ขอคืนพื้นที่ทางความคิด เพื่อพัฒนาชีวิตและตั้งสติ


เสียเวลาโดยใช้สติในการหาข้อมูลเหตุผลตามจริง ดีกว่า ขี้เกียจใช้ความคิดแล้วกระโจนทะยานเข้าหาการชุมนุมด้วยทิฏฐิของความชอบ – ไม่ชอบส่วนตัว

ตลอดระยะเวลากว่า ๗  ปีที่ผ่านมา มีการชุมนุม (แทบจะเรียกได้ว่าต่อเนื่อง)  ผลจากการชุมนุมเรียกร้องที่ผ่านมา (ไม่ว่าจะกลุ่มไหน สีไหน)  ทำให้ได้เห็นปรากฏการณ์ที่คู่ขนานกับการเรียกร้องที่สรรสร้างวาทกรรมต่าง ๆ เพื่อปลุกเร้าอุดมการณ์ให้ตกผลึกโดยการอำพราง ปิดบัง ซ่อนเร้นจากบรรดาพวกแกนนำที่เห็นแก่ผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง  บทเรียนดังกล่าวเหล่าประชาชนที่จะเข้าร่วมต้องพึงตระหนักและขบคิดให้ดี

         ปัจจุบันในภาคส่วนการเมืองนั้น กระบวนการมีส่วนร่วมของภาคประชาชนได้เข้ามามีบทบาทเป็นอย่างมาก ในกระบวนการที่เรียกว่า “การชุมนุม” หรือ การเมืองภาคประชาชน ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าร่วมในกิจกรรม (ชุมนุม) ดังกล่าว ต้องมีจิตสำนึกต่อส่วนรวมอย่างเข้มข้น โดยการต้องใช้ปัญญาแสวงหาในการเสพข้อมูลหรือชุดความรู้ที่ถูกจับเหวี่ยงมาให้เสพจากบรรดาแกนนำทั้งหลาย ผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมต้องพรึงตระหนักและหัดพกคำถามติดตัวไปตลอดเวลา (ไม่ใช่ว่ามีแต่คำตอบ ใช่ ในหัวอย่างเดียว) เพราะภาวะแวดล้อมของการชุมนุมทางการเมือง หากเราไม่ใช้สติ ทิฏฐิก็จะพร้อมที่จะจับเราเหวี่ยงเข้าไปใน

          - โลภะ (ความโลภ) : ในการชุมนุมแต่ละครั้งแกนนำโดยส่วนใหญ่ ก็จะเอาผลประโยชน์ต่าง ๆ ที่จะได้รับจากการชุมนุมมาล่อ ดังนั้น  ผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมต้องหัดพินิจพิจารณา วิเคราะห์ว่า แท้ที่จริงแล้วมันเป็นผลประโยชน์ของสังคมโดยส่วนรวมหรือผลประโยชน์ส่วนตัวและพวกพ้องของแกนนำกันแน่

         - โมหะ (ความหลง) : ในการชุมนุมแต่ละครั้งแกนนำโดยส่วนใหญ่ ก็มักจะยัดเยียดข้อมูล ข่าวสารหรือชุดความคิด (สำเร็จรูป) ที่ย่อยจนแหลกละเอียดแล้ว (แกนนำตัดสินใจให้แล้ว) ให้ผู้ชุมนุมบริโภคได้เลย โดยที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมไม่ต้องมาเสียเวลามากมาย นอกจากรับข้อมูลมาบริโภคและทำตาม ดังนั้น ผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมต้องไม่หลงเชื่อในชุดข้อมูลเหล่านั้นง่าย ๆ จนกว่าจะได้หาข้อเท็จจริงให้ครบถ้วนรอบด้านก่อน     

        - โทสะ (ความโกรธ อาฆาต) : ในการเข้าร่วมชุมนุม พลังแห่งโทสะอันตรายมาก หากมีแกนนำที่คอยปลุกปั่น ยั่วยุ ในทำนองที่สุ่มเสี่ยงไปในทางการใช้ความรุนแรง เช่น ขึ้นบนเวทีแล้วประกาศว่า  วันนี้ ! ต้องไปจับตัวไอ้ ... มาแขวนคอให้ได้   วันนี้ ! ต้องไปจับตัวไอ้ ... มากระทืบให้ได้  วันนี้ ! ต้องไปจับตัวไอ้ ... แล้วเอาเลือดหัวมันมาล้าง ...   บ้านของไอ้ ... อยู่ที่ ... ให้ไปเผาบ้านมันได้เลย   ฯลฯ  หากเราในฐานะที่ไปเข้าร่วมชุมนุม เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองอย่างมีสติและใช้เหตุและผลแทนอารมณ์ (ร่วม) ว่าเรารับสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ? และพร้อมที่จะทำสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ? สิ่งนี้มันเป็นอุดมการณ์และแนวทางในการต่อสู้ของเราจริง ๆ หรือไม่ ? หากว่าเราที่ร่วมชุมนุมยอมรับในแนวทางและการกระทำดังกล่าวที่ผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนและไปละเมิดสิทธิ์ของบุคคลอื่น เราจะตอบคำถามให้กับตัวเองเกี่ยวกับเรื่องของการชุมนุมที่สันติ อหิงสา และประชาธิปไตยไปในทิศทางใด ?

 

ในการเข้าร่วมชุมนุมในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ก่อนเข้าร่วม ตัวของเรา ต้องตั้งสติให้ดี ว่า

         ๑ อุดมการณ์ : แน่นอนที่สุดคนส่วนใหญ่ในสังคมมีอุดมการณ์เป็นของตัวเองทั้งนั้นไม่มากก็น้อย แต่อุดมการณ์ดังกล่าวต้องมีสติ ตั้งอยู่บนพื้นฐานที่ถูกต้องตามจริง ไม่ใช่ อุดมการณ์ที่ตั้งอยู่บนพื้นฐานของผลประโยชน์ส่วนตนโดยไม่สนใจในความถูกต้องตามกฎหมายและศีลธรรม และแน่นอนที่สุดแกนนำในการชุมนุมส่วนใหญ่ต้องหยิบยกเอาอุดมการณ์ทางด้านการต่อสู้เพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม ของพ่อแม่พี่น้องมาเป็นข้ออ้างในการเคลื่อนไหวและชุมนุม เพื่อตีตราประทับรับรองสร้างความชอบธรรมให้กับข้อเรียกร้องเป็นสามัญโดยทั่วไป แต่ผู้ที่จะเข้าร่วมชุมนุมคือ ประชาชนโดยส่วนใหญ่ในสังคมนี้แหละ ควรเพ่งพินิจ วิเคราะห์ให้ดีว่า

                 ๑.๑ พิจารณาบนพื้นฐานของความสมเหตุสมผลตามจริงโดยใช้สติเป็นตัวนำ ไม่ใช่ ถือเอาความชอบใจ – ไม่ชอบใจ หรือรสนิยมที่เข้ากับจริตของตนเป็นตัวตั้งในการตัดสินใจ

                 ๑.๒ การชุมนุมตามระบอบประชาธิปไตยที่พึงให้สิทธิ์ เสรีภาพในการชุมนุมแต่ต้องอยู่ภายใต้กรอบของกฎหมาย หากแกนนำในการชุมนุมใช้วาทกรรมในการปลุกเร้าการชุมนุมที่สุ่มเสี่ยงต่อการกระทำที่ผิดกฎหมาย เช่น ยกระดับการชุมนุมให้เข้มข้นขึ้นโดยการไปปิดถนน ปิดสนามบิน หรือปิดสถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ และสถานที่ราชการต่าง ๆ ที่ผิดกฎหมาย ประชาชนคนทั่วไปในฐานะที่เข้าร่วมชุมนุมต้องตั้งคำถาม (หัดพกคำถามติดตัวไปบ้างไม่ใช่มีแต่คำตอบว่า ใช่ ในหัวอย่างเดียว) กับตัวเองแล้วว่า “สิ่งนี้มันเป็นอุดมการณ์และแนวทางในการต่อสู้ของเราจริง ๆ หรือไม่ ?” หากว่าเราที่ร่วมชุมนุมยอมรับในแนวทางและการกระทำดังกล่าวที่ผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนและไปละเมิดสิทธิ์ของบุคคลอื่น เราจะตอบคำถามให้กับตัวเองเกี่ยวกับเรื่องของการชุมนุมที่สันติ อหิงสา และประชาธิปไตยไปในทิศทางใด ?

                 ๑.๓ การชุมนุมที่สันติ อหิงสา ที่ชอบกล่าวอ้างเพื่อตีตราประทับรับรองความชอบธรรมให้กับฝ่ายตน หากประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมแล้วมีแกนนำประกาศว่า

                        - วันนี้ต้องไปจับตัวไอ้ ... มาแขวนคอให้ได้

                        - วันนี้ต้องไปจับตัวไอ้ ... มากระทืบให้ได้

                        - วันนี้ต้องไปจับตัวไอ้ ... แล้วเอาเลือดหัวมันมาล้าง ...

                        - บ้านของไอ้ ... อยู่ที่ ... ให้ไปเผาบ้านมันได้เลย

                                                     ฯลฯ

              หากเราในฐานะที่ไปเข้าร่วมชุมนุม เราต้องตั้งคำถามกับตัวเองอย่างมีสติและใช้เหตุและผลแทนอารมณ์ (ร่วม) ว่าเรารับสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ? และพร้อมจะทำสิ่งเหล่านี้ได้หรือไม่ ?

                “การก้าวออกมาจากการกระทำที่ไร้สติ ไม่ใช่มาตรวัดของความอ่อนแอ แต่เป็นความกล้าหาญที่ธำรงไว้เพื่ออุดมการณ์ที่ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม เป็นการเอาชนะมิจฉาทิฏฐิที่กัดกินปัญญาของเรา”

 

            ไม่ว่าจะเป็นการชุมนุมของกลุ่มไหน (สีไหน) ก็ตาม หากมีแกนนำที่มีพฤติกรรมอย่างนี้ก็ไม่ต่างกับการมี “อุดมการณ์ที่ไร้สติต่อส่วนรวม” สมมติว่าถ้าหากสังคมต้องเลือกจริง ๆ ระหว่างอุดมการณ์ที่ไร้สติกับคนไร้อุดมการณ์ จะเลือกแบบไหน ?

                 -  อุดมการณ์ที่ไร้สติต่อส่วนรวม : จะเป็นอุดมการณ์ที่ก้าวข้ามผ่านเส้นแบ่งทุกอย่างไม่ว่าจะเป็น ความถูก - ผิด  ความดี – ชั่ว  กุศล – อกุศล แล้วจะให้สังคมตกอยู่ในวงจรและกับดักอย่างนี้หละหรือ อุดมการณ์ที่ไร้สติอย่างนี้ก็ไม่ต่างไปจาก (อวิชชา + ขยัน) ขยันมาชุมนุมเรียกร้องกลัวตกกระแสและขบวนของการมีส่วนร่วมแต่ก็ไม่เคยหาข้อมูลและข้อเท็จจริงที่รอบด้านและถูกต้องตามจริง เป็นไปในลักษณะของการชุมนุมโดยไม่ยึดหลักกฎหมาย ไม่คำนึงถึงสิทธิของบุคคลอื่นที่อยู่ในสังคม สร้างความเดือดร้อนให้สังคมส่วนใหญ่โดยไม่สมเหตุสมผล

                -  ไม่มีอุดมการณ์ต่อส่วนรวม : ก็คือ ไม่สนใจ ไม่ใส่ใจ ใครหรือกลุ่มใดจะมาชุมนุมเรียกร้องอะไร (กู) ก็ไม่สนใจหากไม่เกี่ยวข้องกับตัวเอง เป็นไปในลักษณะของความเห็นแก่ตัว (อวิชชา + ขี้เกียจ) ไม่ร่วมชุมนุมกับฝ่ายไหนทั้งสิ้นไม่ว่าฝ่ายนั้นจะถูกหรือผิดหรือมาเรียกร้องอะไร ขี้เกียจหาข้อมูลข้อเท็จจริงก็เลยขี้เกียจเข้าร่วมชุมนุม

            เราต้องหันมามองความเป็นจริงของสังคมไทยในปัจจุบันว่า อุดมการณ์ทั้งสองแบบมีอยู่จริงหรือไม่ ? และหากว่ามีจริงแล้ว สมมติว่า ในสังคมมีให้เลือกอยู่สองลักษณะ คุณคิดว่าอุดมการณ์แบบไหนที่จะสร้างความวุ่นวายและเดือดร้อน สร้างปัญหาให้กับสังคมมากกว่ากัน ?

             แน่นอนที่สุดทุกสังคมล้วนต้องการ “อุดมการณ์ที่มีสติ” สังคมไทยในวันนี้ต้องก้าวข้ามพ้นผ่านไปสู่สังคมอุดมการณ์ที่มีสติ มีความสมเหตุสมผล ถูกต้องตามครรลองคลองธรรม ซึ่งผู้เขียนเชื่อว่ามีอยู่ในสังคมแต่ยังมีส่วนน้อย (วิชชา + ขี้เกียจ) ทุกภาคส่วนในสังคมต้องช่วยกันสร้างองค์ความรู้ เพื่อให้ประชาชนโดยส่วนใหญ่เสพความรู้ได้อย่างถูกต้องตามจริง (วิชชา + ขยัน) และที่สำคัญที่สุด ตัวของเราเอง หากกระเหี้ยนกระหือรือ (กลัวตกขบวน) อยากมีส่วนร่วมกับการชุมนุมก็ต้องพึงมีความรับผิดชอบต่อสังคมส่วนรวมด้วยโดยการต้องเสพความรู้และข้อมูลบนพื้นฐานของสัมมาทิฏฐิ ไตร่ตรองเหตุและผลตามจริงก่อนตัดสินใจ ไม่ใช่ เสพข้อมูลหรือชุดความรู้ที่อิงแอบแนบชิดบนพื้นฐานของการชอบ – ไม่ชอบ หรือรสนิยมส่วนตัวเป็นที่ตั้ง ซึ่งสิ่งเหล่านี้มันก็จะสะท้อนไปตามค่านิยมที่ไม่ได้คำนึงถึงเหตุและผลตามจริง คำนึงถึงเฉพาะความเท่ห์ ความโก้หรูที่ได้มีส่วนร่วมไปตามกระแสเป็นแฟชั่นเท่านั้นเอง ซึ่งทัศนคติอย่างนี้ถือได้ว่าอันตรายเป็นอย่างมาก หากตัวเราเลือกที่จะเข้าไปชุมนุมไม่ว่ากับกลุ่มใด (สีใด) โดยเลือกที่ว่าถูกจริตของตนที่ได้มีความเท่ห์ในการขี่รถมอเตอร์ไซค์ หรือขี่รถยนต์ป่วนเมือง หรือยกโขยงไปข่มขู่ คุกคาม ฝ่ายตรงข้ามที่ไม่เห็นกับฝ่ายตน โดยมีความคึกคะนอง ความสนุกสนาน ความเท่ห์ เป็นเป้าหมายหลักในการได้กระทำในสิ่งเหล่านั้น ก็ไม่ต่างไปจากเป็นการแสดงออกถึงวุฒิภาวะทางอุดมการณ์ที่ไร้สติ (อวิชชา + ขยัน) ขยันที่สร้างความเสียหาย ความวุ่นวาย และหายนะให้กับสังคมเท่านั้น

           *** หมายเหตุ : ไม่ได้มีเจตนาดูหมิ่นหรือดูแคลนอุดมการณ์ของคนที่แน่วแน่ในการร่วมชุมนุมไม่ว่าจะเป็นฝ่ายใดหรือสีใด แต่พึงต้องการสะท้อนให้เห็นถึงข้อมูลหรืออุดมการณ์จานด่วนที่ซ่อนเร้นสำหรับคนหรือกลุ่มคนบางกลุ่มเท่านั้นเอง สังคมต้องเปิดกว้างพร้อมรับฟังข้อมูลในหลาย ๆ ด้าน แน่นอนที่สุดอุดมการณ์เป็นสิ่งที่อยู่ภายในไม่มีใครสามารถไปตรวจจับได้ว่าแก่นแท้แล้วมีอุดมการณ์อย่างไร นอกจาก ดูผลสะท้อนที่ออกมาทางประพฤติกรรม มันจะมีความหมายในอุดมการณ์ที่การชุมนุมไปในทิศทางใด หากแกนนำป่าวประกาศว่า ชุมนุมโดยสันติ อหิงสา แต่ประพฤติกรรมคุกคาม จาบจ้วง และทำลายฝ่ายตรงข้ามทั้งทางวาจารวมทั้งทางร่างกาย แล้วมันไปกันได้กับอุดมการณ์ของการชุมนุมเพื่อเรียกร้องโดยสันติ อหิงสา อย่างนั้นหรือ ? ไม่ว่าจะใช้วาทกรรมมาประดิษฐ์ประดอยรังสรรค์สวยงามปานใด แต่สุดท้ายทั้ง การยกระดับการชุมนุมอย่างเข้มข้น อารยะขัดขืน ที่ชอบอ้างกันจนฟั่นเฝือ อุดมการณ์ที่รอไม่ได้ (ไม่ว่าเพราะเหตุปัจจัยอะไร) ต้องชนะให้ได้อย่างรวดเร็วเท่านั้นโดยไม่สนวิธีการ อุดมการณ์ที่สามารถแปรเปลี่ยนเพียงชั่วระยะข้ามคืนหรือระยะเวลาเพียงสั้น ๆ หรือมีเหตุปัจจัยอย่างอื่นมาล่อ อุดมการณ์ที่เป็นไปในลักษณะอย่างนี้หากไม่เรียกว่าอุดมการณ์ที่ไร้สติแล้วจะเรียกว่าอุดมการณ์อะไร ?

 

สิ่งที่ดีที่สุดในการถอนลูกศรโมหะด้านอุดมการณ์ในเบื้องต้นนั้น ทุกท่านที่เข้าร่วมชุมนุมไม่ว่าจะกับฝ่ายใดหรือสีใดก็แล้วแต่ ต้องมีจิตที่พึงรับผิดชอบต่อสังคมโดยรวมด้วย โดยการเสพข้อมูลด้วยพื้นฐานของข้อเท็จจริงรอบด้านอย่างมีสติ ไม่ใช่ เสพข้อมูลด้านเดียวหรือหนักไปกว่านั้นไม่เสพข้อมูล (ขี้เกียจใช้ความคิด) แต่เลือกที่จะถือเอาความชอบและความถูกใจเป็นที่ตั้ง เช่น ชอบที่ตัวบุคคลหรือชอบสีที่ถูกจริตกับตน เป็นต้น ซึ่งถ้าหากคนส่วนใหญ่ในสังคมมีทัศนคติในการเข้าร่วมชุมนุมที่เป็นไปในลักษณะอย่างนี้ สังคมจะเป็นอย่างไร ?

ดังนั้น

ประชาชนที่จะเข้าร่วมชุมนุมไม่ว่าจะกับกลุ่มใดหรือสีใดนอกจากจะยึดติดถือมั่นในความคิดของตนเองแล้ว ท่านต้องมีความรับผิดชอบต่อสังคมโดยส่วนใหญ่ด้วย โดยการใช้เหตุและผลบนพื้นฐานของความเป็นจริง ไม่ใช่ไหลไปตามกระแสเป็นแฟชั่น ขอเพียงแต่ว่าอยากมีส่วนร่วมกับการชุมนุมที่ถูกใจและชอบใจของตนเท่านั้น หาไม่แล้วการเข้าไปมีส่วนร่วมของท่านนั้นหากไม่ใช้สติ จะเป็นการไปมีส่วนร่วมในการกระทำที่ผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนให้กับคนส่วนใหญ่ในสังคม

 “เสียเวลาโดยใช้สติในการหาข้อมูลเหตุผลตามจริง ดีกว่า ขี้เกียจใช้ความคิดแล้วกระโจนทะยานเข้าหาการชุมนุมด้วยทิฏฐิของความชอบ – ไม่ชอบส่วนตัว”

          กับดัก “เวลา” เป็นแรงดึงฉุดรั้งที่สำคัญไม่ให้เราก้าวข้ามพ้นผ่านไปยังประตูของการฝึกกระบวนการทางความคิดที่เป็นตรรกะ

ด้วยวาทกรรมที่ว่า “ไม่มีเวลา” ทำให้

         เราหลงเสพติดอยู่กับความมักง่ายทางความคิดที่สั่งสมจากความเคยชินจนเป็นนิสัยและฝังรากลึกลงเป็นนิสัยถาวร ในการชอบหยิบยกเอาเฉพาะส่วน “ผลทางความคิด (ความคิดสำเร็จรูป)” ที่ถูกยัดเยียดให้มองว่าสมประโยชน์และเข้ากับทัศนคติของตัวเองนำไปใช้ โดยไม่ได้กลั่นกรองทางปัญญาในเหตุและผล ที่มาที่ไปอย่างรอบด้าน

 “ไม่มีเวลา จึงเป็นเพียงคู่แฝดทางวาทกรรมของ ความมักง่ายทางความคิดนั่นเอง”

            

     ๒. เป้าหมาย + เงื่อนตายด้านเวลา :

          เป็นที่น่าสังเกตว่าการชุมนุมโดยส่วนใหญ่ในปัจจุบันที่ต่อเนื่องมาตลอดระยะเวลากว่า ๗ ปีที่ผ่านมา เป้าหมายของการชุมนุมส่วนใหญ่จะอยู่ที่การ แพ้ – ชนะ การยกระดับของการชุมนุมโดยการกดดันในทางที่ผิดกฎหมาย สร้างความเดือดร้อนให้กับประชาชนโดยส่วนใหญ่แล้วขึ้นไหว้ขอบคุณบนเวทีประกาศชัยชนะต่อหน้าผู้ชุมนุม ปลุกเร้าอารมณ์ร่วมของการเป็นผู้ชนะอย่างอหังการว่า

               - วันนี้เราบุกไป ... ได้รับชัยชนะกลับมา

               - วันนี้เรายึด ... ได้ชัยชนะแล้วพ่อแม่พี่น้อง

               - พรุ่งนี้เราจะบุกไปยึด ... ให้ได้เพื่อชัยชนะ

                                    ฯลฯ

          ซึ่งชัยชนะของพวกท่านดังกล่าวที่ป่าวประกาศบนเวทีโดยแลกมากับความเดือดร้อนของประชาชนโดยรอบส่วนใหญ่ ตกลงแท้ที่จริงแล้วเป้าหมายของการชุมนุมคืออะไรกันแน่ แพ้-ชนะที่มีเดิมพันเป็นผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้องของท่านโดยไม่เลือกวิธีการหรือว่าเพื่อผลประโยชน์ของประชาชนโดยส่วนรวมที่ป่าวประกาศกล่าวอ้างจริง ๆ ซึ่งสิ่งเหล่านี้ประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมด้วยต้องตั้งคำถามและประเมินสถานการณ์ของการชุมนุมไปด้วยว่ามันเขวออกไปจากอุดมการณ์ที่แท้จริงของตัวเองหรือไม่ ? ไม่ใช่หลงเสพติดไปตามกระแส (ที่ทำผิดกฎหมาย) ของคนส่วนใหญ่ ที่สำคัญ

         การชุมนุมส่วนใหญ่มักจะผูกเงื่อนตายทางด้านเวลามาด้วย ในทำนองที่ว่า

            -  วันนี้ ... ต้องได้รับชัยชนะ

            -  วันนี้ ... ชุมนุมแตกหักครั้งสุดท้าย

            -  วันนี้ ... จะเป็นสงครามใหญ่ครั้งสุดท้าย ต้องตายกันไปข้างหนึ่ง

                                 ฯลฯ

 

           สิ่งเหล่านี้ มันคืออุดมการณ์ของการเรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ที่อ้างว่าของพ่อแม่พี่น้องโดยส่วนรวมจริงหรือ ? ทำไมท่านมหาตมะ คานธี หรือว่า อองซานซูจี พวกท่านก็เรียกร้องเพื่อผลประโยชน์ของส่วนรวม แต่ทำไมพวกท่านรอเวลาได้ ซึ่งถ้าหากว่าการรอเวลาโดยการชุมนุมอย่างสันติ อหิงสา (จริง ๆ) เหล่านี้จะสะท้อนให้เห็นถึงอุดมการณ์ที่แน่วแน่ ถูกต้องตามครรลองคลองธรรมที่พึงยึดติดถือมั่นเอาผลประโยชน์ส่วนรวมเป็นที่ตั้งจริง ๆ โดยการยึดมั่นอุดมการณ์ของตนเองและหาแนวร่วมด้วยการให้ข้อมูล ชุดความรู้ที่สมเหตุสมผลตามจริง จนทำให้ได้เกิดมีแนวร่วมที่มีอุดมการณ์ฝังรากลึกยึดโยงจนแน่น แม้จะใช้ระยะเวลาที่ยาวนานแต่เพื่อส่วนรวมจริง ๆ พวกท่านก็ทนได้ ไม่ใช่อุดมการณ์ที่ฉาบฉวยตามค่านิยมความชอบ – ไม่ชอบ เข้ากับจริตส่วนตัวของตน ถูกใจ – ไม่ถูกใจ หรืออุดมการณ์ที่อิงแอบแนบชิดกับปัจจัยนำทาง

            ปัจจุบันรูปแบบของการชุมนุม (โดยส่วนใหญ่) เป็นเสมือนโปรโมชั่นทางการตลาด มีสิ่งอำนวยความสะดวกครบครัน ลดแลกแจกแถม โปรโมชั่นต่าง ๆ ใช้การตลาดโน้มน้าวให้หลงเข้าไปเสพติด สิ่งนี้ถือได้ว่าอันตรายเป็นอย่างมากในสังคม เพื่อระดมมวลชนด้วยการซ่อนเร้นวาทะกรรมยอดฮิตทุกยุคทุกสมัยก็คือ “เรียกร้องเพื่อประชาธิปไตย” หรือ “ความไม่เท่าเทียมกันในสังคม” จนเลยเถิดไปถึง “สงครามชนชั้นในสังคม” หรือที่ฮิตติดปากก็คือ “การถูกปฏิบัติโดยสองมาตรฐาน” เป็นต้น แล้วแต่จะประดิษฐ์ประดอยวาทกรรมขึ้นมาแบบไหนเพื่อหวังผลทางการตลาดในการระดมมวลชมเพื่อมาชุมนุม ดังนั้น ในฐานะของประชาชนที่จะเข้าร่วมชุมนุมนั้น ท่านต้องหาข้อมูลรวมทั้งหาเหตุและผลแห่งความเป็นจริงในวาทกรรมดังกล่าวว่า ในภาวะปัจจุบันนั้นเป็นอย่างนั้นจริงหรือเปล่า ไม่ใช่เอาอารมณ์ไปสัมผัสเป็นมาตรวัด ซึ่งหากว่าเอาอารมณ์ไปสัมผัสแล้วจะพบว่า วาทะกรรมเหล่านั้นโดยเฉพาะความไม่เท่าเทียมกันในสังคมล้วนมีผสมปนเปื้อนอยู่ในสังคม มาทุกยุคทุกสมัย อย่างยาวนาน อันนี้เราต้องยอมรับความจริงไม่ใช่เพิ่งมาเกิดขึ้นเมื่อไม่กี่ปีมานี้เอง แม้แต่ประเทศที่ขึ้นชื่อว่าเจริญแล้วอย่างสหรัฐอเมริกาหรือว่าอังกฤษ ล้วนก็มีสิ่งเหล่านี้ปนเปื้อนอยู่ในสังคม ซึ่งสิ่งเหล่านี้ไม่ใช่ว่าจะสามารถทำให้หมดไปได้ภายในระยะเวลา ๕ ปีหรือ ๑๐ ปี ดังนั้น หากว่าเอาอารมณ์ที่อยู่เหนือเหตุผลไปจับหรือแตะปัญหาพวกนี้ ก็จะต้องมีการชุมนุมเรียกร้องทุกวัน ทุกเดือน ทุกปี ทุกรัฐบาลไม่มีข้อยกเว้น มันเป็นไปในลักษณะปัญหาปลายเปิดที่พร้อมพัฒนาไปในรูปแบบต่าง ๆ ตามกาลเทศะ ซึ่งปัญหาเหล่านี้สังคมโดยส่วนรวมทุกภาคส่วนต้องช่วยกัน  แต่สิ่งสำคัญก็คือ ในการเข้าร่วมชุมนุมด้วยวาทกรรมเหล่านี้ ผู้เข้าร่วมชุมนุมเองต้องดูอุดมการณ์ที่แท้จริงของแกนนำที่จะสะท้อนออกมาทางประพฤติกรรมที่แอบแฝงและซ่อนเร้นอยู่ให้ออกว่า แก่นแท้แล้วแกนนำพวกนี้ต้องการอะไรกันแน่ ?

          หากประชาชนที่เข้าร่วมชุมนุมไม่ยอมเสียเวลาในการหาข้อมูล เหตุ – ผลตามจริง แต่อิงไปตามกระแสจนตกเป็นเครื่องมือให้เขาหลอกใช้เพื่อปีนป่ายไปสู่จุดหมายปลายทางของผลประโยชน์ส่วนตนและพวกพ้อง โดยการกระทำที่ผิดกฎหมาย การสร้างความเสียหาย ไม่คำนึงถึงผลกระทบต่อสังคมส่วนอื่น หากเป็นเช่นนี้ คนที่เข้าร่วมชุมนุมก็มิอาจที่จะปฏิเสธในความรับผิดชอบไปได้เช่นกัน คุณจะมาตีหน้าเศร้าป่าวประกาศว่า “โดนแกนนำหลอกใช้” เป็นเครื่องมือ ก็ไม่ต่างไปจากกับการที่คุณออกมาประจานตัวเองว่า “โคตรโง่” ต่อหน้าสาธารณชนหรอก

           แน่นอนที่สุดมนุษย์ทุกคนมีความรู้ ความสามารถที่แตกต่างกัน แต่ ถ้าหากว่าท่านคิดจะเข้าไปมีส่วนร่วมกับเหตุการณ์ การชุมนุม เรียกร้องอะไรซักอย่าง ยิ่งท่านที่อ้างว่ามีความรู้หรือมีปัญญาน้อยเท่าไหร่ ท่านก็ยิ่งต้องขวนขวายหาข้อมูล ข้อเท็จจริงรอบด้านให้มาก เพื่อนำมาประกอบการพิจารณาบนพื้นฐานของความเป็นจริงที่มีสติ จะมาชูป้ายประจานตัวเองว่าโดนหรอกใช้อยู่ร่ำไปอย่างนั้นหรือ ยิ่งมีความรู้น้อย หากอยากเข้าไปมีส่วนร่วม (เหมือนคนอื่น) ในการชุมนุม ท่านก็ยิ่งต้องทำงานหนักหาข้อมูลให้รอบด้านมากกว่าคนอื่น มนุษย์ทุกคนเกิดมาพร้อมกับความไม่รู้ แต่สามารถที่จะเป็นผู้รู้ได้จากการเรียนทั้งจากในตำรา ประสบการณ์ทั้งทางตรงและทางอ้อม มนุษย์แตกต่างจากสัตว์อื่นก็คือความสามารถในการฝึก พระพุทธศาสนามีลักษณะสำคัญอย่างหนึ่งคือ ยืนยันในศักยภาพสูงสุดของมนุษย์ ศักยภาพนี้เป็นศัพท์สมัยใหม่ ยืมเอามาใช้ เดิมนั้นเราพูดว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ฝึกได้ คำศัพท์ที่แท้ของท่านว่า “ทมะ” แปลว่า ผู้ที่จะพึงฝึก คือ ฝึกได้หรือต้องฝึก และฝึกได้จนถึงขั้นเป็นสัตว์ประเสริฐ มองอีกแง่หนึ่งก็ว่า มนุษย์เป็นสัตว์ที่ต้องฝึก และจะประเสริฐสุดได้ด้วยการฝึก มนุษย์จึงมีศักยภาพสูงสุดในการฝึก ซึ่งหมายถึง การพัฒนาตน

 

         การหาข้อมูลที่ถูกต้องตามจริงก่อนตัดสินใจในการเข้าร่วมชุมนุม ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคม หากว่าท่านไม่แน่ใจก็ยังไม่ต้องเข้าไปร่วมชุมนุม หรือหากว่าเข้าไปร่วมชุมนุมแล้วถูกชักจูงไปในทางที่กระทำผิดกฎหมายที่สร้างความเดือดร้อนให้กับสังคมส่วนใหญ่จนเกินจะทนรับได้ ไม่ว่าจะกล่าวอ้างวาทกรรมแบบไหนมารองรับ ท่านก็ต้องรีบถอนตัวออกมาไม่ใช่โหนกระแสไปตามอารมณ์ของส่วนรวมแบบบ้าคลั่งอย่างไร้สติ

 

“อุดมการณ์ที่มีเป้าหมายเพื่อชัยชนะเป็นหลักชัยที่รอไม่ได้ โดยการใช้วิธีการทุกรูปแบบเพื่อปีนป่ายไปสู่จุดหมายปลายทาง ก็ไม่ต่างจากอุดมการณ์ที่ไร้สติ เป็นไปในลักษณะของอุดมการณ์จานด่วน ที่ยัดเยียดให้เสพผ่านโปรโมชั่นทางการตลาดที่แยบคาย” 




หมายเลขบันทึก: 490010เขียนเมื่อ 4 มิถุนายน 2012 09:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:52 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

 การหาข้อมูลที่ถูกต้องตามจริง....ก่อนตัดสินใจในการเข้าร่วมชุมนุม... ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึง....ความรับผิดชอบที่พึงมีต่อสังคม


 - ขอบคุณบทความดีๆ นี้คะ

ขอบคุณมากครับ คุณSomsri  ที่เข้าทักทายและให้กำลังใจ

        ก็เพียงแค่หวังอยากให้คนในสังคมตั้งสติก่อนสตาร์ท...ในทุก ๆ เรื่อง ๆ นะครับ เพราะสังคมจะดำรงอยู่กับทิฏฐิ "ความชอบ - ไม่ชอบ" ส่วนตัวที่อยู่เหนือความถูกต้องตามครรลองคลองธรรมไม่ได้ ไม่อย่างนั้นสังคมคงวุ่นวายไม่รู้จบ...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท