การทำเตาเผาถ่านจากถัง 200 ลิตร : Layout Plan สูตร อ. จงกล ปราบไพลิน (ป๋าอวบ)


เคล็ด (ไม่ ) ลับ เกี่ยวกับการวัดและเจาะรูต่างๆ อยู่ที่การลากเส้นแบ่งกึ่งกลางของถัง


 

เมื่อวันเสาร์ที่ผ่านมา (26 พ.ค.2555) ผมในฐานะศิษย์เก่ารุ่น ๓๓๙ ได้กลับไปเยี่ยมสถาบันศาสตร์พระราชา มหาลัยคอกหมู ศูนย์กสิกรรมธรรมชาติมาบเอื้อง ตั้งใจว่าจะไปขอพันธุ์หัวมันและหญ้าแฝกไปปลูกที่เมืองเลย และก็ได้สมใจ ทั้งมันเลือด มันเหลือง มันไต้หวัน มันห้านาที ด้วยความอนุเคราะห์จาก อ.กรุง  ศรีเมือง, อ. จงกล  ปราบไพลิน (ป๋าอวบ) และการไปเยี่ยมครั้งนี้ก็ได้ความรู้ทักษะมาเพิ่มเติมเหนือความคาดหมายจากการเตรียมทำเตาเผาถ่านจากถัง 200 ลิตร โดยเฉพาะ Layout Plan ของเตา เพราะได้ลองฝึกทำตัวต่อตัวกับป๋าอวบเลยทีเดียว ตอนที่อบรมครั้งที่แล้ว ผมยังไม่ค่อยได้อะไรเท่าไหร่ เพราะคนเยอะ ไม่ได้ลองทำอย่างจริงจัง วันนี้เลยเอามาแบ่งปันกันครับ

 

 

ป๋าอวบได้จัดทำสื่อการสอนตัวใหม่มาอีกตัวหนึ่ง ซึ่งมีการ Updated พัฒนา ลักษณะการวางอิฐหน้าเตาให้ชัดเจนมากขึ้นดังภาพข้างล่างนี้

 

 

 

และหลังจากที่เข้าไปพูดคุยกับป๋าอวบ เกี่ยวกับขั้นตอนการตัดเจาะฝาและการวางอิฐ ก็รู้สึกว่ามีความเข้าใจมากขึ้น เพราะมีเคล็ด (ไม่ ) ลับ เกี่ยวกับการวัดและเจาะรูต่างๆ ซึ่งผมได้ลองนำมาร่าง Layout เพิ่มเติม โดยแยกเป็นมุมมองด้านต่างๆตามภาพข้างล่างดังนี้คือ  

ฝาด้านหน้าหน้าสำหรับรับความร้อนเข้าถัง : จะต้องแบ่งครึ่งหาจุดศูนย์กลางให้ได้เสียก่อน จากนั้นวัดระยะจากขอบถังด้านล่างขึ้นมา 7 นิ้ว แล้ว Mark จุดไว้ จากนั้นวัดระยะไปด้านซ้ายและขวาอีกด้านละ 7 นิ้ว แล้ววัดตั้งฉากขึ้นด้านบนอีกด้านละ 8 นิ้ว เมื่อวัดและลากเส้น Mark เครื่องหมายแล้ว  ให้ใช้มีดหรือสิ่วเจาะตามเส้นที่ลาก Mark ทำเครื่องหมายไว้ หรืออาจจะเจาะนำไปก่อนแล้วค่อยใช้เลื่อยตัดเหล็กเลื่อยไปตามรอย Mark ตามหลังก็ได้ จะเห็นว่าช่องที่ตัดเจาะออกมาจะมีขนาด 8x14 นิ้ว จากนั้นให้ง้างช่องที่ตัดเจาะออกมา (ขึ้นไป) ให้เป็นฝาในลักษณะตั้งฉาก 900 กับฝาหน้า


ฝาถังด้านบนสำหรับใส่ไม้ที่จะเผา : ให้ลากเส้นแบ่งกึ่งกลางมาจากจุดเดียวกับด้านหน้าไว้ จากนั้นวัดระยะจากหัวและท้ายไว้ข้างละ 3 นิ้ว แล้ว Mark จุดไว้ จากนั้นวัดระยะไปด้านซ้ายและขวาอีกด้านละ 4 นิ้ว ทั้งสองข้าง แล้วลากเส้นมาบรรจบกัน เสร็จแล้วเจาะรู ตามเส้นที่ลากไว้  จะเห็นว่าชิ้นส่วนของถังที่ตัดและเจาะออกมา ไม่สามารถนำมาใช้เป็นฝาได้อีกต่อไป เนื่องจากฝามีขนาดพอดีกับรูที่เจาะ (8x32 นิ้ว) ดังนั้น ให้ตัดถังอื่นๆ ให้มีขนาดใหญ่กว่า 8x32 นิ้ว เช่น 10x34 นิ้ว เป็นต้น  ถ้ายังต้องการที่จะใช้ฝาที่ตัดออกมา ให้เชื่อมเหล็กทำจุดพักบยื่นออกมาไว้ก็ได้


ฝาด้านหลังสำหรับระบายความร้อนออกจากถัง : ให้ลากเส้นแบ่งกึ่งกลางมาจากจุดเดียวกับด้านหน้าและด้านบนของไว้ลงมา จากนั้นวัดขึ้นไปจากจุดต่ำสุดของถังด้วยระยะ 4 นิ้วแล้ว Mark จุดไว้ แล้ววัดระยะไปด้านซ้ายและขวาอีกด้านละ 3 นิ้ว จากนั้นให้ลากเส้นตั้งฉากลงมาด้านล่างจนสุด เสร็จแล้วเจาะรู ตามเส้นที่ลากไว้  จะเห็นว่าช่องที่ตัดเจาะออกมาจะมีขนาด 4x6 นิ้ว จากนั้นให้ง้างช่องที่ตัดเจาะออกมา (ลงไป) ให้เป็นฝาในลักษณะตั้งฉาก 900 กับฝาหลัง

* ข้อควรระวัง : หลังจากที่ตัดเจาะฝาออกมาและละส่วนแล้ว จะต้องตะไบลบคมออกให้เรียบร้อยทุกๆด้าน เพื่อป้องกันอันตรายจากการถูกคมบาดได้

 

การวางถังต้องให้ด้านหลังต่ำกว่าด้านหน้า โดยลักษณะการวางอิฐของด้านหลังเตาให้วางเป็นตัว “Y” ดังภาพข้างล่าง แล้ววางถังเพื่อให้ช่องระบายอากาศตรงกับท่อระบายอากาศ

 

 

 

ขั้นตอนการวางอิฐที่หน้าเตา ให้วางซ้อนสลับกันเพื่อให้เกิดช่องอากาศที่จะรับไฟจากด้านหน้าได้ดังภาพข้างล่างนี้

 

หลังจากที่วาง Layout ของเตาได้ตามที่ต้องการแล้วให้ใช้ดินเหนียวอุดรอยรั่วต่างๆ ให้สนิท จากนั้นให้ทำบ่อล้อมรอบเตาขนาด กว้างยาวสูง = 120x180x75 เซ็นติเมตร (48x72x30นิ้ว) โดยอัดกลบด้วยทรายหยาบให้เต็มบ่อ

หมายเลขบันทึก: 489377เขียนเมื่อ 28 พฤษภาคม 2012 12:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 16:35 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณค่ะ ..พี่หนึ่งได้รายละเอียดมากที่เดียว ชัดเจนและเข้าใจค้า ตอนนี้ยังไม่มีโอกาสทำเลย..เป็นอีกอย่างที่ต้องทำให้สำเร็จ แต่เคยลองทำบ้างแล้ว(ดูในyoutubeเอา)ตอนนี้เก็บเตาไปแล้ว คิดว่าจะทำใหม่เอาแบบที่ป๋าอวบทำค่ะ ได้เทคนิคอะไรหลายอย่าง จะติดตามนะคะ...............ขอบคุณค่ะ..ขอบคุณป๋าอวบและคณะมาบเอื้อมด้วยค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท