วิชาการสายรับใช้สังคมไทย : ๕๐. รับใช้โดยการสื่อสารสังคม


 

          นักวิชาการไทยส่วนใหญ่เป็นนักถ่ายทอดความรู้   เป้าหมายของการถ่ายทอดคือนักศึกษา และถ่ายทอดแก่สังคมวงกว้าง   ความรู้ที่นำมาถ่ายทอดส่วนใหญ่มักรับถ่ายทอดมาอีกต่อหนึ่ง    จากตำรา วารสาร หรือจากอาจารย์ของตน หรือจากที่ตนเคยเรียนมา   วัตรปฏิบัติของวิชาการแบบถ่ายทอดต่อๆ กันนี้อันตรายมากสำหรับยุคปัจจุบัน ที่ความรู้งอกเร็วเก่าเร็ว และผิดเร็ว หรือ ล้าหลังเร็ว

 

          นี่คือเหตุผลที่นักวิชาการต้องทำวิจัย เพื่อทำให้ความรู้ของตนทันสมัยอยู่ตลอดเวลา    และนักวิจัยสายรับใช้สังคมอยู่ในฐานะได้เปรียบ หรือทำวิจัยได้ง่าย (ถ้าทำเป็น หรือได้รับการฝึกฝนที่ดี)   เพราะมี “ห้องแหลบ” อยู่ในชีวิตจริงของผู้คน หรือของสังคม/ชุมชน ทั่วไปหมด หยิบเรื่องใดขึ้นมาก็ทำวิจัยได้ หากตั้งโจทย์วิจัยเป็น   ยิ่งคิดลำดับความสำคัญเป็น ก็ยิ่งทำวิจัยที่มีคุณค่าสูงได้ไม่ยาก

 

          การวิจัยสายวิชาการ มีเป้าหมายเพื่อขยายพรมแดนความรู้เป็นหลัก เน้นการสื่อสารแลกเปลี่ยน หรือถกเถียงโต้แย้งผลงานวิจัยในหมู่นักวิชาการ   จึงถือจารีตการตีพิมพ์เผยแพร่ในวารสารวิชาการเป็นหลัก

 

          แต่การวิจัยสายรับใช้สังคม เน้นการนำเอาความรู้ หรือวิชาการเข้าสู่สังคม หรือเพื่อทำประโยชน์แก่สังคม   นักวิชาการสายนี้จึงต้องมีจารีตของการสื่อสารสังคม (social communication) เป็นหลัก    ทั้งสื่อสารในวง นักปฏิบัติที่ตนเข้าไปร่วมทำงาน    และสื่อสารสู่สังคมวงกว้าง    นอกเหนือจากการสื่อสารแลกเปลี่ยนในวงของ นักวิชาการสายรับใช้สังคมด้วยกัน

 

          หากข้อคิดเห็นข้างต้นเหมาะสม หรือใช้การได้    การฝึกฝนหรือสร้างนักวิชาการสายรับใช้สังคมก็ต้อง บรรจุเอาขั้นตอนของการฝึกทักษะสื่อสารสังคม (แก่ผู้คนวงกว้าง) ไว้ด้วย นอกเหนือจากการฝึกฝนด้านการวิจัย

 

          ซึ่งหมายความว่าต้องมีทักษะในการสื่อสารผ่านหลากหลายช่องทาง ของการสื่อสารสมัยใหม่ และผ่านช่องทางที่ไปถึงกลุ่มเป้าหมายได้ดีที่สุด

 

          ทักษะด้านการสื่อสารสังคมของนักวิจัยสายรับใช้สังคม ต้องรวมทักษะด้านจริยธรรมหรือจรรยาบรรณ ของการสื่อสารด้วย    เพราะโลกสมัยใหม่ ที่เป็นสังคมทุนนิยม บริโภคนิยม มักใช้การสื่อสารเพื่อโฆษณาชวนเชื่อ    สื่อสารสาระ กึ่งจริงกึ่งเท็จ   วงการวิจัยต้องไม่เดินตามแนวทางเช่นนั้น   วงการวิจัยต้องสื่อสารอย่างระมัดระวัง ไม่เสนอข้อสรุปเกินจริงหรือเกินข้อค้นพบ   ส่วนที่เป็นการคาดการณ์หรือมองไปข้างหน้าแบบจินตนาการ ก็ต้องระบุให้ชัดว่าเป็นส่วนของจินตนาการ ไม่ใช่ส่วนของผลงานวิจัย   

 

          สรุปว่า นักวิชาการสายรับใช้สังคม นอกจากทำงานสร้างความรู้จากการปฏิบัติจริงและสื่อสารผลงานนั้น ในวงวิชาการแล้ว   ต้องสังเคราะห์ความรู้เป็นชุดความรู้แบบเข้าใจง่ายและสื่อสารต่อสังคมวงกว้างด้วย    นักวิชาการสายรับใช้สังคมจึงต้องมีทักษะนี้ มีการฝึกฝนทักษะนี้   รวมทั้งฝึกฝนและยึดถือคุณธรรมจริยธรรม ด้านการสื่อสารวิชาการแก่สังคมด้วย

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๕ เม.ย. ๕๕

อาคารเฉลิมพระบารมี  ซอยศูนย์วิจัย  ถนนเพชรบุรีตัดใหม่

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 489460เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2012 11:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 8 มิถุนายน 2012 09:17 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

กำลังทำวิจัยเรื่องเกี่ยวกับ "ความรับผิดชอบต่อสังคมของสถาบันอุดมศึกษาไทย" อ่านบทความของอาจารย์ ได้ข้อคิดเตือนใจ และ แนวทาง การทำงานวิจัย ได้มากมายทีเดียว // ขอบพระคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท