บัวกับวรรณคดี


บัวกับวรรณคดีไทย

 

                                        

บัวเป็นพืชน้ำล้มลุก ลักษณะ ลำต้นมีทั้งที่เป็น เหง้า ไหล หรือหัว ใบ เป็นใบเดี่ยวเจริญขึ้นจากลำต้น โดยมีก้านใบส่งขึ้นมาเจริญที่ใต้น้ำ ผิวน้ำหรือเหนือน้ำ รูปร่างของใบมีหลายแบบ ส่วนใหญ่กลม บางชนิดมีก้านใบติดอยู่ที่หลังใบ ดอก เป็นดอกเดี่ยวสมบูรณ์เพศ ประกอบด้วยกลีบเลี้ยง 4-6 กลีบ กลีบดอกมีทั้งชนิดซ้อนและไม่ซ้อน มีสีสันแตกต่างกันแล้วแต่ชนิด

ตามพจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน ได้ให้ความหมายว่า บัว เป็นคำนาม หมายถึงชื่อเรียกไม้น้ำหลายชนิด มีเหง้ายาวทอดอยู่ในตม ใบเป็นแผ่นกลม ขอบเรียบอยู่ห่างๆ กัน ก้านใบและก้านดอกแข็งมีหนามสาก ชูใบและดอกขึ้นพ้นผิวน้ำ

เมืองไทยเราเป็นเมืองพุทธ คนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ และเชื่อกันว่า บัวเป็นดอกไม้ศักดิ์สิทธิ์เป็นสิริมงคล พุทธศาสนิกชนจะนิยมใช้ดอกบัวบูชาพระ เพราะถือได้กุศลแรง ดอกบัวมีความเกี่ยวข้องทางพระพุทธศาสนา นับแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าประสูติจากพระครรภ์พระมารดา ในคืนวันเพ็ญ กลางเดือนหก ณ ป่าลุมพินีวัน ก็ทรงดำเนินได้ 7 ก้าว พร้อมกับยกพระหัตถ์ขวาและเปล่งพระวาจา เบื้องใต้พระบาทมีดอกบัวรองรับ เมื่อพระองค์ทรงมีพระชนมายุได้ 7 พรรษา พระราชบิดาได้ให้ขุดสระโบกขรณี 3 สระภายในพระราชนิเวศน์ ให้เป็นที่สำราญพระหทัย ซึ่งในปัจจุบันจะนิยมปลูกบัวหลากสีสัน ในสถานที่ต่าง ๆ อาคาร บ้านเรือน สวนสาธารณะ นับได้ว่าบัวเป็นไม้ประดับที่สวยงามทีเดียว

ครั้งหนึ่งเมื่อสมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าผนวชแล้ว ท้าวสหัมบดีพรหมเสด็จมากราบทูลขออาราธนาพระองค์ให้แสดงธรรมประกาศพระศาสนาโปรดชาวโลก เป็นภาษาบาลีว่า


“พรหฺมา จ โลกาธิปตี สหฺปติ
กตฺอญฺชลี อนฺธิวรํ อยาจถ
สนฺตีธ สตฺตาปฺปรชกฺขชาติกา
เทเสตุ ธมฺมํ อนุกมฺปิมํ ปชํ”

ซึ่งแปลว่า ท้าวสหัมบดี ประณมกรกราบทูลอาราธนาพระพุทธเจ้าผู้ทรงคุณธรรม อันประเสริฐ ว่า “สัตว์โลกนี้ ที่มีกิเลสบางเบาพอที่จะฟังธรรมเข้าใจนั้นมีอยู่ ขอพระองค์ได้โปรดแสดงธรรมช่วยเหลือชาวโลกเทอญ” ต่อมาบทภาษาบาลีที่เป็นฉันท์บทนี้ ได้กลายเป็นคำสำหรับอาราธนาพระสงฆ์ในเมืองไทยให้แสดงธรรมมาจนทุกวันนี้

สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงแสดงธรรมโดยทรงพิจารณาอัธยาศัยของคนโลกแล้วทรงเห็นความแตกต่างแห่งระดับสติปัญญาของคน 4 ระดับหรือ 4 จำพวก เปรียบดังนี้

จำพวกที่หนึ่ง ฉลาดมาก เพียงแต่ได้ฟังหัวข้อธรรมที่ยกขึ้นก็เข้าใจทันที เปรียบดัง บัวเปี่ยมน้ำ พอได้รับแสงอาทิตย์ก็บาน

จำพวกที่สอง ฉลาดพอสมควร ต่อเมื่อฟังคำอธิบายอีกชั้นหนึ่งก็เข้าใจ เปรียบดังบัวใต้น้ำ ที่จะโผล่พ้นน้ำและที่จะบานในวันรุ่งขึ้น

จำพวกที่สาม ฉลาดปานกลาง ที่เรียกว่าเวไนยสัตว์ ต้องใช้เวลาอบรมบ่มสติปัญญาพอควรจึงจะเข้าใจ เปรียบดังดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปหน่อย ซึ่งจะแก่กล้าขึ้นมาบานในวันต่อ ๆ ไป

จำพวกที่สี่ เรียกว่า “ปทปรมะ” ตรงกับภาษาไทยว่า โง่ทึบ ตรงกับภาษาอังกฤษว่า Idiot เป็นคนที่ใครโปรดไม่ได้ เปรียบดังดอกบัวที่อยู่ใต้น้ำลึกลงไปมาก ถึงขนาดไม่อาจจะขึ้นมาบานได้ เพราะตกเป็นภักษาหารของปลาและเต่าเสียก่อน

ระดับสติปัญญาของคนในโลกที่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าทรงเห็นดังกล่าวนี้คือ สิ่งที่ภาษาวิทยาศาสตร์เรียกกันว่า ไอ.คิว. (Intelligenc Quotient)
ในด้านพุทธศิลป์นั้น จะเห็นว่าจะมีงานปั้น งานวาด ที่เป็นรูปดอกบัวอยู่ไม่น้อย ที่พระพุทธรูปทุกปาง จะมีฐานเป็นรูปดอกบัวคว่ำ บัวหงาย มีพระพุทธรูป เป็นรูปทรงใบบัวครอบเศียรไว้ ซึ่งเรียกว่า พระบัวเข็มหรือพระอุปคุต เป็นพระบูชาที่นิยมกันมากในกลุ่มชาวอินเดีย มอญ และชนชาวภาคเหนือ ภาคอีสาน พระบัวเข็มเริ่มเป็นที่รู้จักในหมู่คนไทย เมื่อครั้งพระมอญนำพระบัวเข็มมาถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งพระองค์ยังผนวชเป็นพระภิกษุ

พระบัวเข็มหรือพระอุปคุต นับเป็นพระอรหันต์พุทธสาวกหลังพุทธกาลถึง 200 กว่าปี มีประวัติความเป็นมาน่าสนใจ กล่าวคือ ตอนสมัยที่ยังไม่บวช ได้ช่วยพ่อแม่ ค้าขายในตลาดที่เมืองมถุรา ในอินเดีย ปรากฏว่ากิจการรุ่งเรืองดีมาก                มีลูกค้ามาอุดหนุนมากมาย เงินทองเข้าตลอด ต่อมาท่านบวชเป็นพระภิกษุ              ในพระพุทธศาสนา และความตั้งใจเจริญวิปัสสนากรรมฐานโดยลำดับ                   จนกระทั่งบรรลุพระอรหันตผล สำเร็จเป็นพระอรหันต์ เป็นพระอาจารย์สั่งสอนสมถกรรมฐานและวิปัสสนากรรมฐาน ลูกศิษย์ลูกหาถึง 18,000 รูป เล่ากันว่าท่านชอบจำพรรษา ณ ใต้มหาสมุทร (สะดือทะเล) สำหรับผู้ที่บูชาพระอุปคุปหรือพระบัวเข็มให้บูชาโดยนำมาลอยน้ำในพาน 

ในนิทานชาดกเรื่องปทุมมาวดี ได้กล่าวถึงนางปทุมมาวดีกล่าวถึงนางผู้นำดอกบัวไปถวาย พระปัจเจกพุทธเจ้า ด้วยผลบุญนั้นทำให้นางได้ขึ้นสวรรค์และมาจุติเป็นดอกบัว ซึ่งตรงกับวรรณคดีไทยเรื่อง ปทุมวดีคำฉันท์ ซึ่งเป็นวรรณคดีนิทาน แต่งด้วยคำประพันธ์รวม 368 บท กล่าวถึงนางฟ้ามาเกิดในดอกบัว ฤษีได้เก็บดอกบัวมาไว้ที่อาศรม เมื่อแกะกลีบดอกบัวออกมาก็พบเด็กหญิงอยู่ในดอกบัว ฤษีจึงเลี้ยงไว้เป็นธิดาและให้ชื่อว่า ปทุมวดี เมื่อนางก้าวเดินจะมีดอกบัวผุดมารองรับ

“รอยบทบาทบังอรนาง   ก็มีชาติจงกล
รองบาทวลัญชยุคล       บททุกดำเนินเทา
ดาบศ ธ ยลสมรดวง      ธิดาเดินและย่างเยา
ยลดวงอุบลอุบัดเทา      ธ ก็ดุจดีดู”

วันหนึ่งนายพรายได้นำความงามของนางไปทูลพระราชา ๆ จึงเสด็จมาขอนางไปเป็นชายา ด้วยผลบุญของนางที่เคยถวายข้าวตอก ดอกบัว ให้พระปัจเจกพุทธเจ้า นางจึงมีโอรสถึง 500 องค์

ในทำนองเดียวกันจากวรรณคดีเรื่องสุภาษิตพระร่วงกล่าวถึงผลแห่ง                       การทำความดีว่า ผู้ที่ทำความดีจะได้ขึ้นสวรรค์ ดังนี้คือ “บานประตูนั้นเทียรย่อมแก้ว แลมีปราสาทอยู่เหนือประตูนั้นทุกอัน ในเมืองนั้นเทียน ฝูงเทพยดาอยู่ในแผ่นดินนั้น เป็นแผ่นดินทองพรายงามราบนักหนาดังหน้ากลอง แลอ่อนดังฟูกผ้า แลแก้วนั้น เมื่อเหยียบลงอ่อนน้อยแล้วก็เต็มขึ้นมาเล่า บ่มิเห็นรอยตีนเลย นอกนั้นมี น้ำใสกว่าแก้ว และมีดอกบัวบาน 5 สิ่งในสระน้ำนั้นหอมดั่งแสร้งอบ และมีสรรพดอกไม้อันงาม” เรื่องการทำบุญถวายพระด้วยดอกบัว เชื่อว่ามีผลนำให้ผู้นั้นเกิดในยุคพระศรีอาริยเมตไตร

นอกจากนี้ จากพระเวสสันดรชาดก กัณฑ์กุมาร กล่าวถึงดอกบัว เมื่อชูชกเดินทางไปขอสองกุมารจากพระเวสสันดร สองกุมารจึงหนีไปซ่อนอยู่ในสระบัว ดังนี้ “…เตน เตน ปธาวึสุ สองเจ้าก็ วิ่งวนจนถึงมงคลสระศรี สองกุมาร กุมารี ทรงผ้ากรองเท้าให้มั่นคง แล้วเสียรอยถอยหลังลงสู่สระศรี เอาวารีนั้นบังองค์ เอาบุษบงบังพระเกศ หวังจะซ่อนพระบิตุเรศกับพราหมณ์ด้วยความกลัวอยู่ในสระ” แต่ชูชกก็รู้ทันด้วยเห็นรอยเท้าเดินขึ้น ของสองกุมาร แต่ไม่มีรอยเท้าลง เนื่องจากสองกุมารเดินถอยหลังลงสระบัว

ได้มีการบรรยายลักษณะของดอกบัวในสระโบกขรณีว่า “ปัญจมหาสระ” ในสมัยสุโขทัยซึ่งสร้างสระไว้ ๕ สระ ปลูกบัวสัตตบุษย์ไว้สระหนึ่ง บัวสัตตบรรณ บัวเผื่อนสระหนึ่ง บัวลินจงสระหนึ่ง และบัวจงกลนีอีกสระหนึ่ง สำหรับให้พราหมณ์นำน้ำจากสระไปโปรดบรรดาไพร่ฟ้าข้าแผ่นดินสุโขทัย ในงานพิธีมงคลต่าง ๆ

บัวยังปรากฏในวรรณคดีอีกหลายเรื่องเช่น รามเกียรติ์ ตอนศึกไมยราพ กล่าวถึงหนุมานเดินทางเข้าเมืองบาดาลไปช่วยพระราม ซึ่งถูกไมยราพจับตัวมา ได้พบมัจฉานุผู้เฝ้าด่าน ด่านนี้เป็นสระบัว มีดอกบัวใหญ่เท่ากงล้อเกวียน เมื่อหักก้านบัวหนุมานสามารถรอดเข้าไปในก้านบัวสู่เมืองบาดาลได้ ดังบทกลอนต่อไปนี้

      “เห็นสระสี่เหลี่ยมกว้างใหญ่        ดาษไปด้วยปทุมเกสร
ทรงดอกออกฝักอรชร                      ตูมบานสลอนสลับกัน
พระพายชายพัดมาเรื่อยเรื่อย             หอมเฉื่อยชายจิตเกษมสันต์
ให้สงสัยไม่รู้สำคัญ                        ว่าจะจรจรัลไปแห่งใด
“ขุนกระบี่ผู้มีกำลังฤทธิ์                   นิ่งคิดก็คิดขึ้นได้
จึ่งหักก้านบุษบงด้วยว่องไว              ลอดไปตามไส้ปทุมมาฯ”

เมื่อหนุมานเข้าด่านเมืองบาดาลแล้ว พบนางพิรากวนกำลังโศกเศร้าด้วยไมยราพ ใช้ให้นางมาตักน้ำไปใส่กระทะไว้ เพื่อต้มพระรามพร้อมทั้ง ไวยวิกลูกชายของนาง หนุมานขันอาสาช่วยไวยวิก หนุมานจึงแปลงร่างเป็นใยบัวติดสไบนางพิรากวนเข้าไปในด่านชั้นในเมืองบาดาล ดังนี้

        “บัดนั้น                             วายุบุตรผู้ปรีชาหาญ
ฟังพิรากวนนางมาร                       บอกขานจะแจ้งไม่แคลงใจ
จึงว่าเพียงนี้ไม่ยากนัก                   ตัวข้าพอจักแก้ได้
จะแปลงร่างเป็นใยบัวติดสไบ          เข้าไปมิให้สงกา”

ในเรื่องรามเกียรติ์ ตอนบทพากย์เอราวัณก็เช่นกัน ได้กล่าวถึงดอกบัวซึ่งอยู่บนงาของช้างเอราวัณ ไว้ดังนี้
        “ช้างนิมิตฤทธิ์แรงแข็งขัน      เผือกผ่องผิวพรรณ
สีสังข์สะอาดโอฬาร์
         สามสิบสามเศียรโสภา         เศียรหนึ่งเจ็ดงา
ดังเพชรัตน์รูจี
         งาหนึ่งเจ็ดโบกขรณี            สระหนึ่งย่อมมี
เจ็ดกออุบลบันดาล
         กอหนึ่งเจ็ดดอกดวงมาลย์     ดอกหนึ่งเบ่งบาน
มีกลีบได้เจ็ดกลีบผกา
         กลีบหนึ่งมีเทพธิดา             เจ็ดองค์โสภา
แน่งน้อยลำเพานงพาล”

นอกจากวรรณคดีเรื่องรามเกียรติ์แล้ว ยังมีวรรณคดีอีกหลายเรื่องกล่าวถึงดอกบัว เช่น เรื่องขุนช้างขุนแผน กล่าวถึงดอกบัวไว้ว่า

        “สัตตบุษบัวแดงขึ้นแฝงฝัง   พันธ์ผักพาดผ่านก้านบุปผา
แพงพวยพุ่งพาดพันสันตะวา          ลอยคงคาทอดยอดไปตามธาร
ที่บางแห่งโกมุทบุษบัน                เป็นพืชพรรณติดต่อกอไสว
บ้างชูดอกออกฝักแล้วชักใย           แลไปล้วนโกมุทจนสุดตา
เหล่าบัวสายรายกอกันห่างห่าง       พอสางสางก็ตระการบานบุปผา
ทั้งกระจับตับเต่าเถาสันตะวา         ในคงคาหลายอย่างต่างต่างพรรณ”

ท่านกวีเอกสุนทรภู่ กล่าวถึงดอกบัวเช่นกันจากนิราศภูเขาทองก็กล่าวถึงดอกบัว เช่นกันจน
       “...เหล่าบัวเผื่อนแลสร้างริมทางจร...”
       “...เที่ยวสอนสายบัวพันสันตะวา...”

ได้มีผู้นำผลงานของท่านกวีสุนทรภู่ ไปขับร้อง คือ เพลงคำมั่นสัญญา

“แม้เป็นบัวตัวพี่เป็นภุมรา             เชยผกโกสุมประทุมทอง”

ในโคลงโลกนิติ ได้กล่าวถึงบัวไว้ ดังนี้

         “กบเกิดในสระใต้             บัวบาน
ฤาห่อนรู้รสมาลย์                      หนึ่งน้อย
ภุมราอยู่ไกลสถาน                    นับโยชน์ ก็ดี
บินโบกมาค้อยค้อย                   เกลือกเคล้าเสาวคนธ์”
         “วัดช้างเบื้องบาทรู้           จักสาร
วัดอุทกชักกมุทมาลย์                 แม่นรู้
ดูครูสดับโวหาร                        สอนศิษย์
ดูกระกูลเผ่าผู้                          เพื่อด้วยวาจา”
         “ดอยใดมีถ้ำราช              สีห์ประสงค์
เหมือนมาบมีบัวหงส์                  หากใกล้
ต้นไม่พุ่มพังพง                        นกมาก มีนา
สาวหนุ่มตามชู้ไซร้                    เพราะชู้ชอบตา”
         “เปือกตมชมชื่นเชื้อ          กาสร
หงส์กับบุษบากร                       ชื่นช้อย
ภิกษุเสพสังวร                          ศีลสุข ไซร้นา
บุรุษรสรักร้อย                          เท่าน้อมในหญิง”
         “ก้านบัวบอกลึกตื้น           ชลธาร
มารยาทส่อสันดาน                    ชาติเชื้อ
โฉดฉลาดเพราะคำขาน              ควรทราบ
หย่อมหญ้าเหี่ยวแห้งเรื้อ             บอกร้ายแสลงดิน”
         “ใบบัวฝนตกน้ำ               ขาดขัง
ลูกข่างวางบนหลัง                    มิ่งม้า
เสาหลักปักอยู่ยัง                      กองแกลบ นาพ่อ
คนบ่แม่นถ้อยอ้า                       พูดแล้วโอนเอนฯ” 

         “ลำลาดดาษด้วยเหล่า      บุษบง กชแฮ
แดนวนาดอนดง                      ตื่นไม้
หญิงอยู่สงัดคง                       เป็นเหตุ
สามประการกล่าวไว้                  เที่ยงแท้ธรรมดาฯ”

อันที่จริงแล้ววรรณคดีแทบทุกเรื่องจะกล่าวถึงดอกบัวทั้งสิ้น และเป็นบ่อเกิดสำนวนสุภาษิต คำพังเพย เช่น บัวไม่ให้ช้ำน้ำไม่ให้ขุ่น เห็นกงจักรเป็นดอกบัว เด็ดบัวไม่ไว้ใย แม่สายบัวแต่งตัวค้างช้างตายทั้งตัวเอาใบบัวมาปิด

เมื่อสังเกตคำร้อยกรองในวรรณคดี แต่ละเรื่อง จะมีคำที่มีความหมายของคำว่า บัว ซึ่งเรียกว่า คำไวพจน์หรือคำพ้องความหมาย เช่น กช อุบล บงกช นิลุบล โลตบล บุณฑริกปัทมา ปทุม สัตตบรรณ บุษกร สัตตบงกช จงกล ปทุมา อุทุมพร สาโรช กรกช กระมล กมุท จงกลนี โกเมศ โกมล ตาราไต อรพินท์ ปัทมะ ประทุม ปทุม บุษบงกช

ดอกบัวไม่เพียงแต่ปรากฏในวงวรรณคดีและภาษาเท่านั้น ยังปรากฏในประเพณีต่างๆ เช่นประเพณีลอยกระทง เมื่อครั้งสุโขทัยเป็นราชธานี ท้าวศรีจุฬาลักษณ์ได้ประดิษฐ์กระทงเป็นรูปดอกบัว เพื่อลอยไปบูชาพระพุทธเจ้า แล้วสืบทอดมาจนถึงปัจจุบัน สำหรับ อีกประเพณีหนึ่งที่ยังคงสืบทอดมาเช่นกันคือ ประเพณีรับบัวหรือโยนบัว เป็นประเพณี ที่สืบทอดกันมายาวนานของชาว บางพลี จังหวัดสมุทรปราการ จัดขึ้นเป็นประจำทุกปี ในวันขึ้น 13 ค่ำ เดือน 11 และช่วงเช้าตรู่ของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 การจัดงานประกอบด้วยการนมัสการและขบวนแห่หลวงพ่อโต ทั้งทางบกและทางน้ำ การแข่งขันกิจกรรมพื้นบ้าน อาทิ การจัดพานดอกบัว การประกวดเรือประเภทต่าง ๆ และการแสดงการละเล่นพื้นบ้าน เช่น เพลงเรือ ในช่วงเช้าตรู่ของวันขึ้น 14 ค่ำ เดือน 11 จะเป็นงานประเพณีการรับบัวหรือโยนบัว โดยประชาชนจะโยนดอกบัวลงในเรือขบวนแห่พระพุทธรูปจำลองของหลวงพ่อโต ขณะเดียวกันชาวบางพลีก็จะโยนบัวให้กับคนต่างบ้านที่พายเรือมาเที่ยวด้วย เพื่อเป็นการทำบุญร่วมกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่น่าชื่นชมอย่างยิ่ง นับเป็นดอกไม้อันทรงคุณค่าและเป็นอมตะอย่างแท้จริง 

เอกสารอ้างอิง

ชุลีพร สุสุวรรณ. (2539). คำพ้องในภาษาไทย. กรุงเทพฯ: ทิพย์วิสุทธิ์.

เทพรัตนราชสุดาฯ, มูลนิธิสมเด็จพระ. (2550). นามานุกรมวรรณคดีไทย ชุดที่ 1 ชื่อวรรณคดี.กรุงเทพฯ: นานมีบุ๊คส์.      

ธนู จงเลิศจรรยา. (2526). พระเวสสันดรชาดก 13 กัณฑ์. กรุงเทพฯ: อำนวยสาส์น.

บรรเทา กิตติศักดิ์และกรรณิการ์ กิตติศักดิ์. (2528). ประวัติวรรณคดี 1. กรุงเทพฯ:ไทยวัฒนาพานิช.

ราชบัณฑิตยสถาน. (2542). พจนานกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน 2542. กรุงเทพฯ. นานมีบุ๊คส์.

ศึกษาธิการ. กระทรวง. (2545). โคลงโลกนิติ พระราชนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเดชาดิศร. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา.


ศึกษาธิการ. กระทรวง. (2545). หนังสือเรียนภาษาไทย ชุดทักษสัมพันธ์ เล่ม 1. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา.

สวนิต ยมาภัยและคณะ. (2547). ภาษาการสื่อสารและงานประพันธ์. กรุงเทพฯ: องค์การค้าคุรุสภา.


เหม เวชกร. (2540). สมุดภาพพุทธประวัติ ฉบับอนุรักษ์ภาพเขียนทางพระพุทธศาสนา. นครปฐม: ธรรมสภา


หมายเลขบันทึก: 493014เขียนเมื่อ 1 กรกฎาคม 2012 12:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 2 กรกฎาคม 2012 00:34 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

บัวยังปรากฏในวรรณคดีอีกหลายเรื่องเช่น รามเกียรติ์ ตอนศึกไมยราพ กล่าวถึงหนุมานเข้าเมืองบาดาลไปช่วยพระราม เนื่องจากไมยราพจับตัวมา พบมัจฉานุเฝ้าด่านไว้ ด่านนี้เป็นสระบัว มีดอกบัวใหญ่เท่ากงล้อเกวียน เมื่อหักก้านบัวหนุมานสามารถรอดเข้าไปในก้านบัวสู่เมืองบาดาลได้

....

ขอบคุณครับ...
ชวนให้คิดถึงวรรณคดีเหล่านี้มากเลยทีเดียว

คุณแผ่นดิน ยินดีค่ะ ฟื้นความหลังกัน ก่อนที่เยาวชนรุ่นหลังจะลืมกันหมด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท