เคล็ดลับคุณกิจ..."คุยกันนานๆ...แบบสุนทรียสนทนา"


พูดคุยกันสองสามคำไม่เกิดประโยชน์ค่ะ ต้องคุยกันนานๆ เล่าให้ละเอียด จะได้เห็นสาระสำคัญที่ซ่อนอยู่ได้
วันพฤหัสบดีที่ 7 กย. ที่ผ่านมา ช่วงเช้าขณะที่พี่เม่ยกำลังทำการทดสอบย้อมสีพิเศษจากสเมียร์ไขกระดูก (cytochemical staining) อยู่  เพราะว่าเคาน์เตอร์ปฏิบัติงานอยู่ตรงกันข้ามกับเคาน์เตอร์ที่ทำการทดสอบพาหะธาลัสซีเมีย (Hemoglobin typing) พอดี จึงเลี่ยงไม่ได้ค่ะ ที่จะได้สนทนากันนานๆกับพี่อุรา ที่ทำงานอยู่เคาน์เตอร์ตรงกันข้าม
พี่ราคุยให้ฟังแกมปรึกษาว่า...."วันนี้ พี่ต้องทดสอบซ้ำเลือดของคนไข้รายนึง เพราะเครื่องรายงานผล Hb E/A2 (อ่านว่า ฮีโมโกลบินอี หรือ เอทู ค่ะ) ออกมา 12% ไม่แน่ใจว่าจะออกผลเป็นฮีโมโกลบิน E หรือ A2 ดี..."
ขออธิบายเพิ่มเติมสักเล็กน้อยนะคะ...คือฮีโมโกลบินทั้งสองชนิดนี้เครื่องอัตโนมัติที่เราใช้อยู่จะไม่สามารถแยกออกจากกันได้ เราใช้เกณฑ์ปริมาณที่ตรวจพบเป็นตัวแยก คือถ้าปริมาณมากกว่า 10% (แต่เรามักพบอยู่ในช่วง 20-30% เป็นประจำ)เราก็อ่านผลเป็น E แต่ถ้าปริมาณน้อยกว่า 10 % เราก็อ่านผลเป็น A2
ทีนี้พอเครื่องรายงานออกมา 12% ก็เลยทำให้เกิดความไม่แน่ใจ ต้องทำซ้ำ...เป็นเรื่องที่เราพบไม่บ่อยนักค่ะ
พี่เม่ยทำงานของตัวเองไป ฟังไปผ่านๆก็ตอบว่า " อืมม์...พี่ราก็ทำถูกแล้วนี่  ทำซ้ำอีกครั้งถ้าได้ค่าเท่าเดิมก็ต้องบอกว่าเป็น ฮีโมโกลบิน E ชัวร์อยู่แล้ว"
ต่างคนต่างทำงานกันไปเงียบๆอีกสักครู่หนึ่ง พี่ราก็คุยต่อว่า "แปลกนะ พี่ให้ปุกทดลองทำ DCIP** กลับให้ผลลบ ทำซ้ำอีกก็ลบอีก..??? แล้ว peak ที่ออกมาก็ดู ป่องๆ ยังไงชอบกล"
เอ๊ะ! พี่เม่ยฟังแล้วก็รู้สึกคลับคล้ายคลับคลาว่าเรื่องราวอย่างนี้น้องนุกเคยมาปรึกษาแล้วครั้งหนึ่งนานมาแล้วค่ะ จึงรีบถามว่า ..." พี่ราลองดู Retention time ซิว่า ค่าตรงกับ peak ของ E/A2 หรือเปล่า?"
พี่รากุลีกุจอค้นใบรายงานออกมาดูใหม่..."จริงด้วย ไม่ตรงกัน ของ E/A2 มีค่า 3.62  แต่ peak นี้มีค่า 3.45 เท่านั้นเอง...."
 นึกออกแล้วค่ะ ว่านี่ไม่ใช่ฮีโมโกลบิน E/A2 อย่างแน่นอน เป็นฮีโมโกลบินผิดปกติอีกชนิดหนึ่งซึ่งเราพบได้ไม่บ่อย (ก็ประมาณ 4 ปี สักครั้ง)  แต่เพราะ peak ที่แสดงออกมาใกล้เคียงกับตำแหน่งของ E/A2 ที่เราพบเป็นประจำ ถ้าไม่สังเกตเห็นความผิดปกติอะไรบ้าง ก็อาจอ่านผลผิดพลาดไปได้
ต้องทำอย่างไรต่อไปล่ะทีนี้ จำไม่ค่อยได้เสียแล้ว ไม่เป็นไรค่ะ พี่เม่ยกลับไปค้นจากสมุดบันทึกการปฏิบัติงานที่น้องนุกได้บันทึกไว้ เพื่อนำมาเทียบเคียงดูว่าสมมติฐานที่เราคิดเป็นจริงหรือไม่ ปรากฏว่าใช่เลยค่ะ จึงได้วางแผนทำการทดสอบยืนยันในแนวทางเดิมที่น้องเคยบันทึกไว้แล้ว
เป็นอันว่าเรื่องนี้จบลงด้วยดี ไม่มีข้อผิดพลาดใดๆ  เกือบไปเหมือนกันค่ะ...
พี่เม่ยมาวิเคราะห์ดู ก็พบว่า ที่เราสามารถจัดการเรื่องนี้ได้อย่างถูกทางได้ ก็เพราะมีปัจจัยเหล่านี้เข้ามาช่วยค่ะ....
  • เรามีประสบการณ์ที่เคยได้พบเหตุการณ์เช่นเดียวกันนี้มาก่อนแล้ว
  • เรามีการบันทึกประสบการณ์ไว้ในสมุดปฏิบัติงานด้วย เป็นเครื่องยืนยันเสริมอีกแรงหนึ่ง
และที่สำคัญที่สุด....
  • เราคุยกันนานๆ แบบสุนทรียสนทนาค่ะ
ต้องยกให้เป็นอีกหนึ่งเคล็ดลับของคุณกิจในวันนี้แล้วค่ะ
คุยกันนานๆ เล่าให้ละเอียด   เพื่อให้ได้เห็น "สาระ" ที่ซ่อนอยู่....
*********************
**หมายเหตุ : DCIP precipitation test  เป็นการตรวจกรองเพื่อค้นหาพาหะของฮีโมโกลบินผิดปกติชนิดอี (Hb E) 
หมายเลขบันทึก: 49314เขียนเมื่อ 10 กันยายน 2006 15:06 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:51 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ขอเสริมอีกปัจจัยที่ทำให้เรื่องนี้จบลงด้วยดี เพราะว่า "ผู้ปฏิบัติงานไม่เก็บความสงสัยไว้ในใจคนเดียว"
เรียนท่านเอื้อค่ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท