ปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๑: ๔. วิสัยทัศน์และแนวทางบรรลุ


 

          ผมเกิดแรงบันดาลใจให้เขียนบันทึกชุดนี้จากการอ่านหนังสือ A Framework for K-12 Science Education : Practices, Crosscutting Concepts and Core Ideas ซึ่งจัดพิมพ์โดย The National Academies ของสหรัฐอเมริกา  ผมขอเสนอให้นักการศึกษาและครูอาจารย์ไทยอ่านหนังสือเล่มนี้ทุกคน   อ่านอย่างพินิจพิเคราะห์   เพื่อเอามาใช้ปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ของไทย   โดยที่หนังสือเล่มนี้เขาอนุญาตให้ ดาวน์โหลดมาอ่านได้ฟรี

 

          ผมตีความหนังสือเล่มนี้ ลงเป็นบันทึกชุด “ปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ ๒๑” นี้ เพื่อเป็นบรรณาการแก่ “ครูเพื่อศิษย์”

 

          ในบันทึกที่ ๒ ของบันทึกชุด ปฏิรูปการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ในศตวรรษที่ 21 นี้ ได้ระบุวิสัยทัศน์ ของผลสัมฤทธิ์ในการเรียนวิทยาศาสตร์ว่า ในช่วงเวลาของการเรียนรู้ตั้งแต่ชั้นอนุบาล จนถึง ม. ๖ (เกรด ๑๒) นักเรียนจะได้ฝึกปฏิบัติทางวิทยายาศาสตร์และวิศวกรรมศาสตร์ เพื่อให้เข้าใจหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ลึกขึ้น    นักเรียนได้ฝึกตั้งคำถามและหาวิธีตอบคำถามที่ช่วยให้มนุษย์เข้าใจโลกรอบตัวเอง    จนเมื่อจบ ม. ๖ นักเรียนก็มีทักษะการอภิปรายสาธารณะในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิทยาศาสตร์   มีทักษะของการเป็นผู้บริโภค ข่าวสารด้านวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันอย่างมีวิจารณญาณ     และมีฉันทะและทักษะในการเรียนรู้ วิทยาศาสตร์ต่อเนื่องตลอดชีวิต   มีความเข้าใจว่าความรู้ความเข้าใจวิทยาศาสตร์อย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน เป็นผลของการสร้างสรรค์ของมนุษย์ต่อเนื่องมาหลายร้อยปี


          เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์นี้ รูปแบบของการเรียนรู้ต้องเน้นความเชื่อมโยงระหว่างมิติทั้ง ๓ ของกรอบความคิด   คือมิติด้านภาคปฏิบัติ ด้านหลักการที่ต้องเรียนรู้ และด้านสาระที่ต้องเรียนรู้ (โปรดดูตอนที่ ๑)    โดยเน้นความสมดุลระหว่าง ความลึกกับความกว้าง

 

          หลักการภาคปฏิบัติ มี ๓ ประการ คือ

๑. หลักความคิดว่า การเรียนรู้เป็นความก้าวหน้าของพัฒนาการ(developmental progression)    โดยที่กระบวนการจัดการเรียนรู้มีเป้าหมายช่วยให้เด็กค่อยๆ ทำความเข้าใจสิ่งต่างๆ โดยรอบตัว    เริ่มที่ความสนใจใคร่รู้   แล้วค่อยๆ นำทางเด็กสู่การตีความปรากฏการณ์ต่างๆ ในโลกด้วยกระบวนการทางวิทยาศาสตร์ (และวิศวกรรมศาสตร์)

 

๒. เลือกหลักการที่ต้องเรียนรู้เพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น   เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสภาพเรียนมาก จนเฝือ และเรียนได้เพียงตื้นๆ   นักเรียนควรได้มีเวลาทดลอง และนำผลมาถกเถียงกัน

 

๓. การเรียนรู้มีลักษณะบูรณาการระหว่างภาคความรู้กับภาคปฏิบัติอย่างเป็นเนื้อเดียวกัน

 

 

วิจารณ์ พานิช

๒๖ มี.ค. ๕๕

 

 

หมายเลขบันทึก: 486066เขียนเมื่อ 25 เมษายน 2012 16:35 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 18:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

I like this: ๒. เลือกหลักการที่ต้องเรียนรู้เพียงเท่าที่จำเป็นเท่านั้น

There is no extra benefit to have more copies than what needed, only extra costs and loss of opportunities (for other variations). The education in Thailand is geared towards "mass production of 'same' skill set" whether the demand is there or not. For examples 2nd language education, university graduates/higher graduates, teachers, ...

Better quality and useful education programs need "visions" and "leaderships". Where do we find "good" leaders training programs?

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท