เร่งสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน


พร้อมที่จะกระโดดก้าวข้ามหลุมดำนั้นๆได้หรือไม่ ณ.วันนี้เราต้องเร่งสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน

การทำงานในองค์กรหรือนอกองค์กร ในปัจจุบันนี้มักจะกล่าวถึงการบูรณาการการทำงานร่วมกัน บางท่านก็อาจจะกล่าวถึงการทำงานแบบมีส่วนร่วมก็ตาม บางองค์กรก็จะพยายามขับเคลื่อนและพัฒนาองค์กรของตัวเองให้เป็นLO หรือที่เรียกกันว่าองค์การแห่งการเรียนรู้นั่นเอง มันจะพัฒนาไปได้ระดับไหนนั้น ผมว่ามันคงไม่ง่ายเหมือนเราพูดตามทฤษฎีแล้ว ดูเหมือนจะง่าย เวลาเราเริ่มต้นทำที่องค์กรเรามันก็ไม่ง่ายเช่นกัน เพราะว่ามันยังมีหลุมดำอีกมากมาย แต่พลังหรือกำลังใจเราที่มีอยู่ในตัวเท่านั้น ว่าพร้อมที่จะกระโดดก้าวข้ามหลุมดำนั้นๆได้หรือไม่ ณ.วันนี้เราต้องเร่งสร้างความเข้าใจแก่บุคลากรผู้ปฏิบัติงาน

 

 

       ลองมาดูองค์กรทางด้านการส่งเสริมการเกษตรดูบ้างว่า เราจัดเวทีสัมมนาเชิงปฏิบัติการระดับอำเภอ( DW )ของสายที่๒ จะประกอบไปด้วยนักส่งเสริมการเกษตรที่ปฏิบัติงานในภาคสนามจำนวน ๕ อำเภอได้แก่อำเภอคลองขลุง  ขาณุวรลักษบุรี คลองลาน  ทรายทองวัฒนา ปางศิลาทอง  บึงสามัคคี  และนักส่งเสริมการเกษตรระดับจังหวัด และปราชญ์ชาวบ้าน รวมทั้งสิ้น ประมาณ ๕o คน

 

          ในช่วงแรกทางประธานการจัดเวที DW ได้กล่าวต้อนรับ พร้อมชี้แจงวัตถุประสงค์ของการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์ในการทำงานในพื้นที่ โดยมุ่งเน้นการนำ KM เชื่อมระหว่างความรู้ทางวิชาการกับความรู้ทางประสบการณ์ทั้งของนักส่งเสริมผู้ปฏิบัติงานและปราชญ์ชาวบ้าน แต่ในเวทีนี้เรามีนักวิจัยและพัฒนาจาก ศูนย์สารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการเกษตรและการจัดการทรัพยากร กรุงเทพมหานคร ได้มาร่วมเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในครั้งนี้ด้วย

 

 

 

            ในช่วงของการแลกเปลี่ยนเราเปิดโอกาสให้คุณถวิล สีวัง ซึ่งเป็นปราชญ์ชาวบ้าน เก่งในเรื่องการลดต้นทุนการผลิตข้าว อยู่หมู่ที่ ๓ บ้านสามง่าม ตำบลวังบัว อำเภอคลองขลุง จังหวัดกำแพงเพชร  ได้เริ่มต้นเล่าให้ฟังว่า การทำนาปัจจุบันนี้หากพี่น้องเกษตรกรชาวนาทำนาตามกระแสของสื่อที่โฆษณา ไม่ว่าจะเรื่องของปัจจัยการผลิตต่าง อาจจะรวมไปถึงการพันธุ์ข้าว ปุ๋ยและสารเคมีต่างๆ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง ผลิตข้าวมีคุณภาพต่ำ สุดท้ายก็จำหน่ายไม่ได้ราคา ทำให้ประสบการขาดทุน เป็นหนี้เป็นสินก็มากมายเช่นกัน

 

 

              คุณถวิล สีวัง ได้กล่าวต่อไปว่าตนเองยึดหลักในการลดต้นทุนในการทำนา ๓ แม่ คือ แม่ที่๑ หมายถึงแม่โพสพ เป็นแม่พันธุ์ข้าวพันธุ์ดีที่ผ่านการคัดสายพันธุ์มาแล้ว ตอบสนองต่อปุ๋ยดี แม่ที่๒ หมายถึงแม่ธรณี หมายถึงให้ความสำคัญในการปรับปรุงบำรุงดิน โดยมีการหมักฟางข้าว ผลิตและใช้จุลินทรีย์หน่อกล้วย ช่วยย่อยสลายฟางข้าวในแปลงนา สำหรับแม่ที่ ๓ คือแม่คงคา การทำนาต้องมีแหล่งน้ำในการทำนาดีทำไปแล้วไม่ขาดน้ำ แต่การทำนาข้าวจะต้องมีการดูแลควบคู่กันไป ได้แก่ ดูความเจริญเติบโตของต้นข้าว หากต้นข้าวงามก็ไม่ต้องใส่ปุ๋ย เมื่อข้าวจะถึงเวลาตั้งท้องค่อยใส่ปุ๋ยเพิ่มเติมก่อนตั้งท้อง แต่ก็ต้องมีข้อคำนึงอยู่ตลอดเวลาถ้าข้าวออกรวงดีเมล็ดข้าวก็จะต้องดี  เราต้องดูแลน้ำในนาให้เพียงพอต่อความต้องการของต้นข้าว  เราต้องคอยสำรวจตรวจนับแมงศัตรูข้าวอยู่เสมอ รวมทั้งกำจัดวัชพืชในนา สำคัญที่สุดต้องทำบัญชีรับจ่าย บันทึกต้นทุนการผลิตไว้ของแต่ละแปลง จากที่ปฏิบัติมาสามรถลดต้นทุนการผลิตลงได้ ขณะนี้มีเกษตรกรชาวนาในชุมชนและนอกชุมชนนำไปปฏิบัติหลายสิบรายแล้วครับ

 

 

 

  

           นอกจากนั้นด้านนักวิจัยและพัฒนา โดยอาจารย์ดร.สุดชาย กำเนิดมณี จากศูนย์สารสนเทศภูมิศาสตร์เพื่อการเกษตรและการจัดการทรัพยากร ได้นำองค์ความรู้ มาแลกเปลี่ยนกับนักส่งเสริมการเกษตรในเวที DW ครั้งนี้  โดยนำเสนอสารสกัดแทนนินจากใบมันสำปะหลังที่เรียกว่า Tannin Extract ซึ่งมีคุณสมบัติ ช่วยลดการเข้าทำลายของแมลงทั้งปากดูดและปากกัด ใช้ได้กับพืชทุกชนิด แทนนินมีรสฝาด สำหรับแมลง ใช้เป็นสารไล่แมลงไม่ใช้สารฆ่าแมลง แทนนินย่อยยากสำหรับแมลง  จะมีอาการเบื่ออาหารและจะค่อยๆหยุดกิน ช่วยควบคุมของการแพร่ระบาดของแมลง จะหยุดการเจริญเติบโตและไม่ขยายพันธุ์ ไม่ทำลายตัวห้ำตัวเบียน ซึ่งเป็นศัตรูที่มีอยู่ตามธรรมชาติ เช่นแตนเบียน ด้วงเต่าทอง แทนนินเป็นสารชนิดเดียวกับน้ำชา จึงมีความปลอดภัยกับผู้ใช้และรักษาสภาพแวดล้อมด้วย

 

 

           นอกจากนี้ อาจารย์ ดร.สุดชาย กำเนิดมณี ยังได้เล่าต่อไปอีกว่า สำหรับวิธีการใช้ เขย่าขวดก่อนใช้ทุกครั้ง ผสมสารแทนนินอัตราส่วน 1o ซีซี.ต่อน้ำ 2o ลิตร ฉีดพ่นให้ทั่วทุกส่วน โดยเฉพาะยอดอ่อน ฉีดพ่นทุก 3-7 วันไม่ต้องผสมยาจับใบ สามรถฉีดพ่นได้ทุกช่วงเวลา ตลอดทั้งวัน

 

 

           สรุปท้ายของเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้ในเวที DW ของสายนี้ ระหว่างนักวิชาการส่งเสริมการเกษตร ปราชญ์ชาวบ้าน และนักวิจัย นับว่าเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนางานส่งเสริมการเกษตรในจังหวัดกำแพงเพชร ถึงแม้ว่าอาจจะมีข้อจำกัดอยู่บ้างที่ไม่อาจขยายไปทั่วพื้นที่ แต่อาจจะทำได้บางจุดโดยผ่านกลุ่มส่งเสริมอาชีพทางการเกษตร ที่มีการดำเนินการแบบกลุ่มซึ่งนักส่งเสริมการเกษตรหรือKM TEAM ต้องดำเนินการในพื้นที่เป้าหมายต่อไปครับ

 

เขียวมรกต

๒๘ เมย. ๕๕

หมายเลขบันทึก: 486394เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2012 14:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2012 11:15 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • แวะมาเยี่ยมเยียน
  • ขอบคุณครับ
  • ขอบคุณอ.สิงห์ฯ
  • ที่แวะมาทักทายกัน
  • เราคงต้องเดินหน้าต่อไป
  • โดยถือหลักการเรียนรู้ได้ตลอดชีวิตนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท