๓๐๕.ตำนานสะพานขุนเดช-สะพานแห่งเกียรติยศ


 

๑.      จุดประเด็นที่น่าสนใจ

                “สะพานขุนเดช” เป็นอีกชื่อหนึ่งที่คนฟากกว๊านทั้งสองด้านใช้ข้ามติดต่อกันไปมา ทำให้เห็นถึงคุณประโยชน์ที่มีผลต่อทางด้านเศรษฐกิจสังคมอย่างยิ่งต่อการคมนาคมครั้งนี้  ประการที่สอง  เมื่อผู้คนข้ามสะพานไปมาจะสังเกตเห็นศาลพระภูมิตั้งไว้เพื่อให้ผู้คนที่ผ่านไปมากราบไหว้บูชาผู้คนแถบนั้นเรียก  “เจ้าพ่อขุนเดช”  คนผู้นี้ได้สร้างอะไรไว้ จึงทำให้ผู้คนจำนวนมากเรียกชื่อท่าน และให้ความเคารพท่านถึงปานนี้

๒.    ปัจจัยในการศึกษาค้นคว้า

๒.๑ ใช้วิธีศึกษาข้อมูลจากแหล่งต่าง ๆ ซึ่งโดยมากมักพบแต่ข้อความสั้น ๆ เช่น  เป็นชื่อสะพาน, ชื่อกำนันคนหนึ่งหรือ  เป็นชื่อผู้เคยบวชเรียน ณ วัดต๋อมใต้ เท่านั้น

๒.๒ ใช้วิธีสอบถาม

        ก. ผู้รู้

        ข. เครือญาติ

๒.๓ ใช้วิธีทางอ้อม  เช่น การเทียบเคียงจากการนิมิต หรือ สัมผัสที่หก[1]

๓. อัตตชีวประวัติ

                ขุนเดช นามสกุลเดชใจหาญ  เดิมชื่อ  หน้อยจันทร์ นามสกุลเดิมเดชใจ  เป็นบุตรพ่อท้าวจักร  แม่ใจ  เดชใจ  เกิดเมื่อวันอังคาร ที่  ๑๑ กันยายน  ๒๔๒๘ ปีจอ  มรณะ  ๒๔๙๖  ด้วยโรค “ไหลตาย”  การศึกษา ป.๔ ร.ร.วัดต๋อมใต้  บวชเป็นสามเณร วัดต๋อมใต้

                โดยมีพี่น้องร่วมสายโลหิต  ๘ คน

๑.      แม่เกี๋ยง  ๒.    หน้อยจี  ๓.     หน้อยจันทร์ (ขุนเดช)  ๔.     แม่มูล  ๕.     แม่ดา  ๖.      แม่ดี  ๗.     แม่แว่น  ๘.     แม่อ่อน

                และได้แต่งงานกับแม่ยวง มีบุตร  ๘ คน คือ

๑.      หน้อยสม  เดชใจ  (ผญ.บ้านร่องไผ่)  ๒.    แม่อุ้ยนวล  ทำดี  ๓.     แม่จันทร์ฟอง  ไชยพลี  ๔.     แม่คำ  เดชใจ  ๕.     แม่แก้ว  ในสุย  ๖.      แม่นา  ทวีเชื้อ  ๗.     แม่เป็ง  อินทนท์  ๘.     แม่เพชร  สิงห์แก้ว

                แต่งงานกับแม่เขียว  มีบุตร  ๕ คน คือ

๑.      แม่สมศรี  เดชใจ  ๒.    แม่นึก  เดชใจ  ๓.     พ่อสวัสดิ์  เดชใจ  ๔.     น.ส.ต่อน  เดชใจ  ๕.     น.ส.สมร  เดชใจ

 

๔.งานในหน้าที่

                ในรัชสมัยรัชกาลที่ ๕ ได้แต่งตั้งหน้อยจันทร์ เดชใจ เป็นกำนันตำบลต๋อม  ในนาม ขุนเดช  เดชใจหาญ  โดยมีชาวบ้านช่วยกันเฉลิมฉลองสมโภชอยู่ ๓ วัน ๓ คืน และมีการละเล่นต่าง ๆ มากมาย  แต่มีที่น่าสนใจมากนั้นก็คือ  ลิเกทำให้เป็นที่กล่าวขวัญถึงชาวบ้านในแถบนั้นอย่างมาก  เพราะถือว่าเป็นสุดยอดของมหรสพในสมัยนั้น เพราะนาน ๆ ทีจะมีสักครั้งหนึ่ง

                เมื่อเข้ารับตำแหน่งแล้วท่านให้ความดูแล ความสงบเรียบร้อยให้กับคนในท้องถิ่นอย่างดี  เช่น ในเวลาค่ำคืนท่านจะออกเดินตรวจไปตำบล  และในหมู่บ้านที่รับผิดชอบ  โดยมีผู้ช่วยติดตามไป ว่ามีเหตุการณ์อะไรไม่สงบขึ้นบ้าง  เช่น  การขโมยวัวควายเกิดขึ้นไหม  บางครั้งถึงกับไปไกล่เกลี่ยในเรื่องสามีภรรยาทะเลาะกัน หรือเกิดการชกต่อยกันระหว่างหนุ่มต่างบ้านกับคนในท้องถิ่นและที่น่าแปลกใจ  คือ ท่านใช้วิธีเดินตรวจ  ไม่ใช้พาหนะในการขับขี่  เช่น  รถจักรยาน  หรือม้า  อันนี้จะด้วยสาเหตุใดก็ตามนับว่าท่านได้ให้ความเอาใจใส่ต่อผู้อยู่ใต้การปกครองของท่านเป็นอย่างดียิ่ง

                จากคำบอกเล่าของ หลวงพ่อครูบาน้อย[2] ว่าในฤดูทำบุญ หรือเทศกาลงานบุญต่าง ๆ  ช่วงปอยหลวง  เช่น  มีการฉลองวิหาร ศาลาการเปรียญ  หรือแม้แต่เทศกาลวันสงกรานต์ปีใหม่ก็ดีท่านจะคุมงานเอง  ไม่ต้องใช้ตำรวจ  ทหาร  หรือตำรวจบ้านอย่างในปัจจุบันเมื่อเกิดเหตุการณ์วัยรุ่นต่อยกัน  ท่านจะใช้วิธีในการปราบปรามเด็ดขาด  และได้ผลเป็นที่ประจักษ์แก่ชนทั้งหลาย  ที่เด่นชัดมีอยู่ ๒ ประการ คือ

     ๑.      ให้ยุติเดี๋ยวนั้น  กล่าวคือ  ประการแรกท่านจะตะโกนสั่งให้ทั้งสองฝ่ายหยุดเอง  แต่ถ้าไม่ได้ผลขุนเดชจะลุยเองละทีนี้โดยท่านจะมีท่านไม้ในมือตลอดเวลาไปถึงที่เกิดเหตุการณ์ท่านจะไม่พูดรำทำเพลงอะไร  พอเห็นมีคนตลุมบอนกัน ท่านจะออกไปไล่ตีคนเหล่านั้นทันที  ไล่ตีแบบวัวควาย  แต่ที่น่าแปลกก็คือ ที่ไม่มีใครโต้ตอบสักคน  พอรู้ว่าขุนเดชมาต่างคนก็ต่างวิ่งหนีกระเจิดกระเจิงไปหมด  ต่างคนต่างเอาตัวรอดอาจเป็นเพราะบารมีที่ท่านใช้ก็ได้หรือการเอาจริงเอาจังของท่านนั้นเอง

     ๒.    ใช้วิธีตัดสินด้วยกำลัง  ท่านจะมี  “ข่วงลูกกุย”[3] เมื่อถามลูก ๆ ท่านบอกว่า ไม่มีเพราะไม่ได้ยินเรื่องเหล่านี้  แต่พอถามคนอีกฟากกว๊านหนึ่ง  คือ  บริเวณบ้านต๋อมจะรู้ดีว่ามีจริงเคยถามหลวงพ่อครูบาน้อย  ท่านว่าน่าจะอยู่บริเวณทุ่งนาแถว ๆ หน้าวัดนี้แหละ !

                กล่าวคือ  เมื่อคู่กรณีตกลงกันไม่ได้ต่างคนต่างไม่ยอมกันท่านจะเรียกทั้งคู่มาต่อยกัน  ให้รู้แพ้รู้ชนะกันไปเลย  บางรายชกกันจนยอมแพ้ไปข้างหนึ่งก็มี  หรือยอมกันทั้งสองฝ่ายก็มี  บางครั้งเวลาค่ำเสียก่อน  ก็นัดกันมาชกกันในวันต่อมาเอากันชนิดที่ว่าใครดีใครอยู่ก็มี  แต่ทุกรายเมื่อลง  “ข่วงลูกกุย”  แล้วจะยอมอ่อนข้อให้แก่กันและกัน  ซึ่งเป็นวิธีการที่ทำให้คู่กรณีกลับมารักกัน  เหมือนเดิมอย่างได้ผลดีมาก

                มีเรื่องเล่าว่า  เมื่อท่านแต่งงานกับแม่ยวงภรรยาคนแรกท่านได้ย้ายจากบ้านสันต้นผึ้งไปอยู่บ้านร่องห้า  เวลานอนกลางคืน  ท่านจะไม่เหมือนใครคือจะทำแคร่นอนไว้หน้าบ้านริมรั้ว

                เมื่อวัยรุ่นเอ๊ะอะโวยวายมา หรือเมามา  ท่านจะถือหางปลากระเบนไล่ตีเพราะฉะนั้นกิตติศัพท์อันนี้จึงทำให้วัยรุ่น  หรือผู้คนในสมัยนั้นเวลาจะเมาแล้วโวยวาย  หรือตะโกนด่าคนนั้นคนนี้พอมาถึงสะพานขุนเดช  ซึ่งติด ๆ  กับบ้านท่านจะหยุดแล้วค่อย ๆ  ย่องเดินผ่านไปโดยดี  เพราะเกรงกลัวต่อท่าน  ถ้าเป็นสมัยนี้ก็คือการตั้งด่านสกัดหรือเป็นเสมือนจุดตรวจ นั่นเอง

                อย่าว่าแต่มนุษย์เลย  แม้แต่สุนัขที่ว่าดุหรือว่าแน่ๆ  ครูบาน้อยบอกว่าเคยเห็นท่านยื่นเท้าให้สุนัขตัวดุ ๆ ที่ชอบกัดชาวบ้านเพื่อให้สุนัขตัวนั้นกัดเพื่อทดลองวิชาอาคมของท่าน  ก็ปรากฏว่าไม่มีตัวไหนกล้ากัดท่าน  จะด้วยเหตุผลกลใดก็ตาม นับได้ว่าท่านแน่มากในเรื่องใจกล้าใจถึง

                อีกกรณีหนึ่ง  คือ  เอาแขนให้งูกัด งูก็ไม่กัด  มีคนว่าท่านเล่นคาถาเพราะเคยมีคนที่ถูกงูกัดไปแล้วให้ท่านรักษา โดยการเป่า  การเสก  ท่านไม่เคยใช้ยาสมุนไพร แต่ใช้เวทมนต์มีคนเล่าว่า  ถ้าท่านเห็นรอยงูเลื้อยผ่านถนน  หรือทางเดิน  ท่านจะไม่ข้ามไปเลยทีเดียว  ท่านจะใช้วิธีลบก่อนแล้วจึงข้ามไป  เป็นการถือเคล็ดเพื่อให้มีผลต่อคาถาของท่านหรืออย่างไรก็ไม่ทราบ

                เรื่องที่ทำให้ท่านเป็นที่รู้จักกันโดยทั่วไป คือ การเป็นนักพัฒนาท้องถิ่นโดยการนำชาวบ้านพัฒนา หรือสร้างสาธารณูปการมากมาย  แต่ที่เด่นชัดและเป็นตำนานมาจนถึงทุกวันนี้ก็คือการที่ท่านนำชาวบ้านสร้างสะพาน  ข้ามน้ำอิง  ซึ่งในการดังกล่าวนี้ท่านไม่ได้สร้างเอง  หรือลงทุนเองซึ่งเรื่องการสร้างสะพานนี้เรารู้มาจากคำบอกเล่าของตัวท่านเอง  และลูกหลานบอกเล่า

                แต่สะพานที่ปรากฏก็ได้นามว่า ขุนเดช  อยู่ดี  หลวงพ่อครูบาน้อย  วัดต๋อมใต้  อายุ  ๘๘ ปี (คำนวณปี ๒๕๔๖) ท่านเล่าว่าตอนที่ท่านอายุได้สัก  ๑๘ ปี เขาเริ่มสร้างสะพาน ก็ประมาณปี พ.ศ. ๒๔๗๕

                สะพานที่แรกจะมี  ๓ จุดด้วยกัน  คือ ขัวก้อม, ขัวกลางและขัวแม่อิง เราจะเห็นว่าในยุคนั้นเรียกสะพานขุนเดชว่าสะพานแม่อิง  คือ สร้างเพื่อข้ามน้ำอิง[4] ปัจจุบัน ขัวก้อม  หรือสะพานสั้นยังคงเหลืออยู่  คู่กับสะพานขุนเดช  แต่ขัวกลางนั้นถมเป็นถนนไปเสียแล้ว

                อย่างไรก็ตามสะพานแม่อิง  ก็ถูกเรียกว่าสะพานขุนเดชตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันนี้

                จากคำบอกเล่าของ  แม่จันทร์ฟอง ใชยพลี  ลูกสาวคนที่ ๓ ของท่านวัย  ๘๖ ปี (ณ พ.ศ. ๒๕๔๖) เล่าว่าสะพานเดิมเป็นไม้ไผ่ ที่ทำเป็นไม้สะลาบนำมาสวนเข้าด้วยกัน  เขาเรียกว่า “ขัวแต๊ะ”  ใช้เดินข้ามเองต่อมาในยุคกำนันศรี  ทำดี  หลานขุนเดชลูกแม่อุ้ยนวล  ซึ่งเป็นลูกสาวคนที่ ๒ ของท่านเป็นคนสร้าง  เป็นสะพานไม้ และต่อมาทางราชการจึงเทคอนกรีตเสริมเหล็กจนใช้การมาถึงปัจจุบัน

                เราจะเห็นว่าสะพานขุนเดช  มีการวิวัฒนาการมาถึง ๓ รุ่น คือ ขุนเดชตายไปแล้ว ๕๑ ปี (คำนวณ พ.ศ. ๒๕๔๗) จากขัวแต๊ะสานด้วยไม้ไผ่  มาเป็นสะพานไม้ที่แข็งแรง  และมาเป็นสะพานคอนกรีตเสริมเหล็กที่คงทนถาวร  ในปัจจุบันนี้

                ปัจจุบันมีศาลเจ้าพ่อขุนเดช  ที่หัวสะพาน เป็นที่เคารพสักการะบูชาให้เกียรติกับท่านที่เป็นคนริเริ่มทำสะพานขึ้นมาจนเป็นผลสำเร็จได้ใช้จนชั่วลูกหลาน  และต่อมาปู่หลน (คุณชาญณรงค์  พูนวิริยาภรณ์) ได้มอบเงินให้ลูก ๆ หลาน ๆ ขุนเดชจำนวน  ๑๐,๐๐๐ บาท เพื่อสร้างอนุสรณ์ให้กับท่าน  เพื่อประกาศคุณงามความดีของท่านต่อไป

                เป็นที่น่าสังเกต คือ ในการสำรวจข้อมูลครั้งนี้  ได้ใช้คนเข้าทรงช่วยในเรื่องความถูกต้องการเรียงลำดับลูกคนที่เท่าไหร่ก็ทำให้เราได้มุมมองที่ต่างไปอีกอย่างหนึ่ง  เป็นการประยุกต์ความรู้ทั้งประวัติศาสตร์  ตำนานคำบอกเล่า  พุทธศาสตร์ และไสยศาสตร์ ที่ลงตัวอย่างน่าประหลาดใจอย่างยิ่ง

 

        สนับสนุนการเก็บข้อมูล



[1] ม้าทรงของขุนเดช  ชื่อนางไร  บ้านร่องห้า  ต.ต๋อม อ.เมือง จ.พะเยา

[2] ครูบาน้อย  ธมฺมชโย  อดีตเจ้าอาวาสวัดต๋อมใต้

[3] ภาษาพื้นเมืองเหนือ  คือ  สนามชกมวย

[4] เป็นภาษาพื้นเมืองเหนือ ขัวก้อม  คือสะพานสั้น,ขัวกลาง คือ สะพานขนาดกลาง,ขัวแม่อิง คือสะพานข้ามแม่น้ำอิง  หมายความว่า  ในการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำอิงนั้นได้สร้างสะพาน ๓ จุด  คือสะพานขนาดสั้น – ขนาดกลาง – ขนาดยาว เชื่อมต่อกันไปหลายสิบเมตร

 

หมายเลขบันทึก: 484955เขียนเมื่อ 12 เมษายน 2012 10:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 24 กรกฎาคม 2012 09:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

เป็นคนดีของสังคมที่ควรยกย่อง

เจริญพรคุณมอมแม อุปสรรค์สร้างคน การดำรงตนสร้างคุณค่า การแสวงหาสร้างประสบการณ์ แต่สะพาน ......ขุนเดชสร้าง


สุดยอดมากครับท่าน

ท่านพระอาจารย์ค่ะ ดิฉันเป็นนิสิตของม พะเยา ดิฉัน จะทำสารคดีของสะพานขุนเดช ดิฉันควรนำเสนอแนวไหนดีค่ะ ดิฉันอยากจะโฟกัสในตัวขุนเดช ควรจะนำเสนอแบบไหนให้น่าสนใจดีค่ะ

ขัวก้อม ขัวกลาง อยู่ตรงไหนค่ะ แล้วใครเป็นคนสร้าง

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท