@@เสบียงทิพย์@@


......ขอก่อนแล้วจ่ายทีหลัง กับจ่ายก่อนแล้วได้ทีหลัง มันต่างกันไหมนะ......

 

 

จากการเดินทางไปเยี่ยมถิ่นเกิดที่เชียงรายครั้งนั้น  พอจะมีเวลาบ้างก็เลยเสาะแสวงหาเสบียงบุญเอาไว้  ตกลงพากันไปที่วัดงำเมือง ซึ่งตั้งอยู่บนเนินเขาใกล้ๆกับศาลากลางหลังเก่า  เป็นวัดเก่าแก่และเป็นที่ตั้งของกู่ ( สถูป ) พระยามังราย  แต่เดิมเป็นที่บรรจุพระอัฐิของพระยามังรายมหาราช  ต่อมาจึงได้บูรณะเพิ่มขึ้น  มีวัด  มีวิหารรวมทั้งเสนาสนะในวัด  ช่วงที่ไปก็ยังมีการก่อสร้างและบูรณะเพิ่มเติมกันอยู่

 

 

ว่ากันว่า....อนุสาวรีย์พระยามังรายที่ตั้งอยู่ด้านหน้าของกู่นั้น   มักจะมีผู้คนมากราบไหว้และบนบานศาลกล่าวเพื่อให้สมประสงค์ในสิ่งที่คิดและหวังอยู่เสมอ  และมักจะสำเร็จได้ด้วยดี  สังเกตจากสิ่งที่แก้บนทั้งหลายเต็มไปหมด  โดยการที่เราจะบนในใจไม่ได้   ต้องเขียนลงในกระดาษ  แจ้งชื่อนามสกุลพร้อมทั้งขอในสิ่งที่ต้องการ  พับแล้วนำไปสอดไว้ใต้พระบาทของรูปปั้น  ไหนๆก็มาแล้วนี่  krugui ก็เขียนกับเขามั่งแล้วนำไปสอดไว้เหมือนคนอื่นๆ  ไม่ได้ขอเพื่อตัวเองหรอกขอเพื่อส่วนรวมแล้ว.....สบายใจ

หากวิเคราะห์ดูแล้วนับว่าเป็นจิตวิทยาแบบหนึ่ง  ที่ให้เขียนชื่อนามสกุลเอาไว้  แต่ละคนจะได้ไม่สุมสี่สุ่มห้าขอและบนแล้วไม่ทำตามนั้น อย่างน้อยๆก็เกรงๆอยู่เพราะมันมีหลักฐานชัดเจน.....

 

 

เมื่อมีเวลาพอ  พวกเราจึงมุ่งหน้าไปยังอีกวัดหนึ่งที่อยู่ห่างออกไปประมาณ 8  กิโลเมตร ชื่อวัดห้วยปลากั้ง ( พบโชคธรรมเจดีย์ )   วัดนี้ตั้งอยู่บนเนินเขาเด่นเห็นแต่ไกลและอยู่ท่ามกลางท้องไร่ท้องนา  บรรยากาศโดยทั่วไปสงบ  วันที่ไปนั้นอากาศดีมากจึงมีผู้คนแวะเวียนกันมามากมาย( มาทราบภายหลังว่าส่วนใหญ่มุ่งมาดูดวง )   วัดนี้มีลักษณะแปลกตาเป็นทรงเจดีย์เก้าชั้นสวยงาม  มีรูปมังกรอยู่บนหลังคาและบันไดทางขึ้น     ผสมผสานกันระหว่างไทยกับจีน  สังเกตจากมีรูปเจ้าแม่กวนอิมซึ่งแกะสลักจากไม้ทั้งหมด  ภายในวัดเงียบและเย็นมีเสียงสวดแบบจีนเบาๆ  ช่วยให้ผ่อนคลายและเกิดศรัทธา....

 

 

แต่เดิมมาบริเวณที่ตั้งวัดเป็นแค่สำนักสงฆ์  จนปีพ.ศ. 2548    ด้วยการแนะนำของเจ้าคณะตำบลริมกกตลอดจนชาวบ้านและคณะศรัทธาจึงนิมนต์   พระอาจารย์พบโชค  ติสสวังโส  ซึ่งมีความรู้เรื่องโหราศาสตร์และการทำนายทายทักตลอดจนดูฮวงจุ้ย  ให้มาอยู่และช่วยพัฒนาวัดนี้ต่อไป  โดยพระอาจารย์บอกไว้ว่า.....จะทำให้พระ พุทธศาสนาเกิดขึ้นที่นี่ ด้วยใจมุ่งมั่นรับใช้ต่อพระศาสนา จึงยอมทนเหน็ดเหนื่อยกับการรับแขก ญาติโยมกระจายกว้างไปเรื่อยๆ หลายจังหวัดจนเป็นที่รู้จัก “พระอาจารย์พบโชค” ใหม่ๆ ก็นึกอายเป็นพระหมอดู หลายคนก็ดูถูกดูแคลน ท้อใจหลายครั้งจะเลิกหลายหนแต่ก็ทนเพื่อให้สู่จุดหมายที่คิดไว้ อาตมา รู้ การ ดูดวงเป็นเพียงเปลือกกระพี้ของศาสนาเท่านั้น ไม่ใช่แก่น แต่ ตราบใดที่ต้นไม้ยังต้องมีเปลือกกระพี้หุ้มแก่นจึงเติบโต ศาสนาก็เช่นกัน อาตมาจึงยิ่งทำมากขึ้น........

 

 

ด้วยแรงศรัทธาจากญาติโยมและเงินขันครูดูดวง  ผู้อุปถัมภ์หลักผู้อุปถัมภ์รอง       ประกอบกับวินัยทางการเงินและความซื่อสัตย์ต่อศาสนา  ทำให้วัดแห่งนี้เป็นรูปเป็นร่างและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักไปทั่ว  แต่กว่าจะเป็นอย่างปัจจุบันพระอาจารย์ก็ย้อนให้เห็นว่า......จำได้ว่า วันแรกที่มาจำวัดนี้ นิมิตฝันเห็นบนดอยลูกนี้เป็นเจดีย์ขนาดใหญ่สูงมาก แต่เห็นเป็นชั้นๆ คนเดินขึ้นได้มี 9 ชั้น สวยงามมาก เก็บความคิดนีไว้ในใจ จนกระทั่งมีวิศวกรจากกรุงเทพฯมานั่งดูดวง ดูเสร็จเขาถามว่าจะสร้างอะไร ก็บอกว่าจะสร้างเจดีย์เป็นรูปสามเหลี่ยม แล้วเป็นชั้นๆ 9 ชั้น แล้วมีเจดีย์เล็กๆ 12 ราศี ล้อมรอบบอกเท่านี้จริงๆ
อีก 7 วันต่อมา มีคนถือรูปเจดีย์เป็นภาพสีแต่งโดย Computer อาตมาเห็นแล้วขนลุกทั้งตัว คือภาพในนิมิตอย่างไงอย่างนั้นเลย นอนฝันไปหลายเดือนอยากจะสร้างเจดีย์แบบนี้ให้คนกราบไหว้ ลูกศิษย์ชื่อ พ.ต.ท. สีหนาถ นิลสุข (สารวัตรโป้ง) มักแซวบ่อย ๆ ว่ากุ้มใจไม่มีเงินสร้างเจดีย์ แต่ก็จริงจนกระทั่ง คุณ เฉิน เซียน เป่า นักธุรกิจชาวใต้หวัน ขึ้นมาเที่ยวบนวัดและดูดวง เกิดคุยกันถูกคอ เขาถามจะสร้างอะไร เอารูปให้เขาดู เขาสนใจ นิมนต์อาตมาไปโรงแรมดุสิตที่พักของเขา แล้วก็บอกว่าเป็นบุพเพวาสนาที่ได้เจอกัน เคยทำบุญมาแต่ชาติปางก่อน แล้วจะสนับสนุน แล้วเขาก็สนับสนุนเงินก้อนแรก 1 ล้านบาท แล้วก็เริ่มตอกเสาเข็ม วันที่ 26 เมษายน 2550 โดยให้ชาวบ้านในชุมชนเป็นใหญ่ เป็นประธานในพิธีวางศิลาฤกษ์ และมีท่านพลเอก ปิติ กัมพูพงค์ มาร่วมงาน ชาวบ้านและศิษย์มาหลายร้อยคน ที่ลืมไม่ได้ คือ ผบ.ธนสิทธิ์ พานิชวงษ์ เสาหลักในการนำสายบุญเข้าวัดโดยตรงจากนั้นก็มีคณะศรัทธาญาติโยมเข้าร่วมทำ บุญสร้างพัฒนาขึ้นเรื่อย ๆ จนเป็นภาพปัจจุบัน และใช้เงินงบประมาณไปแล้วประมาณ 20 ล้านบาทเศษ ยังขาดปัจจัยอยู่มากในการสร้างมหาเจดีย์ ที่แปลกก็คือ อาตมาสังเกตว่าผู้มีบารมีหรือบุญเท่านั้นจึงมาร่วมสร้างเจดีย์นี้ คนรวยหลายคนเห็นแล้วเขาก็เฉย ๆ แต่หลายคนเห็นเจดีย์เกิดวิบัติ ทำบุญทำแล้วทำเล่า แล้วก็จะทำทุกชั้น เจดีย์ดวงนี้ศักดิ์สิทธิ์มาก หลายคนคงสัมผัสได้ ......

 

 

สองวัดในวันเดียวนั้น  ทำให้ได้รับความรู้ใหม่ๆและเกิดการตั้งข้อสังเกตจากวัดแรกที่ไปขอ( บน )ก่อนแล้วจ่าย (แก้บน )ทีหลังกับจ่ายค่าขันตั้ง ( ยกครู )  ก่อนแล้วถึงจะได้ในสิ่งที่อยากรู้.....มันต่างกันไหมนะ   แต่ถึงอย่างไรก็เกิดความสุขใจในการได้ร่วมบำรุงพุทธศาสนา  ได้สะสมกรรมดีเอาไว้เป็นเสบียงในการเดินทาง  ถึงแม้จะเป็นระยะทางยาวนานสักเท่าไหร่  เสบียงนี้ก็ไม่มีวันเน่าเสียและไม่มีวันหมดเพราะมันเป็น.....เสบียงทิพย์.....

 

ขอบคุณข้อมูลประกอบจากที่มาประวัติ : /www.wathyuaplakang.com/

หมายเลขบันทึก: 490566เขียนเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 14:47 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 15:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

มาร่วมอนุโมทนาบุญ และรับแบ่งปันสาระดีๆด้วยค่ะ..

ขอบคุณพี่ใหญ่ที่ใจดี....

มาส่งดอกไม้และสาธุบุญด้วยกันค่ะ

ขอบคุณกำลังใจจาก kunrapee

ยินดีที่แวะมานะคะ...

เอารูปขัว ( สะพาน )  พญาเมงรายมาฝากกันค่ะ

 

            

ขอบคุณกำลังใจจากคุณหมอป. และคุณอักขณิช มากมายนะคะ

         

กำลังใจจากครูอ้อยและน้องบุษยินดีรับด้วยความขอบคุณค่ะ

          

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท