ครู Eng' ธารทหารครับ
นาย มณเฑียร ชื่อจีน: หวง เมิง เถียน ชัยประเสริฐ

WBI: เปลี่ยนโฉมการเรียนไทย ได้จริงหรือ


WBI: เปลี่ยนโฉมการเรียนไทย ได้จริงหรือ

มณเฑียร ชัยประเสริฐ

นิสิตปริญญาโทชั้นปีที่ 2

สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา มหาวิทยาลัยนเรศวร

E-mail: [email protected]

 

รูปภาพประกอบ จากเว็บไซต์ http://www.sueksa.go.th/

          ตั้งแต่อดีตเป็นต้นมามนุษย์ให้ความสำคัญต่อการศึกษาเป็นอย่างมาก เนื่องเพราะการศึกษาสามารถพัฒนามนุษย์ให้เป็นผู้มีความรู้ ความคิด และความสามารถในการสร้างสรรค์สิ่งต่าง ๆที่เป็นประโยชน์แก่ตัวเองและสังคม ดังนั้นนักการศึกษาจึงพยายามคิดค้นนวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษาใหม่ ๆ ซึ่งนวัตกรรมและเทคโนโลยีการศึกษาก็คือ การนำความก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์เทคโนโลยี ทั้งวัสดุ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องจักรกลไก รวมทั้งเทคนิควิธีการต่าง ๆ มาประกอบการจัดกิจกรรมการเรียนการสอน เพื่อมุ่งหวังให้การเรียนการสอนเกิดประสิทธิผลสูงสุดต่อการเรียนรู ต่อผู้ศึกษา ตามจุดมุ่งหมายและวัตถุประสงค์ของหลักสูตรนั้นๆ  (กิดานันท์ มลิทอง, 2544)

          ปัจจุบันการศึกษาได้รับการพัฒนาไปอย่างมาก รวมทั้งเทคโนโลยีทางการศึกษาก็ได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็วเช่นเดียวกัน โดยเฉพาะการเข้ามาของเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ต สำหรับประเทศไทยได้รู้จักอินเตอร์เน็ตประมาณ 20 ปีที่ผ่านมา โดยการนำมาใช้ในสถาบันอุดมศึกษา ถึงแม้ว่าการใช้อินเทอร์เน็ตในครั้งนั้นจะเป็นเพียงแค่การติดต่อสื่อสารระหว่างองค์กรการศึกษา แต่ก็ถือได้ว่าเป็นการใช้เทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตสำหรับวงการศึกษา และถือจุดเริ่มต้นของการนำเทคโนโลยีอินเตอร์เน็ตมาประยุกต์ใช้กับการศึกษาต่อไปในอนาคต

          จากจุดเริ่มต้นดังกล่าว นักเทคโนโลยีทางการศึกษา ได้เห็นถึงความสำคัญและประโยชน์ของการใช้ เทคโลยีอินเทอร์เน็ต จึงได้คิดค้นนวัตกรรมการเรียนการสอนที่สามารถให้ผู้เรียนเรียนรู้ผ่านอินเทอร์เน็ต หรือภาษาอังกฤษเรียกว่า WBI ซึ่งถือว่าเป็นรูปแบบการเรียนการสอนแนวใหม่ ที่มีรูปแบบแตกต่างจากการสอนแบบดั้งเดิม คือ การเรียนการสอนที่อยู่จำกัดอยู่ภายในห้องเรียน การเรียนรู้เน้นการอ่าน เขียน และการท่องจำจากตำรา บางคนอาจสงสัยว่า WBI คืออะไร และสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในการเรียนได้อย่างไร สิ่งแรกที่เราควรรู้เกี่ยวกับ WBI ก็คือ ความหมาย WBI หรือ Web Based Instruction มีนักการศึกษาทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศในความความหมายไว้มากมาย ได้แก่

          คาน (Khan, 1997) กล่าวไว้ว่าเป็นการเรียนการสอนที่อาศัยโปรแกรมไฮเปอร์มีเดียที่ช่วยในการสอน โดยการใช้ประโยชน์จากคุณลักษณะและทรัพยากรของอินเทอร์เน็ต มาสร้างให้เกิดการเรียนรู้อย่างมีความหมายโดยส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้อย่างมากมายและสนับสนุนการเรียนรู้ในทุกทาง

          ต่อมาคือ ลานเพียร์ (Laanpere, 1997) ได้ให้นิยามของการเรียนการสอนผ่านเว็บว่า เป็นการจัดการเรียนการสอนผ่านสภาพแวดล้อมของเวิลด์ไวด์เว็บ ซึ่งอาจเป็นเพียงส่วนหนึ่งของการเรียนการสอนในหลักสูตรมหาวิทยาลัย ส่วนประกอบการบรรยายในชั้นเรียน การสัมมนาโครงการกลุ่มหรือการสื่อสารระหว่างผู้เรียนกับผู้สอนหรืออาจเป็นลักษณะของหลักสูตรที่เรียนผ่านเวิลด์ไวด์เว็บโดยตรงทั้งกระบวนการเลยก็ได้ การเรียนการสอนผ่านเว็บนี้เป็นการรวมกันระหว่างการศึกษาและการฝึกอบรมเข้าไว้ด้วยกันโดยให้ความสนใจต่อการใช้ในระดับ การเรียนที่สูงกว่าระดับมัธยมศึกษา

          ส่วนนักการศึกษาของไทยที่ให้ความหมายของ WBI ได้แก่ ถนอมพร เลาจรัสแสง (2544) ให้ความหมายว่า การสอนบนเว็บ (Web-Based Instruction) เป็นการผสมผสานกันระหว่างเทคโนโลยีปัจจุบันกับกระบวนการออกแบบการเรียนการสอนเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพทางการเรียนรู้และแก้ปัญหาในเรื่องข้อจำกัดทางด้านสถานที่และเวลา โดยการสอนบนเว็บจะประยุกต์ใช้คุณสมบัติและทรัพยากรของเวิลด์ ไวด์ เว็บ ในการจัดสภาพแวดล้อมที่ส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนการสอน ซึ่งการเรียนการสอนที่จัดขึ้นผ่านเว็บนี้อาจเป็นบางส่วนหรือทั้งหมดของกระบวนการเรียนการสอนก็ได้

          วิชุดา รัตนเพียร (2542) กล่าวว่าการเรียนการสอนผ่านเว็บเป็นการนำเสนอโปรแกรมบทเรียนบนเว็บเพจโดยนำเสนอผ่านบริการเวิลด์ไวด์เว็บในเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ซึ่งผู้ออกแบบและสร้างโปรแกรมการสอนผ่านเว็บจะต้องคำนึงถึงความสามารถและบริการที่หลากหลายของอินเทอร์เน็ต และนำคุณสมบัติต่างๆเหล่านั้นมาใช้เพื่อประโยชน์ในการเรียนการสอนให้มากที่สุด

          กล่าวโดยสรุปคือ Web Based Instruction (WBI) คือ การออกแบบระบบการเรียนการสอนโดยใช้เครือข่ายอินเตอร์เน็ตเป็นสื่อกลางในการถ่ายทอดความรู้ และพัฒนาการเรียนให้มีประสิทธิภาพเพื่อแก้ไขปัญหาในเรื่องของเวลาและสถานที่

          เราปฏิเสธไม่ได้เลยว่ายุคโลกาภิวัฒน์ ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงโลกอย่างมากมาย ผู้คนทั่วโลกสามารถรับรู้ข่าวสารข้อมูลได้อย่างรวดเร็วแม่นยำจากระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต ที่ไม่ได้จำกัดการรับรู้แค่การอ่านหนังสือ ฟังวิทยุ หรือดูโทรทัศน์เท่านั้น ในวงการศึกษาก็มีการเปลี่ยนแปลงเช่นเดียวกัน จากอดีตที่การเรียนการสอนของไทยยึดติดการการสอนในห้องเรียนมีครูผู้สอนเป็นศูนย์กลาง ครูจะยืนอยู่หน้าชั้นเรียนสอนเนื้อหาสิ่งเดียวกันเวลาเดียวกันต่อหน้านักเรียนจำนวนมาก และครูส่วนใหญ่ก็จะตั้งความหวังไว้ว่านักเรียนทุกคนจะต้องเรียนได้เท่าๆ กัน ซึ่งขัดกับหลักจิตวิทยาว่าด้วยความแตกต่างระหว่างบุคคลซึ่งแต่ละคนมีความแตกต่างกันหลายประการ เช่น บุคลิกภาพ ทัศนคติ สติปัญญา และความสนใจ เป็นต้น และความแตกต่างนี้ยังขึ้นอยู่กับสภาพทาง สังคมและวัฒนธรรมทำให้มีพฤติกรรมการสื่อสารและการเลือกเปิดรับสารที่แตกต่างกัน (Defleur, 1989, p. 173)  ดังนั้นจะเห็นได้ว่าผู้เรียนแต่ละคนจะรับความรู้ที่ถ่ายทอดได้ไม่เท่ากัน การสอนโดยยึดครูเป็นศูนย์กลางเพียงอย่างเดียวจะไม่ตอบสนองความแตกต่างรายบุคคลได้ครบทั้งหมด จึงทำให้ผู้เรียนบางส่วนเกิดความเบื่อหน่าย ไม่อยากเรียน และเกิดพฤติกรรมต่างๆที่ครูคิดว่าเป็นปัญหา เมื่อปัญหาการเรียนการสอนของไทยเป็นดังที่กล่าวมาดังนี้แล้ว รัฐบาลจึงจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องปฏิรูปการศึกษาใหม่โดยนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ นั่นก็คือ อินเตอร์เน็ต นั่นเอง

          ตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551 ได้ระบุให้ผู้เรียนมีสมรรถนะสำคัญ 4 ประการ ได้แก่ 1. ความสามารถในการสื่อสาร  2. ความสามารถในการคิด 3. ความสามารถในการแก้ปัญหา 4. ความสามารถในการใช้ทักษะชีวิต 5. ความสามารถในการใช้เทคโนโลยี  โดยเฉพาะข้อที่ห้าได้ก่อให้เกิดกระแสความตื่นตัวในการใช้เทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตกับการศึกษาเป็นอย่างมาก รัฐบาลได้ทุ่มเทงบประมาณจำนวนมหาศาลสำหรับการพัฒนาเทคโนโลยี มีโครงการจัดสรรเครื่องคอมพิวเตอร์ การติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตในโรงเรียนทั่วประเทศ และมีการจัดการฝึกอบรมบุคลากรด้าน IT นอกจากนี้หน่วยงานรัฐและเอกชนต่างๆ จัดการเรียนการสอนผ่านเว็บ มี Web Page ที่เป็นลักษณะ WBI : Web Based Instruction บุคคลทั่วไปสามารถเข้าไปศึกษาบทเรียนได้ โดยมีแบบทดสอบก่อนเรียน แบบทดสอบหลังเรียน และเนื้อหาแบ่งออกเป็นตอนๆ ให้ผู้เรียนเข้าไปศึกษา ถึงแม้ว่าจะไม่ได้เป็นรูปแบบการเรียนการสอนผ่านเว็บอย่างเต็มรูปแบบ ก็นับว่าเป็นโอกาสอันดีที่มีคนให้ความสนใจในการจัดการศึกษาผ่านเว็บ ซึ่งกำลังได้รับการพัฒนารูปแบบการเรียนการสอนผ่านเว็บให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น  ตัวอย่างเช่น เว็บไซต์ http://www.lms.moe.go.th/ เป็นเว็บไซต์บทเรียนสำเร็จรูปผ่านเว็บไซต์ของกระทรวงศึกษาธิการ เว็บไซต์ http://www.kanid.com/ เป็นเว็บไซต์การเรียนการสอนคณิตศาสตร์ เว็บไซต์ http://karn.tv/ เป็นเว็บไซต์ การจำลองห้องเรียนเสมือนระดับชั้น ป.1 – ป.3  และ http://www.trueplookpanya.com/ เว็บไซต์ทรูปลูกปัญญา มีบทเรียนสำเร็จรูปตั้งแต่ระดับประถมศึกษาถึงมัธยมศึกษาตอนปลาย เป็นต้น

          จากตัวอย่างเว็บไซต์ที่กล่าวมาข้างต้นสังเกตได้ว่าการเรียนการสอนผ่านเว็บไซต์มีรูปแบบที่หลากหลาย บางเว็บไซต์มีคุณภาพสามารถใช้การสอนได้จริงแต่บางเว็บไซต์อาจมีปัญหาเรื่องความถูกต้องของเนื้อหา เรื่องของการประเมินผลที่ไม่สอดคล้องกับผลการเรียนรู้ของผู้เรียน ทั้งนี้ทั้งนั้นครูผู้สอนต้องรู้จักคัดเลือกเว็บไซต์ให้เหมาะสมทั้งเนื้อหาและตัวผู้เรียนเป็นสำคัญ     

          ในปัจจุบันระบบอินเทอร์เน็ตจะมีความความเร็วสูงขึ้นและความสะดวกในการเข้าถึงแหล่งข้อมูลมากขึ้นก็ตาม แต่ความแพร่หลายของสัญญาณอินเทอร์เน็ตยังจำกัดอยู่ในเขตเมืองมากกว่าชนบท  ถึงแม้กระทรวงศึกษาธิการจะแก้ปัญหาดังกล่าวด้วยการติดตั้งระบบอินเทอร์เน็ตผ่านดาวเทียมสำหรับโรงเรียนที่สายโทรศัพท์เข้าไม่ถึง แต่ด้วยความเร็วและความเสถียรของสัญญาณก็ยังไม่สามารถเทียบเท่ากับการใช้สัญญาอินเทอร์เน็ตจากสายโทรศัพท์ได้ อีกทั้งจำนวนเครื่องคอมพิวเตอร์สำหรับการเรียนการสอนมีจำนวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ ทำให้การใช้อินเตอร์เพื่อการเรียนการสอนในพื้นที่ทุกกันดารมีปัญหาไม่สามารถใช้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ครูผู้สอนบางท่านยังไม่เคยใช้คอมพิวเตอร์ ไม่เคยเข้าอินเทอร์เน็ตเพื่อใช้ในการค้นคว้าหาข้อมูล ไม่มีทักษะในการนำบทเรียนผ่านเว็บมาใช้ในกิจกรรมการเรียนการสอนของตนเอง เพียงแค่นี้ก็รู้ได้เลยว่านักเรียนก็คงไม่สามารถใช้ประโยชน์จากการเรียนการสอนผ่านเว็บได้ การเรียนการสอนในห้องก็คงเป็นรูปแบบเดิม ๆ ต่อไป

           การเปลี่ยนโฉมการเรียนของไทยไม่ใช่เรื่องที่จะทำได้ง่ายแต่ไม่ใช่ว่าจะทำไม่ได้ การพัฒนาด้านเทคโนโลยีเพียงด้านเดียวอาจไม่ใช่คำตอบที่ถูกของการปฏิรูปการศึกษาไทย  สิ่งสำคัญในการจัดการเรียนการสอนก็คือ ผู้เรียน ครูผู้สอนจะทำอย่างไรให้ผู้เรียนเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ คือ มีความรู้ และคุณธรรม ดังนั้นครูผู้สอนจึงควรเน้นที่กระบวนการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญเพื่อให้ผู้เรียนพัฒนาตามธรรมชาติและเต็มศักยภาพ ในขณะเดียวกันรัฐบาลต้องจริงใจในการปฏิรูปการศึกษา นอกเหนือจากงบประมาณในการพัฒนาการศึกษาแล้ว การสร้างบุคลากรสายผู้สอนที่มีความรู้ความสามารถก็เป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การขับเคลื่อนการศึกษาของไทยไปตามเจตจำนง  หากเรายังตอบไม่ได้ว่าเราจัดการศึกษาเพื่ออะไร และเพื่อใคร คงเป็นไปได้ยากหากจะบอกว่าการเรียนการสอนของไทยมีการพัฒนา ตราบใดปัญหาดังกล่าวยังไม่แก้ไขอย่างจริงจัง

 

******************

 

เอกสารอ้างอิง

     กระทรวงศึกษาธิการ. หลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551. กรุงเทพมหานคร :  

โรงพิมพ์ชุมนุมสหกรณ์การเกษตรแห่งประเทศไทย จำกัด, 2551.

     กระทรวงศึกษาธิการ. Learning Management System (LMS) สืบค้นเมื่อ 7 พฤกษาคม 2555 จาก http://www.lms.moe.go.th/

     กิดานันท มลิทอง. สื่อการสอนและฝกอบรมจากสื่อพื้นฐานถึงสื่อดิจิทัล จุฬาลงกรณมหาวิทยาลัย ศูนยหนังสือจุฬาฯ กรุงเทพฯ, 2544.

     คณิตดอดคอม. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 255 เว็บไซต์ http://www.kanid.com/    

     จุดอ่อนของการจัดการเรียนการสอนแบบเดิมๆมองหาสิ่งใหม่ๆที่ดีกว่าเพื่อเติมเต็มและลด Gap ของปัญหาการจัดการเรียนการสอนแบบเดิมๆ (2010). สืบค้นเมื่อ 9 พฤษภาคม 2555 จาก http://www.dusittrang.com/main/index.php/.

     ถนอมพร เลาหจรัสแสง (2544). การสอนบนเว็บ (Web-Based Instruction) นวัตกรรมเพื่อคุณภาพการเรียนการสอน .วารสารศึกษาศาสตร์สาร ปีที่ 28 ฉบับที่ 1 มกราคม-มิถุนายน 2544 หน้า 87-94

     ทรูปปลูกปัญญา. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม 255 จาก www.trueplookpanya.com

     ปัญหาการศึกษาไทย ทัศนะ Constructionism กับการเรียนการสอน: ตอนที่ 1 ปัญหาการเรียนการสอนของไทย. สืบค้นเมื่อ 7 พฤษภาคม จากเว็บไซต์ http//www.kmutt.ac.th/organization/Education/Technology/tech_ed/constructionism/constructionism1.html

     รุ่ง   แก้วแดง. โรงเรียนนิติบุคคล. กรุงเทพมหานคร : สำนักพิมพ์วัฒนาพานิช, 2546

     วิชุดา รัตนเพียร. (2542).การเรียนการสอนผ่านเว็บ: ทางเลือกใหม่ของเทคโนโลยีการศึกษาไทย. วารสารครุศาสตร์. ปีที่ 27 ฉบับที่ 3 (มีนาคม 2542): 29-35.

     ศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ. (2537) ความเป็นมาของอินเทอร์เน็ตในประเทศไทย. กรุงเทพฯ, ประเทศไทย     

     Defleur, M. (1989). Theories of mass communication (5 th ed.). New York: Longman.

     Khan, Badrul H (1997). Web-Based Instruction. Englewood Cliffs, New Jersey : EducationalTechnology Publications,.

     Kan.TV โลกแห่งการเรียนรู้ของเด็ก. สืบค้นเมื่อ 5 พฤษภาคม 2555 เว็บไซต์ http://karn.tv/.

    Laanpere, M. (1997). Defining Web-Based Instruction. [On-Line]. Available: http://viru.tpu.ee/WBCD/defin.htm

    

 


คำสำคัญ (Tags): #wbi#web based instruction#www.
หมายเลขบันทึก: 491964เขียนเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:29 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 20:29 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท