The Hunger Games : เกมล่าเกมส์


The Hunger Games : เกมล่าเกมส์

ผู้กำกับ : แกรี่ รอส

ประเภท : Action, Drama, Sci-Fi

 

http://www.nangdee.com/title/mt_poster.php?movie_id=2794

 

The Hunger Games นวนิยายของ ซูซานน์ คอลลินซ์ Bestseller ในอเมริกากว่า ๑๓๐ สัปดาห์ติดต่อกัน  เมื่อนำมาสร้างเป็นภาพยนตร์โดย แกรี่ รอส (จาก ซีบิสกิต - ม้าพิชิตโลก) ทำให้แฟนหนังสือทั่วโลกคาดหวังความยิ่งใหญ่ไม่น่าจะแพ้ แฮร์รี่ พ๊อตเตอร์ เลยทีเดียว

 

The Hunger Games : เกมล่าเกม  กล่าวถึงโลกในอนาคตที่กลายเป็นยุคมืด โลกถูกแบ่งออกเป็น ๑๒ เขต ที่ตกอยู่ภายใต้การปกครองของ “แคปิตอล” ที่กำหนดให้ทั้ง ๑๒ เขตจะต้องส่งเด็กผู้หญิงหนึ่งและเด็กผู้ชายหนึ่ง เข้าร่วม Hunger Games เด็กทั้ง ๒๔ คนต้องต่อสู้กันต่อหน้าทีวีจนเหลือผู้รอดเพียงคนเดียว โดยที่เขต ๑๒ มี แคตนิส เอเวอร์ดีน เป็นตัวแทนโดยอาสาแทนน้องสาว และเด็กชายคือ พีตา เมลลาร์ก  และแล้วการฆ่ากันผ่านหน้ากล้องก็ผ่านพ้นไปจนเหลือผู้เข้าแข่งขัน ๒ คน คือ เธอและเพื่อนของเธอจากเขตเดียวกัน แต่กฎก็ต้องเป็นกฎ  จะต้องเหลือเพียงคนเดียว แคตนิส จะเลือกอย่างไรระหว่างฆ่าเพื่อนชาย ชนะเกมส์ กลับบ้าน กับ เลือกความถูกต้อง

 

เรื่องราวการนำเสนความรุนแรงในการเข่นฆ่ากัน โดยเฉพาะเด็กที่ต้องจับอาวุธขึ้นมาฆ่ากันนั้นไม่ใช้ครั้งแรกที่ถูกนำมาฉายเป็นภาพยนตร์ หากลองมองดูบ้านใกล้เรือนเคียงของเรา ญี่ปุ่นคงเป็นประเทศอันดับต้น ๆ ของโลกที่ชอบสร้างหนังแนวนี้  ที่ติดตาติดใจที่สุดเห็นจะเป็นเรื่อง Battle Royale : เกมนรก โรงเรียนพันธุ์โหด ที่ออกฉายในปี พ.ศ.๒๕๔๓ เป็นเรื่องของการจับเด็กนักเรียนเหลือขอหลายคนให้เข้ามาเล่นเกมฆ่ากันจนเหลือผู้ชนะคนเดียว นำเสนอวิธีการฆ่าแบบพิสดาร โหดร้าย และทารุณ จนติดเรท R

 

การนำเด็กซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความบริสุทธิ์ อ่อนโยน มาเข่นฆ่ากัน จึงทำให้คนดูเข้าถึงและสะเทือนใจได้มากที่สุด มันเป็นภาพสะท้อนของความรุนแรงที่แฝงอยู่ในทุกผู้ทุกคนทุกอายุ

 

แต่ประเด็นของหนังทั้งสองเรื่องนี้แตกต่างกัน เรื่อง Battle Royale พูดถึงเครียดภายใต้สังคมที่มีการแข่งขันสูง ศีลธรรมตดต่ำจึงมีการระบายออกอย่างโหดร้ายด้วยการฆ่ากันแบบสะใจ เด็กบางคนถึงกับติดอกติดใจในการฆ่า แม้กระทั่งออกจากเกมไปแล้วยังกลับมาฆ่าใหม่ ไม่ได้ฆ่าเพราะความสนุก แต่ฆ่าเพราะความเสพติด แต่เรื่อง The Hunger Games นำเสนอถึงการถูกปกครองแบบกดขี่ของรัฐ การเอาเปรียบ จนทำให้ผู้คนในเขตต่าง ๆ อดอยาก ขนมปักแห้ง ๆ หนึ่งก้อนก็กลายเป็นของวิเศษ ผลผลิตที่ได้ต้องส่งรัฐหมด เมื่อความอดทนถึงที่สุด ผู้คนในเขตต่าง ๆ จึงต้องลุกขึ้นสู้ แต่เมื่อสู้แล้วแพ้จึงกลายเป็นกบฏ กบฏจึงถูกลงโทษโดยวิธีการของรัฐ ซึ่งพัฒนาเป็นการนำเด็กมาฆ่ากันนั่นเอง เด็กในเรื่อง The Hunger Games จึงฆ่าเพราะเอาตัวรอดและอยากกลับบ้าน ถึงแม้จะมีบ้างที่ฆ่าเพราะต้องการแสดงออกถึงจุดเด่นของตัวเด็กเอง

 

ในที่นี้ เด็ก จึงเป็นตัวแทนของประชาชนคนตัวเล็ก ๆ ที่ไม่มีอำนาจอะไรที่จะไปต่อสู้กับผู้ใหญ่ หรือมีสิทธิมีเสียงใด ๆ  

 

มันจึงเป็นการสะท้อนภาพของของรัฐที่เถลิงแก่อำนาจกับการกดขี่ประชนชนคนพื้นเมืองที่เคยเกิดขึ้นมาแล้วในทุกมุมโลก ในยุคล่าอาณานิคม หรืออาจจะมีหลงเหลือในปัจจุบัน

 

ในหนังจึงทำให้เห็นว่า เด็กที่ถูกเลือกเข้าแข่งเกมไม่มีสิทธิปฏิเสธใด ๆ ทั้งสิ้น มีการจับแต่งตัว มีการฝึกเพื่อไปฆ่า กินอาหาร ฯลฯ ผู้ใหญ่ให้ทำยังไงเด็กก็ทำอย่างนั้น หากแหกคอกหรือขัดขืน ผู้ใหญ่จะใช้วิธีต่าง ๆ เพื่อให้กลับเข้ามาอยู่ในเกม

 

สำหรับความเป็นหนังนั้นผมดูแล้วก็อยากจะลุกออกจากโรงมากกว่าสามครั้ง ดำเนินเรื่องอย่างน่าเบื่อ ไม่มีฉากตื่นเต้น ไม่เร้าใจ ไม่น่าติดตามใด ๆ ทั้งสิ้น อาจจะเป็นเพราะผมแก่เกินไปที่จะดูหนังแบบนี้แล้วก็ได้ แต่เมื่อลองคิดดูอีกที ผมก็ชอบดูหนังเด็กไม่ใช่น้อย และหนังเด็กหลาย ๆ เรืองก็นำเสนออกมาอย่างดี บางเรื่องตื่นเต้นจนทบนั่งไม่ติดเก้าอีก ไม่อยากให้หนังจบ เช่น แฮร์รี่ พ๊อตเตอร์ หรือการ์ตูนของดรีมเวิร์ค หรือของดีสนีย์ เป็นต้น เพราะฉะนั้นมันคงเป็นเรื่องของการนำเสนอและการเล่าเรื่องของหนังแล้วหล่ะ หาก The Hunger Games จะทำเป็นไตรภาคเท่าหนังสือ ผมเดาไม่ออกเลยว่าจะไปได้สักแค่ไหน

 

สรุป The Hunger Games : เกมล่าเกม ไม่เหมาะกับผมอย่างยิ่ง ในส่วนตัวนั้นบอกเลยไม่มีความสนุกใด ๆ เลย

 

วาทิน ศานติ์ สันติ

บัตรราคา ๘๐ บาท เดอะมอล์ลบางกะปิ

ดูเมื่อ ๔ เมษายน ๒๕๕๕

หมายเลขบันทึก: 484473เขียนเมื่อ 6 เมษายน 2012 20:44 น. ()แก้ไขเมื่อ 25 กันยายน 2013 07:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท