หมออนามัย มะเร็งเต้านม


 มะเร็งเต้านม

หมออนามัย นายอานนท์ ภาคมาลี

 

มะเร็งเต้านม   เป็นมะเร็งที่พบบ่อยเป็นอันดับ 2 ในผู้หญิงไทยรองจากมะเร็งปากมดลูก อุบัติการณ์ที่พบเพิ่มขึ้นอย่างชัดเจนในช่วงอายุ 40 ปี ขึ้นไป มะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ผลการรักษาดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวินิจฉัยได้ในระยะเริ่มแรก การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการตรวจเต้านมด้วยตนเอง หรือโดยการถ่ายภาพรังสี หรือที่เรียกว่าแมมโมแกรมมีความสำคัญในการค้นหาโรคระยะแรกก่อนที่จะมีการแพร่กระจายลุกลามไปต่อมน้ำเหลืองหรืออวัยวะอื่นๆ

แมมโมแกรม คือ ถ่ายเอกซเรย์เต้านมทั้งสองข้าง ตามปกติจะทำ 2 ท่า คือถ่ายเต้านมด้านตรง และแนวเอียง สามารถตรวจพบและดีกว่าการตรวจวิธีอื่น คือสามารถเห็นจุดหินปูนในเต้านม ซึ่งในบางครั้งมะเร็งเต้านม อาจมีขนาดเล็กมาก คลำก็ไม่พบ

สาเหตุของมะเร็งเต้านม เกิดจากหลายปัจจัยร่วมกัน ได้แก่ ปัจจัยทางพันธุกรรม ปัจจัยด้านสิ่งแวดล้อม การรับประทานอาหารประเภทไขมันสูง และฮอร์โมนเพศหญิง

ลักษณะของโรค เริ่มด้วยการมีก้อนเล็ก ๆ ที่เต้านม มักไม่มีอาการเจ็บปวด บวม หรืออักเสบ ก้อนจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ต่อมาอาจคลำพบก้อน เต้านมมีรูปร่างผิดปกติ ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะหยาบและขรุขระ มีการดึงรั้งของหัวนม     ในบางรายเมื่อบีบหัวนมจะมีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลซึม

ผู้ที่เสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมเริ่มมีประจำเดือนครั้งแรกเมื่ออายุน้อย, หมดประจำเดือนเมื่ออายุมาก, ไม่มีบุตร หรือมีบุตรคนแรกเมื่ออายุมากกว่า 30 ปี มีแม่ พี่น้อง หรือลูก เป็นมะเร็งเต้านมก่อนอายุ 50 ปี การใช้ยาคุมกำเนิดตั้งแต่อายุน้อยและใช้ต่อเนื่องเป็นเวลานาน การรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนในสตรีวัยหมดประจำเดือน จะเพิ่มอัตราเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติเล็กน้อย ดังนั้น ผู้ที่ได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนทดแทนเป็นระยะเวลานาน ควรจะรับการตรวจเอกซเรย์เต้านม หรือที่เรียกว่าการทำแมมโมแกรมทุกปี

การวินิจฉัยมะเร็งเต้านม มีวิธีการต่างๆ มากมายเพื่อช่วยในการวินิจฉัยมะเร็งเต้านม การเอ็กซเรย์เต้านมหรือแมมโมแกรมและการตรวจอัลตร้าซาวน์ (การตรวจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูง) มีประโยชน์มากในการวินิจฉัยและการรักษา โดยเฉพาะก้อนที่มีขนาดเล็ก คลำไม่ได้ หรืออยู่ลึกในเนื้อเต้านม คลำได้ไม่ชัดเจน  เมื่อวินิจฉัยได้แล้ว ควรมีการวินิจฉัยระยะโรค เพื่อวางแผนการรักษาที่ถูกต้อง โดยต้องประเมินการแพร่กระจายของมะเร็งที่ไปต่อมน้ำเหลือง ปอด ตับ และกระดูก ดังนั้นจึงจำเป็นต้องถ่ายภาพรังสีทรวงอก ตรวจอัลตร้าซาวน์ตับ และตรวจกระดูกชนิดสแกนด้วยเภสัชรังสี

วิธีการรักษามะเร็งเต้านม การรักษามะเร็งเต้านมเป็นการรักษาผสมผสานกันระหว่างการผ่าตัด การฉายรังสีรักษา และการให้ยาเคมีบำบัด การรักษาที่ถูกต้องและเหมาะสมสำหรับผู้ป่วยแต่ละรายทำให้ผลการรักษาดี ผู้ป่วยมีอายุยืนยาว แพทย์ผู้รักษาจำเป็นต้องเลือกวิธีการและลำดับการรักษาให้เหมาะสมกับผู้ป่วยแต่ละคนเพื่อให้ได้ผลการรักษาที่ดีที่สุด

 

รักษาด้วยการผ่าตัดการผ่าตัดรักษาที่ใช้ในทางปฏิบัติมี 2 วิธี คือ

1. การผ่าตัดเต้านมออกบางส่วน หมายถึง การตัดก้อนมะเร็ง รวมทั้งเนื้อเต้านมที่ดีที่หุ้มรอบมะเร็งออกด้วยร่วมกับการเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก ถ้ามะเร็งมีการแพร่กระจายไปยังต่อมน้ำเหลือง การผ่าตัดโดยวิธีนี้ต้องฉายรังสีบริเวณเต้านมภายหลังการผ่าตัดทุกรายเพื่อลดโอกาสกลับเป็นใหม่ของมะเร็ง ผลการผ่าตัดโดยวิธีนี้ได้ผลดีพอ ๆ กับการตัดเต้านมออกทั้งเต้า

 2. การตัดเต้านมออกโดยวิธีมาตรฐาน คือ การตัดเนื้อเต้านมทั้งหมดร่วมกับเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออก แพทย์จะผ่าตัดด้วยวิธีนี้ในกรณีที่ก้อนเนื้องอกมีขนาดใหญ่กว่าวิธีแรก

การผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกเพื่อความแม่นยำในการวินิจฉัยระยะโรค ซึ่งจะช่วยในการวางแผนการรักษาและพยากรณ์โรคของผู้ป่วย จึงจำเป็นต้องผ่าตัดเลาะต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้ออกเพื่อนำมาตรวจหาการแพร่กระจายของเซลมะเร็ง

การรักษาเสริมผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่ได้รับการรักษาโดยการผ่าตัดบางกรณีจำเป็นต้องได้รับการรักษาเสริมเพื่อหวังผลให้หายหรือมีชีวิตยืนยาวขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น การรักษาเสริมประกอบด้วยการฉายรังสีรักษา การให้ยาเคมีบำบัด และการให้ฮอร์โมนรักษา ซึ่งการรักษาแบบผสมผสานดังกล่าวเป็นวิธีการรักษาที่ได้ผลดี อันจะสามารถช่วยให้ผู้ป่วยหายจากโรคหรือมีชีวิตที่ยืนยาวขึ้นได้

วิธีการป้องกันมะเร็งเต้านม เนื่องจากการดำเนินของโรคมะเร็งเต้านม ผู้ป่วยมักไม่มีอาการผิดปกติในระยะเริ่มต้น ดังนั้นจึงมีความจำเป็นและสำคัญอย่างที่ต้องทำการตรวจค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้น การรักษามะเร็งเต้านมในปัจจุบันมีความก้าวหน้าไปมาก การค้นพบมะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นสามารถรักษาให้หายขาดได้ และการรักษาอาจทำได้โดยการตัดเฉพาะก้อนมะเร็งออกไม่จำเป็นต้องผ่าตัดทั้งเต้านม ในทางตรงกันข้ามหากไม่มีการตรวจค้นหามะเร็งเต้านม โดยรอจนกระทั่งมีอาการผิดปกติมะเร็งอาจแพร่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ แล้ว และไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้

ความสำคัญของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมจุดมุ่งหมายของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านม ก็เพื่อที่จะสามารถตรวจพบมะเร็งในระยะเริ่มต้นซึ่งจะเป็นผลดีต่อการรักษา ทำให้อัตราการอยู่รอดของผู้ป่วยมีเพิ่มขึ้น และการกลับเป็นใหม่ของโรคลดลง

การตรวจค้นหามะเร็งเต้านมในระยะเริ่มต้นทำได้ดังนี้

1. การตรวจเต้านมด้วยตนเองอย่างถูกวิธีเดือนละครั้ง หลังจากประจำเดือนหมดไปแล้วประมาณ 3 วัน เป็นวิธีที่ง่าย ประหยัด ใช้ได้กับทุกวัย หากมีการตรวจเต้านมด้วยตนเองโดยถูกต้องอย่างสม่ำเสมอ จะสามารถตรวจพบก้อนได้ตั้งแต่ยังมีขนาดไม่โตมากนักซึ่งการรักษาจะได้ผลดี บางท่านอาจคิดว่าการตรวจร่างกายด้วยตนเองไม่มีความสำคัญ เนื่องจากมีการตรวจด้วยแมมโมแกรมแล้ว แต่ในความเป็นจริงเนื้องอกบางชนิดอาจไม่ปรากฏให้เห็นได้ชัดในภาพรังสี แต่สามารถคลำได้ด้วยการตรวจร่างกายด้วยตนเองและควรร่วมกับการตรวจยืนยันอีกครั้งโดยแพทย์ หรือในกรณีที่การตรวจด้วยตนเองแล้วสงสัยหรือไม่แน่ใจ แนะนำให้มาตรวจโดยแพทย์ซ้ำซึ่งจะเป็นประโยชน์มาก

2. การตรวจเต้านมโดยแพทย์ผู้ชำนาญ ปีละครั้ง ตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป

3. การตรวจเอกซเรย์เต้านม หรือที่เรียกว่าแมมโมแกรม ปีละครั้งตั้งแต่อายุ 40 ปีขึ้นไป

มะเร็งเต้านม (Breast cancer) เป็นมะเร็งที่พบบ่อยในผู้หญิงไทย โดยพบมากเป็นอันดับ 2 รองจากมะเร็งปากมดลูก โดยสามารถพบได้ 1 ใน 10 ของผู้หญิง มะเร็งเต้านมนั้นสามารถพบได้ในผู้ชายเช่นกัน แต่พบในอัตราที่น้อยมาก

ปัจจัยเสี่ยง

  1. ผู้หญิงที่มีอายุมากกว่า 40 ปีขึ้นไป จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม โดยพบบ่อยในหญิงที่มีอายุ 50 ปีขึ้นไป
    1. หญิงที่มีประวัติคนในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านม จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติ รวมทั้ง ผู้ป่วยที่เคยเป็นมะเร็งเต้านม ก็มีอัตราเสี่ยงที่จะกลับมาเป็นใหม่สูงกว่าคนปกติด้วย
    2. ผู้ที่มีบุตรหลังอายุ 30 ปี รวมทั้ง หญิงที่ไม่เคยมีบุตร จะมีความเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น
    3. การกลายพันธุ์ของยีน เช่น การเกิดการกลายพันธุ์ของยีน BRCA1 หรือ BRCA2 สามารถทำให้เกิดมะเร็งเต้านม และสามารถถ่ายทอดทางพันธุกรรมได้
    4. ผู้หญิงที่มีเต้านมเต่งตึงกว่าอายุ เช่น หญิงที่มีอายุมากกว่า 45 ปี และมีความหนาแน่นของเต้านมมากกว่าร้อยละ 75 จะมีความเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งเต้านมมากกว่าคนปกติ
    5. ผู้หญิงที่มีประจำเดือนมาตั้งแต่อายุก่อน 12 ปี หรือ ประจำเดือนหมดช้าหลังอายุ 55 ปี จะมีโอกาสเป็นมะเร็งเต้านมได้ง่ายกว่าคนปกติ
    6. ผู้ที่รับประทานฮอร์โมนเพศหญิง รวมทั้ง ผู้ที่ได้รับยาคุมกำเนิดเป็นเวลานาน อาจเกิดมะเร็งเต้านมมากยิ่งขึ้น
    7. การสูบบุหรี่ทำให้เพิ่มโอกาสในการเกิดเป็นมะเร็งเต้านมมากขึ้น

อาการเริ่มต้นที่อาจจะเป็นมะเร็ง ระยะเริ่มต้นนั้นมักจะไม่มีอาการเจ็บ แต่อาจจะตรวจพบความผิดปกติเกิดขึ้นที่เต้านม ซึ่งอาจจะเป็นอาการเริ่มต้นของโรคมะเร็งเต้านม ดังนี้

  • มีก้อนที่เต้านม (ร้อยละ 15-20 ของก้อนที่คลำได้ บริเวณเต้านมเป็นมะเร็งเต้านม
  • มีการเปลี่ยนแปลงขนาด และรูปร่างของเต้านม
  • ผิวหนังเปลี่ยนแปลง เช่น รอยบุ๋ม ย่น หดตัว หนาผิดปกติ บางส่วนมีสะเก็ด
  • หัวนมมีการหดตัว คัน หรือแดงผิดปกติ
  • มีเลือดหรือน้ำออกจากหัวนม (ร้อยละ 20 ของการมีเลือดออกจะเป็นมะเร็ง)
  • เจ็บเต้านม (มะเร็งเต้านมส่วนใหญ่ไม่เจ็บ นอกจากก้อนโตมากแล้ว)
  • การบวมของรักแร้ เพราะต่อมน้ำเหลืองโต

การตรวจเต้านมตนเอง การตรวจมะเร็งเพื่อหาการเปลี่ยนแปลงที่อาจเกิดขึ้น พบว่าร้อยละ 80 ของเนื้องอกที่เต้านมผู้หญิงนั้นถูกตรวจพบครั้งแรกด้วยตนเอง การตรวจเต้านมด้วยตนเอง ควรทำทุกเดือนตั้งแต่วัยสาวถึงวัยสูงอายุ เวลาที่ดีที่สุดที่จะทำการตรวจ คือ หลังหมดระดูแล้ว 3-10 วัน เพราะเป็นช่วงที่เต้านมไม่คัดตึงทำให้ตรวจได้ง่ายสำหรับผู้หญิงที่หมดระดูหรือได้รับการตัดมดลูก จะเป็นการดีถ้าได้ทำการตรวจเต้านมตนเองทุกวันที่หนึ่งของทุกเดือน

วิธีการตรวจ 3 ท่า ทุกท่าจะต้องบิดลำตัวไปทั้งทางซ้ายและขวาสังเกตรูปร่าง ลักษณะ ความผิดปกติของผิวหนังรอยบุ๋ม รอยนูนของเต้านมหรือสิ่งผิดปกติอื่นๆ ของเต้านมทั้ง 2 ข้าง โดยมีท่า ดังนี้

  1. ยืนหน้ากระจก
    1. ปล่อยแขนข้างลำตัวตามสบาย
    2. ยกแขนทั้ง 2 ข้างเหนือศีรษะ
    3. ท้าวเอว เกร็งอกเพื่อให้ผนังทรวงอกกระชับขึ้น
    4. โค้งตัวมาข้างหน้าใช้มือทั้ง 2 ข้างท้าวเอว
    5. นอนราบ
      1. นอนให้สบาย ตรวจเต้านมขวาให้สอดหมอนหรือม้วนผ้าใต้ไหล่ขวา
      2. ยกแขนขวาเหนือศีรษะเพื่อให้เต้านมด้านนั้นแผ่ราบซึ่งจะทำให้คลำง่ายขึ้น โดยเฉพาะส่วนบนด้านนอกมีเนื้อหนามากที่สุด และมีการเกิดมะเร็งบ่อยที่สุด
      3. ใช้กึ่งกลางตอนบนของนิ้วมือซ้าย ( นิ้วชี้ นิ้วกลาง และนิ้วนาง ) คลำทั่วเต้านมและรักแร้ ที่สำคัญคือห้ามบีบเนื้อเต้านม เพราะจะทำให้รู้สึกเหมือนเจอก้อนเนื้อซึ่งความจริงไม่ใช่ และทำวิธีเดียวกันนี้กับเต้านมด้านซ้าย
        1. ขณะอาบน้ำ

            1.สำหรับผู้หญิงที่มีเต้านมขนาดเล็กให้วางมือข้างเดียวกับเต้านมที่ต้องการตรวจบนศีรษะ แล้วใช้นิ้วมืออีกข้างคลำไปทิศทางเดียวกับที่ใช้ในท่านอน

          2.สำหรับผู้ที่มีเต้านมขนาดใหญ่ ให้ใช้นิ้วมือข้างนั้นประคอง และตรวจคลำเต้านมจากด้านล่าง ส่วนมืออีกข้างให้ตรวจคลำเต้านมด้านบน

ระยะของมะเร็งเต้านม

  • ระยะ 0 เป็นระยะเริ่มต้นของเซลล์มะเร็ง ซึ่งยังไม่ลุกลามไปยังเนื้อเยื่อเต้านม
  • ระยะ 1 ก้อนมะเร็งมีขนาดไม่เกิน2 เซนติเมตร และยังไม่ลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลือง
  • ระยะ 2 ก้อนมะเร็งมีขนาดระหว่าง 2-5 เซนติเมตร ซึ่งอาจจะลุกลามไปยังต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้หรือไม่ก็ได้ หรือมีขนาดไม่เกิน2 เซนติเมตร และลุกลามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
  • ระยะ 3ก้อนมะเร็งมีขนาดใหญ่กว่า5 เซนติเมตรและรุกรามเข้าต่อมน้ำเหลืองบริเวณรักแร้แล้ว แต่ยังไม่แพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น
    • ระยะ 4 มะเร็งแพร่กระจายไปสู่อวัยวะอื่น ๆ แล้ว

การดูแลเต้านม

  1. อายุ 20 ปีขึ้นไป ควรเริ่มตรวจเต้านมด้วยตนเองทุกเดือน
  2. ช่วงเวลาที่เหมาะสมสำหรับการตรวจคือ 3 ถึง 10 วัน นับจากประจำเดือนหมด ส่วนสตรีที่หมดประจำเดือนให้กำหนดวันที่จดจำง่ายและตรวจในวันเดียวกันของทุกเดือน
    1. สำหรับผู้ที่มีประวัติในครอบครัวเป็นมะเร็งเต้านมควรรีบปรึกษาแพทย์เพื่อขอคำแนะนำ
    2. หากพบสิ่งผิดปกติบริเวณเต้านม หรือรักแร้ ควรรีบปรึกษาแพทย์ทันทีที่พบ

การดูแลเต้านมตนเองโดยทั่วไป

  1. ควรตรวจเต้านมตนเอง หากท่านตรวจแล้วไม่มั่นใจ ให้ขอรับคำปรึกษาที่สถานีอนามัยใกล้บ้าน หรือศูนย์สุขภาพชุมชนใกล้บ้านท่าน

    2.   มะเร็งเต้านมเป็นมะเร็งที่พบบ่อยในหญิงไทยเป็นที่สองรองจากมะเร็งปากมดลูกมักเกิดในหญิงอายุ 40 ปีขึ้นไปและพบมากในหญิงที่ไม่มีบุตรหรือมีบุตรน้อย และในผู้ที่มีประวัติญาติพี่น้องเคยเป็นมะเร็งเต้านมหญิงอายุน้อยหรือชายก็อาจ เป็นมะเร็งเต้านมได้ แต่พบได้น้อย

สาเหตุการเกิดโรค ยังไม่ทราบแน่นอน แต่ในทางระบาดวิทยาอาหารไขมันสูง มีส่วน ทำให้เกิดโรคได้ ตำแหน่งเกิดของมะเร็งเต้านมมักเป็นที่ส่วนบนด้านนอกของ เต้านมมากกว่า ส่วนอื่น

 

ลักษณะอาการของโรค

1. เริ่มจากการคลำก้อนไม่ได้จนถึงมีก้อนเล็กๆ ขึ้นที่เต้านม ส่วนมากจะไม่มีอาการเจ็บปวด

2. ก้อนจะโตขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้เต้านมมีลักษณะผิดไป อาจทำให้เต้านมใหญ่ขึ้น หรือบางชนิดทำให้เต้านมแข็ง หดตัวเล็กหรือแบนลงได้ ก้อนมะเร็งอาจจะรั้งให้หัวนมบุ๋ม เข้าไปจากระดับเดิม หรือทำให้ผิวหนังบริเวณเต้านมมีลักษณะ หยาบ และขรุขระ บางรายเมื่อบีบบริเวณหัวนมจะมีน้ำเหลืองหรือเลือดไหลซึมออกมา มะเร็งจะลุกลาม แพร่กระจายจากตำแหน่งที่เกิดได้อย่างรวดเร็วไปตามหลอดเลือด และน้ำเหลืองสู่อวัยวะอื่นๆ

3.  บริเวณที่พบการแพร่กระจายได้เร็วและบ่อยที่สุดได้แก่ ต่อมน้ำเหลือง ที่รักแร้

4. ในรายที่เป็นมากแล้วเนื้อมะเร็งบางส่วนจะเน่าตาย ทำให้เกิดเป็นแผลขยายกว้างออกไป และมีกลิ่นเหม็นจัด

การตรวจวินิจฉัยและรักษา

1. การตรวจพบและรักษามะเร็งเต้านมตั้งแต่ระยะเริ่มแรก จะมีโอกาสหายขาดได้

2. การตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้งเป็นประจำ หลังหมดประจำเดือน 7 วัน และ การตรวจโดยเอ็กซเรย์เต้านม ช่วยให้พบความผิดปกติ หรือก้อนมะเร็งได้ตั้งแต่ระยะเริ่มแรก

3. การรักษานั้นอาจทำโดยการผ่าตัดการบำบัดทางรังสี และการใช้ยาสังเคราะห์บางประเภท ทั้งนี้อาจจะให้การรักษาโดยวิธีการเดียวหรือร่วมกันไปก็ได้ ขึ้นอยู่กับผลการ ตรวจพิเศษ ของชิ้นเนื้อมะเร็งและต่อมน้ำเหลืองที่ผ่าตัดออกมา

ข้อพึงปฏิบัติ

1. ควรตรวจเต้านมด้วยตนเองเดือนละครั้งเป็นประจำ หลังหมดประจำเดือน 7 วัน หากพบก้อนหรือสิ่งผิดปกติใด ๆ ควรรีบปรึกษาแพทย์โดยเร็ว

2. ให้ความร่วมมือในการรักษา อย่าหลงเชื่อและเสียเวลาไปกับการรักษาโรคมะเร็ง ด้วย วิธีการ ทางไสยศาสตร์และยากลางบ้าน เพราะมะเร็งนั้นจะโตขึ้นเรื่อยๆ โอกาสที่จะหายขาดจะลดลง ทุกขณะ

3. พึงระลึกเสมอว่ามะเร็งของเต้านมหรืออวัยวะใดก็ตาม ถ้าได้รับการรักษาในระยะเริ่มต้น เร็วเท่าไร ความหวังที่โรคจะหายขาดก็ยิ่งมีมากขึ้นเพียงนั้น

 

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 487952เขียนเมื่อ 13 พฤษภาคม 2012 18:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 ตุลาคม 2012 19:32 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท