองของผมก็ลดขนาดของระบบการศึกษา การจัดการศึกษาให้มาอยู่ในระดับครอบครัวก็พอ เมื่อเป็นเช่นนี้ก็ง่ายหน่อย แก้ไขที่ตัวเรานั้นก็ง่ายครับ ทำแบบนี้โดยความเชื่อว่าครอบครัวเป็นสมาชิกของสังคม เมื่อครอบครัวทุกครอบครัวมีความฝัน พวกเราแข่งขันกัน ทำอะไรก็เลียนแบบกัน สุดท้ายทุกครอบครัวก็มีรูปแบบการจัดการศึกษาให้ลูกหลานเหมือนกัน ระบบการศึกษาไทยก็เปลี่ยนไป

 อย่างเช่นวันนี้ที่พวกเราได้เปลี่ยนกันไปแล้ว นะครับ อย่างในต่างจังหวัดนั้น(พิจิตร) ในที่ที่ผมอยู่ทางกระทรวงก็จัดการศึกษาในระบบที่ออกแบบไว้เช่น มีหลักสูตร สแม็ส , โอลิมปิก , สตีม ฯลฯ สิ่งต่างๆ เหล่านี้ก็ดีและดูดี

 ในมุมมองของผู้ปกครองก็รู้ล่ะครับว่า เวลาในการเรียนในหลักสูตร ในเวลาที่มีการสอนปกตินั้นแสนจะน้อย

ยังมีกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย จำนวนผู้เรียนก็มากมายต่อการเรียนต่อวิชาต่อครั้งน่ะ เช่น การเรียนวิทย์ 50 นาที นักเรียนจำนวน 50 คน เป็นต้น แบบนี้หากเป็นสมัยก่อนที่เรายังพึ่งพิงการค้นคว้าห้องสมุด ก็น่าจะพอรับได้

 หากแต่วันนี้ภาครัฐสนับสนุนการศึกษาอย่างเต็มกำลัง ให้เรียนฟรีกันทุกคน การศึกษาที่เป็นของให้ฟรีกับคนหมู่มาก คุณภาพน่ะลดลงตามราคา นี่ว่ากันแบบตรงๆ ล่ะกัน แต่ความฝันของผู้ปกครองยังคงเท่ากัน ดังนั้นการเรียนในชั้นอย่างเดียวจึงไม่เพียงพอต่อความฝันหรือภาระการสอบเข้ามหาวิทยาลัยน่ะ

 เพื่อให้มีความเหนือกว่าเหล่าเพื่อนๆ นักเรียนทั่วไป พวกเขาก็จัดหลักสูตรขึ้นมาใหม่ จ้างคุณครูตามที่เขาต้องการ พร้อมๆ ไปกับการที่คุณครูก็จัดการสอนพิเศษเพิ่มภายนอกขึ้นมา ซึ่งมีกันตั้งแต่แบบสอนตัวต่อตัว , แบบสอนกลุ่มสองสามคน, แบบสอนกลุ่มกลางๆ, แบบสอนสี่สิบห้าสิบคน, แบบเรียนกันจากจอทีวีที่ถ่ายทอดจากกรุงเทพฯ  เป็นต้น นี่ก็คือระบบการศึกษาใหม่ในปัจจุบัน นี่ก็ถือว่าเป็นปกติของมนุษย์นะครับ ..ไม่แปลก

 ผลลัพธ์ที่ออกมาก็จะได้ เด็กที่เก่งมากจำนวนหนึ่งนะครับ และก็แบ่งเป็นกลุ่มๆ ที่มีความเก่งลดหลั่นกันลงมา เด็กเหล่านี้ก็เข้าไปครองตำแหน่งคนเก่งของห้อง ของชั้นที่ตนเรียน เป็นตัวแทนของโรงเรียน

และพวกเขานี่แหละที่ทำชื่อเสียงให้กับโรงเรียนในการแข่งขันทุกรายการรวมทั้งการสอบเข้าเรียนมหาวิทยาลัยในคณะที่นิยมด้วย

 ที่เล่ามาทั้งหมดนี่คือ สร้างความเข้าใจระบบแก่ตนเองเพื่อเลือกวางตำแหน่งให้ลูก เมื่อเราได้ตำแหน่งเราก็เติมสิ่งของจำเป็นให้แก่เขา ที่กล่าวข้างต้นก็คือ การจัดผู้ช่วยการเรียนรู้ของลูก อีกส่วนก็คือสิ่งที่คุณปริมได้กล่าวไว้ในบันทึก

“ทักษะที่สำคัญที่จะสร้างความต่างแก่นักเรียน นักศึกษาคือคุณค่าภายในจิตใจที่จะมองเห็นสิ่งที่มีให้เกิดคุณค่าและการนำไป ใช้อย่างสร้างสรรค์ เพราะสิ่งเดียวกันอาจมองเห็นได้ต่างกันทำให้ความแข็งแกร่งของชีวิตต่างกันไป”

 

ทักษะที่สร้างความต่างแก่นักเรียนเราปลูกฝังกันอย่างไร

ตรงนี้คิดว่ามีกันทุกครอบครัวนะครับ ในครอบครัวผมทำเสมอ ด้วยว่าเราชอบทำเซอร์ไพรส์กัน เจ้าลักษณะดังกล่าวเขาทำให้ทุกคนมีรอยยิ้ม มีความสุข เจ้าความรู้สึกประหลาดใจนี่เป็นเสน่ห์อย่างมาก เป็นผงชูรสของชีวิต หากแต่เรามองว่าจะสอนเป็นทักษะ ก็คงต้องมีความเพียรมากๆ นะครับ..แต่ทำได้

 “ คุณค่าภายในจิตใจที่จะมองเห็นสิ่งที่มีให้เกิดคุณค่าและการนำไป ใช้อย่างสร้างสรรค์ ” – ปริม ทัดบุปผา

 ผมแบ่งคำก่อนนะครับ คุณค่าภายในจิตใจ – ที่ทำให้มองเห็น – สิ่งที่มี – ให้เกิดคุณค่า - และนำไปใช้

 คุณค่าภายในจิตใจ ผมนั้นตระหนักว่าสิ่งที่เห็น ที่คิดนั้น หากต้องสูญเสียไปแล้วผมรู้สึกเสียดาย นี่คือความหมายของคำนี้ครับ

สิ่งที่มี คำนี้ก็คือ เจ้าโอกาสดีๆ แล้วเขาแปรเปลี่ยนไปเป็นอุปสรรค์ต่อหน้าต่อตา อย่างนั้น เช่น เราจะต้องได้รับการคัดเลือกเป็นตัวแทนไปแข่ง อาเซียนแน่ๆ แต่พอดีเพื่อนซึ่งมีความพร้อมมากกว่าโดยครั้งแรกเขาไม่สนใจสมัคร หากพอดีเปลี่ยนใจ สมัคร เขาก็ได้ไปแทนเราแบบต่อหน้าต่อตา อย่างนี้ สิ่งที่มีของเราก็คือ คนที่ว่าง ที่สามารถจะไปทำอย่างอื่นที่สำคัญกว่าแล้วล่ะครับ

 ให้เกิดคุณค่า หมายถึง คุณค่าในเชิงอื่นๆ ที่หลุดจากสิ่งแวดล้อมขณะนั้น เช่น เมื่อครูไม่เลือกเราไปแข่งอาเซียน เราก็คิดและจัดสรรเวลาเพื่อไปออกกำลังกาย อ่านหนังสือบันเทิง ผ่อนคลายจากการเรียนหนักๆ บ้าง เป็นต้น

การนำไปใช้ หมายถึง ทุกครั้งที่มี การสร้างคุณค่าใหม่เราจะต้องลงมือทำให้เกิดผลในทางปฏิบัติเพื่อยืนยันว่า ตัวเราเองยังคงทรงคุณค่าอยู่แม้จะมืดด้วยโอกาส ประมาณนั้น

 คุณค่าดังกล่าวข้างต้นจะเกิดได้จาก การเปลี่ยนมุมมองจากลบไปบวก ต้องใจกว้าง สามารถเสียเปรียบคนอื่นได้พร้อมทั้งเห็นคุณค่าในแนวทางอื่นๆ เช่น หากเพื่อนร่วมงานต้องการไปอบรมในหลักสูตรสำคัญซึ่งต้องแย่งกันกับเรา และเราก็หลีกทางให้เขาไปเพื่อที่เราจะได้ทำงานของหน่วยงานต่อไปส่งผลให้บริการของเราไม่บกพร่อง เป็นต้น  ทักษะเหล่านี้จะทำยากมาก เพราะขัดต่อธรรมชาติของคนเรา

 มันคือความอดกลั้นและหาทางออกเชิงสร้างสรรค์ การสอนบุตรหลานนั้นก็ทำกันเป็นรายบุคคลนะ ทำกันในครอบครัว ส่วนจะไปเติมหรือหวังให้เกิดแก่ระบบการศึกษาของประเทศโดยการเขียนหลักสูตรไม่น่าจะใช่


 

 

หมายเลขบันทึก: 493833เขียนเมื่อ 7 กรกฎาคม 2012 08:41 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 กรกฎาคม 2012 06:47 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (8)

ชอบบันทึกที่ต่อยอดครับ...เหมือนแตกกิ่งก้านสาขาของต้นไม้....เพื่อใส่ปุ๋ยให้กับระบบการศึกษาไทย และเด็กเยาวชนไทย...ที่สำคัญระบบการศึกษาไำทย...น่าจะมีความสุข...และไม่เครียดเหมือนกับตอนนี้...คุณค่า และการนำไปใช้ ก็เป็นสิ่งสำคัญ ที่บ่มเพาะตั้งแต่ตัวเด็ก...และครอบครัว...ขอบคุณมากครับ

ขอบคุณคุณทิมดาบนะครับ เป็นอะไรที่ดีมากๆ นะครับกับเวทีแลกเปลี่ยนกัน ครั้งแรกผมจะตอบคุณปริมน่ะครับ แต่ยาวเกินไปก็เลยมาเขียนต่อเป็นบันทึกใหม่ และผมก็ชอบมากด้วยน่ะครับ ขอบคุณนะครับ

สวัสดีค่ะคุณเพชร

เป็นการวิเคราะห์ที่ละเอียดแยบยลจากประสบการณ์ตรงและการนำไปใช้ในสถานการจริงที่ดีเยี่ยมเลยค่ะ ความเข้าใจมิมีใครเทียบได้นอกจากหัวอกของผู้ปกครองที่ต้องการให้สิ่งที่ดีที่สุดต่อบุตรหลานบนพื้นฐานของความเป็นจริงค่ะ ชื่นชมจากใจจริง

ทักษะในด้านภายในเป็นเรื่องละเอียดอ่อน เด็กบางคนเรียนรู้ได้จากครอบครัวที่สอนเป็น บางคนเรียนรู้จากครูอาจารย์ บางคนเรียนรู้ด้วยตนเองจากสังคมรอบข้าง แต่หากทุกส่วนที่ว่าทำงานร่วมกันเป็นระบบที่ไม่ขัดแย้งกัน น่าจะเป็นการสร้างพื้นฐานที่เข้มแข็งให้เด็กค่ะ ดังนั้นผู้ปั้นอิฐคือทุกส่วนที่กล่าวมาต้องรู้ว่าอยากได้อิฐออกมาในรูปแบบใดก่อนแล้วจึงลงมือปั้น

มันคงเป็นโจทย์ที่ไม่มีคำตอบตายตัวค่ะ

สุขสันต์วันหยุดค่ะ

ขอบคุณนะครับคุณปริม ผมได้รับประโยชน์จากคนอ่านหนังสือเก่ง(หนอนหนังสือ) ซึ่งเขียนสั้นและเป๊ะมากๆ รู้สึกปลื้มไปกับคุณปริมด้วยนะครับ

ชอบความละเอียดอ่อนของบันทึกนี้มากค่ะ เห็นภาพเลยน่าน้องจะมีความสุขแน่นอนเลยที่มีคุณพ่อเป็นต้นแบบความคิดดีๆแบบนี้ จากประสบการณ์ตัวเองพบว่าตัวเรานี่แหละค่ะคือต้นแบบของลูก โดยไม่ต้องพร่ำสอน ลูกชายคนโตเรียนมหาวิทยาลัยในคณะที่เรียนหนักและเขาได้รับทุนเรียนซึ่งมีข้อกำหนดว่าคะแนนต้องถึงเกณฑ์จึงจะได้ทุนต่อ เขาก็เลือกที่จะเรียนไปด้วยทำกิจกรรมไปด้วย เขาสละสิทธิ์การเลือกไปเรียนต่างประเทศ เขาเลือกทำงานในส่วนที่คนเลือกทำน้อย เขาไม่รับตำแหน่งแต่เลือกที่จะช่วยทำงานทุกอย่าง เป็นตัวประสานงาน ทั้งหมดนี้เรารับรู้และชื่นชมว่า เขาทำด้วยความคิดของเขาเองทั้งนั้นเลยค่ะ แต่เรียกว่าได้อย่างใจเราเลย มีความสุขกับการทำสิ่งที่มีประโยชน์โดยไม่ต้องขึ้นกับการมีชื่อเสียงตำแหน่งอะไร 

สวัสดีครับป้าโอ๋Blank ผมก็นึกถึงพี่เรื่อยๆ แหละครับ นึกถึงความเชี่ยวชาญเรื่องภาษา นะครับ ลูกชายพี่ก็น่ารักครับ ผมฟังจากพี่เล่าก็ปลื้มไปด้วย ยิ่งพอได้ฟังเรื่องการมีอิสระในการจัดการชีวิตการทำงานของเขา ก็ชื่นชมครับ เพราะผมเองก็มั่นใจเรื่องการที่ผู้ปกครองปล่อยให้เขาค่อยๆ พัฒนาการขึ้น ..เราต้องใจเย็นหน่อย ..สุดท้าย เขาก็จะเป็นคนที่ดูแลตนเองและยังดูแลคนอื่นได้ด้วยนะครับ ขอบคุณครับที่แวะมาให้กำลังใจนะครับ

  • ครอบครัวเป็นสถาบันทางสังคมที่มีอิทธิพลมากที่สุด ต่อการหล่อหลอมกล่อมเกลาให้อนุชนเติบใหญ่อย่างมีคุณภาพ 
  • ถ้าในสังคมไทยมีผู้นำครอบครัวที่มีวิธีการหล่อหลอมกล่อมเกลาให้ลูกเติบโตด้วยการมีทักษะชีวิตที่พร้อมจะเผชิญกับปัญหาอุปสรรคต่างๆ ในอนาคต อย่างเช่นที่คุณเพชรทำอยู่โดยไม่ผลักภาระให้กับสถาบันการศึกษา สังคมไทยคงมีความสงบสุข และผู้คนมีคุณภาพชีวิตที่ดีมากกว่านี้...ชื่นชมในบทบาท "พ่อ" ของคุณเพชรมากค่ะ 

สวัสดีครับอาจารย์ Blank ขอบคุณกับคำว่า ทักษะชีวิตนะครับ จริงๆ สังคมไทยเราเป็นสังคมพึ่งพากัน หากแต่เมื่อผมขาดคนพึ่งพา การเอาตัวรอดด้วยสิ่งต่างๆ ที่เล่าให้ฟังก็บังเกิดขึ้นน่ะครับ หากแต่เมื่อเราได้ทำ ประจักษ์ใจแก่ผลที่ตามมา ความรู้สึกดีๆ ก็เกิดขึ้น ก็การพัฒนาต่อ ครั้งที่หนึ่งเป็นกำลังใจให้ทำครั้งที่สอง และได้ทำต่อเนื่องกันมาจนปัจจุบันนี้นะครับ สิ่งสำคัญมากๆ ที่ไม่ได้กล่าวถึงก็คือเรื่องการ คบบัณฑิต นะครับ มงคลชีวิตข้อแรกๆ ที่เราจะต้องทำเป็นตัวอย่างและสอนลูกไปพร้อมๆ กัน ขอบคุณที่แวะมานะครับ บันทึกสมบูรณ์ขึ้นเยอะครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท