๒. ควรจัดการศึกษาอย่างไร จึงจะเป็นการศึกษาที่แท้จริง


การศึกษาที่แท้จริง

๒. ควรจัดการศึกษาอย่างไร  จึงเป็นการศึกษาที่แท้จริง 

  จากผลวิจัยมากมาย  ระบุว่า  การที่เยาวชนและพลเมืองของชาติจะมีคุณภาพ และศักยภาพสูง  ต้องได้รับ การศึกษาที่เป็นการเรียนรู้” (มิใช่ จากการเรียนการสอนความรู้ หรือ การถ่ายทอดความรู้  ที่ครู หรือคนส่วนมาก “คิดว่าเป็นการศึกษา”)   ซึ่งการศึกษาที่แท้จริงนั้น  มาจากปัจจัย ๓ ประการ คือ   ๑. ความชัดเจนจากนโยบายของรัฐ   ๒. มีโรงเรียนหรือสถาบันทางการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้   ๓. มีครูที่รู้จัก “การวางเงื่อนไขการเรียนรู้ (Conditions of Learning)” หรือ “ผู้จัดการเรียนรู้”

.

  ๑. ความชัดเจนจากนโยบายของรัฐ    การศึกษาที่ล้มเหลวมักมาจากนโยบายของรัฐ ทั้งนิตินัย และพฤตินัยในแต่ละปี หรือแต่ละยุค  โดยเปลี่ยนไปมาตามรัฐมนตรี หรือผู้บริหารระดับประเทศ  ไม่ยอมทำตามหลักสูตรหรือแผนพัฒนาประเทศจริงๆ เช่น บางยุคต้องการให้นักเรียนจบมาเพื่อรับราชการ บางยุคต้องการให้นักเรียนมีคุณธรรมจริยธรรมสูง   บางยุคต้องการให้นักเรียนมีคุณภาพเทียบเท่าสากล  บางยุคต้องการให้นักเรียนเรียนหนังสืออย่างเดียว  ห้ามยุ่งกับการเมืองการปกครองของรัฐโดยเด็ดขาด   บางยุคไปเน้นกิจกรรมปลูกฝังค่านิยม   บางยุคไปเน้นประวัติศาสตร์-หน้าที่พลเมือง  บางยุคไปเน้นการพัฒนาอาคารสถานที่ สื่อเทคโนโลยี ฯลฯ  ซึ่งความต้องการของผู้บริหารระดับประเทศ หรือกระทรวงเหล่านี้  ควรเป็นตัวเสริม  ไม่ใช่ตัวหลักแต่อย่างใด  

.

เพราะตัวหลักที่สำคัญที่สุดลำดับแรก คือ การพัฒนาความรู้ ทักษะ สมรรถภาพนักเรียน “เกิดการเรียนรู้”  ให้เป็นไปตามหลักสูตรที่กำหนดไว้   ดังนั้น  การจัดการศึกษาที่มีเป้าหมาย และนโยบาย “ให้เกิดการเรียนรู้” จึงจะทำให้ได้พลเมืองที่มีทักษะความสามารถ มีสมรรถภาพอย่างแท้จริง มาช่วยกันพัฒนาสังคมและประเทศชาติเจริญก้าวหน้ามั่นคงสืบต่อไป

.

๒. มีโรงเรียนหรือสถาบันทางการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้   ประเทศ หรือสังคมที่พัฒนาก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง  มักมีโรงเรียนที่เน้นคุณภาพการศึกษาเป็นลำดับแรก  ซึ่งได้มีผู้รวบรวมผลการวิจัยสถาบันทางการศึกษาที่มีชื่อเสียงด้านการจัดการศึกษาของประเทศต่างๆ เช่น ประเทศฟินแลนด์มีชื่อเสียงการจัดการศึกษาระดับอนุบาล-ประถมศึกษา,  ประเทศเยอรมันมีชื่อเสียงการจัดการศึกษาระดับมัธยมศึกษาและวิศวกรรม,  ประเทศสหรัฐอเมริกามีชื่อเสียงการจัดการศึกษาระดับอุดมศึกษา, ประเทศญี่ปุ่นมีชื่อเสียงการจัดการศึกษาด้านวิทยาศาสตร์, ประเทศอินเดียมีชื่อเสียงการจัดการศึกษาด้านบัญชีและคอมพิวเตอร์  ฯลฯ   พบว่า  โรงเรียนหรือสถาบันทางการศึกษาที่จะมีคุณภาพเยี่ยมยอด  ช่วยเหลือให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้  จนสามารถพัฒนาศักยภาพสู่ความเป็นเลิศได้นั้น  มักมีลักษณะสอดคล้องกัน (โรงเรียนในฝัน)  ดังนี้

  .  

  • เป็นสถาบันหรือโรงเรียน …ที่มีวิสัยทัศน์ เป้าหมายชัดเจน  มุ่งเน้น “ความเป็นเลิศ” ในการฝึกและพัฒนาในแต่ละด้านอย่างจริงจัง  
  • เป็นสถาบันหรือโรงเรียน …ที่ไม่มุ่งเน้นแต่  “การสั่งสอน บ่น  ว่า  ดุ  บังคับ  ลงโทษ”  โดยเฉพาะผมไม่อยากเห็นการอบรม (ด่า-ประจาน) หน้าเสาธง  เพราะ...โรงเรียนมิใช่สถานที่ที่ใคร หรือคนใดคนหนึ่งจะมาพร่ำบ่น ทำนองอวดว่าสั่งสอนชี้แนะในที่สาธารณะ ตลอดเวลาว่า “ เธอต้องทำสิ่งนี้นะ  เธออย่าทำสิ่งนั้นนะ  ห้ามทำสิ่งนั้นนะ  อย่าทำสิ่งนี้นะ”  แต่...โรงเรียนควรมีบุคคลที่มีสติปัญญา มีเมตตาต่อเด็ก  ทำโรงเรียนให้เป็นสถานที่ “ฝึกหัดกาละเทศะ” ที่ให้เด็กรู้จักปฏิบัติตนเข้ากับสังคมทุกรูปแบบได้   มิใช่ “บังคับ” ให้เด็กทุกคนทำตามระเบียบที่ตั้งไว้  เพื่อความสะดวกของโรงเรียนหรือคณะครู  ถ้าจะให้นักเรียนทำตามระเบียบที่โรงเรียนตั้งไว้  ก็ต้องรู้จักการวางเงื่อนไข  กติกา  กรอบแนวทางความประพฤติให้ชัดเจน  แล้วกระตุ้นให้เด็กมองเห็นเหตุผลในสิ่งที่ควรทำ หรือไม่ควรทำ   เมื่อทำผิดไปก็ฝึกให้ยอมรับผิด  แล้วเลือกโทษที่ตัวเองสมควรได้รับก็ต้องให้เหตุผล   หรือคณะครูสามารถอธิบายได้ว่า  การทำสิ่งนี้จะมีความหมายแก่ชีวิตของเด็กอย่างไร  หรือ ทำไมต้องทำความเคารพครูทุกเช้าเย็น  ฯลฯ
  • เป็นสถาบันหรือโรงเรียน …ที่เด็กทุกคนมีโอกาสได้ลงมือฝึกปฏิบัติจริงตามหลักสูตร มากกว่า นั่งฟังครูสอน หรืออธิบายตามหนังสือเรียนเพียงอย่างเดียว
  • เป็นสถาบันหรือโรงเรียน …ที่เด็กทุกคนได้รับการเอาใจใส่ดูแล  ฝึกฝนปฏิบัติเท่าเทียมกัน   จนพวกเขาภูมิใจ  เคารพ เชื่อมั่นความสามารถที่แท้ของตนเอง
  • เป็นสถาบันหรือโรงเรียน …ที่เด็กทุกคนเชื่อโดยสนิทใจว่า ครูมีความรัก เอ็นดู หวังดีต่อนักเรียนทุกคน   โดยเฉพาะในห้องเรียนเป็นที่สบายใจ อบอุ่น ปลอดภัย  แม้เด็กจะทำผิดพลาดไปบ้าง ก็รู้สึกว่าจะได้รับการอภัย แล้วได้รับการชี้แนะ แนะนำในสิ่งที่ถูกต้อง เพื่อทำให้เข้าใจเหตุผล  และสามารถปรับพฤติกรรมของตัวเองดีขึ้นอีกครั้ง
  • เป็นสถาบันหรือโรงเรียน …ที่เด็กทุกคนได้รับการค้นหาความสามารถ  ความถนัดจากครู  ไม่ปล่อยให้เด็กรอแล้วรอเล่า  รอเวลาเมื่อใด  (ซึ่งไม่รู้ว่าเมื่อไหร่) ที่ครูจะมาค้นพบศักยภาพ และธรรมชาติของตัวผู้เรียน   ซึ่งถ้าครูไม่ค้นพบ  เด็กก็จะถูกกลืนโดยเพื่อน   สังคม   สื่อสารมวลชนที่มีแต่ความเย้ายวนใจ   ชวนลุ่มหลงง่าย

    ได้แต่หวังว่า   โรงเรียนหรือสถาบันทางการศึกษาที่เอื้อต่อการเรียนรู้ในฝันของผมแบบนี้   เพื่อนครูคงช่วยกันสร้างขึ้นมาให้มีมากมายในสังคมไทยอย่างกว้างขวางทั่วประเทศนะครับ

.

๓. มีครูที่รู้จัก “การวางเงื่อนไขการเรียนรู้ (Conditions of Learning)” หรือ “ผู้จัดการเรียนรู้”  

คุณภาพจากการจัดการศึกษาที่เราอยากสร้างให้กับเด็ก  คือ  ความสามารถที่จะใช้สติปัญญา  เพื่อแก้ปัญหาของตัวเอง บุคคล และสังคมที่เกี่ยวข้องในอนาคต   แต่...คุณภาพข้อนี้เป็นจุดอ่อนทางการศึกษาของเรามาโดยตลอด  ทำให้สังคมไทยส่วนมากอ่อนแอทางสติปัญญา    ไม่สามารถสร้างความเชื่อมั่นให้กับคนไทย   ที่จะยืนอยู่ได้ด้วยตนเอง   สร้างแต่นิสัยและพฤติกรรมพึ่งพาผู้อื่นมากกว่าที่จะพึ่งตนเอง ดีที่สังคมไทย คนไทยยังมีหลักแนวคิดทางพระพุทธศาสนาอยู่บ้าง  จึงพอเอาตัวรอดได้   (ฝรั่งได้เปรียบคนไทยตรงที่  เขามีวิถีทางที่จะแสวงหาความรู้และพัฒนาความรู้ได้มากกว่าคนไทย    แต่ฝรั่งเสียเปรียบคนไทย  ที่ต้องเสียเวลาใช้สมอง กำลังกาย กำลังใจ กำลังทรัพย์  ต่อสู้เพื่อเสรีภาพทางศาสนาเป็นเวลาหลายชั่วอายุคน  และต้องหลงอยู่กับความเข้าใจผิดในเรื่อง “ดี-ชั่ว-บาป” หลายศตวรรษเช่นกัน) 

.

นักการศึกษาในยุคปฏิรูปนี้มักพูดกันมากว่า  “อัจฉริยภาพทางความคิด”  เป็นเป้าหมายสำคัญของคุณภาพการศึกษา  เป็นจุดหมายปลายทางที่หลักสูตรกำหนดเป็นมาตรฐานคุณภาพที่ทุกโรงเรียนต้องฝึกฝนให้เด็กมีความสามารถในการคิดวิเคราะห์  คิดสังเคราะห์  มีวิจารณญาณ  มีความคิดริเริ่มสร้างสรรค์   ซึ่งเป็นการบ้านข้อใหญ่ที่สุดของคนเป็นครู   ทำอย่างไรเราถึงจะปลูกฝังสร้างสติปัญญาให้เกิดขึ้นในตัวเด็กๆได้  ทั้งนี้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์และวิจัยจะเป็นกระบวนการหนึ่ง ที่มีส่วนช่วยให้เด็กของเราเติบโตด้านการศึกษา โดยการฝึกฝนให้เด็กรู้จักการเรียนรู้จากการสังเกตต่อปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นในตัวของเขาเองและสิ่งแวดล้อมภายนอก   และอีกกระบวนหนึ่ง คือ กระบวนการทางพระพุทธศาสนา  โดยการฝึกให้เด็กรู้จักฝึกกาย ใจให้สงบนิ่ง  ตั้งใจดู และพิจารณาความรู้สึก อารมณ์  ความคิดที่เกิดในใจ  ซึ่งก็คือแนวทางของศีล  สมาธิ  ปัญญา นั่นเอง

.

แต่...ในโลกที่มีความรู้มากมาย  กว้างใหญ่  ไพศาลเหลือคณานับ  บทบาทใหม่ที่เราเป็นครูแห่งยุคสมัยต้องปรับเปลี่ยน คือ การฝึกวิธีหาความรู้ที่หลากหลายให้แก่เด็ก ๆ เพื่อให้เขามีความสามารถในการเรียนรู้ ได้อย่างไม่มีข้อจำกัดในยุคเทคโนโลยี  สารสนเทศ(ไอที)  ซึ่งเราต้องเข้าใจว่าไอที  จะเข้ามาแทนที่ครูไม่ได้  แต่จะช่วยให้ครูมีโอกาสเปลี่ยนวิธีสอนจากการบอกความรู้  ไปสู่การให้เด็กเป็นผู้แสวงหาความรู้ด้วยตัวเองได้มากขึ้น  นี่คือบทบาทอีกประการหนึ่งที่เราต้องพัฒนาขึ้น

.

โรงเรียนทั่วๆ ไปมักมองข้าม  และละเลยที่จะปลูกฝังให้เด็กๆ มีความรักความเมตตาต่อผู้อื่น และสรรพสิ่งรอบตัวได้อย่างแท้จริง  การปลูกฝังให้ความรักเจริญงอกงามในจิตใจ  ไม่สามารถทำได้ด้วยการบรรยายในชั้นเรียน  แต่ด้วยการจัดบรรยากาศ  การปฏิบัติต่อกัน  และกิจกรรมหลากหลาย  ให้เด็กได้ลงมือกระทำจริง  น้ำทุกหยดที่เด็ก ๆ  รดไปยังต้นไม้ที่เขารับผิดชอบ  คือปฏิบัติการแห่งความรักที่สำคัญมากทีเดียว  ขยะทุกชิ้นไม่เพียงแต่จะทำให้โรงเรียนสะอาดเท่านั้น  แต่มันหมายถึงจิตใจที่สามารถจะรักผู้อื่นด้วย

.

อีกสิ่งหนึ่งที่เพื่อนครู  ไม่ควรมองข้าม  คือ การฝึกฝนคุณลักษณะพื้นฐานที่จะช่วยให้เด็กๆ เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่มีพฤติกรรม  บุคลิกภาพที่เข้าได้ทุกสังคม (รู้จักกาลเทศะบุคคล)  รวมทั้งการฝึกฝนให้เด็กมีทักษะพื้นฐานในการทำงานที่ช่วยให้สามารถประกอบการงานอาชีพพึ่งตนเองได้ในอนาคต     จึงเป็นสิ่งที่จำเป็นที่ต้องปลูกฝังให้กับเด็ก  และไม่ควรหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบแต่อย่างใด       

.                                              

ทั้งหมดที่กล่าวมา  จะเกิดขึ้นได้ก็ต่อเมื่อเพื่อนครู “ปรับการเรียน  เปลี่ยนการสอน” เป็น “การจัดการเรียนรู้”  ให้ได้  ตัวผมเองก็ผ่านทั้งความสำเร็จและล้มเหลวในความพยายามจะช่วยเหลือพัฒนาให้เด็กมีคุณภาพและศักยภาพในการเรียนรู้มาตลอด   แต่...มีสิ่งหนึ่งที่ผมยึดไว้เป็น “หลักการ”จึงช่วยทำให้ผมแก้ไขปรับปรุงวิธีการจัดการเรียนรู้ได้เร็วขึ้น   หลักการนั้น คือ  ผมเชื่อว่า...ทุกอย่างจะเริ่มต้นได้มั่นคง จะต้องมี “ความพร้อมทางความคิด” หรือ "จุดยืน"  นั่นเอง 

.  

ความพร้อมที่จะช่วยให้เพื่อนครูประสบความสำเร็จใน “การจัดการเรียนรู้” ได้ คือ

    ๑. ความพร้อมด้านแนวคิด จุดยืน  การที่เพื่อนครูจะมีแนวคิดจุดยืนที่ชัดเจน  เพื่อนครูลองตอบคำถามต่อไปนี้ให้ชัดเจน  พยายามตอบคำถามตัวเองจนเพื่อนครูพอใจในคำตอบนั้นๆ  เพื่อนครูก็จะมีแนวคิดจุดยืนที่ชัดเจน   หรือจะเรียกว่า การพยายาม “นิยาม” ความหมายของสิ่งต่อไปนี้

              1. ที่เราเรียกว่า “การศึกษา” นั้น  ที่เพื่อนครูคิดหรือเชื่อ  มันหมายถึงอะไรกันแน่ 

              2. จุดหมายปลายทางของการจัดการศึกษาของเพื่อนครู คืออะไร  มีอะไรบ้าง

              3. จุดหมายปลายทางของการจัดการศึกษาที่เพื่อนครูคิดไว้  จะช่วยแก้ไข พัฒนาคุณภาพชีวิตคนในสังคมหรือโลกในปัจจุบันให้เป็นจริงได้อย่างไร  

.   

เมื่อเชื่อว่าได้คำตอบที่ชัดเจน และเพื่อนครูเชื่อว่า  เป็นคำตอบสุดท้ายแล้ว  เพื่อนครูก็ลองหาความหมายของคำว่า... ครู นักเรียน โรงเรียน หลักสูตร การเรียน การสอน คืออะไร  สอดคล้องกับคำตอบที่เพื่อนครูตอบ 3 ข้อข้างต้นนั้นหรือยัง   ถ้าเพื่อนครูให้คำตอบที่สอดคล้องเป็นไปในทิศทางเดียวกัน  แสดงว่าแนวคิดของเพื่อนครูชัดเจนแล้ว  ถ้ายังไม่สอดคล้องคำตอบไปคนละทิศละทาง  แสดงว่า...เพื่อนครูยังไม่สามารถสร้างแนวคิดที่ชัดเจนขึ้นมาได้   เพื่อนครูก็ลองคิดใหม่ๆไปเรื่อยๆ เดี๋ยวก็ได้ และเข้าใจเองในที่สุดครับ

.

       ๒. ความพร้อมด้านการยอมรับ   เพื่อนครูต้องเชื่อว่า หลักการ จุดหมาย  ในการจัดการศึกษาตามหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. 2551 ของกระทรวงศึกษาธิการที่กำหนดว่า “การศึกษา คือ การเรียนรู้” เป็นแนวทางที่ถูกต้อง  สอดคล้องกับสภาพการณ์ของโลกยุคปัจจุบัน     

สรุปง่ายๆ  เพื่อนครูต้องยอมรับความสำคัญของหลักสูตร และทำใจปฏิบัติตามแนวทางของหลักสูตรที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนดขึ้นได้หรือไม่ ?    ตรงนี้สำคัญมาก  เพราะถ้าเพื่อนครูไม่ยอมรับและทำตามหลักสูตรดังกล่าว  ก็เท่ากับว่าเพื่อนครูจะสร้างความล้มเหลวในการทำงาน  และสร้างความทุกข์ให้กับตัวเองไปตลอดเวลาที่ทำงานในโรงเรียน

.   

เพราะ...เมื่อเพื่อนครูไม่เข้าใจและยอมรับว่า  “การศึกษาควรเป็น การเรียนรู้”   แต่...เพื่อนครูยังเชื่อแบบเดิมว่า  การจัดการศึกษาที่ถูกต้องและดีที่สุด  ควรเป็นการเรียนการสอน   การจัดการศึกษาของเพื่อนครูจึงล้มเหลว  ดูตัวอย่างข้อทดสอบแห่งชาติ (o-net) เขาสร้างแบบทดสอบเพื่อวัด “การเรียนรู้ตามหลักสูตรและตัวชี้วัด”   แต่...เพื่อนครูส่วนมาก  ยังสอนความรู้-ความจำจากหนังสือแบบเรียน   ผลการทดสอบแห่งชาติ (o-net) จึงไม่สัมฤทธิผลเป็นไปตามที่เพื่อนครูหวังไว้ 

.

ที่จริงคำว่า “การเรียนรู้” แม้เป็นคำใหม่  แต่ถ้าพิจารณาความหมายที่นักวิชาการนิยามไว้  ก็ไม่ใช่สิ่งใหม่แต่อย่างใด   มีคำเก่าแก่ที่เหมือนกันในแง่วิธีการ  คือ คำว่า  “การฝึก”   (การเรียนรู้  หมายถึง เมื่อได้รู้ หรือลงมือทำ แล้วทำให้เกิดการความเข้าใจอย่างแท้จริง จนมีผลเปลี่ยนแปลงทางทัศนคติ ความคิด จิตใจ  อารมณ์  พฤติกรรม บุคลิก วิถีชีวิต แสดงว่า เกิดการเรียนรู้แล้ว )

.

ตามหลักการศึกษา  และจิตวิทยาการศึกษา  ต่างกล่าวว่า....การเรียนรู้  จะเกิดขึ้นก็ต่อเมื่อมนุษย์มีประสบการณ์จากการทำหรือปฏิบัติ  จนเกิดความเข้าใจและตระหนักแล้วเกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างใดอย่างหนึ่งกับชีวิตตนเอง    ซึ่งผมเชื่อว่าเพื่อนครูที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาเด็ก หรือเพื่อนครูที่มีประสบการณ์ในการเป็นครูมานาน  มักจะค้นพบในที่สุดว่า เด็กจะเข้าใจในสิ่งที่เรียน  ที่เกิดจาก “การฝึก” มากกว่า “การสอน หรือ การชี้แนะ”  จริงๆ ก็แสดงว่า ตัวครูเองเกิดการเรียนรู้แล้วนั่นเอง

.....

ผมเชื่อว่า  เมื่อเพื่อนครูนำคำตอบที่ได้จากความพร้อมด้านแนวคิดจุดยืนของข้อ ๓ จริงๆ  มาพิจารณาเทียบเคียงกับหลักการ จุดหมายของหลักสูตรแกนกลางการศึกษาขั้นพื้นฐาน พ.ศ. ๒๕๕๑  จะเห็นว่าสอดคล้องกันทุกประการแน่นอนครับ 

.

คราวนี้  เพื่อนครูจะยอมรับหรือยังว่า คุณลักษณะของเด็กในปัจจุบัน  ควรเป็นการเรียนรู้ที่ได้จากการฝึกปฏิบัติอย่างเป็นระบบ  มีขั้นตอนที่เชื่อถือหรือถูกต้อง   มิใช่  เกิดจากการสอนหรืออธิบายชี้แนะในหนังสือเรียนเป็นหลักเหมือนที่ผ่านมา   ถ้าเพื่อนครูยอมรับและเชื่อมั่นตามนี้   ก็ถือว่า...เพื่อนครูพร้อมที่จะเป็น “ครูสร้างเงื่อนไขแห่งการเรียนรู้ หรือ ผู้จัดการเรียนรู้” สามารถจัดการศึกษาที่แท้จริงให้กับเด็กได้แล้วครับ

หมายเลขบันทึก: 486376เขียนเมื่อ 28 เมษายน 2012 11:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มกราคม 2020 08:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

อ่านบทความอาจารย์แล้วมีความสุข มีแนวทางที่จะปลูกต้นกล้าแห่งความหวัง

จะพยายามคูแลต้นกล้านี้ให้เจริญเติบโตเพื่อนำไปต่อยอดในชั้นเรียนค่ะ

ขอบคุณคุณครูศิริลักษณ์ แทนเด็กและสังคมไทยที่คุณครูตั้งใจทำเพื่อพวกเขาครับ

ขอบคุณคุณครูศิริลักษณ์ แทนเด็กและสังคมไทยที่คุณครูตั้งใจทำเพื่อพวกเขาครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท