ครอบครัวมีจริงไหม ?


ความหมายของคำว่าครอบครัว ที่ทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะนิสัย เป็นสถาบันแรกที่เลี้ยงดูกล่อมเกลาสมาชิกออกสู่สังคม ยังจะมี “ครอบครัว” อยู่.....จริงหรือไม่

 

หนึ่งช่วงอายุที่จะเปลี่ยนผ่าน  Generation   ประมาณ  ๒๐  ปี   ครอบครัวทำหน้าที่ผลิตซ้ำให้สังคม  คือ  เลี้ยงดูกล่อมเกลาให้เป็นสมาชิกสังคมที่ดี  มาถึงวันนี้  คำพูดที่ได้ยินบ่อยเมื่ออยู่ที่คลินิกทันตกรรมของโรงพยาบาล  คือ ยายเป็นคนเลี้ยง  เช้าไปส่งให้ยาย  พอเลิกงานกลับมาค่อยมารับ  ถึงบ้านกินข้าวแล้วก็หลับไปเลย  หรือยายเลี้ยงเองตลอด  นาน ๆ แม่เขากลับมาจากกรุงเทพ  สั่งให้พามาหาหมอ  เห็นฟันผุดำ ๆ   หรือปวดฟันมา ๒ – ๓  วันแล้ว  เวลาเศษอาหารติด  หรือเมื่อคืนนี้ปวดฟันจนนอนไม่หลับ  แม่ก็พลอยไม่ได้นอนไปด้วย

 

เห็นด้วยกับเจ้านายคนที่สองของชีวิตรับราชการ  ท่านบอกว่า  หมอฟันน่ะโชคดี  เป็นสาขาอาชีพที่คนมาใช้บริการมักจะเป็นกลุ่มที่ฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างดีแล้ว  ผ่านมาสิบกว่าปี  ไม่ต้องถามหาหลักฐานเชิงประจักษ์  จริงเสียยิ่งกว่าจริง  อำเภอเล็ก ๆ อย่างสระใคร  รู้จักกันทั่วหมด  กลุ่ม Cream ของอำเภอที่สามารถไปจัดฟันที่คลินิกในเมืองหนองคายหรืออุดรธานีได้  กลุ่มนั้นไม่ต้องไปยุ่ง  รัฐไม่ต้องไปทำอะไรเลย  เขาดูแลตัวเองได้    ส่วนกลุ่มชาวตลาด  กลุ่มผู้นำของแต่ละชุมชน  เป็นกลุ่มแรก ๆ  ที่มาใช้บริการโรงพยาบาล  เป๊ะ...ตามข้อสังเกตของท่านนายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดหนองคาย

 

ท้าทายมาก !?!?!?!?!  ฝันจะเป็นจริงภายใน  Generation นี้หรือไม่  จะรอให้สังคมไทยมีการพัฒนาสถานะทางเศรษฐกิจและสังคมดีก่อน  แล้วจึงจะหันมาสนใจเรื่องสุขภาพอนามัย  สุขภาพช่องปากของตัวเอง  ด้วยได้รับการศึกษา  การเรียนรู้ที่เป็นความหวังของชาติได้   ซึ่ง....ไม่รู้เมื่อไหร่ (ขอโทษนะคะ  มองโลกแง่ร้าย ณ จุดนี้) 

 

หรือจะค่อย ๆ ออกแบบวิธีการทำงานไป  ภายใต้เงื่อนไขสถานะทางเศรษฐกิจขาด ๆ วิ่น ๆ  การศึกษากะพร่องกะแพร่ง  สังคมพ่อไปทางแม่ไปทาง  ลูกหลานอยู่กับตายาย  หรือคนรุ่นเก่าที่เชื่อว่าลูกหลานรู้ดีกว่าตัวเอง  เพราะทันสมัยใช้เทคโนโลยีเก่งกว่ารุ่นพ่อแม่ตายาย  จนไม่กล้าแม้แต่จะสอนลูกหลาน  แล้วความหมายของคำว่าครอบครัว  ที่ทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะนิสัย  เป็นสถาบันแรกที่เลี้ยงดูกล่อมเกลาสมาชิกออกสู่สังคม  ยังจะมี “ครอบครัว” อยู่.....จริงหรือไม่

 

อย่างนี้  เราจึงต้องสวมหัวใจนักเรียนรู้ตลอดชีวิต  ตามประสาลูกครู  ลูกศิษย์ครู  เพื่อนครู  ผู้นำทางความคิดของเรา  ที่เชื่อว่าการเรียนรู้เกิดได้กับทุกคน  ทุกที่  หากสามารถเปิดหัวใจให้สนุก  เห็นคุณค่าของการเรียนรู้  เพื่อพัฒนาชีวิตตัวเอง  ที่สำคัญ .....ความรัก  เป็นสิ่งสวยงาม  เป็นนามธรรมที่มีส่วนดี  ที่แม่พ่อตายายผู้เลี้ยงดู  ยังมีให้ลูกหลานเต็มเปี่ยม

 

ความรู้จากแม่ตั้งแต่ช่วงฝากครรภ์  จะคงหลงเหลือ   นอกจากความรักแล้ว  แรงบันดาลใจใฝ่ฝันอันใด  ที่แม่หรือคนเลี้ยงดูลูกหลานจะคงความต่อเนื่อง  ฝ่าฟันเสียงร้องไห้  ใจแข็งคงมั่นที่จะแปรงฟันให้ลูกหลานทุกเช้าค่ำ  โดยเฉพาะก่อนนอน  เอาใจใส่ปลูกฝัง  บ่มเพาะนิสัยการกินที่เหมาะสม  บ่มเพาะนิสัยอันดีที่จะคงอยู่กับลูกหลาน  เหมือนแก่นกลางวงปีของตนไม้เมื่อเติบใหญ่

 

  • วันอังคารที่  ๒๗  มีนาคม  ๒๕๕๕  หมดเวลางานปกติที่โรงพยาบาล  ไปบ้านโพนหวาย   ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน   ประธานอาสาสมัครสาธารณสุข (อสม.)  เคยมาร่วมเสวนา (“โสเหล่”)  เครือข่ายชุมชนลูกหลานฟันดี  ๒  ปี ก่อน  แล้วส่งแม่มาแข่งขันแปรงฟันให้ลูกปีที่แล้ว  แต่ไม่มีตัวแทนแม่มาแข่งขันเล่านิทานให้ลูกฟัง

  • ปีนี้น่าตื่นตาตื่นใจมาก  คุณโก้  คุณหนิง  คุณน้อง  ศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลสระใคร (PCU)  นัดกลุ่มกรรมการหมู่บ้าน  ผู้ทรงคุณวุฒิ  อสม.  ที่บ้านผู้ใหญ่บ้าน  กลุ่มผู้ปกครองเด็ก ๑ - ๓ ปี ส่วนใหญ่เป็นแม่  มามากกว่ากลุ่มที่เรานัดด้วยแหละ   มีทั้งอุ้มนอนหลับมาแบบยังไม่มีฟัน  และ  ๔ - ๕  ขวบ  ตามน้องมาก็มี

  • ป้ายไวนิลสรุปเสวนา  ๒  ปีที่แล้ว  บันได  ๕  ขั้น  เพื่อบรรลุเด็กฟันดี  สุขภาพดี  ตามภาพฝันที่กลุ่มผู้นำ  ๒๗  หมู่บ้านของอำเภอสระใครที่ส่งใบสมัครร่วมโครงการ  ร่วมคิด   ยังใช้ได้   มีรูปประธาน อสม.และผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านด้วย  จึงเชิญให้เล่าว่า.......ไปเป็นตัวแทนประชุม  ระดมความคิด  แบ่งกิจกรรมเป็นบันได  ๕  ขั้น  ที่จะบรรลุขั้นสุดท้าย   บ้านโพนหวายอยู่ที่ประมาณขั้น ๓

  • แล้วจริง ๆ พ่อแม่พี่น้องที่มาวันนี้  อยากให้ลูกหลานเติบโตเป็นอย่างไร  ประทับใจคุณตามาก  "ฉลาดเฉลียว  สมองใส"  แม่ทั้งหลาย  บ้านนี้มีพ่อมาด้วย  (เป็น ส.อบต.ด้วย....คนไข้เราเองแหละ  หลายคนก็คนไข้...จำหน้าได้)  ช่วย ๆ กันทั้งพูดทั้งเขียนใส่บัตรคำ  อย่างคึกคัก  "ฟันสวย  ยิ้มสวย  จะได้ไม่ต้องอาย  ฟันแข็งแรง  ไม่ผุ  ไม่ปวด  สุขภาพดี  ไม่เจ็บป่วยฯ"

  • จะทำอย่างไร  โฮ...ประทับใจแม่จ๋าสุด ๆ  ฟันลูกสาวก็สวย  แล้วยังเขียนได้เหมือนกับข้อปฏิบัติที่หมอทั้งหลายวาดฝัน  (ของหมอ)  จนต้องถามว่าได้ความรู้มาจากไหน  น่าชื่นใจเป็นที่สุด....แม่จ๋าตอบว่า  ก็ตามที่หมอบอกเวลาไปฉีดวัคซีน  นั่นแน่น้องนก  น้องอิงยิ้มหน้าบานเชียว  แล้วหมอก็ทยอยอ่านที่แม่ ๆ ช่วยกันเขียนตอบมา

  • สรุปว่า  คุณตาเห็นไหมคะ  ตอนแรกตาบอกให้หมอสอน  หมอก็ไม่ยอมสอน  แต่จากที่พวกเรากันเองเสนอมา  ได้ความรู้มากกว่าอีก  เพราะเป็นสิ่งที่แม่ ๆ  และ อสม.ทำให้ลูกให้หลานอยู่แล้ว

  • ทยอยไล่แต่ละกิจกรรม  ในบันไดขั้น ๓  หมอออกมาหาที่หมู่บ้าน  ตรวจฟันให้เด็ก  อสม.ช่วยกันตรวจและลงบันทึก  กิจกรรมที่ผู้ปกครองทำเอง  คือ  การทำให้เด็กกินผัก  ผลไม้  การแปรงฟัน  อ่ะ...หมอก็ได้โอกาสสาธิตแปรงฟันให้ลูกหลาน  เจอน้องโบ้ท  น้องบ้าท  ฝาแฝดคู่เก่ง...ให้คุณแม่เป็นนางแบบ  คุณลูกเป็นนายแบบ  ชมว่าเก่ง  ยิ้มแฉ่งหน้าบาน   คุณไพรวัลย์ประธาน อสม.แซวว่า  ได้กินลูกยอจากหมอ

  • ให้คุณแม่บอกเคล็ดลับแก่คนอื่น  ตอนแรก ๆ ก็ร้อง  ไม่ค่อยยอม  แต่ก็ยังแปรงต่อไป  ก็เลยให้เป็นที่ปรึกษาให้คุณแม่อีกคน   เพราะดูท่าจะเกรงใจลูกสาว (๑๘  เดือน) ไม่ค่อยกล้าแปรงฟันให้ลูก  ดูท่าเหมือนกลัวลูกเจ็บ  พอเราแปรงให้ก็ร้อง  แปรงเสร็จก็หยุดร้องแบบน้ำตาสะเด็ดด้วย   เสียงร้องหยุดสนิทเลย   สนับสนุนให้กำลังใจ.....คุณแม่ไม่ต้องกังวลมากนะคะ  แป็บเดียวน้องก็ลืม  ยิ้มได้แล้ว

  • ทีมห้องฟัน  ๕  คน  กระจายตาม อสม.ที่รับผิดชอบแต่ละคุ้ม    ทั้งพา อสม.ตรวจฟันให้เด็ก  ลงบันทึก  ในกระดาษ   สภาพฟันลูกหลาน  ผู้ที่แปรงฟันให้  โดยเฉพาะก่อนนอน  การกินนมขวด  กินขนมหวาน

  • นัดหมาย  เก็บตกตรวจฟันเด็ก  ๑ – ๓  ปี  ที่ไม่มาวันนี้  นำผลไปด้วยเมื่อไปประชุม อสม. เดือนเมษายนที่โรงพยาบาล  เราจะช่วยกันวิเคราะห์จำนวนเด็กฟันดี  ฟันผุ  แนวโน้มจะเป็นอย่างไร

  • ฝึกแม่แปรงฟันให้ลูก  ให้กำลังใจ  ยิ้มชอบใจบ้าง  ร้องไห้บ้าง  แต่ถือว่าภาพรวมวันนี้สนุกสนานมาก  ทีมแกนนำชุมชนเตรียมการดีมาก ๆ   ผู้ทรงคุณวุฒิของหมู่บ้านให้กำลังใจแม่ ๆ  ยาย ๆ  และอสม. ดีมาก

  • ช่วงท้าย...เหมือนบ้านสระใครใต้  คุณโก้เกริ่นนิดหนึ่ง  ประโยชน์ของการเล่านิทานให้ลูกหลานฟัง  ส่งเสริมความฉลาดของสมอง  ฉลาดทางอารมณ์   สดชื่น  แจ่มใส  อารมณ์ดี  เด็กจะเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ รอบตัวได้ดีกว่าเด็กที่เอาแต่ร้องไห้  หงุดหงิดงอแง

  • วันก่อนน้องนกเล่า  วันนี้น้องอ้อยเล่าแบบ  ๒  ภาษา  น้องอ้อยบอกว่าเหมือนที่เล่าอยู่บ้าน  เราก็นึกว่าไทย-อังกฤษ  ที่แท้ก็ไทย-ลาว  แหม......มีมุกด้วย

  • โฮ....สนุกจริง  สนุกจัง  มีความสุขมาก  ปากแห้งคอแห้ง  กินน้ำเย็นหมดกันคนละแก้ว  ๒  แก้ว  ดีใจที่หมอหยินชอบด้วย    ทั้งทางแดงลูกรังตกหลุมตกบ่อ    ชมนกชมไม้วัวควาย  โคกป่าหัวไร่ปลายนา  ชมบ้านเรือนปูนไม้ฝีมือชาวบ้านลูกทุ่ง  ก็ยังชอบ

  • ต้องติดตามต่อ  หมู่บ้านอื่น ๆ  กลุ่มผู้นำจะเป็นอย่างไร  ความคิดเห็นของแม่พ่อผู้เลี้ยงดูเด็ก  บ้านไกลกว่านี้  ตกหลุมลึกกว่านี้....จะเป็นอย่างไร

หมายเลขบันทึก: 484603เขียนเมื่อ 8 เมษายน 2012 18:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 21:07 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (18)

ฝึกแม่แปรงฟันให้ลูก .. ฟังที่คุณหมอกล่าวนำมา มากกว่าสุขภาพช่องปาก แต่ยังสร้างสัมพันธ์ในครอบครัวด้วย

ชื่นชมกิจกรรมสร้างสรรค์เพื่อสังคมค่ะ เริ่มจากสายสัมพันธ์ในครอบครัวจริงๆ วิทยากรได้ใจผู้เข้าร่วมกิจกรรมไปเต็มๆ

ขอบคุณค่ะ

ใช่ค่ะอาจารย์หมอ ป.  ฝึกแม่แปรงฟันให้ลูกเป็นทักษะที่ต้องการความต่อเนื่อง  ต้องการกำลังใจที่เข้มแข็ง  การสนับสนุน  แบบอย่าง  สภาพแวดล้อมที่เหมาะสม  ความร่วมมือร่วมใจของสมาชิกในครอบครัว 

เป็นกระบวนการกล่อมเกลาที่ต้องใช้เวลา  ทัศนคติ  มุมมองของพ่อแม่  การสร้างความสัมพันธ์ในครอบครัว  มีผลต่อวิธีการและผลการเลี้ยงดูลูก...ในระยะยาวต่อไปด้วย

ขอบคุณมากนะคะ :)

เล็ก ๆ น้อย ๆ ที่พอทำได้ค่ะคุณปริม ขอบคุณมากนะคะ  ^_,^

ชอบกิจกรรม สามวัย มากๆ ค่ะพี่หมอฟัน

ทำให้นึกถึงภาพ ช่วงทำงานกับกาชาด

ได้เห็นภาพคุณยาย คุณแม่ ลูก ยิ้ม หัวเราะ กัน

มีบางคน จะร้องไห้ (เพราะกลัวหมอฟันไหมคะ ๕ ๕ )

แต่ก็เป็น นิมิตหมายดีๆ ส่งกำลังใจ สุขสันต์นะคะ

สวัสดียามสายค่ะคุณ Poo

  • ร้องไห้ตั้งแต่ได้ยินว่าหมอ  ก็มีนะคะ  สังคมชนบทสระใคร  ยังชอบเอาหมอและตำรวจ "ขู่" เด็ก ๆ นะคะ
  • สามวัยน่ารักนะคะ  หากคุณแม่กับคุณยายตกลงเลี้ยงลูกหลาน  จุดศูนย์กลางความรักที่ถูกต้อง....ทางเดียวกัน
  • สุขสันต์  สดชื่น  มีความสุข  เมื่อได้ออกไปชุมชน  ทำกิจกรรมที่ชอบค่ะ
  • ขอบคุณคุณน้องมากค่ะ  ^_,^

เด็กๆ ชอบนิทานนะครับ เดี๋ยวนี้มีนิทานเรื่องส่งเสริมสุขภาพเยอะมาก รวมทั้งเรื่องการดูแลช่องปากและฟันด้วย น้องซอมพอก็อาศัยนิทานี่แหละครับช่วยสร้างสุขนิสัยเรื่องสุขภาพฟัน เวลาไปหาหมอฟันก็ไม่กลัวด้วย ต้องขอบคุณหมอฟันที่สรรหากิจกรรมดีดีมาจูงใจผู้ปกครองและเด็กได้ดีมากเลยครับ

ขอบพระคุณมากค่ะคุณพ่อน้องซอมพอ

ที่มาช่วยยืนยันว่า...การเล่านิทานช่วยสร้างสุขนิสัยได้จริง  แม้จะต้องสรรหาเวลา  สร้างสรรค์ความสุขร่วมกันในครอบครัว

เฮ้อ...หนังสือนิทานดี ๆ  คู่กับเงินมากซักหน่อย  พ่อแม่เบี้ยหอยน้อย....ยังไม่ค่อยจะพอกินน

โครงการมอบให้ใช้หมุนเวียนยืมในหมู่บ้าน  โดยกลุ่มแกนนำชุมชนและ อสม.จัดการเอง  ส่วนที่ศูนย์สุขภาพชุมชนโรงพยาบาลสระใคร  มีให้ยืม-ส่งคืน  เป็นห้องสมุดเล็ก ๆ สำหรับเด็ก ๆ และแม่ ๆ ค่ะ

ใช่เลยค่ะ...พี่

Ico48

สายใยเหนียวแน่นที่มองไม่เห็น  แต่มีจริง

สุขสันต์วันสงกรานต์นะคะ

คุณหมอ...

  • สรุปแล้วครอบครัวมีจริงไหม???  
  • วันนี้ไปโรงพยาบาลมา... เพียรสนทนาธรรมกับคุณหมอว่า... 
  • ความสุขในครอบครัวมีอยู่จริงไหม???
  • ถ้าตอบว่า "มี" ความสุขที่ว่านั้นคืออะไร???
  • คนถูกถามก็งง!!! คนถามนั้นไม่จำต้องพูดถึง... งงมานานแล้ว
  • ไม่มีครอบครัว ไม่มีครัวให้ครอบ
  • พอมาเจอโยม... จึงรีบเร่งถามว่า ... ครอบครัวมีจริงไหม???!!!??!
  • เจริญพร

อ่านวิทยานิพนธ์ของน้องที่ รพ.โนนสังที่ทำเกี่ยวกับปัจจัยที่มีผลต่อผู้ปกครองในการแปรงฟันให้กับเด็ก 0-5ปี มี3อย่าง คือ ทัศนคติ(ต่อฟันน้ำนมเด็ก). ทักษะในการแปรงฟันของผู้ปกครอง (ต้องมีทักษะในการแปรงฟันให้เด็ก). และข้อสุดท้ายคือ การได้รับคำแนะนำจาก ครูผู้ดูแลเด็ก
ตอนนี้เป็นโจทย์ของพี่เองที่จะทำอย่างไรให้ทันตาภิบาลสอนแปรงฟันในเด็กจริงๆ เพราะตอนรณรงค์ลูกรักฟันดีเริ่มที่ซี่แรก พบว่า ทันตาของเราถนัดในการสอนจากโมเดล พอจะสอนกับเด็กจริงก็ยังเก้ๆกังๆ พี่ได้ลงไปทำที่จุดรณรงค์ 2พื้นที่ รู้สึกสนุกมาก เพราะยาย และแม่เด็กสนใจที่จะตรวจฟันลูก(ส่วนใหญ่ไม่เคยตรวจฟันเด็ก). และเมื่อสาธิตการแปรงฟันให้ดูกับตัวเด็กจริงๆ พบว่าไม่ยากที่จะบังคับเด็กนิดๆหน่อยแล้วก็แปรงได้ โจทย์ตอนนี้คือ ทำอย่างไรให้พวกเราสอนได้นะ ยิ่งอ่านวิทยานิพนธ์ และอ่านเรื่องของอ้อ ก็ยิ่งย้ำว่า ต้องทำแล้วล่ะ

นมัสการ ท่านธรรมหรรษา

คำถาม คือ ครอบครัวมีจริงไหม

ถ้าได้อยู่ด้วยกัน แต่ไม่ได้ทำหน้าที่อบรมบ่มเพาะนิสัย ทำหน้าที่แรกของสถาบัน ในการกล่อมเกลาทางสังคม

หรือครอบครัวทางไกล ที่ความจำเป็นของพ่อ และหรือ ของแม่ ไมได้อบรมสั่งสอน บ่มเพาะนิสัยดี ๆ

ใคร ? ที่ทำหน้าที่นั้นแทน จะทำได้อย่างมีคุณภาพ พอที่จะผลิตสมาชิกสังคมที่ดี ออกสู่สังคม

หากครอบครัวกะพร่องกะแพร่ง สถาบันที่สอง สาม สี่... รวมทั้ง สถาบันทางศาสนา จะทำหน้าที่กล่อมเกลาทางสังคมเพิ่มเติม ได้มากน้อยเพียงใด

ท่านอย่างงไปมากกว่านี้เลยนะคะ

คนถามคนแรกก็งงแล้วเนี่ย

กราบขอบพระคุณค่ะ

ใช่ค่ะ พี่ฝน ก่อนจะไปสอนพ่อแม่ คนเลี้ยงเด็ก ทันตบุคลากรต้องมีทักษะก่อน

อ้อโชคดี ที่ทันตาภิบาลและผู้ช่วยทันตแพทย์มีลูกเล็ก ประสบการณ์ที่กว่าจะชวนลูกแปรงฟันให้สนุกได้ ไม่ใช่เรื่องง่าย

ผ่านสงครามน้ำตากันมาทุกราย

ส่วนอ้อได้จากการเลี้ยงหลาน นิทานเรื่อง คุณฟองแปรงฟัน คือ เรื่องโปรด

และตั้งแต่เริ่มมีฟันก็แปรงให้ จน ป.6 ถ้าอ้อกลับบ้าน หลานอิงค์ยังถือหมอนใบเล็กมาวางตักอ้อ พร้อมแปรงสีฟันให้อ้อแปรงให้....นอนสบายไป

ที่สำคัญ คือ ความเข้าใจอารมณ์ วิถีชีวิตประจำวัน ทัศนคติคนเป็นแม่หรือคนเลี้ยงเด็กตัวจริง ที่อยู่กับเด็ก ๒๔ ชั่วโมง

คนที่ทัศนคติดีต่อการเลี้ยงลูกหลาน ก็ดีไป แต่คนที่ไม่ได้ Happy แต่จำใจต้องเลี้ยงลูกหลาน กลุ่มนี้น่าเป็นห่วง

เราเองจึงต้องมีทัศนคติที่ดี และความมุ่งมั่นที่จะทำเรื่องนี้ สู้ ๆ ด้วยกันนะคะ

ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ พี่ฝน

อนุโมทนาขอบคุณคุณหมอสำหรับคำตอบ... ที่ทำให้อาตมางงน้อยถึงน้อยมาก!!!  ครอบครัวมีอยู่จริงหรือไม่ก็ไม่ทราบ  แต่เมื่อเอาครัวมาครอบ จึงทำให้มีครอบครัว ไม่ว่าจะครัวครอบ หรือครอบครัว... สิ่งที่น่ากลัวคือ ไม่มีึครัวให้ครอบ... เจริญพร

ครอบครัวมีจริงหรือไม่ ฤา ความล่มสลายของสถาบันครอบครัว ยากเกินกว่าจะเยียวยา สุขภาพช่องปาก (ท้าทายมาก !?!?!?!?! ฝันจะเป็นจริงภายใน Generation นี้หรือไม่ ) เชื่อมั่นว่าเป็นจริง....หากมีหมอฟันพันธ์หายาก ที่ยากทำเรื่องฟันให้หลุดจากหมอฟัน ในหลายๆพื้นที่ นำเด็กฟันดีมาฝาก

 

น้องนาเซีย อายุ 2 ปี 8 เดือน คนนี้ก็คุณยายกับคุณตาเป็นคนเลี้ยง 

นมัสการ ท่านธรรมหรรษา

ไม่มีครัวให้ครอบ....สุดยอด สันโดษ

เดินสู่ทางพ้นทุกข์

โห....ท่านลุงบัง

Ico48

หลานนาเซียน่ารักมาก คุณตาคุณยายเลี้ยงเก่ง ดี มีสุข...น่าชื่นใจมาก ๆ นะคะ

อนาคตสังคมไทยมีความหวังแน่นอน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท