อ่านข่าวเมื่อเช้า หลังจากหยุดยาวสี่วัน ก็ให้งงกับเรื่องยอดนิยมที่มีผู้กล่าวถึงเป็นจำนวนมาก แต่ผู้เขียนกลับไม่รู้ว่าเขากำลังพูดถึงอะไร สงสัยหยุดยาวไปหลายวัน เลยตามเรื่องไม่ทัน ก็เลยคลิกข่าวเข้าไปดูเพื่อให้รู้ว่าทำไมใครต่อใครจึงพูดถึง "เรื่องนี้ถึงครู....แน่"
พอเข้าไปอ่านก็ทำให้ยิ่งงงหนัก ว่าเหตุใดจึงมีผู้กล่าวถึงเรื่องนี้มากมาย ทั้งๆ ที่ดูแล้วไม่น่าจะมีอะไรเลย เป็นเรื่องของเด็กๆ ที่มีเรื่องกันเล็กๆ น้อยๆ และจะไปฟ้องครูก็เท่านั้น
เห็นว่ามีการสร้างเพจ สร้างเวบ ทำเป็นตัวปลอมของเด็กๆ ของครู ขึ้นมาเล่น ล้อเลียนกันเป็นที่สนุกสนาน(ของตัวปลอม)
มาพิจารณาไล่เรียงดู ก็เลยได้ข้อสรุปว่า การปั่นกระแส ประเด็นอะไรสักอย่าง ที่ทำได้ง่ายมากในยุคปัจจุบัน (สงสัยผู้เขียนไม่ได้เรียน marketing มา เลยไม่เคยรู้เทคนิค) มีผู้คนเข้าชม เข้าฟัง และ in เป็นไปกับเหตุการณ์จำนวนมาก ทั้งสนุกๆ และเอาจริงเอาจัง
ทำให้ฉุกคิดขึ้นมาได้ทันทีว่าที่คนไทยทะเลาะกัน มีเรื่องมีราวแบ่งกลุ่มแบ่งก้อนกันอยู่ทุกวันนี้ สิ่งที่ทำให้เรื่องที่ไม่เป็นเรื่องกลายเป็นเรื่องใหญ่ ถึงขั้นเข่นฆ่ากันได้ เห็นจะเป็นทำนองเดียวกับเรื่องครูกับเด็กนี้ นั่นคือ ไม่มีเหตุจริง แต่เป็นการสร้างเรื่อง โฆษณาชวนเชื่อทั้งนั้น
คนเรามีลักษณะที่ชักจูงได้ง่าย (หลายคนอาจบอกว่าไม่จริง) แต่สิ่งที่เราได้ยินหรือเห็นนั้น ฝังอยู่ในจิตสำนึกของเรา ไม่มากก็น้อย เมื่อฟังซ้ำๆ เห็นภาพซ้ำๆ ในมุมเดียวกันบ่อยๆ นานเข้าๆ ก็เปลี่ยนความคิดกันได้แบบคนถูกเปลี่ยนไม่รู้ตัวด้วยซ้ำ
แท้จริงแล้ว สิ่งที่ได้เห็น ได้อ่าน ได้ยิน ได้ฟังทุกวันนี้ ไม่ใช่เรื่องจริง แต่เป็นสมมติเกือบทั้งสิ้น ยิ่งในโลกออนไลน์ยิ่งสมมติหนักขึ้นไปอีก
เรียกได้ว่าเป็นสมมติซ้อนสมมติกันทีเดียว
หากมองไม่ใช้ปัญญาพิจารณาให้ดี ก็อาจจะทำให้เชื่อไปได้ว่าสมมตินั้นเป็นเรื่องจริง และเรื่องราวบางอย่างก็อาจจะบานปลายใหญ่โตเพราะความเชื่อที่เกิดจากสมมติต่างๆ และการปั่นประเด็นนี่แหละ
ลองพิจารณาดูกันให้ดี ว่าอะไรจริง อะไรสมมติ
ลองพิจารณาให้ดี ว่าความคิดของเราในวันนี้ กับเมื่อวานนี้เหมือนกันไหม
ลองพิจารณาดูให้ดี ว่าเรื่องที่เราเคยรู้สึกมาก เดี๋ยวนี้ยังรู้สึกเหมือนเดิมไหม
แล้วจะเห็นได้ว่า ไม่มีอะไรยั่งยืน เป็นอนิจจังทั้งสิ้น
แล้วจะปล่อยให้สมมติทั้งหลาย ทำให้เราทุกข์ สุข อยู่หรือ
ลองพิจารณาดูให้ดี เจริญสติ สร้างปัญญา แล้วจะเห็นว่าอะไรเป็นสมมติ อะไรเป็นปรมัตถ์
ไม่มีความเห็น