ประโยชน์ของความไม่รู้


 

          ในวงสนทนาระหว่างอาหารเที่ยงของ RGJ – PhD Congress XIII เมื่อวันที่ ๗ เม.ย. ๕๕ มีคนชม สกว. ว่า มีความเป็นมิตรหรือเป็นภาคีกับนักวิจัย   ไม่ใช่ความสัมพันธ์แบบ “ผู้ให้ทุน” กับ “ผู้รับทุน” 

          ผมจึงมีโอกาสเล่าย้อนความหลัง ว่าเมื่อสมัยผมทำหน้าที่ ผอ. สกว. ผมจะกำชับทุกคนใน สกว. ว่าห้ามพูดคำว่า“ชวนนักวิจัยมาทำงานให้ สกว.”    แต่ให้พูดคำว่า “สกว. ทำงานรับใช้นักวิจัย”    ให้นักวิจัย ได้มีโอกาสทำงานที่เขาใฝ่ฝัน    ทั้งหมดนั้น เพื่อประโยชน์ร่วมกัน คือประโยชน์ของบ้านเมือง

          คน สกว. ทุกคนจะไม่คิดว่าเงินวิจัยเป็นเงินของตน   แต่เป็นเงินของประเทศ    ตนมีหน้าที่จัดการ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อบ้านเมือง    และเพื่อให้เกิดผลงานวิจัยที่มีคุณค่าและคุณภาพ นักวิจัยเป็นผู้ผลิตผลงาน    คน สกว. ไม่มีความรู้หรือความสามารถในการผลิตผลงานโดยตรง    จึงต้องสร้างความสัมพันธ์ ที่ดีกับนักวิจัย ที่เป็นความเท่าเทียม ให้เกียรติ ให้ความสำคัญต่อกัน

          คู่สนทนาบอกว่า เขาชอบกระบวนการประชุมตั้งโจทย์วิจัยของ สกว.   ให้นักวิจัยมาช่วยกันตรวจสอบ ผลการประมวล (review) ความรู้ที่มีอยู่ในปัจจุบัน   ว่ารู้และไม่รู้อะไรบ้าง    เพื่อนำไปสู่การตั้งโจทย์วิจัย    ผมจึงอธิบายว่า กระบวนการนี้ยิ่งเกิดจากความไม่รู้ของ สกว.   เพราะ สกว. ดูแลสนับสนุนการวิจัยที่มีขอบเขต กว้างชวางมาก    คนของ สกว. ไม่มีทางรู้จริงในเรื่องเหล่านั้นได้เลย    จึงต้องพัฒนากระบวนการตั้งโจทย์วิจัย ขึ้นมาใช้ในการทำงาน  

        ไม่รู้จริง และยอมรับความจริงว่าตนเองไม่รู้    เพื่อจะได้หาวิธีทำงานที่เหมาะสม ให้เกิดผลงานที่มีคุณค่า และคุณภาพสูง ตรงตามเป้าหมายที่แท้จริง   เป็นสัจธรรมที่ผมใช้กับตนเอง และใช้กับหน่วยงานที่ผมเข้าไป เกี่ยวข้อง    ซึ่งหมายความว่า เราจะเสาะหา “ผู้รู้จริง” มาช่วยกันทำงาน   ทำให้เกิดสภาพการยอมรับนับถือซึ่งกัน และกัน   เกิดมิตรภาพ เกิดพันธมิตร มีใจต่อกัน   เพราะเหตุนี้กระมัง ผู้ใหญ่ท่านนี้จึงบอกว่า นักวิจัยที่มาทำงานกับ สกว. จะรู้สึกว่าตนเองเป็นส่วนหนึ่งของ (belong to) สกว. 

         ผมมีความเชื่อว่า การทำงานที่พรมแดนความรู้   และทำงานสร้างสรรค์ เป็นการทำงานในฐานะ “ผู้ไม่รู้” มากกว่าในฐานะผู้รู้   จึงต้องสวมวิญญาณและท่าทีอ่อนน้อมถ่อมตัวอย่างที่สุด   และต้องตื่นตัวตรวจสอบหรือประเมินการทำงานของตน เพื่อนำผลมาใช้ประกอบการเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา

         นี่คือคุณค่าของสติ ที่อยู่บนฐานของ “ความไม่รู้”

 

 

วิจารณ์ พานิช

๗ เม.ย.๕๕

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 488284เขียนเมื่อ 17 พฤษภาคม 2012 11:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 09:53 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นแนวคิดที่ดีมาก ทุกหน่วยงานควรมีความคิดแบบนี้ หากทำได้ประเทศเราจะก้าวหน้า โดยเฉพาะในสถาบันอุดมศึกษาทุกแห่ง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท