การวิจัยในชั้นเรียน: ความหมาย ความสำคัญ ขั้นตอน


การวิจัยในชั้นเรียน: ความหมาย ความสำคัญ ขั้นตอน

การวิจัยในชั้นเรียน:  ความหมาย  ความสำคัญ  หลักการ ขั้นตอน 

 

1. ความหมาย  ความสำคัญ

                การวิจัยในชั้นเรียน  หากแปลความหมายโดยการแยกคำหลัก ๆ  จะเห็นได้ว่าประกอบด้วยคำว่า  “การวิจัย”  และ “ชั้นเรียน” ซึ่งการวิจัยนั้นในบทที่  1 ได้อธิบายความหมาย  ความสำคัญ และหลักการไว้แล้ว  ส่วนคำว่าชั้นเรียน  หากสื่อตามความหมายที่เกี่ยวข้องจะเห็นได้ว่าสื่อถึง  ครู  นักเรียน   ดังนั้นหากหมายรวมกันแล้วจะเห็นได้ว่า  การวิจัยในชั้นเรียน  จะหมายถึงการวิจัยที่เกี่ยว ข้องกับครูหรือนักเรียน  นอกจากนี้  ความหมายของการวิจัยในชั้นเรียนนั้นได้มีนักวิชาการ  ได้นิยามความหมายที่คล้ายคลึงกันดังนี้

                การวิจัยในชั้นเรียน  เป็นการวิจัยเพื่อหานวัตกรรมสำหรับแก้ปัญหาหรือเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ของผู้เรียน ซึ่งเน้นในลักษณะการวิจัยเชิงปฏิบัติการ (Action Research) โดยมีปัญหาการเรียนรู้เป็นจุดเริ่มต้น ผู้สอนหาวิธีการ หรือนวัตกรรมเพื่อแก้ปัญหา มีการสังเกตและตรวจสอบผลของการแก้ปัญหา/การพัฒนา แล้วจึงบันทึกและสะท้อนการแก้ปัญหาหรือการพัฒนานั้นๆ การวิจัยในชั้นเรียนมักเป็นการวิจัยขนาดเล็ก (Small scale) ที่ดำเนินการโดยผู้สอน เป็นกระบวนการที่ผู้สอนสะท้อนการปฏิบัติงาน และเสริมพลังอำนาจให้ครูผู้สอน ( Field ,1997  อ้างถึงในสุภัทรา เอื้อวงศ์  ออนไลน์  2554)

                การวิจัยในชั้นเรียน  เป็นการแก้ปัญหาและ/หรือพัฒนางานที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนในชั้นเรียนโดยอาศัยกระบวนการวิจัยในการดำเนินงานทั้งนี้มีเป้าหมายสำคัญที่อยู่ที่การเรียนรู้ที่สำคัญของผู้เรียนให้เป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ในหลักสูตรการศึกษาในแต่ละระดับ   (รัตนะ  บัวสนธ์,2544)

การวิจัยในชั้นเรียน  เป็นวิธีการศึกษาค้นคว้าที่สะท้อนตัวครูและกลุ่มผู้ร่วมปฏิบัติงานในสถานการณ์สังคม เพื่อค้นหาลักษณะที่เหมาะสมของรูปแบบการพัฒนาคุณภาพการปฏิบัติงานให้สอดคล้องกับภาวะของสังคมหรือสถานการณ์ ด้วยความร่วมมือของเพื่อนครู ผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง ตลอดจนสมาชิกในสังคมที่เกี่ยวข้อง มีจุดมุ่งหมายเพื่อพินิจพิเคราะห์การกระทำของตนเองและกลุ่ม เพื่อพัฒนาเพิ่มพูนความรู้เกี่ยวกับหลักสูตรการสอนและการเรียนรู้ อันเป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงแบบมีแผน ดังนั้น การวิจัยในชั้นเรียน จึงไม่ใช่เป็นเพียงการแก้ปัญหา แต่จะเป็นการตั้งปัญหาจากแรงกระตุ้นของผู้วิจัยที่ต้องการเปลี่ยนแปลงพัฒนา แล้วปฏิบัติสังเกต สะท้อนกลับเป็นวัฏจักรของการวิจัยที่หมุนไปเรื่อย ๆ เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่ยั่งยืนและสร้างภาพลักษณ์ของการเรียนการสอนให้มีคุณภาพยิ่งขึ้น(ส. วาสนา ประวาลพฤกษ์,2541)

ส่วนความสำคัญของการวิจัยในชั้นเรียนนั้นจะเห็นได้ว่าการวิจัยในชั้นเรียนนั้นมุ่งแก้ปัญหาและ/หรือพัฒนางานที่เกี่ยวกับการเรียนการสอนในชั้นเรียน  ซึ่งต้องบังเกิดประโยชน์แก่นักเรียนให้ในการพัฒนาการเรียนรู้อยู่แล้ว  และต้องส่งผลต่อผลงานของครูผู้สอนและโรงเรียนตามมา  และนอกจากนี้การวิจัยในชั้นเรียนนี้ยังสอดคล้องกับแนวทางของพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 หมวด4 แนวการจัดการศึกษา มาตรา 24(5) ส่งเสริมสนับสนุนให้ครูผู้สอนสามารถจัดบรรยากาศ สภาพแวดล้อม สื่อการเรียนรู้และมีความรอบรู้ รวมทั้งสามารถใช้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้ ทั้งนี้ผู้สอนและผู้เรียนอาจเรียนรู้ไปพร้อมกันจากการเรียนการสอนและแหล่งวิทยาการประเภทต่างๆ มาตรา 30 …ส่งเสริมให้ผู้สอนสามารถวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่เหมาะสมกับผู้เรียนในแต่ละระดับการศึกษาในหลักสูตรการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2544  ได้กล่าวถึงการวิจัย ในกระบวนการจัดการศึกษา ของผู้เกี่ยวข้อง ดังเช่น ศึกษา ค้นคว้า วิจัยเพื่อพัฒนาสื่อการเรียนรู้ให้สอดคล้องกับกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน..ให้ผู้สอนนำกระบวนการวิจัยมาผสมผสานหรือ

บูรณาการใช้ในการจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาคุณภาพของผู้เรียนและเพื่อให้     ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้สามารถใช้กระบวนการวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้  ด้วย

 

2. หลักการของการวิจัยในชั้นเรียน

หลักการของการวิจัยในชั้นเรียน  นั้นมีหลักการในการวิจัยในชั้นเรียนนั้น  มีหลักและวิธีการที่ควรศึกษาและทำความเข้าใจดังนี้

สุภัทรา เอื้อวงศ์  กล่าวว่า หลักการสำคัญของการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ที่ผู้สอนจะต้องคำนึงถึง คือ(อ้างถึงในสุภัทรา เอื้อวงศ์  ออนไลน์  2554)
              1. งานวิจัยเป็นงานเสริมงานหลัก โดยงานหลักคือการสอนของผู้สอน เพราะงานวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้จะต้องเกิดควบคู่กับการเรียนการสอนเสมอ
              2. เป็นการทำวิจัยตามสภาพความจริง ปัญหาเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นจริง และต้องการแก้ไข
              3. เป็นการสอดแทรกให้การวิจัยเป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเรียนรู้
              4. งานวิจัยที่ทำนี้มีจุดมุ่งหมายหลักเพื่อแก้ปัญหา หรือพัฒนาการเรียนรู้ของมนุษย์ ผู้ทำต้องนึกถึงประโยชน์หรือคุณค่าต่อผู้เรียนเป็นสำคัญ
              5. การทำวิจัยเป็นสิ่งที่ตระหนักรู้ โดยอาจารย์ผู้สอนเอง ด้วยความรู้สึกห่วงใยต่อนักศึกษา ปรารถนาที่จะแก้ปัญหาและพัฒนาผู้เรียน
              6. สิ่งสำคัญประการสุดท้าย และเป็นสิ่งที่สำคัญยิ่งต่อการวิจัย เพื่อพัฒนาการเรียนการสอน คือ งานวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้จะสำเร็จมิใช่อยู่ที่ความคิดอย่างเดียว แต่อยู่ที่ การลงมือทำ สุดท้ายอาจกล่าวได้ว่าการพัฒนาคุณภาพของผู้เรียน คุณภาพการเรียนการสอนที่ต่อเนื่องจะเกิดขึ้นได้ยาก ถ้าขาดการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรม ขาดการดำเนินการโดยใช้แนวคิดทางวิทยาศาสตร์ การวิจัยถือเป็นเครื่องมือสำคัญที่ทำให้เกิดความคิดในการพัฒนาการเรียนการสอนของครู อาจารย์เกิดขึ้นเป็นรูปธรรมขึ้น และเป็นการดำเนินการเชิงวิทยาศาสตร์ที่จะช่วยพัฒนาการเรียนการสอนของครู อาจารย์อย่างแท้จริง ซึ่งผลก็คือ คุณภาพของผู้เรียนนั่นเอง

3. กระบวนการขั้นตอนการทำวิจัยในชั้นเรียน

                กระบวนการขั้นตอนในการทำวิจัยในชั้นเรียนในครั้งนี้จะขอนำเสนอใน 3  ส่วน  คือส่วนของขั้นตอนการวิจัย   ส่วนของการออกแบบการวิจัยและองค์ประกอบของรายงานการวิจัย  และส่วนของการเรียนรายงานการวิจัย   ียนนี้ต่อผลงานของครูผู้สอนและโดยกระบวนการวิจัยในชั้นเรียนในชั้นเรียนสามารถทำได้หลายวิธีการ ซึ่งทุกวิธีการล้วนอยู่บนพื้นฐานกระบวนการ ซึ่งจะขอนำเสนอตามลำดับดังนี้

3.1  ขั้นตอนการดำเนินการวิจัย  ผู้เขียนขอนำเสนอตัวอย่างขั้นตอนการวิจัยจากนักวิชาการ  2  ท่านดังนี้

Freeman.  1998,(อ้างถึงในสุธาสินี  บุญญาพิทักษ์ออนไลน์  2554)  ได้อธิบายขั้นตอนการทำวิจัยในชั้นเรียน  เป็น  6  ขั้นตอนอันประกอบด้วย

                                          1.    ตั้งข้อสงสัยเกี่ยวกับสภาพที่เกิดขึ้น

                       2.    กำหนดคำถามวิจัย

                       3.    รวบรวมข้อมูล

                       4.    วิเคราะห์ข้อมูล

                       5.    ทำความเข้าใจสิ่งที่เกิดขึ้น

                       6.    เผยแพร่ข้อค้นพบ

ส่วน วิชิต สุรัตน์เรืองชัย, (2546)  ได้กล่าวถึงขั้นตอนเฉพาะของการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน โดยกล่าวถึงขั้นปฏิบัติจริงที่ปรับจากขั้นตอนทั่วไป เป็น 7 ขั้น ดังนี้

1.กำหนดปัญหา -ประเด็นปัญหา

2.ศึกษาข้อมูลเบื้องต้น -บรรยายข้อเท็จจริงเกี่ยวกับปัญหา

3.วางแผนปฏิบัติ -กำหนดทางเลือกหลากหลาย

4.ปฏิบัติตามแผน

5.สังเกตผล

6.สรุปผล

7.สะท้อนผล

1. กำหนดปัญหา

จุดเริ่มของการวิจัยเชิงปฏิบัติ คือกำหนดแนวคิดให้ได้ว่ามีปัญหาอะไรที่ต้องการแก้ไข หรือประเด็นใดที่ต้องการพัฒนา โดยเริ่มจากการสำรวจสภาพทั่วไปของการเรียนการสอนที่เกิดขึ้นในชั้นเรียนว่ามีปัญหาเกิดขึ้นหรือไม่กำหนดประเด็นปัญหาที่ต้องการแก้ไขกว้าง ๆจากนั้นพิจารณาให้ชัดเจนว่าปัญหาที่แท้จริงคืออะไรเป็นปัญหาสำคัญหรือไม่ แก้ไขได้หรือไม่ ปัญหาที่กำหนดนั้นอาจเป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับตนเองเพียงคนเดียว หรือเป็นปัญหาร่วมของกลุ่มก็ได้เทคนิคในการกำหนดปัญหาที่ชัดเจนคือ พยายามกำหนดแยกเป็น 2 ประเด็น

1.1 ประเด็นปัญหา ได้แก่ ประเด็น

ปัญหาที่เกิดขึ้นจริงในชั้นเรียน ตัวอย่างเช่น

- ปัญหานักเรียนขาดเรียนบ่อย

- ปัญหานักเรียนไม่ส่งการบ้าน

- ปัญหานักเรียนคิดไตร่ตรองไม่เป็น

- ปัญหานักเรียนไม่สนใจการเรียน

-ปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมก้าวร้าว

-ปัญหานักเรียนซึมเศร้าโดดเดี่ยวตนเอง

-ปัญหานักเรียนไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์

- ปัญหานักเรียนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนวิชาภาษาไทยต่ำ

- ปัญหานักเรียนใช้เวลาว่างไม่เป็นประโยชน์

- ฯลฯ

1.2 ประเด็นที่ต้องการแก้ไข ปรับปรุงพัฒนา ได้แก่ สิ่งที่ต้องการแก้ไขปรับปรุงหรือพัฒนาให้เกิดขึ้น โดยคาดว่าเมื่อสิ่งนั้นเกิดขึ้นแล้วจะแก้ปัญหาได้ ตัวอย่างเช่น ประเด็นปัญหาทั้งหมดตาม ข้อ

1.1 สามารถกำหนดเป็นประเด็นที่ต้องแก้ไข / ปรับปรุงได้ดังนี้

- ปัญหานักเรียนขาดเรียนบ่อย ทำอย่างไรนักเรียนจึงจะขาดเรียนน้อยลง

- ปัญหานักเรียนไม่ส่งการบ้าน ทำอย่างไรนักเรียนจึงจะส่งการบ้านตรงเวลา

- ปัญหานักเรียนคิดไตร่ตรองไม่เป็นทำอย่างไรนักเรียนจึงจะคิดเป็น

- ปัญหานักเรียนไม่สนใจการเรียนทำอย่างไรนักเรียนจึงจะสนใจการเรียน

- ปัญหานักเรียนมีพฤติกรรมก้าวร้าวทำอย่างไรนักเรียนจึงจะมีพฤติกรรมไม่ก้าวร้าว

- ปัญหานักเรียนซึมเศร้าโดดเดี่ยวตนเอง ทำอย่างไรนักเรียนจึงจะร่าเริง เข้าสังคมปกติ

- ปัญหานักเรียนไม่ชอบวิชาคณิตศาสตร์ ทำอย่างไรนักเรียนจึงจะชอบเรียนวิชาคณิตศาสตร์

- ปัญหานักเรียนมีผลสัมฤทธิ์การเรียนวิชาภาษาไทยต่ำ ทำอย่างไรนักเรียนจึงจะมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาภาษาไทยสูงขึ้น

- ปัญหานักเรียนใช้เวลาว่างไม่เป็นประโยชน์ ทำอย่างไรนักเรียนจึงจะใช้เวลาว่างให้เป็นประโยชน์จะเห็นได้ว่าการกำหนดประเด็นที่ต้องการปรับปรุงหรือพัฒนานี้ จะช่วยให้ครู มองเห็นเป้าหมายที่ชัดเจนว่าการวิจัยในชั้นเรียนครั้งนี้ทำเพื่ออะไร ผลที่จะเกิดขึ้นคืออะไรแนวทาดำเนินการเป็นอย่างไร

2. ศึกษาข้อมูลเบื้องต้นเกี่ยวกับประเด็นปัญหา เป็นการคิดพิจารณาทบทวนค้นหาข้อเท็จจริงเพื่อทำความเข้าใจปัญหานั้นอย่างชัดเจนทุกแง่ทุกมุม โดยใช้วิธีการต่าง ๆ เพื่อบรรยายข้อเท็จจริงของปัญหาให้ได้มากที่สุด และเพื่ออธิบายว่าปัญหานั้นเกิดจากสาเหตุใด ในขั้นนี้ต้องมีการตรวจสอบสาเหตุที่แท้จริงของปัญหาโดยมีการคาดเดาสาเหตุของปัญหาอย่างมีเหตุผลและมีการตรวจสอบสาเหตุที่คาดเดาด้วยวิธีการหลากหลาย โดยใช้ความรู้และประสบการณ์ในการสอนของตนเองและเพื่อนครูที่สั่งสมมาเป็นเวลานานรวมทั้งขอคำแนะนำจากผู้รู้ ผู้มีประสบการณ์ และศึกษาข้อมูลอื่น ๆ ประกอบรายละเอียดของขั้นตอนที่ 2 มี ดังนี้

2.1 บรรยายข้อเท็จจริง โดยครูผู้สอนเป็นผู้เก็บรวบรวมข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับปัญหาทั้งหมดอย่างละเอียด โดยใช้วิธีสังเกต สอบถามสัมภาษณ์ ศึกษาเอกสาร อัตชีวประวัติทะเบียนประวัติ ฯลฯ จากนั้นจดบันทึกข้อมูลทั้งหมด เช่น ตัวอย่างปัญหานักเรียนไม่สนใจการเรียน ครูต้องศึกษาและบรรยายข้อเท็จจริงให้ได้ว่า

-มีผู้ไม่สนใจการเรียนกี่คนใครบ้าง

-ไม่สนใจการเรียนวันใดบ้าง ช่วงเวลาใด

-ไม่สนใจการเรียนวิชาอะไร ใครเป็นผู้สอนในวิชานั้น

-นักเรียนแต่ละคนที่ไม่สนใจการเรียนมีประวัติและข้อมูลส่วนตัวอย่างไร มีปัญหาส่วนตัว ปัญหาสุขภาพ ปัญหาอื่น ๆ หรือไม่ฯลฯ

2.2 อธิบายสาเหตุของปัญหา เมื่อครูเก็บข้อมูลข้อเท็จจริงได้มากพอสมควรแล้วต้องพยายามหาสาเหตุให้ได้ว่าปัญหานั้นๆ เกิดจากสาเหตุใด ทั้งนี้ครูต้องใช้ความรู้ความ สามารถและความช่วยเหลือจากกลุ่มเพื่อนครู ศึกษานิเทศก์หรือผู้เชี่ยวชาญ เพื่อช่วยกันวิเคราะห์สาเหตุที่แท้จริงของปัญหา มีขั้นตอนย่อย ๆ ดังนี้

2.2.1 พิจารณาข้อเท็จจริงทุกแง่มุมได้แก่ ข้อมูลของนักเรียนรายบุคคลที่เก็บรวบรวมมาได้ในขั้นตอนก่อน

2.2.2 ตั้งสมมุติฐาน (คาดเดาสาเหตุของปัญหาอย่างมีเหตุผล) วิธีพิจารณาอาจต้องใช้กลุ่มเพื่อนครูหรือผู้มีความรู้ช่วยกันพิจารณาและคาดเดาถึงสาเหตุ จากตัวอย่างอาจคาดเดาว่าสาเหตุสำคัญของการไม่สนใจการเรียน เนื่องมาจากพฤติกรรมการสอนของครูไม่น่าสนใจบรรยากาศการเรียนเฉื่อยชา ทำให้นักเรียนเบื่อหน่าย ไม่มีแรงจูงใจในการเรียน เป็นต้น

2.2.3 พิสูจน์สมมุติฐานนั้น โดยใช้วิธีการต่าง ๆ ส่วนใหญ่จะใช้การสังเกต สอบถามสัมภาษณ์ในชั้นเรียนจริง จากตัวอย่างปัญหานักเรียนไม่สนใจการเรียน ครูผู้สอนต้องคอยสังเกตพฤติกรรมนักเรียนในระหว่างเรียนมอบหมายงานให้นักเรียนเขียนเรียงความเกี่ยวกับตนเอง สนทนากับนักเรียนในเวลาว่าง สอบถามจาก เพื่อน เยี่ยมเยียนและสนทนากับผู้ปกครอง

2.2.4 สรุปสาเหตุของปัญหา เมื่อถึงขั้นตอนนี้แล้วครูน่าจะรู้สาเหตุที่แท้จริงของปัญหาว่าคืออะไร ซึ่งสาเหตุของปัญหาของนักเรียนแต่ละรายอาจไม่เหมือนกันหรือเหมือนกันก็ได้ตัวอย่าง ปัญหานักเรียนไม่สนใจการเรียนนี้หลังจากพิสูจน์สมมุติฐานแล้วสรุปได้ว่า สาเหตุสำคัญที่ทำให้นักเรียนไม่สนใจการเรียน คือพฤติกรรมการสอนของครูไม่น่าสนใจ บรรยากาศการเรียนเฉื่อยชา ซึ่งเป็นไปตามสมมุติฐานที่ตั้งไว้

3. วางแผนปฏิบัติเป็นการกำหนดวิธีการหรือกิจกรรมการปฏิบัติที่จะนำไปใช้แก้ปัญหาตามสาเหตุของปัญหาที่พบในขั้นตอนก่อน วิธีการในขั้นนี้ส่วนมากจะเริ่มจาก การคิดพิจารณาหาทางเลือกในการแก้ปัญหาที่น่าจะเป็นไปได้ให้มากที่สุดจากนั้นพิจารณาเปรียบเทียบแต่วิธี จนในที่สุดตัดสินใจเลือกวิธีใดวิธีหนึ่งหรือหลายวิธีผสมกันจากนั้นจึงกำหนดรายละเอียดของวิธีนั้นให้เป็นกิจกรรมที่ชัดเจนเป็นลำดับสามารถนำไปปฏิบัติจริงได้ ควรกำหนดระยะเวลาไว้ด้วย จัดทำหรือเขียนเป็นแผนปฏิบัติการ รายละเอียดของการวางแผนปฏิบัติมีดังนี้

3.1 กำหนดทางเลือกในการแก้ปัญหาหลายวิธี

3.2 พิจารณาเลือกวิธีที่เหมาะสมที่สุดเพียง 1 วิธี หรือหลายวิธีผสมกัน

3.3 จัดทำแผนปฏิบัติการประกอบด้วย

3.3.1 หลักการและแนวคิด

3.3.2 วัตถุประสงค์ (สิ่งที่ต้องปรับปรุงหรือพัฒนา)

3.3.3 เป้าหมาย (เชิงปริมาณและคุณภาพ)

3.3.4 กิจกรรมการปฏิบัติ

3.3.5 ระยะเวลาที่ดำเนินการ

3.3.6 บุคลากรที่ต้องการ

3.3.7 สื่อ วัสดุ อุปกรณ์ งบประมาณที่ต้องใช้

3.3.8 แนวทางการวัดและประเมินผล

จากตัวอย่างปัญหานักเรียนไม่สนใจการเรียนเนื่องจากพฤติกรรมการสอนของครูไม่น่าสนใจ บรรยากาศการเรียนเฉื่อยชา อาจสามารถกำหนดวิธีการแก้ปัญหาไว้หลากหลายดังนี้

1 ปรับกิจกรรมการเรียนการสอนโดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญมากขึ้น

2 จัดทำบทเรียนสำเร็จรูปให้นักเรียนนำไปเรียนด้วยตนเอง

3 จัดกิจกรรมเสริมหลักสูตรให้นักเรียนเข้าร่วม

4 เปลี่ยนวิธีสอนเป็นแบบเพื่อนสอนเพื่อน

5 ใช้สื่อการสอนที่ทันสมัย น่าสนใจเช่น คอมพิวเตอร์

6 ใช้การเสริมแรงในห้องเรียนด้วยการให้เบี้ยอัตถกร (token)

7 กำหนดบทลงโทษผู้ที่ชอบขาดเรียนเกินกำหนดอย่างเด็ดขาดจากนั้นตัดสินใจเลือกวิธีที่เห็นว่าเหมาะ สมที่สุดจากตัวอย่างเลือกสมมุติว่าเลือกใช้การเสริมแรงในห้องเรียนด้วยการให้เบี้ยอัตถกรเพื่อจูงใจให้นักเรียนสนใจและเรียนรู้อย่างมีความสุข โดยใช้วิธีนี้กับนักเรียนทั้งชั้น แต่สังเกตผลที่เกิดขึ้นกับนักเรียนที่มีปัญหาเท่านั้นจากนั้นจัดทำแผนปฏิบัติการเพื่อแก้ไขปัญหาตาม

สาเหตุ

4. ปฏิบัติตามแผน

เป็นการปฏิบัติตามแผนที่กำหนดไว้ในชั้นเรียนจริง นักเรียนจริง สภาพแวดล้อมจริงทำได้โดยครูผู้สอนยังคงดำเนินการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนตามปกติ เพียงแต่ว่าปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการสอนของตนเองจากเดิมที่ไม่ค่อยสนใจนักเรียนเท่าใดนัก มาเป็นการให้ความสนใจเอาใจใส่ดูแล และเสริมแรงตามแผนที่กำหนดไว้ จากตัวอย่างแผนจะเห็นได้ว่า วิธีการหลักที่จะนำไปใช้คือ เทคนิคการเสริมแรงด้วยการใช้เบี้ยอัตถกร โดยคาดว่าเทคนิคดังกล่าวร่วมกับการสอนตามปกติอยู่แล้วนั้น จะส่งผลให้นักเรียนมีความสนใจในการเรียน ขจัดความเบื่อหน่ายการเรียนของนักเรียน

5. สังเกตผล

เป็นการสังเกตผลที่เกิดขึ้นจากการปฏิบัติตามแผน (การประเมินผล) โดยครูผู้ปฏิบัติเป็นผู้สังเกตเอง ขั้นตอนนี้ดำเนินการช่วงเดียวกับการปฏิบัติตามแผน คือ ปฏิบัติไปสังเกตผลไปใช้วิธีการต่าง ๆ ที่เหมาะสม เช่น สังเกต สอบถามสัมภาษณ์ ตรวจผลงาน (วิธีการเชิงคุณภาพมักใช้ได้ ผลดี) เน้นการสังเกตผลที่เกิดขึ้นตามสภาพจริงครอบคลุมทุกประเด็น ทั้งผลที่เกิดขึ้นและกระบวน การปฏิบัติของตนเอง พยายามบันทึกเหตุการณ์ สภาพแวดล้อม บรรยากาศ ผลที่เกิดขึ้นและข้อสังเกตต่าง ๆ ให้มากที่สุด จากนั้นสรุปผลที่เกิดขึ้นว่าแก้ปัญหาได้หรือไม่ จากตัวอย่างที่กล่าวมานั้น จะห็นได้ว่าวิธีการสังเกตที่น่าจะใช้ได้ผล คือ การสังเกตพฤติกรรมในระหว่างเรียน การสนทนาอย่างไม่เป็นทางการถึงความรู้สึกความสนใจของนักเรียน เป็นต้น

6. สรุปผล

เป็นการนำข้อมูลที่ได้จากการสังเกตผลมาพิจารณาเปรียบเทียบกับประเด็นปัญหาที่กำหนดเพื่อตัดสินใจว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้วหรือไม่สมบูรณ์เพียงใด ยังมีปัญหาอะไรบ้างที่ต้องแก้ไขต่อไป จากตัวอย่าง หากเวลาผ่านไป 1 เดือนความสนใจในการเรียนมากขึ้น แสดงว่าปัญหาได้รับการแก้ไขแล้ว แต่หากผลที่เกิดขึ้นยังไม่ชัดเจน อาจต้องเพิ่มเวลาการปฏิบัติในแผนให้มากขึ้น ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับผลการสังเกตที่ทำเป็นระยะ ว่าสรุปผลได้หรือไม่

7. สะท้อนผล

เป็นการนำข้อสรุปและข้อสังเกตต่าง ๆไปใช้สำหรับปรับปรุงแก้ไขแผนต่อไป กรณีที่สรุปว่าปัญหายังไม่ได้รับการแก้ไข หรือประเด็นที่ต้องการพัฒนายังไม่เกิดขึ้น ให้ปรับปรุงแผนใหม่โดยใช้ข้อมูลที่ได้รับ จากนั้นนำแผนไปปฏิบัติ สังเกตผล และสะท้อนผล ทำเช่นนี้ไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะสำเร็จผล จึงเริ่มกระบวนใหม่แก้ปัญหาใหม่ พัฒนาประเด็นใหม่ จากตัวอย่างเรื่องปัญหานักเรียนไม่สนใจการเรียน หลังจากสรุปผลแล้ว หากแก้ปัญหาได้ก็คงมีประเด็นที่น่าสนใจอื่น ๆ เกิดขึ้นมากมายที่จะต้องนำมาอภิปรายกัน เช่น แก้ปัญหาได้ถาวรหรือไม่วิธีการนี้ก่อให้เกิดปัญอื่นๆ ตามหรือไม่ หรือถ้าแก้ไขไม่ได้ อาจต้องมีการทบทวนและปรับการ

 

3.2 การออกแบบการวิจัยของครู

         การออกแบบการวิจัยของครู จำแนกได้ 3 กลุ่มใหญ่ คือ(สุธาสินี  บุญญาพิทักษ์, ออนไลน์,  2554)

         1.  วิจัยเพื่อทำความเข้าใจปัญหา สถานการณ์ ข้อเท็จจริง การวิจัยลักษณะนี้เป็นการศึกษาข้อมูลพื้นฐานในระดับชั้นเรียน เช่น ข้อมูลส่วนตัว ความคิดเห็น ความรู้สึกผู้เรียน หรืออธิบายความสัมพันธ์ของตัวแปรบางตัวที่สนใจ อาทิ ความฉลาดทางอารมณ์กับความรับผิดชอบ เป็นต้น วิจัยกลุ่มนี้จึงมักปรากฏในรูปแบบการวิจัยเชิงสำรวจ เชิงสหสัมพันธ์ การศึกษาเฉพาะกรณี นิเวศวิทยาในชั้นเรียน เป็นต้น

         2.  การวิจัยเชิงทดลองเพื่อแก้ปัญหาหรือพัฒนา อาทิเช่น การวิจัยพัฒนานวัตกรรมการเรียนรู้ประเภทวิธีการสอน และสื่อต่าง ๆ ซึ่งสามารถพัฒนาไปสู่การวจัยเชิงวิชาการในลักษณะการวิจัยและพัฒนาได้ (Research and Development)

         3.  การวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียน (Classroom Action Research) ดำเนินการโดยครูเพื่อแก้ปัญหาในกระบวนการปฏิบัติ (การสอน) ซึ่งต้องทำอย่างรวดเร็วเพื่อนำผลไปใช้ทันที มีการดำเนินการเป็นขั้นตอนต่อเนื่องกัน คือ วางแผน (Plan) นำแผนไปปฏิบัติ (Act) สังเกต/เก็บข้อมูล (Observe) และสะท้อนกลับเพื่อปรับปรุง (Reflect) และทำซ้ำขั้นตอนแรก จนกว่าการแก้ปัญหาจะบรรลุผลสำเร็จ มีข้อสังเกตการวิจัยในกลุ่มนี้พบว่า สอดคล้องกับกระบวนการปฏิบัติงานของครูมากที่สุด

3.3  การเขียนรายงานการวิจัย(สุธาสินี  บุญญาพิทักษ์, ออนไลน์,  2554)

         รายงานการวิจัยเป็นการนำเสนอความรู้ ข้อค้นพบออกสู่สาธารณชน ซึ่งนอกจากจะทำให้เกิดประโยชน์ในวงกว้างแล้ว ยังแสดงถึงความรู้ความสามารถเชิงวิชาการของครู โดยทั่วไปพบว่า มีการเขียนใน 2 รูปแบบ คือ

         5.1.1    รายงานวิจัยแบบไม่เป็นทางการ ซึ่งเหมาะกับครูนักวิจัยในระยะเริ่มต้นที่ยังมีทักษะในการวิจัยไม่มาก มุ่งเสนอข้อค้นพบตามสภาพจริงที่เกิดขึ้น มากกว่าการยึดรูปแบบการเขียนรายงานวิจัยที่เป็นสากล ไม่เน้นคำศัพท์ทางวิชาการ ประกอบด้วยประเด็นสำคัญ เช่น ชื่อเรื่อง ชื่อผู้วิจัย ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาวิจัย วัตถุประสงค์การวิจัย ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย ตัวแปรในการวิจัย วิธีดำเนินการวิจัย การวิเคราะห์ข้อมูล และผลการวิจัย

         การนำเสนองานวิจัยชั้นเรียนแบบไม่เป็นทางการ มีข้อดีในแง่ความต้องการใช้ผลการวิจัยอย่างรวดเร็ว มุ่งนำเสนอภาพความมีชีวิตชีวาของชั้นเรียนจากผลการแก้ปัญหาของครู อย่างไรก็ดี ในการนำเสนอรายงานวิจัยแบบไม่เป็นทางการนี้ มักพบจุดอ่อนที่ไม่แสดงหลักฐาน ขั้นตอน กระบวนการวิจัยอย่างชัดเจน เพื่อยืนยันข้อสรุปจากการวิจัย อาจส่งผลต่อความน่าเชื่อถือและการนำผลวิจัยไปใช้ หากครูมีทักษะความชำนาญมากขึ้น ควรเขียนรายงานวิจัยในรูปแบบเป็นทางการ เพื่อให้ถูกต้องตามหลักการ เป็นสากลในกลุ่มวิชาชีพมากขึ้น ยกระดับเป็นงานวิจัยเชิงวิชาการได้เช่นกัน

         5.1.2    รายงานวิจัยแบบเป็นทางการ มีลักษณะเหมือนรายงานวิจัยเชิงวิชาการ
ทั่วๆ ไป ที่ใช้กันในหมู่นักวิจัย มักนำเสนอในรูป 5 บท คือ

                           บทที่ 1         บทนำ

                                           -    ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาวิจัย

                                           -    วัตถุประสงค์การวิจัย

                                           -    ขอบเขตการวิจัย

                                                 -  กลุ่มประชากร/กลุ่มตัวอย่าง

                                                 -  เนื้อหา

                                                 -  ตัวแปร

                                                 -  ระยะเวลา

                                           -    ประโยชน์ที่ได้รับจากการวิจัย

                         บทที่  2    เอกสารที่เกี่ยวข้องกับการวิจัย

                                           -    แนวคิด ทฤษฎีที่เกี่ยวข้อง

                                           -    กรอบแนวคิดในการวิจัย

                         บทที่ 3     วิธีดำเนินการวิจัย

                                           -    รูปแบบการวิจัย

                                           -    ขั้นตอนการดำเนินการ

                                           -    เครื่องมือการวิจัย

                                           -    การเก็บรวบรวมข้อมูล

                                           -    วิธีวิเคราะห์ข้อมูล

                         บทที่ 4     ผลการวิเคราะห์ข้อมูล

                         บทที่ 5     สรุป อภิปรายผล และข้อเสนอแนะ

                                           -    สรุปผลการวิจัย

                                           -    อภิปรายผลการวิจัย

                                           -    ข้อเสนอแนะ

                         บรรณานุกรม

                         ภาคผนวก

         โดยกรอบของการเขียนรายงานการวิจัยนี้นี้จะเห็นได้ว่าคล้ายคลึงกับการเขียนรายงานการวิจัยในเชิงวิชาการทั่วไป  โดยมีองค์ประกอบหลักจำนวน  5  บท  แต่ความแตกต่างของการวิจัยในชั้นเรียนนั้นจะอยู่ที่เป้าหมายของการวิจัยที่มุ่งแก้ปัญหาหรือพัฒนาการเรียนการสอนให้มีประสิทธิภาพและประสิทธิผลมากขึ้น

 

เอกสารอ้างอิง

รัตนะ บัวสนธ์, (2544).วิจัยและพัฒนาการศึกษา. คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยนเรศวร

วิชิต สุรัตน์เรืองชัย, (2546).การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนการสอน.วารสารศึกษาศาสตร์ ปีที่ 14 ฉบับที่ 2 เดือน พฤศจิกายน 2545-มีนาคม 2546 หน้า 31 

ส.วาสนา ประวาลพฤกษ์, (2541).  “การวิจัยในชั้นเรียนและแนวทางในการพัฒนาการเรียนการสอน” คู่มือพัฒนาการเรียนรู้. กรุงเทพฯ : กรมวิชาการ กระทรวงศึกษาธิการ.

สุธาสินี  บุญญาพิทักษ์, (2554).  เอกสารประกอบการอบรม เรื่อง การวิจัยในชั้นเรียน

http://www.pt.tsu.ac.th/rdi/Traincourse/files/DATA.(ออนไลน์)

สุภัทรา เอื้อวงศ์ ,  (2554).การวิจัยเพื่อการพัฒนาการเรียนรู้. http://www.moe.go.th /wijai/RE%20learn.doc.(ออนไลน์)

หมายเลขบันทึก: 488195เขียนเมื่อ 16 พฤษภาคม 2012 15:12 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 09:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบคุณมากค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท