หมู่บ้านปุ๋ยอินทรีย์


ปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ลดการใช้สารเคมี

ความเป็นมา ข้อมูลของหมู่บ้าน ปัญหาที่ต้องการแก้ไขและแนวทางการแก้ไข

ตำบลโพธิ์หมากแข้ง เป็นที่ราบลุ่ม มีพื้นที่ทั้งหมด 97.456 ตารางกิโลเมตร จำนวนหมู่บ้าน 15 หมู่ ในเขตเทศบาล 5 หมู่บ้าน นอกเขต 10 หมู่บ้าน มีจำนวนครัวเรือน 2,000 ครัวเรือนมีจำนวนประชากร 7,592 คน    ศูนย์ส่งเสริมและผลิตพันธุ์ข้าวชุมชนบ้านบัวโคก เริ่มต้นจากสมาชิก 2-3 คน ต่างคนต่างทำ  ต่อมาเมื่อปี  2544  จึงได้รวมกลุ่มกันอย่างเป็นทางการมีสมาชิก  44  คน  โดยมีสำนักงานเกษตรอำเภอบึงโขงหลงได้เป็นผู้ชี้แนะแนวทาง และให้คำปรึกษาด้านวิชาการ  ตลอดจนการบริหารจัดการกลุ่ม  โดยจัดตั้งให้เป็นศูนย์ประจำตำบลโพธิ์หมากแข้ง  เพื่อเป็นแหล่งกระจายข้าวพันธุ์ดี  มีการระดมทุนจากสมาชิกในปีแรกได้  4,000  บาทส่วนปัจจัยการผลิตได้รับการสนับสนุนเป็นเมล็ดพันธุ์ข้าวและปุ๋ยเคมีจากกรมส่งเสริมการเกษตรคิดเป็นเงิน  50,000 บาท

 

          จนกระทั่งปี  2548  จึงได้จดทะเบียนเป็นวิสาหกิจชุมชน  ขณะนั้นมีสมาชิก  72  คน  ต่อมาเกษตรกรเริ่มให้ความสนใจในผลิตผลของกลุ่มมากยิ่งขึ้น และเห็นถึงความสำคัญของปุ๋ยที่เป็นปัจจัยที่สำคัญยิ่งในการทำการเกษตร  กิจกรรมของกลุ่มจึงเน้นเรื่องการผลิตปุ๋ยหมัก  การทำน้ำหมักชีวภาพ  การผลิตปุ๋ยอินทรีย์เคมี และการให้ทุนกู้ยืมแก่สมาชิกเพื่อเป็นทุนประกอบอาชีพ  ปัจจุบันมีสมาชิกทั้งสิ้น  112  คน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

ปี 2551 สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) ได้รับมอบหมายให้ดำเนินโครงการหนึ่งอำเภอหนึ่งโรงปุ๋ยจากกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี วว. จึงได้เข้ามาให้การอบรมเรื่องการผลิตปุ๋ยตามหลักวิชาการที่ถูกต้องทั้งในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติ จากนั้นกลุ่มได้ผลิตปุ๋ยตามแบบที่ได้เรียนรู้นั้นมาอย่างต่อเนื่อง โดยผลิตตั้งแต่ปี 2551-2554 ได้ปริมาณปุ๋ยรวม 230 ตัน มีรายได้จากการจำหน่ายปุ๋ยเฉลี่ยปีละ  528,000  บาท ซึ่งกระบวนการผลิตได้มีการพัฒนาปรับปรุงในด้านคุณภาพและปริมาณเพื่อสนองตามความต้องการของผู้ใช้ปุ๋ยในพื้นที่อย่างต่อเนื่อง

 

อาชีพหลัก

          อาชีพหลักของเกษตรกรชาวตำบลโพธิ์หมากแข้ง ส่วนใหญ่เป็นการเกษตรกรรม ได้แก่ การทำนา ปลูกผัก ปลูกยางพารา และผลิตเมล็ดพันธุ์ข้าวเองด้วย ซึ่งสภาพพื้นที่เป็นที่ราบลุ่มเหมาะสม มีความอุดมสมบูรณ์ด้านน้ำอุปโภคเพราะตั้งอยู่ใกล้แหล่งน้ำ คือแม่น้ำโขง

 

อาชีพเสริม

นอกจากการทำเกษตรกรรมแล้วเวลา ยังมีงานอื่นๆที่สามารถสร้างรายได้เพิ่มอีกเป็นงานเสริม เช่น การผลิตผ้าสไบบ้านโพธิ์หมากแข้ง  ผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูป  การทำไม้กวาดดอกแขมบ้านนาสาร  การทำสุรากลั่น   การทอผ้าไหม และการจำหน่ายหินตู้ปลา ซึ่งเป็นทรัพยากรที่มีขึ้นตามธรรมชาติสร้างรายได้ให้กับชุมชนได้อย่างดี

 

จุดเด่นของกลุ่ม

กลุ่มมีการจัดระบบโครงสร้างที่แข็งแรง โดยเน้นที่การวางรากฐานการบริหารอย่างเป็นระบบ ไม่เน้นตัวบุคคล มีการปรับเปลี่ยนการบริหารตามวาระ สมาชิกทุกคนมีความเคารพในกติกาเสียงส่วนใหญ่เป็นอย่างดี มีการพัฒนาบุคลากรให้มีความสามรถในหลายๆด้าน ให้โอกาสสมาชิกได้ไปศึกษาดูงานที่อื่นๆอย่างสม่ำเสมอ

    

การดำเนินการของกลุ่ม

          เนื่องจากกลุ่มเริ่มผลิตปุ๋ยในช่วงแรกเพียงเพื่อสำหรับสมาชิกในชุมชนใช้กันเอง ประสงค์ที่จะลดต้นทุนการใช้ปุ๋ยและนำเอาวัสดุเหลือทิ้งมาเปลี่ยนให้ให้เป็นปุ๋ยและเกิดประโยชน์อย่างสูงสุด ไม่ได้มุ่งหวังด้านการจำหน่ายหรือผลกำไรแต่อย่างใด ซึ่งช่วยให้กลุ่มลดค่าใช้จ่ายได้บางส่วนแต่ทั้งนี้กลุ่มไม่ทราบว่าปุ๋ยที่กลุ่มผลิตมีคุณภาพเพียงใด หลังจากที่ได้รับความรู้ใหม่ๆ ที่ วว.ให้ความรู้และสอนการผลิตปุ๋ยอย่างมีประสิทธิภาพและเหมาะสมกับพืช โดยนำหลักการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ร่วมกับเคมี ที่กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเข้ามาปรับปรุงการผลิตจากเดิม ทำให้ปุ๋ยของกลุ่มตอบสนองต่อการทำการเกษตรของชุมชนเป็นอย่างมาก ชุมชนมีความพึงพอใจ ทำให้ปริมาณการผลิตมีการปรับเพิ่มเพื่อให้เพียงพอกับความต้องการในพื้นที่มากขึ้น ชุมชนมีความเข้มแข็ง สามรถพึ่งพาตนเองได้อย่างมั่นคง และเป็นแบบอย่างให้แก่ชุมชนอื่นๆ

             

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

รางวัลที่กลุ่มได้รับ

                กลุ่มได้รับรางวัลต่างๆในระดับจังหวัด ระดับภาคและระดับประเทศหลายรางวัล ได้แก่

  1. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ระดับประเทศ การประกวดวิสาหกิจชุมชนประเภทข้าว ปี 2550 จากกรมส่งเสริมสหกรณ์
  2. รางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 ระดับภาค การประกวดการทำบัญชีกลุ่ม ปี 2551 จากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์

3.   รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 การประกวดสถาบันเกษตรกรดีเด่น ระดับจังหวัด ปี 2548จาก    จังหวัดหนองคาย

4.   รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 การประกวดศูนย์ข้าวดีเด่น ระดับจังหวัดปี 2550 จากจังหวัดหนองคาย

5.    รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 การประกวดศูนย์ข้าวดีเด่น ระดับจังหวัด  ปี 2553  จากจังหวัดหนองคาย

6.   รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 การประกวดศูนย์ข้าวดีเด่น ระดับจังหวัด  ปี 2554  จาก
      จังหวัดบึงกาฬ

7.    รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 การประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นด้านการบริหารจัดการโดย
      ใช้ข้อมูลทางบัญชี ระดับจังหวัด  ปี 2554  จากจังหวัดบึงกาฬ

8.   รางวัลชนะเลิศอันดับที่ 1 การประกวดวิสาหกิจชุมชนดีเด่นด้านการบริหารจัดการโดยใช้ข้อมูล  ทางบัญชี ระดับภาค  ปี 2555  จากสำนักงานตรวจบัญชีสหกรณ์ที่ 5

      จากความมุ่งมั่นในการบริหารจัดการกลุ่มอย่างมีประสิทธิภาพและด้วยความพร้อมเพียงของสมาชิกทำให้กลุ่มมีความก้าวหน้าในการดำเนินกิจกรรมต่างๆและเป็นแหล่งเรียนรู้ให้กลุ่มผู้สนใจทั้งหลายได้แวะเวียนเข้ามาเพื่อศึกษาและแลกเปลี่ยนเป็นระยะ  อันเป็นความสำเร็จที่กลุ่มมีความภูมใจเป็นอย่างมาก

 

บทบาทแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี

“หมู่บ้านเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์” กลุ่มศูนย์ส่งเสริมเมล็ดพันธุ์ข้าวบ้านบัวโคก ม.4             ต.โพธิ์หมากแข้ง อ.บึงโขงหลง จ.บึงกาฬ เป็นหนึ่งในหมู่บ้าน ซึ่งได้รับคัดเลือกจากสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ (วท.) ในการยกระดับจาก“หมู่บ้านเทคโนโลยีการผลิตปุ๋ยอินทรีย์”    มาเป็น “หมู่บ้านแม่ข่ายวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี” ทั้งนี้ เนื่องจากหมู่บ้านบ้านบัวโคก ม.4 เป็นหมู่บ้านที่มีความเข้มแข็ง ประกอบกับประธานกลุ่มมีความรู้ความสามารถในการบริหารการจัดการ  มีประสบการณ์การทำงานร่วมกับชุมชนไม่น้อยกว่า 10  ปี จึงสามารถบริหารกลุ่มบริหารผลิตภัณฑ์ และสามารถผลิตปุ๋ยได้ปีละไม่ต่ำกว่า 50 ตัน/ปี  นับตั้งแต่ได้รับโครงการเป็นต้นมา มีรายได้หมุนเวียนในหมู่บ้าน เป็นเงิน มากกว่า 500,000  บาท/ปี

หมายเลขบันทึก: 493706เขียนเมื่อ 6 กรกฎาคม 2012 09:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2015 12:19 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท