ทำไมนวดช่วยให้สบาย-หายเมื่อยเร็ว


เว็บไซต์อาจารย์หมอเมียคินตีพิมพ์เรื่อง How massage after a workout helps you heal faster from intense exercise and may even help prevent heart attacks and cancers = การนวด (massage) หลังฝึกหนัก (workout) ช่วยฟื้นตัว (หายเมื่อย หายปวด) เร็วขึ้นอย่างไร, และอาจช่วยป้องกันโรคหัวใจและมะเร็ง, ผู้เขียนขอนำมาเล่าสู่กันฟังครับ
.
.
ร่างกายคนเรามีโรงสร้างพลังงาน หรือโรงไฟฟ้าขนาดจิ๋วในเซลล์เกือบทุกชนิดในร่างกาย เรียกว่า "ไมโทคอนเดรีย (mitochondria)"
.
ไมโทคอนเดรียช่วยเผาผลาญสารอาหารกลุ่มให้กำลังงานได้แก่ คาร์โบไฮเดรต (ข้าว แป้ง น้ำตาล), ไขมัน และโปรตีน (เนื้อ ถั่ว นม ไข่ เต้าหู้ โปรตีนเกษตร งา ฯลฯ) ซึ่งจะผ่านกระบวนการต่ออีกหลายขั้นตอน ได้เป็นน้ำ, คาร์บอนไดออกไซด์ (ขับออกทางปอด), และกำลังงาน
.
ข่าวร้ายนิดหน่อย คือ ไมโทคอนเดรียหรือโรงสร้างพลังงานขนาดจิ๋วจะลดลงตามอายุ (อายุมากขึ้น เสื่อมมากขึ้น ทั้งจำนวน และขนาดไมโทคอนเดรีย) ทำให้คนสูงอายุเหนื่อยง่าย เพลียง่าย มีแรงน้อยลง
.
ถ้าเซลล์ที่มีไมโทคอนเดรียลดลงมากจนถึงระดับหนึ่ง ไม่ว่าจะมีจำนวนน้อยลง หรือขนาดเล็กลง จะสร้างพลังงานได้ไม่พอใช้ (คล้ายเมืองที่ไฟตก ไฟดับบ่อย) 
.
เซลล์ที่ขนาดพลังงานจะอ่อนแอลง ป่วยง่ายขึ้น เช่น ถ้าเซลล์หัวใจขาดไมโทคอนเดรีย จะเสี่ยงหัวใจวาย ฯลฯ หรือถูกมะเร็งโจมตีได้ง่ายขึ้น
.
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยแมคมาสเทอร์ ฮามิลทัน ทำการศึกษากลุ่มตัวอย่างผู้ชาย 11 คน, ให้ถีบจักรยานออกกำลังอยู่กับที่จนหมดแรง สุ่มทำการนวดแบบลึก (deep massage) ที่ขาข้างหนึ่ง (ขาอีกข้างหนึ่งไม่นวด) หลังออกกำลัง 10 นาที และ 2.5 ชั่วโมง
 
การศึกษานี้ทำโดยการตัดชิ้นเนื้อขนาดจิ๋ว (biopsy - น่าจะเป็นการใช้เข็มตัดชิ้นเนื้อ) กล้ามเนื้อขาท่อนบน (quadriceps) ก่อนและหลังการทดลอง
.
ผลการศึกษาพบว่า ขาข้างที่ได้รับการนวดแบบลึกมีระดับสารก่อการอักเสบ (cytokines) น้อยกว่า, แสดงว่า ซ่อมแซมส่วนบาดเจ็บได้เร็วขึ้น, ไมโทคอนเดรียมีขนาดใหญ่ขึ้น และมีจำนวนมากขึ้น (เมื่อเทียบกับขาข้างที่ไม่ได้รับการนวดแบบลึก) 
.
การออกแรง-ออกกำลังอย่างหนักจนหมดแรง ทำให้เส้นใยกล้ามเนื้อส่วนน้อยเกิดการบาดเจ็บ หรือฉีกขาด
.
ระบบภูมิต้านทานจะสร้างสารก่อการอักเสบ (cytokines) ทำให้เลือดไปเลี้ยงส่วนที่บาดเจ็บ เกิดการอักเสบ นำของเสีย และส่วนสึกหรอออก, สร้างเสริมใยกล้ามเนื้อใหม่ให้แข็งแรงมากขึ้น
.
การฝึกหนักทำให้กล้ามเนื้อแข็งแรงขึ้น ทว่า... มีขีดจำกัดที่สำคัญ คือ ทำให้เกิดอาการเจ็บปวด เมื่อยล้า ซึ่งทำให้การฝึกครั้งต่อไปทำได้น้อยลง หรือช้าลง
.
การศึกษานี้พบว่า การนวดน่าจะช่วยให้กล้ามเนื้อสร้างพลังงานได้มากขึ้น (ผ่านไมโทคอนเดรีย) ทำให้การบาดเจ็บหายเร็วขึ้น สร้างเสริมใยกล้ามเนื้อใหม่ที่แข็งแรงได้มากกว่าเดิม
.
การศึกษาก่อนหน้านี้พบว่า นักกีฬาประเภทใช้ความอดทน หรือแข่งนาน-แข่งไกล เช่น วิ่ง จักรยาน ฯลฯ ที่ฝึกหนักอย่างถูกวิธีมีระดับไมโทคอนเดรีย หรือโรงสร้างพลังงานขนาดจิ๋วในเซลล์เพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าได้ภายใน 4-6 เดือน
.
การใช้ยากดการอักเสบ (NSAIDs) เช่น ไอบูโพรเฟน (ibuprofen), ไดโคลฟีแนค (diclofenac) ฯลฯ อาจทำให้การซ่อมแซม-เสริมสร้างใยกล้ามเนื้อที่บาดเจ็บช้าลงได้
.
ถึงตรงนี้... ขอให้ท่านผู้อ่านมีสุขภาพดีไปนานๆ ครับ
.

> [ Twitter ]

  • Thank Dr.Mirkin's ezine source > Science Translational Medicine, published online Feb, 2012.
  • นพ.วัลลภ พรเรืองวงศ์ รพ.ห้างฉัตร ลำปาง. 14 มีค.55. ยินดีให้ท่านนำบทความไปใช้ได้ โดยอ้างที่มา และไม่ใช้เพื่อการค้า > CC: BY-NC-ND.
  • ข้อมูลทั้งหมดเป็นไปเพื่อการส่งเสริมสุขภาพ ไม่ใช่วินิจฉัยหรือรักษาโรค; ท่านที่มีโรคประจำตัวหรือความเสี่ยงต่อโรคสูงจำเป็นต้องปรึกษาหมอที่ดูแลท่านก่อนนำข้อมูลไปใช้.
หมายเลขบันทึก: 484712เขียนเมื่อ 9 เมษายน 2012 17:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 มิถุนายน 2012 19:37 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ชอบที่อาจารย์เปรียบเทียบ mitochondria เป็นโรงงานไฟฟ้าจิ๋วในเซลล์ค่ะ เห็นภาพชัดเจนเข้าใจง่าย ..เท่าที่อ่าน การออกกำลังกายทีี่ฝึกกล้าเนื้อหนัก ช่วยให้กล้าเนื้อปรับตัวมี mitochondria เพิ่มขึ้น และการนวดแบบลึก ช่วยให้ mitochondria มีปริมาณมากขึ้นและใหญ่ขึ้น เมื่อเทียบกับขาข้างที่ไม่นวด

การนวดน่าจะช่วยกระตุ้นการไหลเวียนเลือด เอาของเสียในกล้ามเนื้อออก แต่ยังไม่ค่อยเข้าใจนักว่านวดแล้ว กระตุ้นการสร้างเพิ่ม mitochondria ในเซลล์ ด้วยกระบวนการใดค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท