ยุครัดเข็มขัดของมหาวิทยาลัยอเมริกัน


 

          นสพ. International Herald Tribune ฉบับวันที่ ๑๖ พ.ค. ๕๕ หน้า ๑๘ ลงเรื่อง Rising student debt pushes colleges to trim operating costs บอกผมว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยไทยดูจะโชคดีกว่าผู้บริหารมหาวิทยาลัยอเมริกัน   เพราะเขาเผชิญปัญหาการเงินอย่างรุนแรง   ต้องหาทางบริหารประสิทธิภาพทุกวิถีทาง


          เขาบอกว่า อธิการบดีของ Ohio State University (E. Gordon Gee) ระบุว่าท่านจะหาทางขจัดค่าใช้จ่ายที่ไม่มีประสิทธิภาพ ๑ พันล้านเหรียญ จากเงินค่าใช้จ่ายประจำปี ๕ พันล้านเหรียญ   ซึ่งหมายถึงการรัดเข็มขัดลงไปร้อยละ ๒๐ โดยที่ผลงานคงเดิม   นี่คือความท้าทาย ที่มหาวิทยาลัยไทยยังไม่เคยเผชิญ   แต่อธิการบดีมหาวิทยาลัยสหรัฐอเมริกาเผชิญอย่างหน้าชื่นตาบาน


          บทความบอกว่า ที่ผ่านมามหาวิทยาลัยเพิ่มค่าเล่าเรียน และแข่งกันเรียกนักศึกษาด้วยบริการหรูหราราคาแพง   ยุคนั้นได้ผ่านไปแล้ว   เวลานี้เป็นยุคลดค่าใช้จ่ายโดยต้องคงคุณภาพเดิมหรือสูงกว่าเดิม   เพราะเป็นที่รู้กันว่า บัณฑิตอเมริกันมีหนี้สินจากการจ่ายค่าเล่าเรียนสูงเกินไป


          บทความนี้เน้นที่รัฐโอไฮโอ เขามีข้อมูลว่าโดยเฉลี่ย บัณฑิตของรัฐมีหนี้คนละ $31,515คือกว่าล้านบาท   ทางรัฐถูกเรียกร้องให้กำหนดให้มหาวิทยาลัยของรัฐไม่เพิ่มค่าเล่าเรียน   ผู้บริหารมหาวิทยาลัยจึงต้องเน้นบริหารประสิทธิภาพ    และมีผลให้มหาวิทยาลัยเอกชนก็ต้องหันมาปรับตัวแบบเดียวกัน   เพราะถ้าเพิ่มค่าเล่าเรียนจะแข่งขันยาก


          ใน สรอ. มีข้อดีคือเขาเปิดเผยโปร่งใส   อธิการบดี ม. โอไฮโอ สเตท ได้รับคำยกย่องว่าเก่งและทำประโยชน์แก่มหาวิทยาลัยมาก    โดยได้รับค่าตอบแทนปีละ ๒ ล้านเหรียญ และมีค่าเดินทางปีละ ๕๕๐,๐๐๐ เหรียญ   ก็ถูกแรงกดดันว่า พยายามลดค่าใช้จ่ายส่วนอื่น แต่ของตนเองค่าใช้จ่ายสูง โดยบทความบอกว่าท่านผู้นี้เคยเป็นอธิการบดีมาแล้วถึง ๕ แห่ง    มีฝีมือสูงมาก   ได้ชื่อว่าเป็นอธิการบดีมหาวิทยาลัยของรัฐที่เงินเดือนสูงที่สุดในสหรัฐอเมริกา


          ใต้ชื่อบทความนี้เป็นข้อความตัวอักษรขนาดใหญ่เพื่อสื่อสาระสำคัญ เขียนว่า U.S. public universities turn to privatization and staff cuts to save money   ผมพยายามจับความว่าเขา privatize อย่างไร   สรุปได้ว่า เขาไม่ privatize งานหลัก   แต่ privatize งานสนับสนุน เช่น มหาวิทยาลัย โอไฮโอ สเตท กำลังพิจารณาขายสนามบินของมหาวิทยาลัย  ขายสนามกอล์ฟ และอาจปล่อยให้บริการจอดรถเป็นบริการแบบธุรกิจเอกชน   ผมแปลกใจที่มหาวิทยาลัยถึงกับมีสนามบิน และสนามกอล์ฟ ของตนเอง    แต่สังเกตให้ดีนะครับ เวลานี้กิจการสนับสนุนหลายอย่างของมหาวิทยาลัยไทยก็คล้ายๆ privatize ไปแล้ว   เช่นหอพักนักศึกษา   ผมเดาว่าต่อไปบริการที่จอดรถก็จะหนีไม่พ้นต้องแยกไปจัดการแบบกึ่งธุรกิจ ให้เลี้ยงตัวเอง หรือหาเงินมาสนับสนุนงานหลักคืองานวิชาการ


          วิธีรัดเข็มขัดของเขาคือ รวบเอางานเชิงบริการมาดูแลโดยส่วนกลาง เช่นเขาบอกว่าประหยัดเงินได้ถึงปีละ ๒๐ ล้านเหรียญจากการดึงเอาการซื้อเครื่องเขียนและบริการถ่ายเอกสารมาจัดการโดยส่วนกลาง    ไม่ใช่คณะ ๑๔ คณะแยกกันจัดการอย่างแต่ก่อน   เรื่องการจัดการโดยส่วนกลางในบางเรื่องโดยใช้วิธีการจัดการอย่างมืออาชีพนี้มหาวิทยาลัยมหิดลมีประสบการณ์การจัดตั้งศูนย์บริหารสินทรัพย์และจ้างผู้บริหารภายนอกที่มีประสบการณ์และความสามารถเข้ามาดูแล สินทรัพย์งอกเพิ่มจากปีละ ๑๐๐ ล้าน เป็น ๓๐๐ ล้าน


          ยามเศรษฐกิจไม่ดี ผู้คนยากลำบาก มหาวิทยาลัยจะมาแข่งกันขึ้นค่าเล่าเรียนอย่างที่เคยทำมาในอดีตไม่ได้แล้ว   ใน สรอ. มีข้อดีคือเขามีระบบข้อมูลดี   และมีการทำวิจัยบอกให้สังคมรับรู้    ในอดีตหลายปีที่ผ่านมามหาวิทยาลียอเมริกันถูกสังคมตำหนิมาก ว่าแข่งกันขึ้นค่าเล่าเรียน   ทำให้ตัวเลขหนี้สินของบัณฑิตสูงขึ้นมากมาย   ตัวเลขนี้เป็นแรงกดดันให้มหาวิทยาลัยต้องปรับตัว สร้างการเปลี่ยนแปลงเชิงบวก เพื่อแสดงความรับผิดชอบต่อสังคม


          ผมอยากเห็นเรื่องราวของการปรับตัวทำนองเดียวกันของมหาวิทยาลัยไทย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๑๗ พ.ค. ๕๕

ห้องรับรองผู้โดยสาร สายการบิน ลุฟท์ฮันซ่า   แฟรงค์เฟิร์ต

หมายเลขบันทึก: 492022เขียนเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:55 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท