๕. ครูคุณภาพจัดการเรียนรู้อย่างเป็นระบบ มีหลักการ/ขั้นตอนการฝึกปฏิบัติเสมอ


ระบบคุณภาพการจัดการเรียนรู้

๕. การจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพอย่างเป็นระบบ

            เป็นข้อยุติที่แน่นอนในหมู่วงนักการศึกษา  ที่ค้นคว้ารวบรวมแนวคิดในการแก้ปัญหาและอุปสรรคในการจัดการศึกษาของหลายประเทศทั่วโลกแล้วว่า  คุณภาพการศึกษาที่ดีที่สุด ขึ้นอยู่กับการได้เรียนรู้จากการปฏิบัติจริง ในชีวิตจริงของเด็กๆ  ซึ่งข้อสรุปนี้ก็สอดคล้องกับหลักการทางจิตวิทยาการเรียนรู้ และจิตวิทยาพัฒนาการนั่นเอง  การจัดการศึกษาอย่างมีคุณภาพ  ตามที่นักวิชาการค้นคว้ามีหลายวิธี  หลายแนวทาง  ซึ่งมีชื่อเรียกอย่างหลากหลายตามที่มีผู้คิดค้นได้   แต่ไม่ว่าจะเรียกชื่ออะไรก็ตาม  วิธีการจัดการเรียนรู้ที่มีคุณภาพจะมีหลักสำคัญคล้ายๆกัน และสอดคล้องกัน  คือ มีระบบ มีหลักการ มีขั้นตอนการเรียนรู้  หรือปฏิบัติตามจิตวิทยาการเรียนรู้  โดยเฉพาะจิตวิทยาเชิงพฤติกรรม  จะยิ่งมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น  ดังนี้

 .

๑.  ทำงานอย่างมีคุณภาพ  (สอดคล้องกับหลัก PDCA)

      P = PLAN  วางแผนเตรียมการก่อนดำเนินการ

  • วิเคราะห์หลักสูตร  แล้วนำมากำหนดเป้าหมาย หรือผลที่อยากให้เด็กได้  เด็กเป็น 
  • วิเคราะห์ผู้เรียนว่ามีพื้นฐานความรู้  ทักษะพื้นฐานตามเป้าหมายที่วางไว้เพียงใด   ยิ่งถ้าสามารถศึกษาความพร้อมทางด้านสุขภาพกาย  สุขภาพจิต  ปัญหา  ความต้องการ  ภูมิหลัง ความถนัดความสามารถพิเศษ  อารมณ์จิตใจ  และเจตคติในการเรียนหรือต่อสิ่งที่จะเรียนรู้ยิ่งดีใหญ่   
  • จัดทำแผนการจัดการเรียนรู้ที่ระบุแนวปฏิบัติ  วิธีการอย่างเป็นระบบ  มีขั้นตอนการฝึกหรือการทำ  กิจกรรมตามธรรมชาติหรือจิตวิทยาการเรียนรู้  แนะนำให้ใช้สื่ออะไรบ้าง  มีหลักในการประเมินผล  และมีเกณฑ์ตัวชี้วัด  เงื่อนไขความสำเร็จอย่างชัดเจนเป็นรูปธรรม

.

     D = DO  ดำเนินการตามขั้นตอนกระบวนการเรียนรู้ หรือ ทฤษฎีทางจิตวิทยาการศึกษา

  • สร้างความพร้อม   เร้าความสนใจ   ท้าทายผู้เรียนให้อยากเรียนรู้ 
  • ให้ผู้เรียนลงมือทำกิจกรรมการเรียนรู้ที่สนุก  ตื่นเต้น  ท้าทาย  แปลกใหม่  ตามลำดับขั้นตอน
  • ให้มีการแข่งขันการทำกิจกรรม  การถาม  การตอบทุกครั้ง 
  • ทุกครั้งที่เรียนรู้ หรือปฏิบัติตามกิจกรรมเสร็จในแต่ละชั่วโมง  ครูควรให้เด็กสรุปการเรียนรู้เป็น Concept Mapping  หรือสรุปเป็นใจความก็ได้  หรือให้จดเขียนทุกอย่างที่ได้ยิน  ได้เห็นครูพูด ครูอธิบาย  และคำพูดความเห็นของเพื่อนๆ ก็ยิ่งดีมาก ลงในสมุดบันทึกการเรียนรู้อย่างละเอียด
  • ถ้าเด็กโต หรือชั้นมัธยมก็ให้ไปศึกษาค้นคว้า หรือพิสูจน์  ทดสอบ  ทดลองตามเรื่องที่กำหนด หรือตามที่นักเรียนสนใจ แล้วสรุปเป็นรายงานนำเสนอหน้าชั้นเรียน  ด้วยรูปแบบที่น่าสนใจ เช่น Power Point ฯลฯ
  • ครูหมั่นซักถามซักไซ้ไล่เลียงในเรื่องที่ผู้เรียนนำเสนอ  กระตุ้นให้ตอบ ด้วยกระบวนการคิดอย่างนักวิทยาศาสตร์หรือการวิจัย
  • ให้โอกาสเด็กตั้งปัญหาต่อเพื่อนหรือครู และให้ช่วยกันหาคำตอบอย่างจริงจังกับคำถาม/ปัญหานั้นๆ 

.   

   C =  Check  ประเมินผลการจัดการเรียนรู้ และรายงานผล

  • การสอนทุกคาบ  ครูต้องบันทึกการสอน พฤติกรรมนักเรียน และเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในขณะที่สอนโดยละเอียด
  • จัดให้มีการวัดผลประเมินผลการเรียนรู้ในแต่ละหน่วย  ตามตัวชี้วัดการเรียนรู้ และวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ทันทีเมื่อเรียนรู้จบในหน่วนนั้นๆ    และในการวัดผลประเมินผลแต่ละหน่วย  ควรเป็นแบบทดสอบแบบอัตนัย  ให้ครอบคลุมทั้งความรู้(K) และปฏิบัติ (P)                                                                                                              

     โดยแบบทดสอบประจำหน่วย ควรมี ๒ ตอน   ตอนที่ ๑ สอบถามความรู้  หลักการ  ขั้นตอน  ความรู้เสริมอย่าง          ละเอียดคลอบคลุม (K)   ตอนที่ ๒ สอบวัดการปฏิบัติจริง (P)  

      ตัวอย่างเช่น  วิชาภาษาไทย (หน่วยการเขียนเรียงความ)  ตอนที่ ๑ ให้ทดสอบความรู้ว่า การเขียนเรียงความ           คืออะไร  ต่างจากการเขียนจินตนาการ จดหมาย  สารคดีอย่างไร   เรียงความที่ดีมีลักษณะอย่างไร  การเขียน          เรียงความที่ดีมีกระบวนขั้นตอนอย่างไร  การเขียนเรียงความที่ดีมีกี่ประเภท   วิธีการเขียนคำนำให้น่าอ่านน่า            สนใจควรเขียนอย่างไร ฯลฯ  ตอนที่ ๒  ให้เขียนเรียงความตามสถานการณ์ที่กำหนดให้

  • ทุกครั้งในชั่วโมงการเรียนรู้วิชาต่างๆ   ครูควรให้นักเรียนจดบันทึกความรู้ที่ได้รับ  ตัวอย่างที่ครูยก หรือเหตุการณ์ต่างๆในห้องเรียน   แล้วส่งครู  เพื่อให้ได้ตรวจสอบการจดบันทึกความรู้  ข้อคิด และความเห็นของนักเรียนในการเรียนรู้   ถือเป็นการประเมินการเรียนรู้ของนักเรียน  และประเมินจิตพิสัย หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ (A) ในแต่ละคาบอีกทางหนึ่งด้วย  (ครูสามารถนำเอาบันทึกตรงนี้  มารวบรวมจัดทำเป็นบันทึกการสอนส่วนหนึ่งของตนเองได้อีกทางหนึ่ง)
  • ครูประเมินจิตพิสัย หรือคุณลักษณะที่พึงประสงค์ที่กำหนดไว้ตามคุณลักษณะหรือธรรมชาติวิชา (A)  ไม่ใช่นำเอาคุณลักษณะที่พึงประสงค์ของโรงเรียนมาใช้นะครับ  อันนั้นประเมินในภาพรวมของโรงเรียน (ปพ ๔)

 .

   A = Action  นำผลการประเมินไปปรับปรุงการจัดการเรียนรู้

  • นำผลจากการวัดผลประเมินผลในแต่ละหน่วย  มาสรุปว่ามีผู้ผ่านกี่คน  ไม่ผ่านตามเกณฑ์กี่คน  โดยจำแนกให้เห็นชัดว่าแต่ละด้านมีผู้ผ่านเกณฑ์กี่คน  ไม่ผ่านกี่คน  และครูต้องวิเคราะห์ข้อมูลจากการวัดผลประเมินผล  ว่าที่ไม่ผ่านเกณฑ์เป็นเพราะเหตุใด  แล้วครูจะมีวิธีดำเนินการแก้ไขแต่ละครั้งอย่างไร  ด้วยวิธีใด (แก้ไขได้ไม่ควรเกิน ๒ ครั้ง) หลังจากนั้นครูควรนำผลการวิเคราะห์ และที่ได้ดำเนินการแก้ไขไปแล้ว  พร้อมทั้งความคิดเห็นเสนอแนะของผู้บริหารหรือผู้นิเทศ  มาเป็นข้อมูลที่จะนำไปปรับปรุงแผนการจัดการเรียนรู้ ซึ่งอาจจะเป็นวิธีการ  หรือตัวกิจกรรม หรือขั้นตอนการจัดกิจกรรม หรืออาจจะเป็นสื่อการเรียนรู้ หรือการวัดผลประเมินผลก็ได้  ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับการแก้ไขปัญหาจากสาเหตุที่เด็กไม่ผ่านการเรียนรู้เป็นเพราะเหตุใด  หรือจากสิ่งใด  ซึ่งถือว่าเป็นการทำวิจัยเชิงปฏิบัติการในชั้นเรียนนั่นเอง
  • นำผลจากแบบบันทึกผลการจัดการเรียนรู้ แต่ละแผน/หน่วยการเรียนรู้ทั้งหมดในภาคเรียนนั้นๆ  มาสรุปเป็นงานวิจัยภาพรวมวิชา  เพื่อแก้ปัญหาการจัดการเรียนรู้ในวิชานั้นในปีการศึกษาต่อไป (แน่ะ ! เห็นไหมครับ  กลายเป็นผลงานทางวิชาการที่เกิดจากผลการกระทำของตัวเองไปแล้ว  จะเอาไปส่งเลื่อนวิทยฐานะก็ยังได้)
  • นำผลการวิจัยภาพรวมที่สังเคราะห์มาจากแต่ละแผน/หน่วย  มาปรับปรุงเป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่ดี มีประสิทธิภาพ เพื่อใช้จริงในปีการศึกษาต่อไป (แน่ะ ! กลายเป็นงานวิจัยและพัฒนาได้อีก)

      เมื่อเพื่อนครูทำงานอย่างมีคุณภาพเป็นระบบแล้ว    สิ่งที่เพื่อนครูไม่ควรลืมในการปฏิบัติต่อเด็ก คือ การยอมรับความแตกต่างของบุคคล  การสร้างแรงจูงใจ  การสร้างบรรยากาศที่มีความสุข เอื้อต่อการเรียนรู้ ในชั้นเรียนและนอกชั้นเรียนด้วย    เพราะสิ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยเกื้อหนุนที่ช่วยให้เด็กเกิดการเรียนรู้ได้สูงสุด   สิ่งเหล่านี้  เพื่อนครูสามารถหาความรู้เพิ่มเติมจากหนังสือจิตวิทยาการศึกษาที่มีจำหน่ายแพร่หลายอยู่แล้ว   หนังสือด้านจิตวิทยาการศึกษา  ที่ขอแนะนำได้แก่  

       ๑. หนังสือจิตวิทยาการศึกษา ของ ศ.ดร.สุรางค์ โค้วตระกูล

       ๒. จิตวิทยาการเรียนการสอน ของ รศ.ดร.พรรณี ช.เจนจิต

       ๓. หนังสือชุดจิตวิทยาต่างๆ ของ ดร.ประมวญ  ดิกคินสัน

       ๔. หนังสือหลักการสอน ของ รศ.ดร.ทิศนา  แขมมณี

                                ฯลฯ                             

.

 . ทำงานด้วยใจเมตตา  (เห็นเด็กเป็นเด็ก)

     1.  เชื่อว่า เด็กทุกคนเหมือนกัน  แต่ไม่เท่ากัน   และแตกต่างกันไปตามสภาวะแวดล้อมของเด็ก

     2.  เชื่อว่า เด็กมีศักยภาพที่พร้อมในการเรียนรู้   แต่ยังมิได้ถูกฝึกฝนอย่างถูกวิธี

     3.  เชื่อว่า เด็กสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง ถ้าให้ข้อมูล เป้าหมาย โอกาส และเวลาอย่างเพียงพอ

     4.  เชื่อว่า เด็กไม่ตั้งใจเป็นคนไม่ดี หรือทำชั่ว  เพียงแต่เด็กทำผิดเพราะพลาดไป เผลอไป ไม่รอบคอบพอ 

     5.  เชื่อว่า คำพูดแต่ละคำ การกระทำแต่ละครั้งของครู  มีคุณค่าและอิทธิพลต่อชีวิตของเด็กเสมอ

 .

.   รักสิ่งที่ทำ(สอน)   ศรัทธาสิ่งที่เป็น(ครู)

     1.  รักความเป็นครู   อยากชี้แนะ   อยากถ่ายทอด   อยากฝึกฝนเด็ก

     2.  ใฝ่รู้  ชอบอ่าน  ชอบศึกษาค้นคว้าแสวงหา  ชอบการเปลี่ยนแปลงและพัฒนา

     3.  มีสติพร้อมจะอดทนเมื่อเจอปัญหา   มีสมาธิหนักแน่นในงานที่ทำ 

     4.  เจอปัญหาอุปสรรคมากๆ ก็ไประบายกับกัลยาณมิตร หรือไปเที่ยวในที่ต่างๆ เดี๋ยวก็หาย

 .

 สิ่งที่คนที่เป็น "ครู" ไม่ควรทำ 

    1.  สอน หรืออธิบายหนังสือเรียนจนจบ ...(แต่นักเรียนไม่จบ)  ยัดเยียดเนื้อหาสาระมากเกินไป  นักเรียนไม่มีโอกาสคิดทำเอง

    2.  นักเรียนเรียนก็ได้  ไม่เรียนก็ได้  สิ้นเทอม  ก็สอบผ่านทุกคนโดยไม่คำนึงถึงคุณภาพ

    3.  คิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กตั้งใจเรียนทุกวัน   ให้เด็กทุกคนมีความรู้เท่ากันให้ได้ 

    4.  ให้แต่ภาระงาน  หรือรายงาน,  ชอบสอนแบบกิจกรรมกลุ่ม  แต่คะแนนและผลการดำเนินงานไม่เป็นไปตามกระบวนกลุ่ม,   

     5. ชอบให้คะแนนทำรายงานตามรูปปกที่สวย มีภาพประกอบข้างในเล่ม ยิ่งมากยิ่งดี  พิมพ์ได้เยอะหลายหน้า รวมแล้วรูปเล่มดี   แต่ไม่เคยตรวจเนื้อหาว่านักเรียนเขียนรายงานจากความเข้าใจที่ได้ไปศึกษาค้นคว้ามาจริงหรือเปล่า   ทั้งหมดสร้างภาระการทำงานให้เด็กมาก   แต่ไม่มีผล  มีความหมายต่อการเรียนรู้

 .

. สิ่งที่ต้องให้นักเรียนช่วยทำ

    1.  ให้นักเรียนทำกิจกรรมการเรียนร่วมกัน ช่วยสอนเพื่อน แนะนำรุ่นน้อง เพื่อแบ่งปันความรู้ และน้ำใจแก่กัน  และจากผลวิจัยต่างๆ ยืนยันว่า  การที่เพื่อนสอนเพื่อน  หรือพี่สอนน้อง  ช่วยให้เกิดการเรียนรู้ได้ดีกว่าครูสอน

    2.  ให้นักเรียนช่วยเสนอแนะวิธีการจัดการเรียนรู้ หรือระบุเรื่องที่จะเรียนรู้ในครั้งต่อไป  ยิ่งได้ทุกเรื่องยิ่งดี  และถ้าก่อนเปิดภาคเรียนใหม่ยิ่งดีใหญ่

    3.  ให้นักเรียนวิจารณ์และประเมินผลงานการเรียนรู้ของตนเอง  หรือเพื่อนตามเกณฑ์ที่ตั้งไว้ (Rubric) เพื่อฝึกให้นักเรียนมีมุมมองหลายด้าน  และทำให้มองเห็นผลงานที่ดีควรเป็นอย่างไร  และถ้าจะปรับปรุงข้อบกพร่องให้ดีขึ้นควรทำอย่างไร

    4.  ให้นักเรียนช่วยกันเสนอปัญหาในการเรียน การทำกิจกรรม  เพื่อร่วมกันคิดหาวิธีแก้ปัญหา แล้วสรุปเป็นมติ หรือข้อตกลงที่ทุกคนรับรู้และต้องปฏิบัติตามด้วยกัน

 .

ข้อเสนอแนะเพิ่มเติม 

.  การจัดการเรียนรู้ที่ดี   ควรกำหนดเป้าหมายการเรียนรู้ให้ชัดเจน  และเป้าหมายที่จะพัฒนา ฝึก ปลูกฝังให้กับผู้เรียนในแต่ละภาคเรียนไม่ควรมีมากเกินไป  เอาเฉพาะเด่นๆก็พอ  จะได้มีเวลาพัฒนาปลูกฝังได้อย่างประณีต  และควรมีเวลาว่างประมาณ ๒-๓ สัปดาห์เพื่อให้เด็กได้เลือกที่จะเรียนรู้  หรือทำในสิ่งที่เขาสนใจบ้าง 

.  

. หัวใจของการศึกษาที่แท้  คือ 

  • การศึกษา ไม่ใช่เด็กเรียนรู้อะไรได้มากแค่ไหน แต่อยู่ที่ได้เรียนรู้ในสิ่งที่มีคุณค่า ได้ฝึกฝนทักษะหรือคุณลักษณะที่เหมาะสมจำเป็นต่อชีวิตอนาคตที่เขาจะเลือกเป็น
  • การศึกษาที่ดี  คือ การเปิดโอกาสให้เด็กได้เรียนรู้อย่างมีความสุข  กระตือรือร้นที่จะค้นหาคำตอบ  และได้แก้ปัญหาร่วมกันกับเพื่อน  มีโอกาสได้คิดสร้างสรรค์มากขึ้น
  • การเรียนรู้ต้องให้โอกาสเด็กสร้างปัญญาเสมอ  เช่น การฝึกตั้งคำถาม การคิดหาคำตอบอย่างหลากหลาย รู้จักตัดคำตอบที่เป็นไปไม่ได้ออก  การสรุปที่สามารถอ้างอิงข้อมูล  หลักฐาน  ข้อเท็จจริง  จนสามารถฝึกฝนสติปัญญา ทักษะ  นิสัย  คุณลักษณะได้อย่างกว้างขวาง  ละเอียด  ลึกซึ้งขึ้นเสมอ
  • การเรียนรู้ที่ดี  คือ ทำอย่างไรให้นักเรียนรักที่จะเรียนรู้  ใฝ่รู้ ไปอย่างต่อเนื่องตลอดชีวิต

.

๓.  ครูที่แท้จริง  คือ....

  • ไม่ใช่ผู้มีความรู้อัดแน่นด้วยสรรพวิทยา  แล้วนำความรู้นั้นไปยัดเยียดในสมองเด็ก  จนยิ่งเรียน   ยิ่งโง่  คิดไม่เป็น
  • ครูที่แท้จริง  จะมุ่งสอนให้เห็นคุณค่าของชีวิต  สอนให้เห็นเหตุและผล  สอนให้เห็นความงามสิ่งรอบๆตัว  สอนเด็กอย่างมีความสุข  เด็กก็มีความสุขรักที่จะเรียนรู้  และพร้อมจะปรับปรุงเปลี่ยนแปลงชีวิตตนเองเสมอ   

 .

 .   การศึกษาที่ดีต้องช่วยพ้นทุกข์  สร้างความสุข

       ทุกวันนี้   เด็ก ๆ ไม่มีความสุขในการมาโรงเรียน  เขามีแต่ความทุกข์........ทุกข์มาจากบ้านแล้ว ยังต้องทุกข์ที่มาเรียนอีก 

       เขาทุกข์  .....เพราะครูไม่เข้าใจปัญหาของเขา และไม่ช่วยหาทางออกให้เขาบ้าง  ไม่รักเขาเหมือนลูก  แต่ชอบเรียกเขาว่า  “ลูกศิษย์”

       เพิ่มทุกข์ .... โดยให้เขาเรียน  ในสิ่งที่เขาไม่อยากเรียน  เรียนไม่รู้เรื่อง  ไม่เข้าใจ  เรียนมากเกินไป  ไม่รู้จะเรียนไปทำไม   เขาต้องทำในสิ่งที่เขาไม่เข้าใจว่าทำไปทำไม

       ทนทุกข์  ...   เพราะเขาคิดว่าเขาไม่ใช่นักเรียน  แต่เขา คือ นักโทษ... ในเรือนจำทางการศึกษา

 .

    ถ้าการมาโรงเรียน  คือ  ความทุกข์  การศึกษาก็จะไร้ความหมายโดยสิ้นเชิง

หมายเลขบันทึก: 486382เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2012 11:31 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มกราคม 2020 17:31 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ขอบพระคุณบทความดีๆมาแบ่งปัน และตรงกับหลักการที่อบรบหลักสูตร 3pbl ของดร.ฤทธิไกร

จะพยายามพัฒนากระบวนการนี้ให้เจริญเติบโตอย่างตั้งใจ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท