ฤดูเห็ดป่า ภาวะเสี่ยงเป็นเสี่ยงตายของชาวป่า ชาวเขา


อยู่ป่า ก็ต้องมาตายเพราะป่าเช่นนั้นหรือ เห็ดกินได้ปะปนกับเห็ดพิษ เลือกเห็ดให้ดีชีวีปลอดภัย

เมื่อไม่กี่วันมานี้ ผมทราบข่าวชาวบ้านอำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอนรับประทานเห็ดพิษ เสียชีวิตไป 5 คน ผมรู้สึกเสียใจเป็นอย่างยิ่ง ทั้งๆที่ได้ทำหน้าที่ประกาศเตือนพี่น้องชาวบ้านผ่านสถานีวิทยุอ.ส.ม.ท.จังหวัดแม่ฮ่องสอน อยู่เป็นประจำทุกปี แต่ปีนี้ก็ยังเกิดเหตุอีกจนได้

ข้อควรรู้เรื่องเห็ดพิษ แบบง่ายๆ

เห็ดป่าที่เรารับประทาน จริงๆแล้วโอกาสที่จะรับประทานเห็ดพิษ มี 2 ประเภทเท่านั้นเอง ได้แก่

1. เห็ดเผาะ (ชาวเหนือเรียกเห็ดถอบ ชาวไตเรียกเห็ดต๊อบ) เขาเชื่อว่าถ้าเห็ดเผาะขึ้นบริเวณป่าสนมักจะมีพิษ จึงควรหลีกเลี่ยงป่าสนเขา ให้เลือกเก็บและรับประทานเฉพาะที่ออกในป่าเบญจพรรณ ป่าเต็งรัง ป่าดิบเขา เท่านั้น อีกประเภทหนึ่งออกเป็นกลุ่มตามพื้นที่ตำ เรียกว่าเห็ดเผาะทราย ชนิดนี้ก็ไม่ควรนำมากิน (มีการทดลองกิน ไม่มีพิษ แต่ก็ไม่อร่อย)

2. เห็ดขาว (ชาวเหนือเรียกเห็ดปู่โจ๋ ชาวอิสานเรียกเห็ดระโงก ชาวไตเรียกเห็ดนกยูง) เห็ดชนิดนี้ ชาวบ้านมักผัด แกงร่วมกับเห็ดเหลือง (ชาวเหนือเรียกเห็ดไข่ห่าน ชาวไตเรียกเห็ดมอนไข่) ปัญหาที่พบบ่อยๆ มักเกิดขึ้นกับเห็ดขาว เพราะถ้าไม่ดูให้ดีมักจะเก็บเอาเห็ดพิษมาปะปน ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกันมาก ถ้าเราสังเกตุให้ดีจะเห็นข้อแตกต่างดังนี้

- ถ้าเป็นเห็ดขาวที่กินได้ จะมีลักษณะสีขาวนวลทั้งด้านบนและด้านท้อง ผิวเลื่อมเป็นมัน หากดมดูจะได้กลิ่นเห็ด

- เมื่อเก็บขึ้นมาแล้วให้ตรวจพิสูจน์ที่ตีนเห็ด (ก้านเห็ด) เห็ดขาวที่กินได้ก้านเห็ดจะมีลักษณะกลวง ไม่ตัน มีกระเปาะตีนเห็ดเห็นชัดเจน ถ้าเป็นเห็ดพิษก้านเห็ดจะตัน และไม่มีกระเปาะตีนเห็ด นอกจากนี้เห็ดพิษดังกล่าวจะมีสีที่แปลกออกไปไม่ขาวนวล อาจจะขาวซีด หรือสีขาวปนสีอื่น บางชนิดถ้าบิดดูจะเห็นมียางเห็ดออกมาด้วย นั่นเป็นเห็ดพิษ อย่านำมารับประทานเป็นอันขาด

นอกจากนี้ ยังมีวิธีอื่นๆ ในการตรวจพิสูจน์ เช่น หุงข้าวให้สุกร้อนๆ นำข้าวสุกร้อนโปะลงไปบนเห็ดที่เราสงสัย ปล่อยไว้สักครู่ แล้วตรวจดู ถ้าข้าวสุกมีสีคลำ สันนิษฐานว่าเห็ดนั้นเป็นเห็ดพิษ แต่ขอแนะนำวิธีที่ดีที่สุดคือ หาประสบการณ์ด้วยตนเอง เรียนรู้จากผู้รู้ หรือสอบถามผู้เฒ่าผู้แก่ หรือผู้รู้ให้มั่นใจเสียก่อน จึงค่อยนำมาปรุงรับประทาน ไม่เช่นนั้นจะไม่มีโอกาสเสียใจภายหลัง เพราะเสียชีวิตไปเสียแล้ว พิษของเห็ดพิษร้ายแรงมาก ถ้าอยู่บนเขาบนดอย อาจขาดโอกาสรักษาเนื่องจากอยู่ไกลสถานพยาบาล แต่ก็มีสมุนไพรที่พอแก้ไขได้ นั่นก็คือ รางจืด (ชาวไตเรียกเครือหมากนำแนะ) ใช้ใบ เครือ โขลกแล้วบีบเอานำกรอกปากผู้ถูกพิษ ก็อาจช่วยได้ทัน

จึงขอแนะนำมาให้พี่น้อง ชาวบ้านที่ยังไม่มีประสบการณ์เรื่องการกินเห็ดป่า เผื่อว่าจะได้นำความรู้ของชาวป่าอันนี้ ไปบอกกล่าวให้แก่ผู้อื่นอีกต่อไป

เรื่องเล่า

ปกติพี่น้องชาวเขาเผ่ากะเหรี่ยง จะไม่รับประทานเห็ดป่า ทุกชนิด เข้าใจว่าน่าจะมีสาเหตุมาจากว่า มันเสี่ยงเกินไป ไม่คุ้ม จึงไม่สอนลูกหลานกินเห็ด แต่มาในปัจจุบัน วิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงเปลี่ยนไป มีการเลียนแบบเผ่าอื่น เช่นเลียนแบบชาวไต ชาวพื้นเมือง (ชาติพันธุ์เหล่านี้ชอบเห็ดแต้ๆ) เห็นเขาเก็บเห็ดมากิน ก็เลียนแบบบ้าง แต่ขาดประสบการณ์ในการคัดเลือกเห็ดในป่า มันก็เลยเกิดเรื่องขึ้นมา

ทางที่ดีถ้าไม่แน่ใจ ไม่ต้องรับประทานเสียเลยดีกว่าครับ รับประทานแต่ข้าวไร่ ข้าวซ้อมมือเปล่าๆก็อร่อยแล้ว

อาจารย์เก

หมายเลขบันทึก: 488995เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2012 09:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 16 มิถุนายน 2012 08:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท