ขยายเครือข่าย ... ร่วมด้วยช่วยกัน ให้ สว. ฟันดี ภาคเหนือ (1) ทิศทางการสร้างเสริมสุขภาพช่องปากผู้สูงอายุ ปี 2555


 

ท่านผู้อำนวยการสำนักทันตสาธารณสุข ทพ.สุธา เจียรมณีโชติชัย ได้บอกเล่าถึงทิศทางการสร้างเสริมสุขภาพช่องปาก ปี 2555 ไว้ว่า

บางคนบอกว่า ... การดูแลสุขภาพช่องปากเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ใครๆ รู้กันดี ก็จะมีวิธีการต่างๆ ในการดูแลสุขภาพช่องปากอย่างง่ายๆ ด้วย

ปาก ... คือ ประตูสู่สุขภาพ เรากินของดี สุขภาพช่องปากก็ดี ร่างกายก็แข็งแรง ถ้ากินสิ่งที่ไม่ดี ปากเป็นด่านแรกที่ร่างกายได้รับ เช่น ทานของหวานเยอะๆ ปากก็จะเต็มไปด้วยน้ำตาล น้ำตาลเป็นอาหารชั้นเลิศของเชื้อโรคในช่องปาก ทำให้เกิดฟันผุ เหงือกอักเสบ แผลในปาก ได้

กรมอนามัยมีความตั้งใจอย่างมากในเรื่องของการดูแลสุขภาพช่องปาก เพราะว่า ปัญหาสุขภาพช่องปาก จะส่งผลไปในเรื่องของโภชนาการ สุขภาพกาย สุขภาพจิต ดังที่สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้ตรัสไว้ ช่องปากเล็กๆ ฟันซี่เล็กๆ ส่งผลต่อสุขภาพจิต สุขภาพกายได้ ไม่มีความสุขได้

เราจะคุยกันเรื่อง ทำไมต้องดูแลสุขภาพของผู้สูงอายุ และกรมอนามัยดูแลในเรื่องอะไรบ้าง

เรื่องของ ผู้สูงอายุ จะมีมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้สูงอายุอายุยืนขึ้นเรื่อยๆ ค่าใช้จ่ายก็จะมากขึ้น ถ้าเราไม่ดูแล ไม่ส่งเสริมสุขภาพตั้งแต่ต้น พอวัย สว. ก็จะดูแลยาก ค่าใช้จ่ายสูง จึงควรมาดูกันในเรื่องของการส่งเสริมสุขภาพเป็นดีที่สุด

ปัจจุบัน มีเด็กมากกว่าผู้สูงอายุ อีก 20 ปี ผู้สูงอายุจะมีมากกว่ากลุ่มเด็ก ผู้สูงอายุส่วนใหญ่ดูแลตนเองได้ (กลุ่มติดสังคม) ประมาณ 85% ไปทำกิจกรรมในสังคม ช่วยเหลือผู้อื่นได้ ที่ดูแลตนเองได้บ้าง เป็นกลุ่มติดบ้าน มี 13% และกลุ่มที่ดูแลตัวเองไม่ได้ หรือกลุ่มติดเตียง ประมาณไม่ถึง 1% ตอนนี้เราทำในเรื่องของผู้สูงอายุกลุ่มติดสังคม ที่สามารถช่วยเหลือตนเอง และช่วยเหลือผู้อื่นได้

กรมอนามัย ดูแลผู้สูงอายุโดยกำหนดให้ผู้สูงอายุเป็นหนึ่งในยุทธศาสตร์ของการส่งเสริมสุขภาพ เป้าหมายของผู้สูงอายุ เราอยากให้มีอายุยืน พร้อมทั้งมีสุขภาพที่ดีนานๆ และไปมีสุขภาพไม่ดีช่วงปลายๆ เพราะว่า เกิด แก่ เจ็บ ตาย เป็นธรรมดา เช่น ถ้าผู้สูงอายุมีอายุขัยเฉลี่ยที่ 80 ปี เราก็อยากให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพดีถึง 79 ปี กับ 6 เดือน และช่วงวาระสุดท้าย เป็นช่วงสั้นๆ ภายในไม่กี่เดือน ก็จะเป็นสังคมที่มีสุขภาพดี หรือภาวะเจ็บป่วยไม่ถึงเดือน เราจะทำกันได้อย่างไร

เรื่องของช่องปาก เราทำเรื่องฟันเทียม ชมรมผู้สูงอายุ และที่โรงพยาบาลมีการจัดบริการเรื่องชุดสิทธิประโยชน์ทางทันตกรรมป้องกัน สิ่งที่อยากเห็น คือ ผู้สูงอายุมีฟันใช้งานได้ไม่น้อยกว่า 20 ซี่ หรือมีฟันอย่างน้อยต้องมี 4 คู่สบ เป็นตัวชี้วัดเรื่องการเคี้ยวอาหาร เมื่อปี 2550 ผู้สูงอายุมีฟันใช้เคี้ยวอาหารอย่างน้อย 20 ซี่ 54% 4 คู่สบมี 3 คู่สบ จึงเป็นประเด็นที่ผู้สูงอายุจึงมีความต้องการการใส่ฟันเทียม และยังพบว่า ผู้สูงอายุที่มีฟันอยู่ในปาก เกิดโรคใหม่ คือ รากฟันผุ

ได้มีการใส่ฟันเทียมไปแล้วกว่า 234,000 ราย เป็นการเฉลิมพระเกียรติใน 3 วาระ 60 ปีครองราชย์ 80 พรรษา และ 84 พรรษา ในปีที่ผ่านมา
มาคิดกันต่อว่า ทำอย่างไรที่จะให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปากที่ดี และสามารถดำรงชีวิตอยู่อย่างมีคุณภาพ จึงได้มีการผสมผสานงานเรื่องของสุขภาพช่องปาก เข้าไปกับการดูแลสุขภาพโดยองค์รวม

เรื่องของผู้สูงอายุ ... เราอยากให้ผู้สูงอายุมีคุณภาพชีวิตที่ดี ถ้าเจ็บป่วย ก็จะสามารถมาพึ่งบริการภาครัฐได้ และผู้สูงอายุยังมีอีกหลายโรค จากฟันผุ รากฟันผุ ปริทันต์ ก็พบว่า ผู้สูงอายุมีเรื่องแผลในปาก ฟันสึก ผู้สูงอายุที่กินยาเบาหวาน ความดัน หัวใจ หลอดเลือด ทำให้น้ำลายออกน้อย ปากแห้ง เกิดแผลในปาก เชื้อรา ได้

การดูแลสุขภาพตั้งแต่ยังไม่เกิดโรค คือ การส่งเสริมป้องกันก่อนเกิดโรค เช่น การใช้ฟลูออไรด์วานิช ป้องกันรากฟันผุ ในประชาชน มีการทำเรื่อง ชมรมผู้สูงอายุ ส่งเสริมให้ประชาชนดูแลกันเองได้ ก่อนที่จะไปถึงโรงพยาบาล

พัฒนาการการทำงานที่ผ่านมา ตั้งแต่ปี 2549-2550 จากการพัฒนารูปแบบ ปี 2551 การขยายการดำเนินงาน และปัจจุบัน สามารถพัฒนาไปได้เป็นเกณฑ์พัฒนาคุณภาพชมรมผู้สูงอายุ โดยมีเป้าหมาย 1 อำเภอ 1 ชมรม หลายๆ จังหวัดครอบคลุมแล้ว บางจังหวัดครอบคลุมไปถึง 1 ตำบล 1 ชมรมแล้ว แต่ยังไม่ครบ 77 จังหวัด คงเหลือ 31 จังหวัดที่ยังไม่บรรลุ จึงเป็นที่มาของการขยายเครือข่ายกิจกรรมขึ้นใน 4 ภาค

ที่โรงพยาบาล เราสามารถทำในเรื่องของการควบคุมคราบจุลินทรีย์ ฟลูออไรด์วานิช การทำความสะอาดฟันป้องกันโรคปริทันต์ เป็นการป้องกันเพื่อไม่ให้เกิดเป็นโรคในช่องปากได้

และ เรามีการดูแลผู้สูงอายุในระบบการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ของสุขภาพทั่วไปด้วย

เราพยายามทำให้ครบวงจร ตั้งแต่ภาคประชาชนดูแลตนเองได้ ภาคท้องถิ่นเข้ามาร่วมสนับสนุนภาคประชาชน รพ.สต. รพช. จะมีศักยภาพมากขึ้น รพศ./รพท. สนับสนุน ซึ่งครอบคลุมงานทุกๆ ด้านของทันตกรรม

ฉะนั้น ถ้าอยู่ในหมู่บ้าน ตำบล ก็จะมีเครือข่ายที่ผู้สูงอายุสามารถดูแลตนเองได้ และไปเพิ่มศักยภาพให้คนอื่นได้ อสม. เป็นกลุ่มใหญ่ในชุมชน ในหมู่บ้าน ถ้าจับมือกันได้ดี ก็จะมีเครือข่ายที่มาร่วมช่วยกันทำกิจกรรม ในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุระยะยาว ก็จะมีทั้งอาสาสมัคร ผู้ดูแลผู้สูงอายุ และผู้สูงอายุดูแลสุขภาพช่องปากเกิดขึ้น เป็นการทำให้ผู้สูงอายุมีสุขภาพช่องปาก ส่งผลไปให้สุขภาพ คุณภาพชีวิตดีต่อไปด้วย

รวมเรื่อง ขยายเครือข่าย ... ร่วมด้วยช่วยกัน ให้ สว. ฟันดี

 

หมายเลขบันทึก: 486144เขียนเมื่อ 26 เมษายน 2012 11:18 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 14:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มาเชียร์ สว ฟันดี เพิ่งได้เห็นคุณหมอสุธา ครั้งก่อนไปงาน ท่านไปด้วยใช่ไหมครับ

  • Ico48
  • พ่อลูกชาย ไม่รู้จักเจ้านายแม่ได้ไงจ๊ะ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท