ก้าวใหม่ของ e-book ในยุคศตวรรษที่ 21


ก้าวใหม่ของ e-book ในยุคศตวรรษที่ 21

ก้าวใหม่ของ e-book ในยุคศตวรรษที่ 21

นางสาวกุสาวดี หัสแดง

นิสิตปริญญาโท สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา

คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

บทนำ

          ในปัจจุบันนี้เทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทในด้านการศึกษาเรียกได้ว่ายกระดับคุณภาพชีวิต อย่างต่อเนื่อง ยุคดิจิตอลในศตวรรษที่ 21 เป้าหมายที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ คือ การถ่ายทอดความรู้และการสร้างสังคมให้ดีขึ้น ซึ่งเราจะเห็นได้จากขณะนี้ภาคการศึกษากำลังปรับเปลี่ยนกระบวนการพื้นฐานที่สำคัญจากการที่โรงเรียนต่าง ๆ กำลังก้าวสู่ยุคดิจิตอลและการเข้ามาของระบบ อีเลิร์นนิ่งในห้องเรียนตลอดจนการทำงานและการสนทนาเป็นกลุ่มแบบออนไลน์ (online discussion group) เราอาจปฏิเสธไม่ได้ว่าระบบเทคโนโลยีสารสนเทศมีผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของเราอย่างมากมาย วิวัฒนาการอย่างหนึ่งคือ E-book หรือหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ คำนี้อาจจะเป็นคำใหม่ในความรู้สึกของหลาย ๆ คน แต่ อีกไม่นานจะเป็นที่รู้จัก ในหมู่นักอ่านทั้งหลาย โดยเฉพาะในวงการห้องสมุดซึ่งในอนาคตจะมีการเปลี่ยนแปลงรูปแบบให้เป็นห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์ ห้องสมุดดิจิตอล และ ห้องสมุดเสมือนเทคโนโลยี นี้ก็คงเป็นอีกทางเลือกหนึ่งในยุคศตวรรษที่ 21

ความหมายของ E-book

          Electronic Book (E-Book) หรือ"หนังสืออิเล็กทรอนิกส์" ซึ่งจัดทําขึ้นด้วย ระบบคอมพิวเตอร์ และ สามารถอ่านได้จากหน้าจอคอมพิวเตอร์เหมือนเปิดอ่านจากหนังสือ โดยตรงที่เป็นกระดาษ แต่ไม่มีการเข้าเล่มเหมือนหนังสือที่เป็นกระดาษ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์มีความสามารถมากมายคือ มีการเชื่อมโยง (Link) กับ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เล่มอื่นๆได้ เพราะอยู่บนเครือข่าย www และมีบราวเซอร์ที่ทำหน้าที่ดึงข้อมูลมาแสดงให้ ตามที่เราต้องการเหมือนการเล่นอินเตอร์เน็ตทั่วไปเพียงแต่เป็นระบบหนังสือบนเครือข่ายเท่านั้น หนังสือ อิเล็กทรอนิกส์สามารถแสดงข้อความ รูปภาพ เสียง และภาพเคลื่อนไหวได้ เราสามารถอ่านหนังสือ ค้นหาข้อมูล และสอบถามข้อมูลต่างๆ ทั้งในประเทศและต่างประเทศทั่วโลกได้จากอินเตอร์เน็ต จากคอมพิวเตอร์เพียงเครื่องเดียว หนังสืออิเล็กทรอนิกส์เป็นแฟ้มข้อมูล ประเภทข้อความ (Text File) ซึ่งต้องเป็นไปตามหลักของภาษา HTML (Hyper Text Mask Language) ที่ใช้เขียนโปรแกรมผ่านเครือข่ายคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ที่ใช้กับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ในปัจจุบันมี 2 ประเภท  คือ ซอฟต์แวร์สำหรับการเขียนข้อมูลให้ออกมาเป็น E-Book และ ซอฟต์แวร์สำหรับการอ่าน

วิวัฒนาการของ E - Book

           ความคิดเกี่ยวกับหนังสืออิเล็กทรอนิกส์มีมาภายหลังปี ค.ศ. 1940 ซึ่งปรากฏในนิยาย วิทยาศาสตร์เรื่อง หนึ่ง เป็นหลักการใหม่ของคอมพิวเตอร์ตามแบบแผน IBM มีผลิตภัณฑ์คือ Book Master เนื้อหาหนังสือ อิเล็กทรอนิกส์ในปี 1980 และก่อน 1990 ในช่วงแรกมี 2 ส่วน คือ เรื่องเกี่ยวกับคู่มืออ้างอิงและการศึกษาบันเทิง งานที่เกี่ยวกับการอ้างอิง มักจะเกี่ยวกับเรื่องการผลิตและการเผยแพร่เอกสารทางวิชาการพร้อมๆ กันกับการผลิตที่ ซับซ้อน เช่น Silicon Graphics ด้วยข้อจํากัดทางเทคโนโลยีที่ห่างไกลความจริง เช่น มีปัญหาของจอภาพซึ่งมี ขนาดเล็กอ่านยาก แบตเตอรี่มีอายุการใช้งานสั้น ไม่มีการป้องกันข้อมูลซึ่งเป็นปัญหาเกี่ยวกับเรื่องลิขสิทธิ์ ต่อมาเทคโนโลยีแล็บท็อปคอมพิวเตอร์ได้เข้ามามีส่วนช่วยให้ E-Book มีการรุดหน้าเร็วขึ้นจนสามารถ บรรลุผลในการเป็นหนังสือที่สมบูรณ์แบบ เพราะได้นําบางส่วนของแล็บท็อปมาประยุกต์ใช้จนทำ ให้ E-Book มี คุณภาพและประสิทธิภาพที่ดีได้ นอกจากนี้ Internet ก็ได้รับความนิยมมากขึ้นสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายน้อย ไม่ต้องมีอุปกรณ์ที่จะใช้เก็บข้อมูล สามารถส่งข้อมูลได้คราวละมากๆ มีการป้องกันข้อมูล (Encryption) ใน การพัฒนา E-Book จะมุ่งไปที่ความบางเบาและสามารถพิมพ์ทุกอย่างได้มากที่สุดเท่าที่จะทําได้ให้เหมือนกระดาษ จริงมากที่สุด

ข้อดีและข้อจำกัดของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

         ข้อดีของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ มีข้อดีดังต่อไปนี้

          1. เป็นสื่อที่รวมเอาจุดเด่นของสื่อแบบต่างๆ มารวมอยู่ในสื่อตัวเดียว คือสามารถแสดงภาพ แสง เสียง ภาพเคลื่อนไหว และการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้ใช้

          2. ช่วยให้ผู้เรียนเกิดพัฒนาการเรียนรู้และเข้าใจเนื้อหาวิชาได้เร็วขึ้น

          3. ครูสามารถใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ในการชักจูงผู้เรียนในการอ่าน, การเขียน, การฟังและ การพูดได้

          4. มีความสามารถในการออนไลน์ผ่านเครือข่ายและเชื่อมโยง ไปสู่โฮมเพจและเว็บไซต์ ต่างๆ อีกทั้งยังสามารถอ้างอิงในเชิงวิชาการได้

          5. หากหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ออนไลน์ผ่านเครือข่ายอินเตอร์เน็ตหรืออินทราเน็ต จะทำให้การกระจายสื่อทำได้อย่างรวดเร็วและกว้างขว้างกว่าสื่อที่อยู่ในรูปสิ่งพิมพ์

          6. สนับสนุนการเรียนการสอนแบบห้องเรียนเสมือน ห้องสมุดเสมือนและห้องสมุดอิเล็กทรอนิกส์

          7. มีลักษณะไม่ตายตัว สามารถแก้ไขปรับปรุงเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลา อีกทั้งยังสามารถ เชื่อมโยงไปสู่ข้อมูลที่เกี่ยวข้องได้โดยใช้ความสามารถของไฮเปอร์เท็กซ์

          8. ในการสอนหรืออบรมนอกสถานที่ การใช้หนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะช่วยให้เกิดความ คล่องตัวยิ่งขึ้น เนื่องจากสื่อสามารถสร้างเก็บไว้ในแผ่นซีดีได้ ไม่ต้องหอบหิ้วสื่อซึ่งมีจำนวนมาก

         9. การพิมพ์ทำได้รวดเร็วกว่าแบบใช้กระดาษ สามารถทำสำเนาได้เท่าที่ต้องการประหยัด วัสดุในการสร้างสื่อ อีกทั้งยังช่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอีกด้วย

        10. มีความทนทานและสะดวกต่อการเก็บบำรุงรักษา ลดปัญหาการจัดเก็บเอกสารย้อนหลัง ซึ่งต้องใช้เนื้อที่หรือบริเวณกว้างกว่าในการจัดเก็บ สามารถรักษาหนังสือหายากและต้นฉบับเขียนไม่ให้เสื่อมคุณภาพ

         11. ช่วยให้นักวิชาการและนักเขียนสามารถเผยแพร่ผลงานเขียนได้อย่างรวดเร็ว

         ข้อจำกัดของหนังสืออิเล็กทรอนิกส์

ถึงแม้ว่าหนังสืออิเล็กทรอนิกส์จะมีข้อดีที่สนับสนุนด้านการเรียนการสอนมากมายแต่ก็ยังมี ข้อจำกัดด้วยดังต่อไปนี้

         1. คนไทยส่วนใหญ่ยังคงชินอยู่กับสื่อที่อยู่ในรูปกระดาษมากกว่า อีกทั้งหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ยังไม่สมารถใช้งานได้ง่ายเมื่อเทียบกับสื่อสิ่งพิมพ์ และความสะดวกในการอ่านก็ยังน้อยกว่ามาก

         2. หากโปรแกรมสื่อมีขนาดไฟล์ใหญ่มากๆ จะทำให้การเปลี่ยนหน้าจอมีความล่าช้า

         3. การสร้างหนังสืออิเล็กทรอนิกส์เพื่อให้ได้ประสิทธิภาพที่ดี ผู้สร้างต้องมีความรู้ และความ ชำนาญในการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์และการสร้างสื่อดีพอสมควร

         4. ผู้ใช้สื่ออาจจะไม่ใช่ผู้สร้างสื่อฉะนั้นการปรับปรุงสื่อจึงทำได้ยากหากผู้สอนไม่มีความรู้ด้าน โปรแกรมคอมพิวเตอร์

         5. ใช้เวลาในการออกแบบมากเพราะต้องใช้ทักษะในการออกแบบเป็นอย่างดีเพื่อให้ได้สื่อที่ มีคุณภาพ

ความแตกต่างของ E-Book กับหนังสือทั่วไป

           ความแตกต่างของหนังสือทั้งสองประเภทจะอยู่ที่รูปแบบของการสร้าง การผลิตและการใช้งาน เช่น

          1. หนังสือทั่วไปใช้กระดาษ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไม่ใช้กระดาษ

          2. หนังสือทั่วไปมีข้อความและภาพประกอบธรรมดา หนังสืออิเล็กทรอนิกส์สามารถสร้างให้ มีภาพเคลื่อนไหวได้

          3. หนังสือทั่วไปไม่มีเสียงประกอบหนังสืออิเล็กทรอนิกส์สามารถใส่เสียงประกอบได้

          4. หนังสื่อทั่วไปแก้ไขปรับปรุงได้ยาก หนังสื่ออิเล็กทรอนิกส์สามารถแก้ไขและปรับปรุงข้อมูล ได้ง่าย

          5. หนังสือทั่วไปสมบูรณ์ในตัวเอง หนังสืออิเล็กทรอนิกส์สามารถสร้างจุดเชื่อมโยง (links) ออกไปเชื่อมต่อกับข้อมูลภายนอกได้

          6. หนังสือทั่วไปต้นทุนการผลิตสูง หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ต้นทุนในการผลิตหนังสือต่ำ

          7. หนังสือทั่วไปมีขีดจำกัดในการจัดพิมพ์ หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ไม่มีขีดจำกัดในการจัดพิมพ์ สามารถทำสำเนาได้ง่ายไม่จำกัด

          8. หนังสือทั่วไปเปิดอ่านจากเล่ม หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ต้องอ่านผ่านคอมพิวเตอร์

          9. หนังสือทั่วไปอ่านได้อย่างเดียว หนังสืออิเล็กทรอนิกส์นอกจากอ่านได้แล้วยังสามารถสั่ง พิมพ์ (print)ได้

         10. หนังสือทั่วไปอ่านได้ 1 คนต่อหนึ่งเล่ม หนังสืออิเล็กทรอนิกส์ 1 เล่ม สามารถอ่านพร้อม กันได้จำนวนมาก (ออนไลน์ผ่านอินเทอร์เน็ต)

         11. หนังสือทั่วไปพกพาลำบาก (ต้องใช้พื้นที่) หนังสืออิเล็กทรอนิกส์พกพาได้สะดวกครั้งละ จำนวนมากในรูปแบบของไฟล์คอมพิวเตอร์ ใน handy drive หรือ CD

การสร้างหนังสือ E-book

            สำหรับโปรแกรมที่ใช้ในการสร้างหนังสือ E-book ในปัจจุบันมีด้วยกันหลายโปรแกรมแล้วแต่ผู้ใช้จะเลือก    ซึ่งแต่ละโปรแกรมก็มีวิธีการสร้างแตกต่างกันไปตามประเภทของโปรแกรมที่เราเรียกใช้ แต่สำหรับผู้ที่กำลังเริ่มหัดทำขอแนะนำ โปรแกรม Flip Publisher เนื่องจาก สามารถสร้างงานได้ง่าย ไม่จำเป็นต้องมีความรู้พื้นฐานทางคอมพิวเตอร์ก็สามารถสร้างได้ สามารถนำชิ้นงานที่มีอยู่แล้ว เช่น Microsoft word มาดัดแปลงเป็น e-book ได้โดยง่าย และชิ้นงานที่ได้ยังมีความสวยงามดึงดูดความสนใจผู้เรียนอีกด้วย ส่วนอีกโปรแกรมที่อยากแนะนำ คือ  โปรแกรม Desk top Author ซึ่งมีผู้ที่เคยใช้สร้าง E-book ด้วยโปรแกรมนี้บอกว่า   ในการใช้โปรแกรม Desktop Author สร้าง E-Book นั้น โปรแกรมนี้มีความสามารถเกือบจะสมบูรณ์ในการใช้ทำหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ โดยการยอมรับเฉพาะภาษาไทยของโปรแกรม แม้จะใช้ฟร้อนท์ภาษาไทยได้น้อย ที่ดีสุดคือ MS-Sans Serif ก็ไม่มีปัญหา จุดที่ไม่ยอมรับภาษาไทยอีกจุดหนึ่งคือการรายงานผลการสอบ มีปัญหาแต่เราก็แก้ปัญหานี้ได้ ดังจะได้แนะนำต่อไปค่ะ

           1.ใส่ข้อความ รูปภาพทั้งภาพนิ่ง ภาพเคลื่อนไหว รวมไปยัง Links ต่างๆ ได้ง่ายรวดเร็ว           

           2.ไฟล์ที่ได้มีขนาดเล็ก สามารถส่งทาง E-mail หรือให้ download ได้ทางเว็บไซต์

           3.การพิมพ์ตัวอักษรลงไป เราสามารถเลือกขนาด สี ฟร้อนท์ ได้ในลักษณะเหมือนที่มองเห็น WYSIWYG

           4.ทำลิงค์เชื่อมโยงภายในเอกสาร ต่างเอกสาร หรือไปยังเว็บไซต์ได้

            5.สร้าง Form สำหรับทำแบบทดสอบได้

            6.มี Template และ Botton ให้เลือกใช้ และมีลักษณะเหมืนหนังสือจริง

            7.สามารถกำหนดคุณสมบัติแบบโปร่งใสได้

            8. Publish เป็นเอกสาร Web และดูผ่านเว็บเบราเซอร์ได้

            9. สามารถทำ Package เป็นเอกสารรูปแบบต่าง ๆ ได้หลายรูปแบบ เช่น DNL, DRM, EXE และ SCR

           10.ป้องกันเอกสารได้ คือสามารถใส่ PASSWORD ป้องกันการพิมพ์ออกเครื่องพิมพ์ ป้องกันการ SAVE ได้

           11.เปิดดูได้โดยไม่ต้องอาศัยอินเทอร์เน็ต (Offline) และอาศัยเครื่องคอมพิวเตอร์คุณภาพต่ำเปิดดูได้

การใช้ E - Book เพื่อการเรียนการสอน

            E-Book จัดว่าเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาในรูปแบบใหม่ที่กำลังได้รับความสนใจจากนัก การศึกษาและผู้ที่เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา E-Book จะครอบคลุมหนังสือทั่วๆ ไปที่จัดทำแล้วสามารถอ่านได้ด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศต่างๆ ส่วนใหญ่จะใช้คอมพิวเตอร์ในการอ่านมีโปรแกรมในการอ่านโดย เฉพาะตำราอิเล็กทรอนิกส์จะเป็น E - Book ประเภทหนึ่งที่จำเป็นต้องนำมาจัดการเกี่ยวกับการเรียนการสอนในสังคมการเรียนรู้ในปัจจุบันทุกประเทศเห็นความสำคัญในการจัดทำ E - Book เพื่อประกอบการเรียนการสอนโดยอาศัยเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นตัวช่วยดำเนินการและจัดการให้เกิดระบบการเรียนรู้การจัดการเรียนการสอนในยุคแรกๆ ใช้ระบบสื่อสารที่มีอยู่ในขณะนั้น เช่น การจัดการเรียนการสอนทางวิทยุ โทรทัศน์ ดาวเทียม แต่ในปัจจุบันใช้ระบบเครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อที่สำคัญในการดำเนินการใช้โปรแกรมคอมพิวเตอร์ ในการจัดทำ E - Book อาจเป็นโปรแกรมที่พัฒนาเองหรือใช้ภาษา HTML ในการเขียนหรือใช้โปรแกรมสำเร็จรูปอื่นๆ ช่วยเขียนขึ้นกลายเป็นโปรแกรมช่วยสอนในลักษณะต่างๆ โปรแกรมที่นิยมใช้ในการนำมาจัดการเรียนการสอนในสถาบันการศึกษาต่างๆในขณะนี้ได้แก่ โปรแกรม Blackboard, Syllas, Education Sphere, Advance Vision, Exam Cybernet, WebCT และMediaSTAQ เป็นต้น มีการพัฒนาโปรแกรมเพื่อนำมาจัดการเกี่ยวกับการเรียนการสอนมากมาย บางบริษัทดำเนินการให้บริการทั้งการติดตั้งที่สถานที่ศึกษาและให้บริการในระบบอินเตอร์เน็ต ส่วนในประเทศไทยเริ่มใช้การเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์ในสถานศึกษา มหาวิทยาลัยเปิดจะได้เปรียบในการใช้การเรียนการสอนอิเล็กทรอนิกส์เพราะสามารถตอบสนองความต้องการของผู้เรียนโดยไม่มีข้อจำกัดต่างๆ ในเรื่องของความไม่พร้อมของผู้เรียน ระยะทางของการมาเรียนหรือเวลาที่จะต้องเรียน

ความสัมพันธ์ของ E – Book ในยุคการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21

           จะเห็นว่าการพัฒนาผู้เรียนในยุคศตวรรษที่ 21นั้น แตกต่างจากยุคที่ผ่านมา เนื่องจากโลกเปลี่ยนแปลงจากความก้าวหน้าของเทคโนโลยี ทำให้การใช้ชีวิตของคนยุคศตวรรษที่ 21 แตกต่างจากคนรุ่นศตวรรษที่ 20 การเปลี่ยนแปลงนี้เน้นการเรียนรู้เนื้อหาสาระตามหลักสูตร และที่เกิดขึ้นใหม่ในศตวรรษที่ 21 ควบคู่ไปกับการพัฒนาทักษะชีวิต ทักษะการคิดและการเรียนรู้ และความรู้ความสามารถทางไอซีที ทำให้การประเมินผลลัพธ์ต้องครอบคลุมหลายด้าน นอกเหนือจากด้านเนื้อหาสาระ

            ระบบการเรียนรู้ในยุคศตวรรษที่ 21 นี้ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้จัดการเรื่องการเรียนรู้ของตนเอง โดยใช้ระบบเครือข่าย การเรียนรู้จากคอมพิวเตอร์จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ดังนั้นหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนจะถูกจัดแยกเป็นประเภท ผู้เรียนมีโอกาสเลือกเรียนหลักสูตรที่หลากหลายมากขึ้น ในส่วนของตัวครูผู้สอนนั้นครูจะมีบทบาทในฐานะเป็นตัวแทนของการเรียนรู้ (learning agent) ต้องมีแผนการเรียนรู้เป็นรายบุคคล (personal learning plan) และจัดทำระบบการประเมินจะหลากหลายมากขึ้น ไม่ได้วัดเฉพาะความรู้ในแบบทดสอบเท่านั้น ฉะนั้นการเรียนรู้ในยุคนี้เทคโนโลยีมีบทบาทมาก E-Book จึงเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาที่ จะช่วยให้ผู้เรียนได้เรียนรู้ด้วยตนเอง มีโอกาสได้ทบทวนความรู้ด้วยตนเองมากขึ้น โดยที่ตัวครูผู้สอนนั้นจะมีคุณลักษณะเป็นผู้ชี้แนะการเรียนรู้ (learning coach) และ เป็นตัวแทนในการนำผู้เรียนท่องเที่ยวไปสู่โลกแห่งการเรียนรู้ได้ (learning travel agent) หนังสือ E-Book มีการพัฒนารูปแบบต่าง ๆ เพื่อเร้าความสนใจให้กับผู้เรียน ประกอบกับเพื่อให้เข้ากับยุคของการเรียนรู้ในยุคนี้เรามักจะพบ E – Book ในรูปลักษณ์ที่มีทั้งภาพและเสียงที่ได้รับการพัฒนาโดยโปรแกรมต่าง ๆ เพิ่มขึ้นมาอีก

สรุป

           จะเห็นได้ว่า E – Book ในยุคศตวรรษที่ 21 เป็นยุคแห่งการพัฒนาทางด้านเทคโนโลยี ส่งผลให้ผู้เรียนเกิดทักษะและการเรียนรู้ด้วยตนเองมากที่สุด เพื่อสนองตอบความหลากหลายทางด้านสติปัญญา ของผู้เรียนแต่ละคน พร้อมทั้งให้ความสำคัญกับการจัดการศึกษาที่บ้าน (home – based education) มากขึ้น ผู้เรียนสามารถเรียนอยู่ที่บ้าน โดยเรียนจากประสบการณ์ของนักการศึกษาที่มีความรู้ในเรื่องนั้นๆ โดยตรง ซึ่งนับว่าเป็นนวัตกรรมแห่งการเรียนรู้ใหม่ที่น่าค้นหา เพื่อผู้เรียนจะเกิดองค์ความรู้ต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

แหล่งอ้างอิง

http://coe.sdsu.edu/eet

www.getdd.net/techno/62-ebookdefine.html

http://www.csjoy.com/story/net/webp.htm.

http://www.koogun.net/media/E-book/media6.htm

http://eduarea.bkk2ict.net/flip_e_book/flip_publisher1.htm

http://www.drpaitoon.com/

http://krumali.maeai.com/ebook/ebook_01.html

www.gotoknow.org/blogs/posts/374764

หมายเลขบันทึก: 492822เขียนเมื่อ 29 มิถุนายน 2012 13:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 มิถุนายน 2012 13:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท