อนาคตการศึกษาอาเซียน


ประชาชนของอาเซียนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ต้องทำให้แน่ใจว่า พวกเขามีช่องทางที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนา

การรวมกลุ่มของประเทศสมาชิกอาเซียนในรูปแบบที่แน่นแฟ้นขึ้น จนเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (เออีซี) ในปี 2558 จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศสมาชิกรวมทั้งไทยด้วย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาการศึกษาและศักยภาพของทรัพยากรมนุษย์ในภูมิภาค เพื่อที่จะได้สามารถเก็บเกี่ยวโอกาสจากการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจให้ได้อย่างมี ประสิทธิภาพ

นายสุรินทร์ พิศสุวรรณ เลขาธิการอาเซียน เคยกล่าวว่า การศึกษาเป็นหัวข้อหนึ่งที่อาเซียนให้ความสำคัญอย่างมาก เพราะจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างประชาคมอาเซียน แต่ถ้าคนในประเทศสมาชิกคิดว่าตัวเองยังเป็นเชื้อชาติของตนเอง อาเซียนก็เกิดไม่ได้ เราจึงต้องคิดถึงอัตลักษณ์อาเซียน ซึ่งจะเกิดขึ้นได้ด้วยการเรียนรู้แลกเปลี่ยนและพัฒนาร่วมมือกัน

ประชาชนของอาเซียนเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุด ต้องทำให้แน่ใจว่า พวกเขามีช่องทางที่เท่าเทียมกันในการเข้าถึงโอกาสในการพัฒนา และภาครัฐภาคเอกชนควรส่งเสริมและลงทุนในด้านการศึกษา การเรียนรู้ตลอดชีวิต และการเสริมสร้างศักยภาพในด้านอื่นๆ ซึ่งเป็นการลงทุนระยะยาวเพื่ออนาคตของประชาคม และจะช่วยให้กระบวนการสร้างประชาคมเป็นไปอย่างยั่งยืน

เมื่อพิจารณาด้านความต้องการแรงงานของอาเซียน จะเห็นได้ว่า มีการกำหนดสาขาวิชาชีพหลักที่มีการจัดทำข้อตกลงยอมรับร่วมกัน หรือ MRA (Mutual Recognition Agreement) เพื่อรับรองคุณสมบัติวิชาชีพ และช่วยอำนวยความสะดวกในการเคลื่อนย้ายแรงงาน ซึ่งปัจจุบันมีอยู่ 8 สาขา คือ แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล วิศวกรรม สถาปัตยกรรม บัญชี การสำรวจ และการท่องเที่ยว นั่นหมายความว่า วิชาชีพเหล่านี้จะมีการแข่งขันกันสูง เราจึงต้องพัฒนาให้พร้อมกับการแข่งขัน และในอนาคต เป็นไปได้ที่อาเซียนจะพิจารณาให้เปิดเสรีในสาขาวิชาชีพอื่นด้วย

ในการพัฒนาบุคลากรวิชาชีพทั้ง 8 สาขา นอกจากต้องให้ความสำคัญกับวิชาพื้นฐาน ตลอดจนการใช้เทคโนโลยีให้ได้เป็นอย่างดีแล้ว ก็จำเป็นต้องพัฒนาทักษะด้านภาษาอังกฤษควบคู่ไปด้วย เนื่องจาก กฎบัตรอาเซียนข้อ 34 บัญญัติเอาไว้ว่า “ภาษาที่ใช้ในการทำงานของอาเซียน คือ ภาษาอังกฤษ” (The working language of ASEAN shall be English) ประเทศที่จะแข่งขันในเวทีอาเซียนได้ จึงต้องมีความชำนาญในภาษาอังกฤษด้วย

หากเราพิจารณาดัชนีการพัฒนามนุษย์ โดยดูข้อมูลจาก Human Development Report 2011 ของ UNDP พิจารณาเฉพาะดัชนีการศึกษา (Education Index) ที่คำนวณจากอัตราการรู้หนังสือของผู้ใหญ่ และสัดส่วนของเด็กวัยเรียนที่ได้รับการศึกษาระดับประถมจนถึงอุดมศึกษา ซึ่งมีการแบ่งกลุ่มและจัดอันดับจากทั้งหมด 187 ประเทศ แต่จะเปรียบเทียบเฉพาะสมาชิกอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ ปรากฏว่า

สิงคโปร์ (อันดับที่ 26) และบรูไน (อันดับที่ 33) ถูกจัดอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูงมาก มาเลเซีย (อันดับที่ 61) อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับสูง ส่วนกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ระดับกลาง มี 6 ประเทศ ได้แก่ ไทย (อันดับที่ 103) ฟิลิปปินส์ (อันดับที่ 112) อินโดนีเซีย (อันดับที่ 124) เวียดนาม (อันดับที่ 128) สปป.ลาว (อันดับที่ 138) และกัมพูชา (อันดับที่ 139) สุดท้ายคือ พม่า (อันดับที่ 149) ถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ในระดับต่ำ

จากข้อมูลดังกล่าว จะเห็นได้ว่าประเทศอาเซียนทั้ง 10 ประเทศ มีความแตกต่างทางการศึกษาค่อนข้างมาก จึงเป็นเรื่องยากที่จะแข่งขันกันได้อย่างเป็นธรรม อีกทั้งยังมีปัญหาเรื่องการยอมรับในคุณภาพการศึกษาของประเทศที่มีอันดับการ พัฒนามนุษย์ที่ต่ำกว่า

คำถามคือ เราจะทำอย่างไรให้ทุกประเทศในอาเซียนมีการพัฒนามนุษย์ที่เท่าเทียมกัน ที่น่าสนใจคือ ประเทศที่เป็นผู้นำด้านการศึกษาอย่างสิงคโปร์ มีนโยบายอะไร ที่ทำให้บุคลากรของประเทศมีคุณภาพ

เมื่อศึกษาดูจะพบว่า สิงคโปร์ใช้นโยบาย “สอนให้น้อยลง เรียนรู้ให้มากขึ้น” (Teach Less, Learn More) เป็นกรอบวิสัยทัศน์ด้านการศึกษาเพื่อเตรียมประเทศเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 และใช้แนวคิดเรื่อง “ชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ” ช่วยเติมกรอบความคิดในการเปลี่ยนแปลงสิงคโปร์ให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

หลายคนอาจสงสัยว่า การสอนให้น้อยลง และเรียนรู้ให้มากขึ้น นั้นหมายความว่าอะไร

ตามความคิดของสิงคโปร์ ไม่ได้หมายความว่าสอนให้น้อยลงจริงๆ แต่จะใช้วิธีการสอนที่หลากหลายและลึกขึ้น อย่างเช่น วิธีแบบปฏิสัมพันธ์ การลงมือปฏิบัติ การเรียนรู้แบบประสม การเรียนรู้ที่สอดคล้องกับการทำงานของสมอง การเรียนรู้จากปัญหา และการเรียนรู้ผ่านกรณีศึกษา ผ่านการทำงานเป็นทีม หรือที่เรียกว่าชุมชนการเรียนรู้ทางวิชาชีพ

ที่สำคัญ ประเทศที่มีการพัฒนาในอันดับต้นๆ อย่างสิงคโปร์ และมาเลเซีย ต่างก็ใช้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการ ทำให้บุคลากรของประเทศเหล่านี้ได้เปรียบในการแข่งขันเป็นอย่างมาก ประเทศไทยจึงควรเน้นการเรียนการสอนโดยใช้ภาษาอังกฤษให้มากขึ้น และเน้นที่การฟังและการพูดเพื่อสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานและลูกค้าชาติอา เซียนในอนาคตได้ แต่อย่างไรก็ตาม ไม่ควรลดระดับความสำคัญของเนื้อหาสาระในวิชาอื่นๆ ลง 

สรุปแล้ว ถ้าเราพัฒนาบุคลากรของประเทศไม่ทัน เราจะแข่งขันกับประเทศที่มีศักยภาพสูงอย่างสิงคโปร์และมาเลเซียได้ยาก นอกจากนี้ การแข่งขันกับแรงงานชาวฟิลิปปินส์ที่สามารถติดต่อสื่อสารโดยใช้ภาษาอังกฤษ ได้เป็นอย่างดี ก็ค่อนข้างยากเช่นกัน

สถาบันการศึกษาต่างๆ จึงต้องเร่งส่งเสริมพัฒนาหลักสูตรวิชาชีพให้ได้มาตรฐานอาเซียน รวมทั้งปรับปรุงรูปแบบวิธีการเรียนการสอน ตลอดจนเทคโนโลยีทางการศึกษา เพื่อกระตุ้นการเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งนี้ เพื่อให้แรงงานไทยก้าวสู่ตลาดแรงงานฝีมือระดับนานาชาติได้ และหากเป็นไปได้ ประเทศสมาชิกอาจจะกำหนดให้ภาษาอังกฤษเป็นภาษาทางการภายในประเทศด้วย เพื่อก้าวข้ามกำแพงทางภาษาของคนรุ่นใหม่ และนำไปสู่อัตลักษณ์อาเซียนอย่างแท้จริง


พันธ์รบ ราชพงศา
สถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (ITD)

คอลัมน์ "รู้เขา รู้เรา รู้อาเซียน" กรุงเทพธุรกิจ ASEAN+
ปีที่ 1 ฉบับที่ 28 วันอังคารที่ 3 เมษายน 2555 หน้า 2

หมายเลขบันทึก: 485086เขียนเมื่อ 13 เมษายน 2012 23:23 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 เมษายน 2013 09:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
  • ขอบคุณสำหรับข้อมูลและความรู้ที่แบ่งปันนะคะ ดูจากชื่อ Blog แล้ว คงจะต้องตามศึกษาบันทึกใน Blog นี้ไปเรื่อยๆ ค่ะ
  • วงการศึกษากำลังอยู่ในกระแสการเตรียมความพร้อมสู่ ASEAN COMMUNITY และวิธีเตรียมความพร้อมที่ถนัดและนิยมกันก็คือการขึ้นป้ายข้อมูลของประเทศสมาชิกค่ะ
  • ส่วนปัญหาการพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษซึ่งเป็นข้อด้อยของไทย ไม่รู้จะทำกันแค่ไหน และทำถูกทางหรือเปล่า ดิฉันเองทำวิจัย R&D เพื่อพัฒนาทักษะการสื่อสารภาษาอังกฤษให้นักศึกษาระดับปริญญาตรีมาร่วม 10 ปี ยังได้ผลโดยเฉลี่ยไม่เป็นที่พอใจเลยค่ะ แต่ก็พัฒนาได้ดีในบางคน
  • สำหรับการจัดประสบการณ์การเรียนรู้ ก็ได้ใช้หลักการ "Teach Less, Learn More" มาตลอดค่ะ

ขอบคุณมากๆ ครับ ที่ให้ความสน ผมตั้งใจจะใช้บล็อกนี้ในการเผยแพร่บทความและองค์ความรู้เกี่ยวกับประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน ของสถาบันระหว่างประเทศเพื่อการค้าและการพัฒนา (องค์การมหาชน) ที่ผมทำงานอยู่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท